แกงแค

0
1426
แกงแค เรียกตามสำเนียงภาษาเหนือ เรียกว่า แก๋งแค ซึ่งก็คือ แกงเลียง ของทางภาคกลาง

แกงแค เรียกตามสำเนียงภาษาเหนือ เรียกว่า แก๋งแค ซึ่งก็คือ แกงเลียง ของทางภาคกลางนี่เอง

แกงแค เป็นแกงที่ประกอบด้วยผักหลายชนิด และมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมด้วยหนึ่งอย่าง เรียกชื่อแกงแคตามชนิดของเนื้อสัตว์ที่นำมาเป็นส่วนผสมนั้น เช่น แกงแคไก่ แกงแคกบ แกงแคจิ๊นงัว แกงแคปลาแห้ง ผักที่เป็นส่วนผสมหลัก ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ผักตำลึง ผักชะอม ใบชะพลู ผักชีฝรั่ง มะเขือพวง เห็ดลมอ่อน ผักเผ็ด และดอกแค (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 475; สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 15 มิถุนายน 2550)

ส่วนผสม
1. เนื้อ 200 กรัม
2. ตำลึง 1 ถ้วย
3. ชะอม 1/2 ถ้วย
4. ชะพลู 1/2 ถ้วย
5. ถั่วฝักยาว 1/2 ถ้วย
6. มะเขือเปราะ 1/2 ถ้วย
7. มะเขือพวง 1/4 ถ้วย
8. ดอกงิ้วแห้ง 5 ดอก
9. เห็ดลมอ่อน 1/2 ถ้วย
10. ถั่วพู 1/2 ถ้วย
11. ผักขี้หูด 1/2 ถ้วย
12. ผักเผ็ด 1/2 ถ้วย
13. ดอกข่า 3 ดอก
14. ใบมะกรูด 5 ใบ
15. ผักชีฝรั่ง 2 ต้น
16. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
17. กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ

เครื่องแกง
1. พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด
2. กระเทียม 10 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. ข่าหั่น 1 ช้อนโต๊ะ
5. ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
6. กะปิ 1 ช้อนชา
7. ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
8. เกลือ 1/2 ช้อนชา

วิธีการทำ
1. หั่นเนื้อเป็นชิ้นพอคำ
2. เด็ดหรือหั่นผักทุกชนิด ล้างให้สะอาด พักไว้
3. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
4. เจียวกระเทียมที่สับแล้วพอเหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม
5. ใส่เนื้อ ผัดเนื้อให้สุก
6. ใส่น้ำพอท่วมเนื้อ ตั้งต่อให้เดือด
7. ใส่ผักสุกยาก ตามด้วยผักที่สุกง่าย คนให้เข้ากัน พอผักสุก ยกลง

เคล็ดลับในการปรุง/เลือกส่วนผสม

เคล็ดลับในการปรุง
การคั่วหรือผัดเครื่องแกง ใช้ไฟปานกลาง
เครื่องแกงบางสูตรอาจใส่เม็ดผักชี มะแขว่น ใบขิง หน่อข่า เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมของแกงแค
ผักที่ใช้เป็นส่วนผสม สามารถใส่ผักชนิดอื่นๆได้ เช่น หน่อไม้ต้ม ยอดมะพร้าว จักค่านแห้ง ดอกแคขาว ดอกแคแดง

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
ถ้าเป็นแกงแคไก่ ควรใช้ไก่บ้าน รสชาติน้ำแกงจะกลมกล่อม
พริกขี้หนูแห้งที่ใช้ ควรใช้พริกขี้หนูยอดสนแห้ง ผสมกับพริกขี้หนูสวนอย่างละครึ่ง
รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). แกงแค. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 475). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

เสาวภา ศักยพันธ์ และยุพยง วิจิตรศิลป์. (2538). อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ. เชียงใหม่: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.