สืบจาต๋า พิธีกรรมต่ออายุให้ยืนยาว

0
1266

ชีวิตคนเราต่างมีแนวทางหรือดำเนินไป ไม่ว่าจะเป็นดี ชั่ว สุข หรือทุกข์ สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า จาต๋า (ชะตา) ชีวิต บางช่วงของชีวิตอาจมีชะตาดี ความสำเร็จทุกอย่างที่เข้ามาดูเหมือนง่ายไปหมด แต่บางครั้งอาจพบชะตาร้ายที่ทุกอย่างรุมเร้าให้เร่าร้อนและหาทางออกไม่เจอ

เมื่อคราวใดที่ชีวิตมีเรื่องทุกข์ร้อนเกิดขึ้น อาจเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ โดยเกิดจากความเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ หรือมีเรื่องที่ทำให้เสียข้าวของเงินทอง พบเรื่องราวเลวร้าย อาจถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เกิดความกังวลทำให้จิตใจหม่นหมอง สิ่งเหล่านี้คือ ชะตาร้ายหรือชะตาขาด ผู้คนชาวล้านนามีความเชื่อว่า ชะตาร้ายสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ด้วยพิธีกรรมที่เรียกว่า การส่งกิ่ว การบูชานพเคราะห์หรือการทำพิธีสืบจาต๋า (สืบชะตา) เป็นต้น

การสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้ชะตาชีวิตดำเนินต่อไป เป็นการต่ออายุให้ยืนยาวเป็นสิริมงคล มีความสุขความเจริญ การสืบชะตาของผู้คนล้านนาเกิดจากความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์สืบชะตา ซึ่งกล่าวไว้ว่า

ในสมัยพุทธกาลนั้น พระสารีบุตรรับเอาสามเณร อายุ 7 ปี รูปหนึ่ง ชื่อติสสะ มาอยู่ในความดูแลของท่านเป็นเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีกแค่ 7 วัน เท่านั้น ท่านจึงเรียกสามเณรไปพบ แล้วแจ้งให้สามเณรทราบ แล้วให้สามเณรไปบอกกล่าวญาติพี่น้องเสีย สามเณรจึงนมัสการลาพระสารีบุตรเพื่อไปสั่งความแก่ญาติมิตร ระหว่างทางที่สามเณรเดินทางกลับไปนั้น สามเณรได้พบสระน้ำที่กำลังจะแห้งและในสระนั้นมีปลาที่กระเสือกกระสนรอความ ตายอยู่ จึงเอาบาตรช้อนปลาเหล่านั้นไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ ต่อมาก็ได้พบอีเก้งที่ติดแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยเก้งให้รอดพ้นจากความตายอีก เมื่อกลับถึงบ้านสามเณรก็เล่าเรื่องตามที่พระสารีบุตรบอก พร้อมทั้งสั่งลาญาติพี่น้องเพื่อเตรียมตัวที่จะตาย ทุกคนที่ทราบเรื่องต่างร่ำไห้ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ สงสารสามเณรและรอเวลาที่สามเณรจะมรณภาพ

ครั้นครบกำหนดตามที่พระสารี บุตรบอกไว้ แต่สามเณรก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ตามปกติ สามเณรจึงเดินทางไปหาพระสารีบุตรและเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนได้กระทำ พระสารีบุตรจึงสรุปเรื่องจากเหตุการณ์ทั้งหลายว่า การที่ได้ประกอบกุศลกรรมนั้นสามารถต่ออายุให้ยืนยาวได้

ดังนั้น การสืบชะตาจึงเป็นการสร้างกุศลกรรมที่ยิ่งใหญ่ สามารถสืบต่ออายุให้ยืนยาวได้ ผู้คนชาวล้านนาจึงมีการสืบทอดพิธีกรรมสืบชะตามาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นผลของอานิสงส์การสืบชะตาตามความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ดังกล่าว

