แม่แจ่ม (คำเมือง: ) เป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่
คำขวัญ
“เที่ยวบ่อน้ำแร่ ล่องแพน้ำแจ่ม พักแรมน้ำตก ผ้าตีนจกยอดน้ำมือ”
ที่มาของชื่ออำเภอ
อำเภอแม่แจ่มหรือ “เมืองแจ๋ม” นั้นแต่เดิมเรียกกันว่า “เมืองแจม” มีเรื่องเล่าครั้งโบราณกาลว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหากัจจายนะได้จาริกผ่านมาทางยอดดอยอ่างกา (ดอยอินทนนท์) เช้าวันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าลัวะเฒ่า (หญิงชราชาวลัวะ) คนหนึ่งนำปลาปิ้งเพียงครึ่งตัวมาใส่บาตรถวาย พระบรมศาสดาทอดพระเนตรด้วยความเมตตาและความสงสัย จึงตรัสถามย่าลัวะว่า “แล้วปลาอีกครึ่งตัวล่ะอยู่ไหน” ย่าลัวะทูลตอบว่า “เก็บไว้ให้หลาน” พระองค์จึงทรงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจมแต๊นอ” (= เมืองนี้ช่างอดอยากจริงหนอ) ซึ่งต่อมาดินแดนนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจม” คำว่า “แจม” เป็นภาษาลัวะแปลว่า มีน้อย ไม่พอเพียง หรือขาดแคลน ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไท-ยวน (ไต) มาอยู่ จึงเรียกชื่อตามสำเนียงไท-ยวนว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็นเมืองแจ่มหรือ “แม่แจ่ม” อันเป็นนามมงคล หมายถึงให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งความแจ่มใส ลบความหมายของคำว่า “แจม”
ตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องกับสิงห์
มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า มีสิงห์สองตัวเป็นพี่น้องกันหากินอยู่ในป่าใหญ่ เกิดแย่งชิงอำนาจการปกครองและพื้นที่ทำกินกันเองจนเกิดข้อพิพาทกันอยู่เนือง ๆ จนพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ได้พบเห็น จึงได้กำหนดแบ่งเขตหากินโดยใช้ลำห้วยแห่งหนึ่งเป็นเขตแสดง ลำห้วยนั้นชื่อ “ห้วยช่างเคิ่ง” (ชึ่งหมายถึงแบ่งครึ่งกัน) ครั้นพระปัจเจกเจ้าเสด็จไปที่ดอยสะกาน (ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านกองกานกับบ้านต่อเรือ) มีราษฎรนำอาหารไปถวาย แต่เนื่องจากว่าราษฎรเหล่านั้นยากจน ข้าวปลาที่นำมาถวายมีน้อยขาดแคลน จึงได้ขนานเมืองนี้ว่า “เมืองแจม” ซึ่งแปลว่าเมืองที่มีความอดอยากขาดแคลน และเรียกลำน้ำใหญ่ว่า “น้ำแม่แจม” ต่อมาชาวบ้านขานชื่อเมืองนี้เพี้ยนไปเป็น “เมืองแจ่ม” จนกระทั่งทุกวันนี้
ประวัติ
อำเภอแม่แจ่มเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านอยู่ตามที่ราบและกระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขาใหญ่น้อยที่ล้อมรอบเรียงรายอยู่ มองจากที่สูงลงมาจะเหมือนแอ่งกระทะ มีลำน้ำไหลผ่าน ท่ามกลางมวลพฤกษชาตินานาพันธุ์ที่ปรากฏอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นที่อาศัยของชนชาติลัวะ (ละว้า) ซึ่งครอบครองดินแดนแถบนี้ตลอดจนถึงบางส่วนของอาณาจักรล้านนาในอดีต ชนเผ่าลัวะมีความเจริญไม่แพ้พวกขอม-มอญ ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ร่วมกัน เพียงแต่แยกการปกครองออกเป็นหมู่เหล่า เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อพวกใด ชนใดมีความเข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองขึ้นปกครองกันเอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และได้สร้างวัฒนธรรมของตนจนรุ่งเรือง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องปั้นดินเผา อาจจะเป็นเพราะในอดีตเมืองแจ๋มเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่าง พม่า ไทย จีน และอินเดียก็เป็นได้ เพราะสินค้าของทุกประเทศตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานซึ่งได้รับจากบรรพบุรุษที่อยู่ในสมัยนั้นด้วย ต่อมาเมื่อมีกลุ่มคนไท-ยวน (ไต) เข้ามามากเข้า อำนาจของลัวะจึงหมดไป แต่ลัวะเริ่มเรืองอำนาจขึ้นมาใหม่อีกครั้งในยุคสมัยของพญามังรายซึ่งถือว่าเป็นเชื้อสายลัวะเหมือนกัน
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น คิชฌกูฏ ในวิหารของวัดยางหลวง พระเจ้าตนหลวง วัดกองกาน พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะตระกูลช่างเชียงแสนและตระกูลช่างสุโขทัยซึ่งมีอายุเกิน 500 ปีขึ้นไป ดังนั้น เมืองแจ๋มก็น่าจะตั้งมาไม่ต่ำว่า 500 ปี ราว ๆ ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1800) สิงหนวัติกุมารได้พากลุ่มคนไท-ยวนอพยพมาจากยูนนานทางตอนใต้ของจีน ยึดอำนาจจากลัวะในสมัยปู่จ้าวลาวจก (ลวจักราช) บรรพบุรุษของพญามังราย แล้วสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองลัวะอาศัยอยู่ก่อน แต่อาศัยการวางตนเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าลัวะ ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไทเสื่อมอำนาจลง ปู่จ้าวลาวจกจึงสถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ กลุ่มคนไทจึงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งตามประวัติของเมืองแจ๋มที่กล่าวไว้ว่าเริ่มมีคนไทเข้ามา ก็คงจะในสมัยของสิงหนวัติกุมารนั่นเอง เพราะประวัติของเมืองแจ๋มก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิงห์อยู่เหมือนกัน แล้วถ้าเราลองมานับปีกันแล้ว ปีนี้ พ.ศ. 2545-1800 จะได้ประมาณ 745 ปี ซึ่งก็ใกล้เคียงกับอายุของหลักฐานที่อยู่ตามวัดต่าง ๆ เช่น คิชฌกูฏ
ต่อมามีคนไทยพื้นที่ราบทั้งจากอำเภอจอมทองและอำเภอสันป่าตองเข้ามาหากินและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2451 ตั้งชื่อว่า อำเภอเมืองแจ่ม และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอช่างเคิ่ง ในปี พ.ศ. 2460(ปัจจุบันช่างเคิ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม) ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา มีนายชื่นดำรงตำแหน่งนายอำเภอ แต่ขณะนั้นราษฎรอดอยากขาดแคลนและไม่นิยมการปกครองที่มีการเก็บภาษีอากร ในที่สุดจึงมีราษฎรกลุ่มหนึ่งเข้าปล้นที่ว่าการอำเภอและทำร้ายนายอำเภอจนเสียชีวิต ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอาศัยที่วัดช่างเคิ่งเพื่อความปลอดภัย มีนายสนิทเป็นนายอำเภอจนกระทั่งปี พ.ศ. 2481 ทางราชการได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ และตั้งชื่อว่า กิ่งอำเภอแม่แจ่ม ขึ้นกับอำเภอจอมทอง และเมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอแม่แจ่ม และ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552 ได้มีการแบ่งพื้นที่ของตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และ ตำบลแม่แดด ออกไปจัดตั้ง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จึงทำให้อำเภอแม่แจ่ม มี 7 ตำบล จนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอแม่แจ่มตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอกัลยาณิวัฒนา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสะเมิง อำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่สะเรียง (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอขุนยวม และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอแม่แจ่มแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2559)[5] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2559)[5] |
|
---|---|---|---|---|---|---|
1. | ช่างเคิ่ง | Chang Khoeng | 19 | 10,789 | 2,691 8,098 |
(ทต. แม่แจ่ม) (อบต. ช่างเคิ่ง) |
2. | ท่าผา | Tha Pha | 10 | 4,924 | 4,924 | (ทต. ท่าผา) |
3. | บ้านทับ | Ban Thap | 13 | 6,389 | 6,389 | (อบต. บ้านทับ) |
4. | แม่ศึก | Mae Suek | 17 | 12,598 | 12,598 | (อบต. แม่ศึก) |
5. | แม่นาจร | Mae Na Chon | 19 | 10,954 | 10,954 | (อบต. แม่นาจร) |
6. | ปางหินฝน | Pang Hin Fon | 14 | 7,192 | 7,192 | (อบต. ปางหินฝน) |
7. | กองแขก | Khong Khaek | 12 | 6,669 | 6,669 | (อบต. กองแขก) |
รวม | 104 | 59,515 | 7,615 (เทศบาล) 51,900 (อบต.) |
สถานที่ท่องเที่ยวแม่แจ่ม
- วัดกองกาน
อยู่ห่างจากวัดพุทธเอ้นประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญของชาวแม่แจ่ม เนื่องจากภายในวิหารมีพระเจ้าตนหลวงซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแม่แจ่ม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวแม่แจ่มจะไปสรงน้ำองค์พระกันทุกปี พระเจ้าตนหลวงนี้ เป็นแบบล้านนา และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอแม่แจ่ม ตัววิหารเป็นไม้ และหลังคามุงแป้นเกล็ดแบบโบราณ
- วัดกองแขก
ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่ม ประมาณ 7 กิโลเมตร บนถนนสายฮอด-เม่แจ่ม ชุมชนบ้านกองแขกนับเป็นชุมชนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของแม่แจ่มซึ่งเป็นที่รวม ของกลุ่มชาวบ้านที่อพยพมาจากที่ต่างๆ เช่น ชาวแม่พริกจังหวัดลำปาง ชาวเชียงแสน จากเชียงราย ชาวน่าน เชียงคำ เป็นต้น เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น การก่อสร้างวัด และศาสนสถานก็เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะวิหารวัดกองแขกที่เก่าแก่ไม่น้อยกว่าร้อยปี เป็นฝีมือช่างชาวลำปางที่อพยพ มาอยู่ด้วยกัน และที่สำคัญคือภาพจิตรกรรมฝาผนังคอสองของวิหารนั้น มีความแปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวแม่แจ่มก็ว่าได้ เพราะภาพแต่ละภาพนั้นจิตรกรได้ใส่อารมณ์ตวัดปลายภู่กันอย่างเฉียบคมยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปพุทธประวัติ รูปเทวดาฟ้อนรำ และรูปชาดกต่างๆ
- วัดป่าแดด
ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา สิ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ วาดโดยช่างแต้มชาวไทยใหญ่ เป็นเรื่องพุทธประวัติ และชาดกต่างๆ วิหารหลังนี้สร้างขึ้น พร้อมกับการสร้างวัด เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2400
- วัดพุทธเอ้น
ตั้งอยู่ที่ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ตามประวัติกล่าวว่า วัดพุทธเอ้นก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว มีโบราณสถานซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้วคือ “โบสถ์น้ำ” ลักษณะคือสร้างในสระสี่เหลี่ยมโดยปักเสาลงในน้ำล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง บริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพง เรียกว่า “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบก โบสถ์น้ำนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว คติการบวชในโบสถ์กลางน้ำนั้นถือว่าเป็นการบวชพระภิกษุสงฆ์ที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายลังกา ปัจจุบันการบวชกลางน้ำนี้ได้ยกเลิกไปหมดแล้ว บริเวณด้านหลังโบสถ์น้ำมีวิหารเก่าแก่ ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลไทยใหญ่ ปัจจุบันหลงเหลือเพียงภาพเดียว เหนือประตูทางเข้าด้านหลัง
- วัดยางหลวง
ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา เส้นทางเดียวกับวัดป่าแดด ไม่ไกลกันมาก ชาวกะเหรี่ยง หรือ “ยาง” เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 24 สิ่งที่น่าสนใจ คือ กู่ปราสาท หรือ กิจกูฏ ซึ่งตั้งอยู่หลังพระประธานในวิหาร คนโบราณถือว่าเป็นประตูไปสู่สวรรค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของกิจกูฏเป็นแบบพุกามจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน
- สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง
พืชพันธุ์ที่นำมาวิจัยที่นี่ต่างมีฤดูกาลติดดอก และพักตัวผลัดเปลี่ยนกันตลอดทั้งปี ไม่ว่าวันหยุดพักผ่อนจะเป็นช่วงเดือนไหน เมื่อมาที่นี่เป็นไม่เสียเที่ยว เพราะถึงจะพลาดชมความงามของดอกซากุระ นักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมสตรอเบอรี่ปลอดสารพิษสดจากไร่แทน หรือ ถ้ามาไม่ทันช่วงท้อติดผล ก็จะได้เห็นความงามของดอกสาลี่สีขาว และไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์พร้อมกับนั่งจิบชาทอดอารมณ์ ชมวิวบนยอดดอย ยิ่งบนดอยสูงอย่างที่แม่จอนหลวงนี้มีการปรับแต่งพื้นที่แบบขั้นบันได ช่วยขยายมุมมองทัศนียภาพโดยรอบได้กว้างยิ่งขึ้น
- สวนป่าแม่แจ่ม
เป็นสวนป่าอีกแห่งหนึ่งขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 มีเนื้อที่ประมาณ 6,932 ไร่ ปัจจุบันสวนป่าแม่แจ่มได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลผ่านในเขตสวนป่า เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการล่องแพ, ปั่นจักรยานเสือภูเขา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และทางสวนป่าได้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับผู้มาเยือน อย่างครบครัน มีแคมป์ไฟ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลและอำนวยความสะดวกในยามค่ำคืน นอกจากนี้ทางสวนป่าแม่แจ่มยังสามารถที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กับนักเรียน หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการหาความรู้ และยังสามารถจัดประชุม หรือสัมมนาของภาครัฐและเอกชนได้อีกด้วย
- หมู่บ้านทอผ้าซิ่นตีนจก
อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตำบลท่าผา เป็นตำบลที่ชาวบ้านนิยมทอผ้าซิ่นตีนจกกันมาก ซึ่งทำกันถึง 150 ครอบครัว และแต่ละบ้านจะมีเครื่องทออยู่ใต้ถุนบ้าน ขณะนี้ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองชนิดนี้ กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง เพราะมีความสวยสดงดงามและลวดลายที่ออกมามีเอกลักษ์เฉพาะราคาย่อมเยา เหมาะที่จะซื้อไว้เป็นที่ระลึก