หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ (16 มกราคม พ.ศ. 2430 — 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528) เป็นภิกษุชาวไทย จำพรรษา ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
พระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง จากพุทธศาสนิกชน ทุกเพศทุกวัย ทั้งในและ ต่างประเทศ แม้หลวงปู่จะได้ลาขันธ์ไป ตั้งแต่คืนวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘ แต่ความทรงจำในกระแส เมตตา ปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ จริยาวัตรที่งดงาม พร้อมกับธรรมโมวาทอันล้ำค่า ของหลวงปู่ ก็ยังส่อง สว่างอยู่กลางใจของพวกเราชาวพุทธทุกผู้ทุกนาม
เมื่อน้อมระลึกถึงหลวงปู่ทีไร ความสุข สงบ ความโสมนัส ชื่นบาน ความสมหวัง โชคดี ความเป็นสิริมงคล จะดื่มด่ำอยู่ในจิตใจ อย่างไม่รู้อิ่มรู้คลาย ผู้ที่โชคดี มีโอกาสกราบไหว้ องค์หลวงปู่ ได้เคยฟังการปรารภธรรม แสดงธรรม จากหลวงปู่ ต่างก็ประจัษ์ความไพเราะ นุ่มนวลละมุนละไม ประดุจเสียงทิพย์ที่ไพบูลย์ด้วยธรรมะ อันเป็นสากลสัจจะ ยังความอิ่มเอิบ เบิกบาน และเป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิต หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นผู้สืบเนื้อนาบุญอันไพศาล นับเป็นพระอริยสาวก ที่ควรแก่กราบ ไหว้บูชาอย่างแท้จริง
ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เกิดในตระกูลของช่างตีเหล็ก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน(ปัจจุบันเป็นตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย และบิดามารดาของท่านได้ ตั้งชื่อว่า ญาณ ซึ่งแปลว่า ปรีชา กำหนดรู้ โดยเป็นบุตรของนายใสกับนางแก้ว รามศิริ อาชีพของบิดามารดาคือทำนา สืบเชื้อสายมาจากชาวหลวงพระบาง อพยพมานานแล้วหลายชั่วคน อาชีพพิเศษอย่างหนึ่งของนายใส ผู้บิดา คือ เป็นช่างตีเหล็ก มีความชำนาญในการหลอมเหล็ก ตีเหล็กมาก เป็นที่เลื่องลือของคนในถิ่นนั้น
ปู่และย่าไม่ปรากฏชื่อ มารดาชื่อ นางแก้ว รามสิริ ยายชื่อ ยายขุนแก้ว ตาชื่อ ตาขุนแก้ว โดยมีน้องสาวร่วมบิดา- มารดาอีกหนึ่งคนคือ นางเบ็ง ราชอักษร
มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่หลวงปู่ยังเล็ก บิดาได้มีภรรยาใหม่อีก ๓ คน ตามลำดับดังนี้
ภรรยาคนที่สอง มีบุตร ๑ คน คือนายคำ เมื่อภรรยาคนที่สอง ถึงแก่กรรมอีก
บิดาก็ได้ภรรยาคนที่สาม มีบุตรสาว ๑ คนชื่อ นางนำ หลังจากคลอดลูกสาวไม่นาน ภรรยาคนที่สาม ก็ถึงแก่กรรมอีก
บิดาจึงมีภรรยาคนที่สี่ มีบุตร ธิดา ๔ คน บุตรชายชื่อ นายฝ้าย และบุตรสาวชื่อ นางกองคาย นางตาบ และนางพวง ตามลำดับ
พอท่านมีอายุ ได้ประมาณ 5 ขวบเศษ โยมมารดาของท่านก็ล้มป่วย แม้จะได้รับการดูแลเยียวยารักษาเป็นอย่างดีจากสามี แต่อาการของท่านก็มีแต่ทรงกับทรุด ในที่สุดเมื่อท่านรู้ตัวว่า คงจะไม่รอดชีวิตไปได้แน่แล้วท่านจึงได้เรียกหลวงปู่แหวน เข้าไปใกล้ แล้วกล่าวความฝากฝังเอาไว้ว่า
ลูกเอํย…แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ล้วน กี่โกฎก็ตามแม่ไม่ยินดี แม่จะยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมา มีลูกมีเมียนะ… หลวงปู่แหวนพยักหน้า รับคำเท่านั้น ดวงวิญญาณของท่านก็ออกจากร่างไป มาอีกไม่นาน ดึกสงัดของค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่คุณยายของหลวงปู่แหวนกำลังนอนหลับสนิทก็เกิดฝันประหลาด อันเป็นมงคลนิมิตหมายที่ดีงาม ท่านจึงได้นำเอาความฝันมาเล่าสู่ลูกหลานและหลวงปู่แหวนฟัง ในวันรุ่งขึ้นว่า เมื่อคืนนี้ ยายนอนหลับและได้ฝันประหลาดมาก ฝันว่าเจ้าไปนอนอยู่ในดงขมิ้น จนกระทั่งเนื้อตัวของเจ้าเหลือง อร่ามไปหมด ดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก ยายเห็นว่า เจ้านี้จะมีอุปนิสัยวาสนาในทางบวช ฉะนั้นยายขอให้เจ้าบวชตลอดชีวิต และขอให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมียเจ้าจะทำได้ไหม
บรรพชา
จากนั้น วันเวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2439 ท่านมีอายุได้ 9 ขวบ คุณยายของท่านที่ได้เลี้ยงดูแลเอาใจใส่มาอย่างทะนุถนอม ได้เรียกท่านพร้อมกับ หลานชายอีกคนหนึ่ง ที่เป็นญาติสนิทรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้าไปหาแล้วพูดว่า ยายจะให้เจ้าทั้งสองบวชเป็น สามเณร เมื่อบวชแล้วไม่ต้องสึก เจ้าจะบวชได้ไหม ท่านหันมามองหลวงปู่แหวนอย่างตั้งใจฟังคำตอบ หลวงปู่แหวนก็พยักหน้ารับ พอใกล้เข้าพรรษา คุณยายของท่านจึงได้ตระเตรียมเครี่องบริขาร จนครบเรียบร้อยแล้ว คุณยายนำหลานชายทั้งสองไปถวายตัวต่อ พระอาจารย์คำมา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหลวงปู่ และเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย วัดประจำหมู่บ้านนาโป่งนั้นเอง เพื่อให้หลานทั้งสองได้ฝึกขานนาค และเรียนรู้ธรรมเนียมการอยู่วัด เตรียมตัวบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป จึงได้พาเด็กชายทั้งสองเข้าถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า เข้าพรรษาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์ชัย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นเด็กชาย ญาณ เป็นสามเณร แหวนนับแต่นั้นมา
หลังจากเข้าพรรษาแรกได้ประมาณสองเดือน สามเณรที่มีศักดิ์เป็นน้าชายเกิดอาพาธ สุดที่จะเยียวยาได้ จึงมรณภาพในที่สุด
การสูญเสียในครั้งนั้นทำให้ สามเณรแหวนสะเทือนใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะสามเณรนั้นเป็นทั้งญาติ เพื่อนเล่น และเป็นคู่นาคตอนบรรพชาด้วย เรียกว่าใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตั้งแต่เกิด และ ไม่เคยแยกห่างจากกันเลย
เป็นการสะเทือนใจครั้งที่สอง หลังจากสูญเสียโยมมารดามาเป็นครั้งแรก
คุณยายพยายามพูดปลอบใจสามเณร รวมทั้งพูดเตือนย้ำคำขอร้องแต่เดิมว่า “หลานจะบวชอยู่ในผ้าเหลืองไปจนตาย ตามที่เคยรับปากกับยายได้ไหม?” สามเณรแหวนยังคงรับคำหนักแน่นเช่นเดิม
ตลอดพรรษาที่ได้บรรพชา เป็นสามเณรนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้แต่ทำวัตร สวดมนต์ต์บ้างตามโอกาส เท่าที่พระภิกษุและ สามเณร ภายในวัดจะร่วมกันทำสังฆกรรม นอกจากนั้นก็จะใช้เวลา ไปในทางเล่นซุกซนตามประสาเด็ก ในที่สุดพระอาจารย์อ้วน ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน มองเห็นว่าหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ จะทำให้สามเณรน้อยไม่มีความรู้ ด้วยกิตติศัพท์ในสมัยก่อน คือ “อุบล ….เมืองนักปราชญ์ โคราช … เมืองนักมวย” ด้วยเหตุนั้น ทั่วแคว้นแดนอิสานทั้งหมด ถ้าใครต้องการศึกษา เล่าเรียนทางบาลี ทางธรรมะ จะต้องไปศึกษาเล่าเรียนตามสำนักเรียนต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสำนักที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่งด้วยกัน