พิธีสืบชะตาสามารถทำได้ 3 ประเภท ได้แก่

1. สืบชะตาคน

2. สืบชะตาบ้าน

3. สืบชะตาเมือง

การสืบชะตาคน จะกระทำเมื่อบุคคลนั้นเกิดความทุกข์ร้อนหรือเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริ มงคลแก่ชีวิต โดยเริ่มจากญาติของผู้ที่จะสืบชะตาจะวาน (ขอแรง) เพื่อนบ้านใกล้เคียงมาช่วยกันแต่งดาเครื่องสืบชะตาก่อนวันทำพิธีหนึ่งวัน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย โดยผู้ชายจะไปตัดเอากิ่งไม้ค้ำ (ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้โตเร็ว ปัจจุบันหาได้ยาก จึงนิยมใช้ไม้อื่นๆ ที่หาได้ง่ายแทน) ตัดปลายกิ่งให้มีง่าม เรียกว่า ไม้ค้ำ จำนวน 2 อัน ไม้ไผ่บง 2 ท่อน ใส่สลักให้ติดกันทำเป็นสะพานคู่ และตัดไม้ไผ่ซางอีก 2 ท่อน ท่อนแรก ด้านหนึ่งใส่น้ำแล้วปิดรูด้วยใบตองแห้ง อีกด้านหนึ่งใส่ทรายแล้วปิดรู อีกท่อนหนึ่งด้านหนึ่งใส่ข้าวเปลือก อีกด้านใส่ข้าวสารแล้วปิดรู เรียกท่อน (บอก) ไม้ไผ่นี้ว่า บอกน้ำ บอกทราย บอกข้าวเปลือก และบอกข้าวสาร ความยาวของไม้ค้ำ สะพานและกระบอกไม้ไผ่นี้จะมีความยาวเท่าความสูงของผู้ที่จะสืบชะตาหรือเจ้า ชะตา นอกจากนี้ ผู้คนยังต้องจัดเตรียมหน่ออ้อย หน่อกล้วย กล้าหมาก และกล้ามะพร้าวเพื่อนำมาประกอบพิธีด้วย

ส่วนผู้หญิงมักได้ทำหน้าที่ ในการตกแต่งเครื่องประกอบพิธีกรรม โดยจะนำก้านกล้วยมา 2 ก้าน สูงเท่ากับไม้ค้ำใช้ตอกแข็งเสียบก้านกล้วย 2 อัน ทำคล้ายกับบันไดกว้าง ประมาณ 40 เซนติเมตร แล้วผูกด้ายดึงจากบนลงล่าง จำนวน 6 สาย แล้วผูกหอยเบี้ย หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ เงิน ทองคำ กล้วย อ้อย อีกสายหนึ่ง รวมทั้งหมด 6 สาย เรียกว่า ลวดเงิน ลวดคำ แต่คนปัจจุบันจะนิยมใช้กระดาษเงิน กระดาษทอง ม้วนทำเป็นหลอดแล้วร้อยด้ายเป็นลวดเงิน ลวดคำแทน เพราะสะดวกและง่ายต่อการจัดเตรียมมากกว่า จากนั้นจะใช้ขี้ผึ้งฟั่นเทียน เรียกว่า สีเทียน ขนาดโตเท่าหัวแม่มือ ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าชะตา ตัดกระดาษสาทำเป็นตุงให้มีลักษณะคล้ายคนยืนให้มีความสูงเท่าเจ้าชะตา จากนั้นตัดกระดาษเป็นธงสามเหลี่ยม กว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8 เซนติเมตร จำนวนเท่าอายุของเจ้าชะตาแล้วปักกับก้านกล้วย นอกจากนั้นพวกผู้หญิงจะมีการแต่งดาเครื่องขันตั้งขันครูให้กับปู่อาจารย์ (ผู้ประกอบพิธี) ที่จะมาทำพิธีให้ ประกอบด้วย หมากไหม ผ้าขาว เทียนขี้ผึ้ง นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมเสื่อใหม่ หม้อ (หม้อดิน) ใหม่ ข้าวเปลือก ข้าวสาร เตรียมใส่กระบุงไว้

เมื่อถึงวันสืบชะตาปู่อาจารย์ก็จะประกอบพิธีกรรม หลังจากที่ผู้เฒ่าผู้แก่ตั้งเครื่องสืบชะตาที่เรียกว่า โขงชะตา นำเครื่องขันปู่อาจารย์ไปตั้งไว้หน้าโขงชะตา จากนั้นให้คนที่จะสืบชะตาเข้าไปนั่งในโขงชะตาแล้วประเคนเครื่องขันตั้งและ ขันน้ำมนต์แก่ปู่อาจารย์ ปู่อาจารย์ก็จะยกภาชนะที่ใส่กรวยดอกไม้ หมากพลูขึ้นเพื่อนึกถึงคุณครูอาจารย์ จากนั้นจุดเทียนน้ำมนต์แล้วกล่าวคำสืบชะตาเป็นภาษาบาลี เมื่อกล่าวเสร็จแล้วก็จะประพรมน้ำมนต์แก่ผู้สืบชะตา ถือเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นพวกญาติๆ จะนำไม้ค้ำไปพิงที่ต้นโพธิ์ในวัด เอาไม้สะพานไปพาดตามลำเหมืองเพื่อให้คนข้ามสัญจรไปมา และนำกล้าไม้ที่ใช้ทำพิธีไปปลูกในวัดหรือที่สาธารณะเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นๆ ต่อไป

ขั้นตอนพิธีกรรมและรายละเอียดต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัยและความสะดวกรวดเร็ว ผู้ทำพิธีส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์แทนปู่อาจารย์ อาจเป็นเพราะปัจจุบันหาคนชาวบ้านที่มีความชำนาญในพิธีกรรมไม่ค่อยมี ผู้คนจึงศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์จากพระสงฆ์มากกว่า อาจเป็นพระสงฆ์ 1 รูป 5 รูป 7 รูป หรือ 9 รูป แล้วแต่ความพร้อม ถึงแม้หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ความเชื่อมั่นในอานิสงส์ของการสืบชะตาเพื่อต่ออายุและเป็นมงคลชีวิตยังคง อยู่และสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการสืบชะตาคนแล้ว บ้านหรือหมู่บ้านก็จะมีการสืบชะตาด้วย เมื่อหมู่บ้านนั้นพบเจอเหตุการณ์ไม่เป็นมงคล เช่น คนประสบความเดือดร้อน เจ็บป่วยพร้อมๆ กัน หรือมีคนตายติดต่อกันเกินกว่า 3 คน เหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้เรียกว่า ขึด (สิ่งไม่ดี) ตกบ้านตกเรือน จะประกอบพิธีสืบชะตาบ้าน ณ จุดใดจุดหนึ่งของหมู่บ้าน อาจเป็นหอผีหรือหอเสื้อบ้าน (ศาลที่สิงสถิตของผี/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลหมู่บ้าน) แต่ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีหอเสื้อบ้านก็จะใช้สถานที่เป็นใจกลางของหมู่บ้าน จัดตั้งเครื่องประกอบพิธี จากนั้นจะมีการโยงสายสิญจน์ไปยังบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน

เครื่อง ประกอบพิธีคล้ายกับสืบชะตาคน แต่จะเพิ่มเครื่องสังเวยบูชาท้าวทั้งสี่ และจะมีตาแหลว (ไม้ไผ่สานเป็นเครื่องป้องกันสิ่งชั่วร้าย) โดยจะนิยมนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป หรือมากกว่ามาเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เมื่อพระสงฆ์มาถึงบริเวณที่ประกอบพิธีแล้ว จะมีปู่อาจารย์นำไหว้พระรับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สืบชะตาบ้าน ชาวบ้านจะจับด้ายสายสิญจน์หรืออยู่ในวงล้อมสายสิญจน์เพื่อฟังพระสวด จากนั้นจะมีการเทศน์หนึ่งกัณฑ์ จากนั้นพระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ โปรยข้าวเปลือก ข้าวสาร ทั่วบริเวณ ชาวบ้านก็จะนำของที่มาร่วมพิธีไปโปรยที่บ้านตนเองเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่ว ร้ายและเป็นสิริมงคลแก่บ้านของตนต่อไป

นอกจากพิธีกรรมสืบชะตาคนและ ชะตาบ้านแล้ว ผู้คนชาวล้านนายังมีการสืบชะตาเมือง เพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนเกิดความสงบสุข เนื่องจากบางครั้งบ้านเมืองอาจมีเรื่องวุ่นวายเดือดร้อน อาจมาจากอิทธิพลของดาวเคราะห์มาเบียดเบียน ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน วุ่นวาย เกิดจลาจล เกิดศึกสงครามหรือเกิดโรคระบาดไปทั่วเมือง เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนและรายละเอียดของพิธีกรรมอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ แต่วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและสร้างสิ่งที่เป็นมงคลแก่ บ้านเมืองนั่นเอง

การสืบชะตาของผู้คนชาวล้านนาเป็นพิธีกรรมเพื่อสืบ ต่ออายุหรือชะตาชีวิตให้ยืนยาว เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าชะตา เพิ่มพลังใจแก่ผู้ประสบเคราะห์กรรม เป็นสื่อกลางในการชะล้างความเลวร้ายเพื่อให้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ในการทำสิ่ง ดีงาม เพราะตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ตราบนั้นยังมีโอกาสในการสั่งสมความดีงามเพื่อเป็นทุนรอนในการมีชีวิตที่มี ความสุขได้ต่อไป

สืบชะตา ให้โอกาสและทางออกแก่ผู้คนเมื่อเจอทางตันของชีวิต เหตุการณ์ร้ายสามารถกลายเป็นดีได้ เพียงแค่เรามองย้อนกลับไปและปรับตัวใหม่ ทำแต่สิ่งดีงามเพื่อทดแทนผลกรรมชั่วที่ทำมาในอดีต หยดน้ำใสแม้เพียงน้อยนิด แต่หากหยดลงทุกวันก็สามารถชะล้างความสกปรกได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง