วัดทุ่งอ้อ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง

วัดทุ่งอ้อ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ที่ตั้ง : วัดทุ่งอ้อ เลขที่ 30 หมู่ 3 บ้านทุ่งอ้อหลวง ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230
วัดทุ่งอ้อ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ วัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2350 อนุญาติตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2350
วัดทุ่งอ้อ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งอ้อหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 30 บ้านทุ่งอ้อหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา วัดนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 60 หลังคาเรือน นับถือศาสนาคริสต์ส่วนหนึ่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาสรวม 13 รูป
วัดทุ่งอ้อเป็นวัดเล็กๆ และเป็นวัดโบราณที่มีอายุเก่าแก่ และยังไม่ทราบการสร้างที่แน่นอน เท่าที่มีการบันทึกว่ามีคณะสงฆ์เข้ามาปกครองคือเมื่อปี พ.ศ. 2350 แต่สันนิษฐานจากรูปแบบโครงสร้างของวิหาร วัดนี้น่าจะมีอายุประมาณ 600-700 ปี สิ่งที่ปรากฏชัดคือ หน้าวิหารจะมี หางวรรณ (หรือเรียกกันอีกอย่างว่าตัวเหงา) ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะโบราณยุคเดียวกับเมืองเชียงใหม่ พบได้ในสมัยเวียงกุมกาม เวียงท่ากาน เวียงมโน วัดทุ่งอ้อ เป็นศูนย์กลางร่วมสมัยในยุคของเวียงมโน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่กว่า 13 ปี วิหารของวัดทุ่งอ้อเป็นรูปแบบของศิลปะที่สืบทอดต่อจากเวียงกุมกาม ความโดดเด่นและความสวยงามของวิหารอยู่ที่การประกอบไม้สักโดยไม่ใช้ตะปู ก่ออิฐถือปูน และใช้ไม้สสักเกือบทั้งหลังสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งหาดูได้ยากตามวัดทั่วไป ดังนั้นตัววิหารของวัดทุ่งอ้อจึงมีขนาดเล็กกว่าวิหารทั่วไป คือ จุคนได้ประมาณ 50-60 คน ส่วนองค์พระประธานของวิหารนั้น เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างพม่าและล้านนา สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณบริเวณแถบนี้ ได้มีการสู้รบกันระหว่างล้านนากับพม่า จึงทำให้บริเวณนี้ถูกพม่ายึดเอาอาณาเขตบริเวณพื้นที่โดยรวม พร้อมกับการสร้างวัดนี้ขึ้นมา จึงทำให้วัดนี้มีศิลปะของพม่าผสมอยู่ จึงพอสรุปได้ว่า รูปแบบของศิลปะต่างๆ นั้นสืบทอดมาจากเวียงกุมกาม ทำให้แน่ใจได้ว่าวัดแห่งนี้มีอายุไล่เลี่ยกับเมืองเชียงใหม่
เมื่อปีพ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะวิหารของวัดทุ่งอ้อเพราะวิหารนั้นได้คงคู่กับกาลเวลามายาวนานหลายร้อยปี เก่าแก่และทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นอดีตท่านเจ้าอาวาส คือหลวงพ่อพระอธิการทองสุข สุทสฺสโน ท่านพระครูบาหล้า จึงได้ทำเรื่องถึงกรมศิลปากร ให้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วิหารในปีพ.ศ. 2539 โดยกรมศิลปากรที่ 4 ได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท ในการบูรณะพระวิหาร เพื่อให้คงคู่อยู่กับวัฒนธรรมของเชียงใหม่ และเป็นตัวอย่างให้กับวัดอีกหลายแห่งที่ทำการบูรณะซ่อมแซมรื้อถอนวิหารออกไปทั้งหลัง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ศิลปะโบราณสูญหาย
ในสมัยก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมวิหารวัดทุ่งอ้อนั้น ชาวบ้านโดยทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อความเก่าแก่ และทรงคุณค่าของวิหารเท่าใดนัก แต่หลังจากที่กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมวิหารแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์มากขึ้น ส่วนหนึ่งรู้สึกพอใจ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่พอใจที่กรมศิลปากรซ่อมแซม โดยการนำศิลปะแบบใหม่เข้ามาเสริมแทน เช่น อิฐบริเวณด้านข้างพระวิหาร ได้ทุบอันเก่าออกไปและใช้อิฐแบบใหม่เข้ามาแทน รวมถึงการใช้สีแดงทาทั่วพระวิหาร ซึ่งดูแล้วเหมือนของใหม่ ทำให้หมดความขลัง แม้โครงสร้างเดิมทั้งหมดยังคงอยู่ แต่บางส่วนของวิหารได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นของใหม่ โดยเฉพาะช่อฟ้าและปั้นลม เนื่องจากของเก่าหักลงเหลือครึ่งเดียว แต่ก็ยังเป็นสมบัติที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนี้ทางเจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์ธนธรณ์ กนฺตวีโร ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิหาร โดยเฉพาะอนุรักษ์และรักษาโบราณสถานนี้ ให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมเชียงใหม่ไปตราบนานเท่านาน หรือนานยิ่งกว่านั้น เพื่อให้ลูกหลานชนรุ่นหลังได้กราบไหว้สักการบูชา พร้อมกับได้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าในด้านโบราณวัตถุ โบราณสถาน ด้านจิตใจ และหลักคำสอนหลักธรรมต่างๆ จะได้มีจิตใต้สำนึก ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหน ปกป้องรักษาให้คงอยู่สืบไป