จึงพาไปฝากฝังถวาย เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (ที่จริงน่าจะเป็นพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโลมากกว่า เพราะหลวงปู่แหวนเกิด 16 มกราคม 2430 ส่วนพระอาจารย์สิงห์เกิด 27 มกราคม 2432 พระอาจารย์สิงห์อ่อนกว่าหลวงปู่แหวน 2 ปี) ณ วัดบ้านสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอำเภอเกษมสีมาคือตำบลเกษมสีมา อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี) เป็นที่น่าอัศจรรย์ ขณะที่พระอาจารย์อ้วนกำลังพาสามเณรน้อย เดินฝ่าเปลวแดดสีทองมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณวัดในยามบ่ายนั้น พระอาจารย์สิงห์ขนัง ศิษย์สำคัญสูงสุดของพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานคือ พระมั่น ภูริทัตโต กำลังมองที่ร่างสามเณรน้อย พลันก็บังเกิดฤทธิ์อำนาจ แห่งอภิญญาณทำให้ท่านเห็นรัศมีเป็นแสงสว่างโอภาส เปล่งประกายออกมาจากร่างของสามเณรน้อยผู้นี้ เป็นผู้ที่มีบุญญาธิการมาเกิด ดังนั้นพระอาจารย์สิงห์ จึงได้ถ่ายทอดความรู้ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติทั้งหมดให้
การออกจาริกแสวงบุญ
- ปี พ.ศ. 2464 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
- ปี พ.ศ. 2478 ได้เข้าพบ ท่านเจ้า คุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากมหานิกายเป็น ธรรมยุติ และได้รับฉายาว่า สุจิณโณ จากนั้นได้ออกจาริกแสวงบุญต่อ ขณะที่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นฯ ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดอุบลราชธานี มีศิษย์พระอาจารย์มั่นฯ ที่มีอัธยาศัย ที่ตรงกัน 2 ท่านคือ พระขาว อนาลโย และ พระตื้อ อจลธัมโม เช่นเดียวกับคราวที่ จากท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ก็ได้ พระขาว จาริกแสวงธรรมเป็นเพื่อนจนถึงเมืองหลวงพระบาง
- ปีพ.ศ. 2489 หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระหนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋งพยายามอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธจึงดีขึ้นแต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆ ไม่ได้ นับแต่นั้นมาพระหนูได้พยายามอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูแลหลวงปู่แหวน ต่อมาพระหนูได้ดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่แหวนมีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วย เพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระหนูเท่านั้น เพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋งยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี
- ปีพ.ศ. 2505 ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี คืนวันหนึ่งพระหนูนั่งภาวนาอยู่เกิดเป็นเสียงหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาที่หูว่า จะมาอยู่ด้วยคนนะ หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวนอีกสามวัน พระอาจารย์หนูได้ถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่แหวนอยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาที่วัดดอยแม่ปั๋งด้วย
เมื่อหลวงปู่แหวนได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ครั้งแรกท่านพักอยู่ที่กุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง การมาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งนี้ ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนูว่า หน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นหลวงปู่แหวนจะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยโคตรอริยวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน
นับตั้งแต่หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นเลย เพราะอากาศทางภาคเหนือสัปปายะสำหรับท่าน หลวงปู่แหวนได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2528 สิริอายุ 98 ปี
คำสอนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
อดีตก็เป็นทำเมา อนาคตก็เป็นทำเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ละอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเป็นพุทโธ เป็นธัมโม ปัจจุบันก็พอแล้ว อดีต และอนาคตไม่ต้องคำนึงถึง เกิด แก่ เจ็บ ตาย วัน คืน เดือน ปี สิ้นไป หมดไป อายุเราก็หมดไป สิ้นไป หมั่นบำเพ็ญจิต บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนาต่อไป
แผ่เมตตาไม่มีประมาณ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ท่านสอนให้ศิษย์ทุกคนได้หัดแผ่เมตตา คือส่งความปรารถนาดีแก่คน สัตว์ ศัตรูหมู่มาร โดยแผ่ไปให้ทั่วจักรวาล ยิ่งแผ่มาก ก็ยิ่งทำให้ในสบาย รักชีวิตและทรัพย์สิน คนอื่นเหมือนกับของตนเอง สังคมก็จะมีความสุขสงบอย่างถ้วนทั่ว
หลวงปู่แนะวิธีแผ่เมตตาให้บังเกิดผล โดยให้ทำตนและจิตใจเหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก ให้ความรัก ความเอ็นดูสงสาร มุ่งหวังจะให้ลูกสุขกายสบายใจ มีอาชีพการงาน มีวิชาเลี้ยงตนเอง ได้ ความรักที่แม่ให้กับลูกเป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย และไม่ต้องการผลตอบแทนจากลูก มีแต่ให้อย่างเดียว
ถ้าเราแผ่เมตตาเหมือนกับพระอาทิตย์ส่องแสง เมตตานั้นจะมีพลังสูงยิ่ง เพราะธรรมชาติของพระอาทิตย์ขณะที่ส่องแสงไม่ได้เลือกชุมชน สรรพสัตว์ยากดีมีจน อยู่ที่สูงหรือที่ต่ำ จะใกล้หรือไกล ก็ได้รับความร้อนเท่ากัน
เมตตาธรรมก็เช่นกัน ขอให้แผ่ไปให้แก่ชนทุกชั้นทุกระดับ ใครจะรับได้มากน้อย สุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น
ผู้เขียน (รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์) เพิ่งประจักษ์ในความวิเศษของพระพุทธศาสนาเมื่อปี ๒๕๒๖ นี้เอง ก่อนหน้านั้นมัวไปลุ่มหลงศึกษาวิทยายุทธจากฝรั่งชาติตะวันตกอยู่นาน และเพิ่งมารับสัมผัสบารมีธรรมของหลวงปู่แหวน ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ เมื่อครั้งติดตามหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ไปกราบหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ที่วัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
หลวงปู่แหวน ท่านเคยอยู่ที่วัดป่าบ้านปง (วัดอรัญญวิเวก ในปัจจุบัน) นานถึง ๑๑ ปี ก่อนจะย้ายไปพำนักที่ดอยแม่ปั๋ง และหลวงพ่อเปลี่ยน ก็ได้ตามไปอุปัฎฐากหลวงปู่เสมอมา จนกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน
หลวงพ่อเปลี่ยน เล่าให้ฟังว่า “ทุกคืน หลวงปู่แหวน ท่านจะแผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล แต่แปลก ที่ประเทศรัสเซีย กับประเทศบริวารรับกระแสเมตตาของท่านได้บ้างเล็กน้อย ส่วนเวียตนามไม่ยอมรับเลย สะท้อนกลับคืนหมด ประเทศเขาจึงวุ่นวายตลอด มาภายหลังก็เริ่มรับได้มากขึ้น และหลวงปู่ บอกให้หลวงพ่อเปลี่ยน ช่วยแผ่เมตตาให้ประเทศเวียตนามมากๆ ให้ทำทุกคืน
หลวงพ่อเปลี่ยน ท่านว่า “พลังจิตของหลวงปู่เปรียบได้กับแสงพระอาทิตย์ ของอาตมา เป็นแค่แสงหิ่งห้อย เปรียบกันไม่ได้ แต่อาตมาก็ทำตามที่หลวงปู่บอกทุกคืน ตอนนี้เขาเริ่มดีขึ้น และจะดีขึ้นเรื่อยๆ …”
หลวงพ่อปรารภว่า ท่านอยากเอาหนังสือธรรมะไปแจก โดยเฉพาะแจกให้ “พวกตัวใหญ่ๆ”ซึ่งท่านรู้ว่าควรจะแจกให้ใคร และที่ใด เป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้เขียนจึงได้มีส่วนร่วม ด้วยการไปหาผู้แปลและจัดพิมพ์หนังสือ “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” ซึ่งเป็นคำเทศน์ของหลวงพ่อ ออกมาเป็นภาษาเวียตนาม ตามความ ประสงค์ของท่าน
