อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) Princess Sirindhorn AstroPark, National Astronomical Research Institute of Thailand (Public Organization)
ที่ตั้ง : 260 หมู่ 4 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่รองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่ การศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ และการบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรประกอบด้วย อาคารสำนักงานใหญ่ อาคารปฏิบัติการ และส่วนให้บริการประชาชน ได้แก่ 1) อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ 2) อาคารหอดูดาว 3) สวนพฤกษศาสตร์ ลานกิจกรรม และพื้นที่การเรียนรู้ภายนอกอาคาร
อาคารท้องฟ้าจำลอง และนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล 360 องศา ที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ รองรับระบบการฉายความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับจอดรถเข็นผู้พิการ และส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ บนพื้นที่ประมาณ 2,358 ตารางเมตร
อาคารหอดูดาว เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่าง ๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า ถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า รวมถึงจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
สวนพฤกษศาสตร์ ลานกิจกรรม และพื้นที่การเรียนรู้ภายนอกอาคาร เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังใช้จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ
ประวัติความเป็นมาอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม) ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยสถาบัน มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่งที่ได้รับการบรรจุไว้ในลำดับต้น ๆ ของแผนการจัดตั้ง คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญ รวมถึงรองรับการให้บริการทางด้านดาราศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆ ของสถาบัน ให้ตรงตามความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่า ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สถาบันได้ดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยแบ่งเป็น
1. โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่สำหรับการให้บริการด้านวิชาการ ประกอบด้วย อาคารหอดูดาว
ที่มีกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ เพื่อใช้ในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า/อาคารท้องฟ้าจำลองที่มีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน สำหรับปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย
เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 4 แห่ง
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (Princess Sirindhorn AstroPark) ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม
จ.เชียงใหม่ – เริ่มเปิดให้บริการเป็นบางส่วน และคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ภูมิภาค
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
(Regional Observatory for Public, Nakhon Ratchasima)
ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดให้บริการในปี 2557
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
(Regional Observatory for Public, Chachoengsao)
ตั้งอยู่ที่ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการในปี 2561
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
(Regional Observatory for Public, Songkhla)
ตั้งอยู่ที่ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา เปิดให้บริการในปี 2562
อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 1 แห่ง
1. หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ฯ ขอนแก่น (Regional Observatory for Public, Khon Kaen) ตั้งอยู่ที่ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564)
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้ในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า เพื่อการค้นคว้า วิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย
เปิดให้บริการแล้ว
[ 1 ] หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือ หอดูดาวแห่งชาติ (Thai National Observatory : TNO) ตั้งอยู่ที่ สถานีทวนสัญญาณทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ – เปิดให้บริการแล้วในปี 2556 ( โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี )
[ 2 ] เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ (Thai Robotic Telescope Network : TRT)
หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American Observatory (CTIO) สาธารณรัฐชิลี
หอดูดาว Gao Mei Gu มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
หอดูดาว Sierra Remote มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
หอดูดาว SpringBrook นิวเซาว์เวลล์ (NWS) ออสเตรเลีย
หอดูดาว La Palma Observatory สเปน
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการเฝ้าติดตามวัตถุที่อาจมีภัยคุกคามต่อโลก บริเวณสถานีรายงานดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ ( ความร่วมมือระหว่าง สดร. กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม )
อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
[ 1 ] หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ( Thai National Radio Astronomy Observatory : TNRO ) ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย
[ 1.1 ] กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ( ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 )
[ 1.2 ] อาคารควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร พร้อมอาคารประกอบและระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ ( ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 )
ข้อมูลการติดต่อ
โทรสาร : 053 121250
เว็บไซต์ : http://www.narit.or.th/index.php
อีเมล : [email protected]
วันและเวลาทำการ
นิทรรศการดาราศาสตร์ : อังคาร-ศุกร์ 9.00-16.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-17.00 น.
รอบฉายท้องฟ้าจำลอง : อังคาร-ศุกร์ 11.00-12.00 น. และ 14.00-15.00 น. เสาร์ 11.00-12.00น. / 14.00-15.00น. 17.00-18.00น. อาทิตย์ 11.00-12.00 น. และ 14.00-15.00น.
กิจกรรมดูดาว NARIT Public Night : ทุกวันเสาร์เดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคม 18.00-12.00น.
แผนที่การเดินทางอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร