อี่ต่วม นางสุจิตรา คำขัติย์ ช่างซอพื้นเมือง

อี่ต่วม ชื่อที่คุ้นหู ด้วยเสียงร้องขับขานเพลง ตามทำนองซอล้านนา ในงานขึ้นบ้านใหม่ งานวัด งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่เมื่อนั่งฟังนั่งดูแล้วต่างก็ต้องหัวเราะกับลีลาท่าทางในการขับขานซอพื้นเมืองของ 2 คู่หู ที่เป็นใครไม่ได้นอกจาก “ไอ่เก๋าอี่ต่วม”
สำหรับ อี่ต่วม นั้นเป็นตัวตลกที่แสดงโดย แม่คำหน้อย นางสุจิตรา คำขัติย์ มาดูประวัติต่าง ๆ ของแม่คำหน้อย สุจิตรา คำขัติย์ พร้อมร่วมฟังเสียงซอของคู่หูซอตลก จากไอ่เก๋า อี่ต่วมไปด้วยกันได้ที่นี่เลย
นางสุจิตรา คำขัติย์ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า อี่ต่วม เกิดเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ.2590 ที่บ้านทุ่งแดง ตำบลดงหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายคำ – นางสุจา คำขัติย์ มีพี่น้อง 7 คน แต่งงานแล้วมีบุตร 2 คน ปัจจุบันอยู่ที่หมู่บ้านเชียงใหม่แกรนด์วิว ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หลังจากจบประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนทุ่งแดงแล้ว ได้เรียนซอกับแม่ครูจันทร์สม สายธารา แม่ครูบุญปั๋น พ่อครูศรีทวน สอนน้อย และเริ่มเป็นช่างซอในคณะพวงพยอมเป็นคณะแรก เมื่อ พ.ศ.2514 ขณะอายุได้ 15 ปี โดยแสดงเป็นนางเอกละครซอของคณะ จากนั้นได้ย้ายมาร่วมงานกับคณะศรีสมเพชร 2 รับแสดงซอตามงานต่าง ๆ และเล่นละครซอ แสดงเป็นตัวแม่และตัวโกง ต่อมาเมื่อได้เล่นละครซอร่วมกับสุรินทร์ หน่อคำ ที่รู้จักกันในนามของ “ไอ่เก๋า” หรือ “มิสเตอร์เก๋า” ก็ได้เปลี่ยนมาเล่นเป็นตัวตลกที่รู้จักในนาม “อี่ต่วม” ปรากฏว่าได้รับความสนใจและนิยมชมชอบจากประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรูปแบบการแสดงที่ไม่ซ้ำแบบใคร กระทั่ง พ.ศ. 2518 ได้ตั้งคณะซอชื่อคณะเก๋าต่วม รับแสดงซอคู่ ละครซอ และซอสตริง ในงานต่างๆ ทั่วภาคเหนือ
นอกจากการแสดงซอในงานทั่วไปแล้ว แม่คำหน้อย (ต่วม) ยังทำการผลิตเทปซอจำนวนหลายชุดโดยส่วนใหญ่จะเป็นเทปที่มีเนื้อหาตลกสนุกสนานที่แฝงข้อคิดและสาระต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมจากคนฟังเป็นจำนวนมาก
ผลงานที่สำคัญ
– นำศิลปะการขับซอไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปางตั้งแต่ปี พ.ศ.2532
– นำสาระความรู้ด้านต่างๆ เช่น การต่อต้านยาเสพติด โรคเอดส์ การรณรงค์เลือกตั้ง การป้องกันไข้เลือดออก การป้องกันไฟไหม้ ผู้สูงอายุกับการรักษาสุขภาพ การปฏิบัติตามกฏจราจร เป็นต้น มาสอดแทรกในขณะแสดงละครซอ
– เข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นจังหวัดระยอง
– ร่วมงานรณรงค์เลือกตั้ง เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยใช้ซอเป็นสื่อ เผยแพร่
– นำศิลปะการขับซอไปเผยแพร่ในรายการชิงร้อยชิงล้าน
– แสดงซอออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และร่วมแสดงซอในโครงการต่อต้านยาเสพติดของช่อง 11
– นำศิลปะการขับซอไปสอนให้แก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา
– ให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการสอนพิเศษเรื่องศิลปะการขับซอ โดยเป็นวิทยากรผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องซอกับองค์กร/หน่วยงานต่างๆ
– ผลิตเทปซอจำนวนหลายชุดโดยส่วนใหญ่จะเป็นเทปที่มีเนื้อหาตลกสนุกสนานที่แฝงข้อคิดและสาระต่างๆ
รางวัลและการเชิดชู
– ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นล้านนาร่วมกับสุรินทร์ หน่อคำ เมื่อปี 2536 รับเข็มพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ที่มา : http://www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/main2/main35.php