ณ จุดนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนและครอบครัว จึงได้เริ่มสัมผัสกระแสเมตตา และได้รับรู้เรื่องราว เกี่ยวกับบารมีธรรม ของหลวงปู่แหวนมาโดยลำดับ นับเป็นบุญและเป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิต ตลอดมา
ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นพระป่าธรรมดาๆ ไม่มียศศักดิ์ หรือตำแหน่งใดๆ แต่คุณธรรม ความดีของท่านก็ยังคงอยู่ในความทรงจำ ของมหาชน อย่างกว้างขวางตลอดมา
หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านแล้ว อัฐิของท่านได้แปรเปลี่ยนเป็นพระธาตุ ใสดังแก้วผลึกที่งดงามมาก ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของผู้ได้ได้เห็น จึงไม่มีความสงสัยเคลือบแคลง ในความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ในจิตของท่าน
เมื่อครั้งยังดำรงขันธ์อยู่ หลวงปู่มีจิตคงที่ ไม่แสดงอาการขึ้นลงตามกระแสใดๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน ท่านไม่รู้สึกหวั่นไหว ไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ใครอยากขอ อยากทำอะไรกับ ท่านก็ทำไป ถ้าไม่เป็นการล่วงละเมิดวินัยสงฆ์ ท่านจะเมตตาสงเคราะห์ให้เสมอ
การเทศน์การสอนของหลวงปู่ ท่านมักสอนให้ละอดีต ให้ละอนาคต โดยท่านบอกว่า “นั่นมัน ธรรมเมา ถ้าจะให้เป็นธรรมา ต้องให้จิตแน่วนิ่งลงในอารมณ์ปัจจุบัน”
ใครถามประวัติหนหลังของหลวงปู่ ท่านจะบอกว่า “ฮาบ่มีอดีต ฮาบ่มีอนาคต” ซึ่งแสดงว่า จิตของท่านตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันเสมอ
ผู้รู้ในแนวทางพระพุทธศาสนา อธิบายว่า “ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่แต่ในอารมณ์ปัจจุบันได้เสมอ กิเลสเครื่องเศร้าหมองย่อมจะครองใจไม่ได้ แล้วกิเลสอะไรจะครองใจของหลวงปู่อยู่อีกล่ะ”
ใครไม่เชื่อว่า หลวงปู่แหวน เป็นพระอรหันต์ ก็ตามใจ !
ปาฏิหาริย์หลวงปู่แหวน
ประมาณปี พศ.2512-2514 มีข่าวฮือฮาว่านักบินกองทัพอากาศไทยที่เชียงใหม่ ขับเครื่องบิน T28 แล้วเห็นพระนั่งสมาธิบนก้อนเมฆ
เรื่องมีอยู่ว่า นักบินแห่งกองทัพอากาศไทยคนหนึ่ง ขณะบินอยู่นั้น (ผู้เขียนไม่ทราบว่าบินสูงแค่ไหน เอาเป็นว่าบินอยู่บนท้องฟ้า ปะปนอยู่กับหมู่เมฆ) เขาก็สังเกตเห็นพระรูปหนึ่งนั่งสมาธิอยู่นอกเครื่องบิน แน่ละ…เขาคิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดจึงเล่าให้เพื่อนฟัง แต่ก็ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป นักบินคนนั้นกางแผนที่สำรวจว่าบริเวณนั้นคือที่ไหน ก็พบว่าอยู่เหนือดอยแม่ปั๋ง เขาเดินทางไปที่นั่นและสอบถามชาวบ้านจนได้รู้ว่าหลวงปู่แหวนเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมากที่สุด เขาจึงปลงใจเชื่อว่าน่าจะเป็นรูปเดียวกันกับที่เขาเห็น
นาย Charles Browne เป็นผู้เขียนลงนิตยสาร Asia Magazine (3 ส.ค. 2523)ชื่อเรื่อง “เจ้าคิดว่าเราเป็นนกหรือ” เป็นเรื่องที่นักบินคนหนึ่งของกองทัพอากาศ มาตามหาพระสงฆ์ไทยที่เค้าเจอบนฟ้า เค้าเล่าให้ใครฟังก็ไม่มีใครรู้จัก เค้าจึงกางแผนที่สำรวจบริเวณนั้นพบว่าอยู่ตรงดอยแม่ปั๋ง
เขาจึงได้เดินทางไปสอบถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่านั่นคือหลวงปู่แหวน(ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง)อยู่วัดดอยแม่ปั๋ง หลังจากนั้นเรื่องก็เริ่มเป็นที่โจษขาน ยิ่งนายชาร์ล บราวน์นำเรื่องนี้มาลงนสพ
