หมาก ไม้มงคลคู่ชีวิตคนล้านนา

0
2015

ความสำเร็จในชีวิตคนเรามีเหตุปัจจัยหนุนนำมาจากความศรัทธาในสิ่งที่ตนนับถือ เป็นบ่อเกิดของความหวังและพลังใจ กลายเป็นความเชื่อและมุ่งมั่นไปสู่สิ่งที่ตนปรารถนา

ชีวิตผู้คนชาวล้านนามีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งลี้ลับที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผี” ผีมีทั้งดีและร้าย มีทั้งผีเจ้าผู้สูงส่งจนกระทั่งผียาจกที่ไม่มีจะกิน ผีซึมซับอยู่ในทุกเรื่องราวของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลและสังคมส่วนรวม ผีมีความสำคัญที่ช่วยดลบันดาลให้ประสบสิ่งที่ตนต้องการหรือผีอาจลงโทษให้ได้ รับความเดือดร้อนเมื่อคนทำผิดกฎกติกาที่ตั้งไว้

ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นกระทำสิ่งใด ผู้คนชาวล้านนาจึงต้องมีการบอกกล่าวแก่ผู้ที่ตนศรัทธานับถือตั้งแต่การเริ่ม สร้างครอบครัว การให้กำเนิดชีวิตใหม่ การกระทำภารกิจในการดำเนินชีวิต จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาเยือน สิ่งลี้ลับที่ผู้คนนับถือจะต้องรับรู้ด้วยเช่นกัน

หมาก เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการรับรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เช่นเดียวกับใบพลู ต้นอ้อย ต้นกล้วย และส้มป่อย พืชที่ใช้ในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กลายเป็นดีของผู้คนชาวล้านนา

หมาก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลปาล์มที่คุ้นเคยกับผู้คนมาช้านาน หมากเป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นเดี่ยวไม่แตกกอ ซึ่งจะสูง 10-18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 นิ้ว ระยะแรกจะมีการเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง หลังจากหยุดเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง รูปทรงกระบอกตรง หมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ยอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบ เรียกว่า ข้อ ข้อของหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี หมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ ต้นหมากมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวๆ จับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร ส่วนกลางลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่นเหมือนด้านนอกและมีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้าย ฟองน้ำ ทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกเอนได้มาก ใบหมากมีลักษณะใบประกอบแบบขนนกสีเขียวตลอดทั้งปี ผลสุกมีสีส้มแดง ช่อดอกหมากจะเป็นช่อยาวลงมาสวยงามเหมือนตุ้มหูของผู้หญิง

ผลของหมาก ใช้เป็นยากำจัดหนอน ในเวลาที่วัว ควาย เป็นแผลและมีหนอน ก็ใช้เมล็ดหมากปิดที่ปากแผล หนอนก็จะตายหมด ใช้เป็นยาสมานแผล เวลาเกิดแผลมีดบาดมือ ก็จะใช้เนื้อหมากมาปิดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลและแผลจะหายเร็ว ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ ใช้เป็นของขบเคี้ยวเพื่อรักษาเหงือกและฟันให้คงทน รักษารากฟัน ช่วยรักษาแผลพุพอง กลาก เกลื้อน ใช้ลดผดผื่นคัน แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง ขับลม เจริญอาหาร ใช้รักษาเป็นลมหน้ามืด ถ้าไอจะอมตับหมาก ความฝาดของหมากทำให้อาการไอลดลง ในทางอุตสาหกรรมหมากใช้ทำสีย้อมแห อวน ทำให้นิ่มอ่อนตัว ยืดอายุการใช้งานได้นาน

วิถีชีวิตผู้คนชาวล้านนา ผูกพันและคุ้นเคยกับหมากเป็นอย่างดี นับแต่เกิดจนตาย เริ่มต้นการมีชีวิตคู่ก็มีขันหมากจากเจ้าบ่าวเพื่อไปขอสาว แต่ถ้าไม่มีพิธีแต่งงานก็เพียงแค่บอกผีปู่ย่าของแต่ละฝ่ายรับรู้ และหนึ่งในเครื่องประกอบพิธีกรรมนั้นคือ หมาก เมื่อมีลูกน้อยเกิดออกมาก็ใช้หมากคำพลูใบ (ชาวบ้านจะใช้หมากปริมาณที่ใช้สำหรับเคี้ยว 1 คำ อาจเป็นหมากดิบหรือหมากแห้งก็ได้ วางบนใบพลูที่ใช้เคี้ยวกับหมาก) บอกกล่าวผีปู่ย่าที่นับถือให้ปกปักรักษาลูกน้อยให้อยู่เย็นเป็นสุข

ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปทำมาค้าขายต่างถิ่นก็จะบอกกล่าวผีปู่ย่า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือเพื่อให้ทำมาค้าขายคล่อง หรือจะทำเรือกสวนไร่นาก็บอกกล่าวแก่เจ้าที่และแม่ธรณีเพื่อตั้งสัจจะว่าจะ ฟันไร่ไถนาให้บรรลุผลในการเพาะปลูก เป็นการตั้งจิตอธิษฐานจึงเกิดความมุ่งมั่นพยายามทำให้ได้เพราะได้บอกกล่าว กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้แล้ว โดยมีสื่อกลางคือหมากคำพลูใบนั่นเอง วิธีการนี้ชาวบ้านเรียกว่า การปกป่าว

ผู้คนเมื่อได้ปกป่าวแก่สิ่ง ศักดิ์สิทธิ์แล้วจะรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้ เช่น ก่อนออกไปล่าสัตว์ได้ปกป่าวเจ้าที่ว่าวันนี้ขอสัตว์ใหญ่สัก 2 ตัว ก็จะล่าเพียง 2 ตัว เท่านั้น ถึงแม้มีโอกาสพบสัตว์ใหญ่ตัวที่ 3 ก็ตาม หากผู้ใดไม่รักษาสัจจะตามที่ได้ปกป่าวไว้จะมีเหตุให้ได้รับความเดือดร้อน เช่น ไม่สบาย หรือเป็นไข้ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนี้ก็จะไปขอขมาแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ทำผิดสัจจะ เชื่อว่าความเดือดร้อนก็จะคลายไปได้

ช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ชาวล้านนาจะมีการรดน้ำดำหัวและนำสิ่งของไปมอบให้แก่ผู้ที่ตนนับถือ ได้แก่ หมาก เมี่ยง บุหรี่ พริก หอม กระเทียม หรือผลไม้ ขิง ข่า เป็นต้น เพื่อขอขมาลาโทษและขอพรปีใหม่ให้ตนเองและผู้ที่รักมีความสุขตลอดปีใหม่ที่ กำลังจะมาเยือน

นอกจากหมากจะเป็นส่วนประกอบสำคัญ ในฐานะเป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างคนและสิ่งลี้ลับที่ตนนับถือแล้ว ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของคนล้านนายังมีหมากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยใช้เป็นเครื่องสักการบูชา อันประกอบไปด้วยสิ่งของห้าอย่าง ได้แก่

สุ่มดอก ต้นดอก หรือหลักบายศรี เป็นเครื่องสักการบูชาประเภทหนึ่งที่ใช้ใบไม้ ดอกไม้ ตกแต่งคล้ายกับบายศรี ทำรูปลักษณะเหมือนกรวย หรือเป็นพุ่ม

หมากสุ่ม คือ การนำผลหมากที่ผ่าซีกแล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวง ตากแห้งเก็บไว้กิน ซึ่งคนทางภาคเหนือเรียก “หมากไหม” มาปักคลุมโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นต้นพุ่มไว้

หมากเบ็ง มีลักษณะเดียวกับหมากสุ่ม แต่ใช้ผลหมากดิบหรือหมากสุกทั้งลูกแทน มีจำนวน 24 ลูก ผูกติดตรึงโยงไว้กับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม ลักษณะการผูกโยงตรึงกันนี้ คนเหนือเรียกว่า “เบ็ง” จึงเป็นที่มาของชื่อต้นพุ่มชนิดนี้

ต้นผึ้ง ทำถวายเพื่อให้พระสงฆ์นำไปทำเป็นเทียน โดยอาจนำขี้ผึ้งมาปั้นเป็นลูกๆ หรือสลักเป็นดอก หรือเข้าแบบ โดยใช้ก้นมะละกอดิบที่ปอกเปลือกแล้วจุ่มลงในขี้ผึ้งที่นำมาละลายก่อนยกจุ่ม ในน้ำเย็น ก็จะได้ดอกผึ้งหลุดล่อนออกมา แล้วนำไปประดับยังหยวกกล้วยที่ตัดเป็นเสมือนต้นไม้ให้กลายเป็นต้นผึ้งสวยงาม

ต้นเทียน เป็นการนำเทียนเล่มเล็กๆ มาผูกห้อยกับโครง เพื่อให้พระสงฆ์เก็บนำไปใช้สอยได้เลย สะดวกกว่าต้นผึ้งที่ต้องสะสมไปหล่อเทียนเอง

เครื่องสักการะทั้งห้าอย่างดังกล่าวเป็นการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรืออาจใช้คารวะบุคคลผู้มียศศักดิ์ ครูบาอาจารย์ และผู้ที่เคารพนับถือก็ได้ โดยเฉพาะในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในประเพณีปี๋ใหม่เมือง