และวัดทุ่งอ้อแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยโย นักบุญแห่งล้านนาไทย เคยเดินทางมาจาริกแสวงบุญประกาศพระพุทธศาสนา ณ วัดนี้ แล้วแวะพักดื่มน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ข้อมูลนี้ได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ คนดั้งเดิมของทางวัด และปัจจุบันนี้ได้สร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้เคียงคู่วิหารโบราณ 700 ปี ของวัดทุ่งอ้อ ดังนั้น วิหารกับวัด วัดกับศรัทธา และพุทธบริษัททั้งสี่ จึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาแต่ครั้งโบราณ เนื่องจากวิหารเป็นสถานที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของทั้งพระสงฆ์และฆราวาส นอกจากนั้นตามหมู่บ้านต่าง ๆ จะนิยมใช้วิหารของวัดเป็นสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านด้วยเช่นกัน วิหารของวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีความกว้างขวางใหญ่โต เพื่อสามารถรองรับผู้คนที่มาทำบุญได้จำนวนมาก แต่ยังมีวิหารอีกแห่งหนึ่งที่มีขนาดเล็กแต่ทรงคุณค่าด้านศิลปะและมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี นั่นคือ พระวิหารวัดทุ่งอ้อ
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป พระเจ้าแสนงาม (หวงพ่อขาว ๗๐๐ ปี) เป็นพระพุทธรูปที่มีศิลปะผสมผสานระหว่างไทยกับพม่า เนื่องจากพื้นที่ตั้งของวัดนั้น ในสมัยโบราณบริเวณแถบนี้ มีการสู้รบระหว่างล้านนากับพม่า และถูกพม่ายึดเอายื้นที่บริเวณนี้ไปด้วย จึงทำให้รับเอาศิลปกรรมของพม่าเข้ามาผสมผสานอยู่ด้วย
คำไหว้พระเจ้าแสนงาม (หลวงพ่อขาว ๗๐๐ ปี)
ตั้งนะโม ๓ จบ
เสตะ พุทธรูปัง พุทธะเศวตสุมังคะลัง นะมามิหัง
โรคะ นิรันตะรัง นะมามิหัง พุทธะปูชา มหาเตชะวันโต
ธัมมะปูชา มหาปัญโญ สังฆะปูชา มหาโภคาวะโห
สิทธิชะโย สิทธิลาโภ สิทธิสุโข ภะวันตุ เม
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น นักธรรมเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ ประวัติด้านการศึกษาของพระธนธรณ์ กนฺตวีโร พระธนธรณ์ กนฺตวีโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งอ้อ จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา(มมล.) เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2550
พระครูบาอินใจ | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2350 ถึงปี พ.ศ.2370 |
พระครูบาพรหม | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 ถึงปี พ.ศ.2392 |
พระครูบาจุมปู | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2392 ถึงปี พ.ศ.2412 |
พระครูบาเต๋จา | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2412 ถึงปี พ.ศ.2442 |
พระครูบาคำตั๋น | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 ถึงปี พ.ศ.2460 |
พระอธิการสม | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 ถึงปี พ.ศ.2480 |
พระอธิการเสาร์ | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ถึงปี พ.ศ.2495 |
พระอธิการคำแสน | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 ถึงปี พ.ศ.2498 |
พระอธิการดวงแก้ว | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ถึงปี พ.ศ.2507 |
พระอธิการบุญชื่น | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ถึงปี พ.ศ.2512 |
พระอธิการสุรพล | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ถึงปี พ.ศ.2528 |
พระอธิการทองสุข | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ถึงปี พ.ศ.2550 |
พระธนธรณ์ กนฺตวีโร | ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ถึงปัจจุบัน |
แผนที่วัดทุ่งอ้อ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
วัดใกล้เคียงวัดทุ่งอ้อ ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
วัดอินทร์เทพนาถสีลาราม ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง
วัดขันแก้ว ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง
วัดพระบาททุ่งอ้อ ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง
วัดศรีสว่าง (วัดวัวลาย) ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง