พญาคำฟู

พญาคำฟู (คำเมือง:
) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าคำฟู หรือท้าวคำฟู เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา[1]
พญาคำฟู ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1877 – 1879 รวมระยะเวลาการครองราชย์ 2 ปี
พญาคำฟูเป็นพระราชโอรสใน พญาแสนภู ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์กล่าวไว้ว่า “เจ้าพระญาแสนภูก็แต่งลูกตน เจ้าพ่อท้าวคำฟู อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนตนเจ้าก็ไปส่งสะกานเจ้าพระญาไชยสงครามพ่อในเมืองเชียงราย ได้ ๑ เดือนบัวระมวลชุอัน ท้าวก็ลวดอยู่เสวยเมืองเชียงรายหั้นแล แล้วก็แต่งหื้ออภิเษกพ่อท้าวคำฟู ลูกตนอายุได้ ๒๖ ปี หื้อเป็นพระญาในเมืองเชียงใหม่ในปีเปิกสี ศักราชได้ ๖๙๐ ตัวปีหั้นแล”
สรุปคือพญาคำฟู เป็นหลานของขุนคราม หรือ พญาไชยสงคราม โอรสพระองค์ที่ ๒ ในพญามังราย (ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ)
หลังจากเจ้าคำฟูได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พญาแสนภูก็ทรงย้ายเมืองหลวงจากเชียงใหม่ไปไว้ที่เชียงแสน ภายหลังพญาแสนภูเสด็จสวรรคต เจ้าคำฟูจึงได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนาระหว่าง พ.ศ.๑๘๗๗-๑๘๗๙ พญาคำฟูได้พัฒนา ปกครองนครเชียงใหม่ให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ในรัชสมัยของพระองค์แม้จะเป็นเวลาเพียง ๒ ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง สงบสุข ไม่มีศึกสงคราม ในยุคสมัยของพญาคำฟูนี้พระองค์ทรงร่วมมือกับพญาผานองเจ้าเมืองปัวเข้าตีเมืองพะเยา และสามารถที่จะผนวกเอารัฐพะเยาที่เป็นอิสระอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้ หลังจากพญาคำฟูเสด็จสวรรคตพระราชโอรสในพญาคำฟูขึ้นครองราชย์ต่อ ออกพระนาม พญาผายู
พญาคำฟูสวรรคตจากการถูกเงือกหรือจระเข้กัด ถือเป็นการตายร้าย จึงได้รับการบูชาเป็นผีอารักษ์ปกป้องเมืองเชียงใหม่
การที่ทรงสิ้นพระชนม์เพราะจระเข้กัดตายนั้น ตามตำนานเล่าว่า เป็นเพราะพญาคำฟูเสียสัตย์สาบาน กษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่สวรรคตยังแม่น้ำคำเพราะเงือก(จระเข้)ขบ เรื่องนี้ปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้บันทึกตรงกันว่าพญาคำฟู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายรัชกาลที่๖ ได้กระทำผิดสาบานที่ได้ให้ไว้กับสหายเศรษฐีชื่อ งัวหง ว่าจะไม่คิดร้ายต่อกัน แต่พญาคำฟูกลับเสียสัตย์ลักลอบกระทำมิจฉาจารกับภรรยาของงัวหง การกระทำครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสวรรคต ในสังคมสมัยนั้นเชื่อเรื่องลี้ลับมาก ดังปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า….
“พญาได้เห็นภรรยาของสหายนั้นทรงรูปลักษณะงามท่วงทีดี ก็มีใจปฏิพัทธ์จึงลอบลักสมัครสังวาสกระทำมิจฉาจารด้วยนางผู้เป็นภรรยาของสหายนั้น ด้วยเหตุพญาได้เสียสัตย์สาบานดังนี้ อยู่มาได้เจ็ดวัน พญาคำฟู ลงอาบน้ำดำเศียรในลำน้ำแม่คำ เงือกใหญ่ตัวหนึ่งออกมาจากเงื้อมผามาขบคาบสรีระพญาคำฟู พญาคำฟูก็ถึงกาลกิริยาในแม่น้ำนั้น ต่อครบเจ็ดวันศพพญาคำฟูจึงลอยขึ้นมา คนทังหลายจึงรู้ว่าพญาคำฟูสิ้นชีพวายชนม์แล้ว”
พระองค์สวรรคตเมื่อพระชนม์ 47 พรรษา เสนาอำมาตย์ จึงเชิญพระศพกลับเมืองเชียงแสน แจ้งข่าวไปนครเชียงใหม่ แล้วจึงทูลเชิญเสด็จท้าวผายู มาจัดการพระบรมศพถวายพระเพลิงพระศพของพญาคำฟู แล้วอัญเชิญพระอัฐิ และพระอังคารของพระองค์บรรจุลงในผอบทองคำชั้นหนึ่ง ผอบเงินชั้นหนึ่ง ผอบทองแดงอีกชั้นหนึ่งไปยังนครเชียงใหม่ แล้วก่อพระสถูปเจดีย์องค์เล็กบรรจุไว้ ณ ริมตลาดลีเชียง แล้วโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นหลังหนึ่งในปี พ.ศ. 1888 ตั้งชื่อว่า วัดลีเชียง (ปัจจุบันคือวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร) แล้วนิมนต์พระมหาอภัยจุฬาเถรเจ้า เมืองหริภุญชัยมาเป็นเจ้าอาวาส จนมาถึงปี พ.ศ. 2469 สมัยเจ้าแก้วนวรัฐครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนาไทย มาทำการบูรณะวัดนี้ ท่านให้แผ้วถางบริเวณด้านเหนือพระวิหาร เห็นพระสถูปองค์เล็กเหนือวิหารนั้น กีดขวางจึงให้คนขุดออก จึงได้พบผอบบรรจุอัฐิ พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค ทำด้วยทองคำหนักหลายสิบบาท จึงให้สอบตำนานดู จึงทราบว่า เป็นของพระเจ้าคำฟู เนื่องด้วย ในผอบที่ขุดค้นพบพระโกฏิที่บรรจุพระอัฐิของพระองค์ มีทองคำจารึกลายพระนาม ของพระมหาเถรในยุคนั้น มีหนักถึง ๓๖๐ บาท ท่านจึงนำไปฝากไว้ศาลากลางจังหวัด ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการได้ย้ายศาลากลางไปอยู่ข่วงสิงห์ ผอบจึงได้หายสาบสูญไป ส่วนนางเรือนแก้วมีความเสียใจมาก จึงผูกคอตาย เศรษฐีงัวหงส์ ก็เสียใจต่อเหตุการณ์ จึงถือศีลออกบวชภาวนาตลอดชีวิต
เมื่อพญาคำฟูสิ้นพระชนม์ ท้าวผายูได้สืบราชสมบัติแทน แต่ไม่ได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเชียงแสน คงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เมืองเชียงใหม่ จึงได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลาง ของราชอาณาจักรอีกครั้ง และนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมืองเชียงใหม่ ได้กลายเป็น ราชธานี ของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง และกษัตริย์ล้านนาในลำดับต่อๆมา ก็จะประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แทบทุกพระองค์
กู่อัฐิของพญาคำฟู เป็นกู่เล็ก ๆ ลักษณะเป็นทรงกลมเส้นรอบวงประมาณเมตรครึ่งด้านบนเป็นแผ่นศิลาทรงกลมปิดไว้ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศเหนือเยื้องขวา ไปประมาณ ๑๐ เมตร คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระธาตุหลวง เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู ในปี ๒๔๖๙ ครูบาศรีวิชัย มาแผ้วถางบูรณะวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร ได้พบกู่อัฐิค้นพบข้างในมีผอบบรรจุอัฐิซ้อนกัน ๓ ใบ ชั้นนอกทำด้วยทองเหลืองหนัก ๒๕๔ บาท ๓ สลึง สูง ๒๓ นิ้ว ชั้นกลางทำด้วยเงินหนัก ๑๘๕ บาท ๒ สลึง สูง ๑๘ นิ้ว ชั้นในสุด ทำด้วยทองคำหนัก ๑๒๒ บาท ๒ สลึง สูง ๑๔ นิ้ว และยังพบแผ่นทองจารึกเรื่องราวต่าง ๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอัฐิของพญาคำฟูผู้สร้างวัด ทางราชการได้นำไปเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ที่ข่วงสิงห์ และขณะนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ผอบทั้ง ๓ ใบ และจารึกตลอดถึงเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นได้สูญหายไปในขณะเกิดสงครามซึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๔
ที่มา : รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สมหมาย เปรมจิตต์. (๒๕๔๐). ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ . เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, หน้า ๔๘.