หลวงปู่แหวนได้อาพาธที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด ขณะนั้น ได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง จากนั้นได้มาพำนัก ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นต้นมา กระทั่ง เมื่อเวลา ๒๑.๕๔ น. วันที่ ๒ ก.ค.๒๕๒๘ หลวงปู่แหวน ได้มรณภาพ ที่โรงพยาบาลมหาราช จ.เชียงใหม่ สิริอายุรวมได้ ๙๘ ปี ๕ เดือน ๑๖ วัน พรรษา ๕๘
อาจารย์หนู หรือ พระครูจิตตวิโส ธนาจารย์ เจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง เผยว่า หลวงปู่แหวน เมื่อครั้งยังไม่อาพาธ ได้สั่งเอาไว้ว่า ถ้าหากหลวงปู่แหวนมรณภาพไม่ให้เอาศพเก็บไว้นาน สวดเสร็จก็ให้เผาเลยใน ๓ วัน การเก็บไว้นานจะเป็นภาระให้กับลูกศิษย์ และทำให้คนเดือดร้อน
อย่างไรก็ดี ได้มีการเก็บสรีระร่างหลวงปู่แหวนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สักการะ ในขณะที่งานสวดอภิธรรมศพดำเนินไปอยู่นั้น ได้เกิดเรื่องฮือฮาขึ้น เมื่อมีผู้ถ่ายภาพภายในงานกุศลศพหลวงปู่แหวน ได้พบภาพเงาสีขาวคล้ายหลวงปู่แหวน ยืนถือไม้เท้าที่หน้าคณะแพทย์ที่นั่งพนมมือ จนกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเอิกเกริก นอกจากนี้ เมื่อมีการพิสูจน์ฟิล์ม ก็ไม่พบการแต่งเติม ขณะที่ชาวบ้านเมื่อทราบข่าวก็ได้ขออัดภาพเพื่อนำไปบูชานับพันรูป
กระทั่ง วันที่ ๑๗ ม.ค.๒๕๓๐ ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แหวน ซึ่งหากยังมีชีวิต ท่านจะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี กับอีก ๑ วัน ซึ่งหากนับรวมวันที่จัดพิธีสงฆ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๐-๑๕ ม.ค. พบว่ามีประชาชนร่วมงานอาลัยหลวงปู่แหวนกว่า ๕ แสนคน ขณะที่สื่อต่างประเทศก็รายงานบรรยากาศ
ลูกศิษย์สำคัญ
- สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม กรุงเทพมหานคร
- พระราชอุดมมงคล (เอหม่อง อุตฺตมรมฺโภ)
- พระครูจิตตวิโสธนาจารย์ (พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต) วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
- พระโสภณวิสุทธิคุณ (พระอาจารย์บุญเพ็ง กปฺปโก) วัดป่าวิเวกธรรม จ.ขอนแก่น
- หลวงปู่ทา นาควัณโณ วัดศรีสว่างนาราม จ.อุบลราชธานี
- หลวงปู่คำพอง ขนฺติโก วัดป่าอัมพวัน จ.เลย
- พระศีลสังวร (พระอาจารย์เจริญ ราหุโล) วัดพระธาตุเขาน้อย จ.ราชบุรี
- พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปญฺโญ วัดใหม่บ้านตาล จ.สกลนคร
- พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญวิเวก จ.เชียงใหม่
- พระครูจิตตโสภณ (โสม สุจิตโต)วัดพระบาทภูพานคำ จ.ขอนแก่น
- พระอาจาย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ จ.เชียงใหม่
- พระอาจารย์สมหมาย จิตฺตปาโล วัดป่าอนาลโย จ.นครปฐม
- พระอาจารย์ทวี จิตฺตคุตฺโต วัดอรัญวิเวก (ป่าลัน) จ.เชียงราย
- พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสโก วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี
- พระโพธิญาณมุนี (พระอาจารย์เมือง พลวฑฺโฒ) วัดป่ามัชฌิมวาส จ.กาฬสินธุ์
- พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทสีโล วัดป่ากิ่วดู่ จ.เชียงใหม่
- พระอาจารย์ไสว วํสวโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย
- พระอาจารย์เลื่อน โอภาโส วัดพระธาตุฝุ่น จ.สกลนคร
- พระอาจารย์สามดง จนฺทโชโต วัดป่าอรัญญพรหมมาราม จ.นคราชสีมา
- พระอาจารย์ประดิษฐ์ คุณสัมปันโน แห่งวัดเขาคีรีรมย์ อ.พาน จ.เชียงราย