หมาก ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับส้มป่อยที่คนล้านนาใช้ประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนาและความเชื่อในการบูชาพระพุทธรูป หิ้งพระ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวบ้านก็คือ หมาก บุหรี่ ส้มป่อย แม้แต่พุ่มดอกไม้ที่ใช้ประดับขันแก้วทั้งสามกลางวิหารในวัดที่ใช้บูชาพระ รัตนตรัยก็จะประดับด้วยหมากดอกไม้หอมเพื่อเป็นพุทธบูชา

นอกจากนี้ การบูชาครูอาจารย์ที่เรียกว่า การตั้งขันหรือขันครู ก็จะมีหมากเป็นส่วนประกอบ ในพิธีสืบชะตาของคนล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการสืบชะตาเมือง สืบชะตาบ้าน ชะตาของคน ต้นกล้าหมากหรือผลของหมากเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะนำผลหมากหรือกล้าหมากไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ในช่วงที่หมากแก่และสุกพร้อมเก็บเกี่ยวเดือน 8-9 เหนือ ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ชาวบ้านในอดีตจะจุดตะเกียงเจ้าพายุช่วยกันผ่าหมากเสียบหมาก โดยผู้ชายจะนำเอาหมากดิบมาผ่า (หั่น) เป็นซีกเล็กๆ ผู้หญิงจะเป็นคนเสียบหรือร้อยหมาก โดยใช้เข็มขนาดใหญ่ที่มีความกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1 ไม้บรรทัด แล้วใช้เชือกปอแช่น้ำจนนิ่มร้อยตรงกลางให้เชือกผ่านเนื้อหมากและเปลือก เสียบหรือร้อยเป็นแถวคล้ายร้อยลูกปัด โดยใช้หมากเสียบให้ยาวจนหมดความยาวของเข็ม จากนั้นใช้เชือกปอสอดตรงก้นเข็มที่มีรู ดึงหมากที่อยู่ในเข็มให้ลงไปอยู่ในเชือกปอแทน จากนั้นจัดหมากให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน นำมากองรวมกันก่อนจะนับจำนวนและนำไปตาก ความยาวของหมากที่เสียบแล้วประมาณ 1 ศอก เรียกว่า ไหม หรือไจ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งในวันรุ่งขึ้น โดยใช้ตากบนแตะ (ไม้ไผ่สานขัดแตะใส่เป็นที่ตากสิ่งของให้แห้ง เช่น ข้าวควบ ยาขื่น เป็นต้น) เมื่อหมากแห้งแล้วนำมามัดรวมกัน ชาวบ้านมักเรียกหมากตากแห้งว่า ไหมหมากหรือหมากตากแห้ง มีการนับจำนวนหมากที่เสียบแล้ว ดังนี้

10 ไจ เป็น 1 หมื่น

10 หมื่น เป็น 1 แสน

(คนล้านนาจะมีจำนวนนับ เช่น เหล้าก็นับเป็นพัน หมื่น แสน ส่วนข้าวก็จะนับเป็นตาง)

การเสียบหมากสะท้อนวัฒนธรรมการร่วมมือกัน ชาวบ้านที่เรียกว่า การเอามื้อเอาวัน คือถ้าบ้านไหนที่ขึ้นหมากมาพร้อมจะผ่าและเสียบแล้ว ชาวบ้านก็จะไปช่วยกัน มีการพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์การประกอบอาชีพ เล่าถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นการสังสรรค์ในกลุ่มที่มาช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคี มีการถ่ายทอดเรื่องราวของหมู่บ้าน อาจเป็นเรื่องเล่าตลกของคนในหมู่บ้าน เรื่องการทำมาหากิน แต่เด็กๆ จะชอบฟังเรื่องผีที่ทั้งสนุกและน่าขนลุก ภายใต้บรรยากาศที่มองออกไปนอกบ้านเจอแต่ความมืดของค่ำคืน สายลมเย็นๆ ที่มากระทบผิว ก้มดูไม้กระดานที่นั่งอยู่ก็มีรอยโหว่ เด็กๆ จะมากองรวมกันเป็นกระจุกเดียว พร้อมส่งเสียงกรี๊ดด้วยความกลัวเป็นพักๆ แต่ก็ไม่ยอมให้ผู้ใหญ่หยุดเล่า

พอตกดึกก็จะมีขนมหวานเลี้ยงกัน โดยเฉพาะกลอยนึ่ง คลุกงา มะพร้าวขูด น้ำตาล และใส่ฟักทองหั่นเป็นชิ้นๆ ลงไป เป็นของว่างที่เด็กๆ โปรดปราน เพราะสมัยก่อนขนมไม่มีให้เด็กเลือกกินมากมายเหมือนสมัยนี้

ในวิถีชีวิตชาวบ้านก็ใช้หมากเป็นของรับแขกเช่นเดียวกับเมี่ยงและบุหรี่ สมัยก่อนคนนิยมเคี้ยวหมาก แม้กระทั่งพระสงฆ์ ฤๅษี ก็เคี้ยวหมาก ดังนั้น พระสงฆ์หรือผู้ทรงศีลที่ชาวบ้านนับถือ ขี้หมากที่พระเคี้ยวแล้วยังเป็นที่ปรารถนาของชาวบ้าน บางครั้งถึงกับแย่งกันก็มี คนที่ได้ก็จะนำไปเป็นสิ่งบูชาเช่นเดียวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ

ในการกินหมาก คนล้านนาจะกินกับใบพลู ผู้เฒ่าอายุมากไม่สามารถจะเคี้ยวหมากได้ ก็มักจะตำให้แหลกเป็นคำๆ ก่อน ส่วนขี้หมาก (หมากที่เคี้ยวจนหมดรสชาติ) จะเป็นที่รังเกียจของผู้คน จนมีคำเปรียบเปรยคนที่ทำตัวน่ารังเกียจ ไม่มีประโยชน์ ชาวบ้านจะเรียกว่า เป็นไอ้ขี้หมากขี้เมี่ยง คนเช่นนี้จะไม่มีใครอยากเข้าใกล้

ภาชนะบรรจุหมากพลูและอุปกรณ์ในการเคี้ยวหมาก เรียกว่า ขันหมาก ก็จะมีการตกแต่งประดับประดาตามฐานะเจ้าของ เช่น ทำจากดินเผา กระบอกไม้ จากไม้สัก หรือไม้ชนิดอื่นๆ ทำจากหินประดับ ทำจากดีบุก ทำด้วยเหล็ก หรือเงิน ทองคำ เป็นต้น ขันหมากจะเป็นสิ่งหนึ่งที่แบ่งแยกฐานะชนชั้นของผู้เป็นเจ้าของได้

นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับหมาก เช่น มีดผ่าหมากของผู้ชาย ลักษณะคล้ายมีดดาบ แต่ตัวมีดจะสั้นกว่า ยาวประมาณ 1 คืบ แต่จะมีด้ามยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เวลาผ่าหมากผู้ชายจะนั่งชันเข่าข้างหนึ่งแล้วใช้ด้ามมีดวางขาอีกข้างที่ เหยียดออกไปเพื่อสะดวกในการผ่า เข็มเสียบหมากของผู้หญิง ลักษณะเหมือนเข็มเย็บผ้า แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า

กาบหมากสามารถนำมาทำเป็นพัดช่วยคลายร้อนได้ หรือใช้กาบหมากรองกล่องข้าวเหนียว เพื่อรักษาความร้อน ทำให้ข้าวเหนียวอุ่นอยู่ได้นาน และป้องกันความชื้นแฉะจากไอของข้าวเหนียวที่ร้อนอยู่ในกล่องได้ กาบหมากลอกออกมาใช้ทำมวนบุหรี่แทนกระดาษได้ เด็กๆ จะนำกาบหมากมาลากโดยให้คนหนึ่งนั่งบนกาบหมากและให้อีกคนลากตามพื้น เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ให้ความสนุกสนานแก่เด็ก ไม่ต้องใช้เงินซื้อความสุขและยังได้เรียนรู้อารมณ์ผู้อื่น มีสังคมกับกลุ่มเพื่อนซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป

หนุ่มสาวชาวลานนายังได้ใช้หมากเป็นสื่อรัก ในอดีตหนุ่มสาวจะเที่ยวจีบสาวในเวลากลางคืนหลังกินข้าวแลงหรืออาหารมื้อเย็น เสร็จ เรียกว่า แอ่วสาว ฝ่ายหญิงก็มักจะเตรียมแอ็บหรือสำรับหมากไว้ต้อนรับแขก แต่ถ้ามีคู่รักแล้วหญิงสาวก็มักจะนำแอ็บหมากหรือขันหมากให้คู่รักของตนโดย เฉพาะ

หมาก เป็นไม้มงคล ที่มีบทบาทสำคัญคู่วิถีชีวิตผู้คนล้านนา โดยเฉพาะในด้านพิธีกรรมและความเชื่อตามค่านิยมของชุมชน ตลอดจนความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่ช่วยให้ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ได้โดย ไม่ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวใจ เพราะตราบใดที่ใจยังมีพลังและความเชื่อ ชีวิตย่อมมีความหวังและอยู่รอดต่อไป