สิบสองเป็ง วันปล่อยผี ฮาโลวีนล้านนา

เดือน 12 เป็ง หรือ เดือนสิบสองเป็ง ที่เรียกกันอีกแบบของคนเหนือ คือ วันปล่อยผี เรียกได้ว่าเป็นวันฮาโลวีนล้านนา ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ
วันปล่อยผี ฮาโลวีนล้านนา ประเพณีความเชื่อของคนเหนือชาวล้านนา ไม่ได้มีเฉพาะต่างชาติเท่านั้น อย่างทางภาคเหนือ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เหนือ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน วันนี้ถือว่าเป็นวันปล่อยผี เรียกอีกอย่างว่า ประเพณี 12 เป็ง ประเพณีอุทิศหาผู้ตาย คนล้านนาเรียกว่า “เดือนสิบสองเป็ง” ตานเปรตพลี ตานธัมม์ ซึ่งก็คล้ายกับวันฮาโลวีนของฝรั่ง ส่วนทางภาคอื่นๆ ก็มีชื่อเรียกตามแต่ละภาคไปและประเพณปฏิบัติที่แตกต่างกัน ส่วนของล้านนาการปฏิบัติจะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
แต่ของคนเหนือล้านนานั้นประชาชนในล้านนาไทยนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้เรียกกันในแต่ละท้องถิ่นก็มีชื่อแตกต่างกันไป บางจังหวัดในล้านนาเรียกประเพณีอุทิศหาผีตายบ้าง เรียกประเวณีเดือนสิบสองบ้าง บางที่ก็เรียกประเวณีปล่อยผีปล่อยเปรต ตรงกับของภาคกลางว่า “ตรุษสารท”
ปักษ์ใต้ เรียกว่า ประเพณีเดือนสิบชิงเปรต และ ทางภาคอีสานก็คือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์เป็นอันเดียวกัน ต่างกันด้วยวิธีการทำตามจารีตประเพณีที่เคย ทำมาในท้องถิ่นของตน สำหรับการอุทิศหาผู้ตายของล้านนาไทย สัมภเวสีต่างๆ เรียกว่า “ปุพพเปตพลี” คือการทำพลีกรรมเพื่ออุทิศให้แก่ท่านที่ล่วงลับไปก่อน จัดเป็นทานคือการให้อันหนึ่งของบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และจัดเป็นบุญกิริยาวัตถุ คือที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญประการหนึ่ง เรียกว่า “ปัตติทานมัยบุญ”คือบุญที่สำเร็จหรือเกิดขึ้นจากการให้ ผลแห่งความดีที่ตนทำไว้พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงการอุทิศส่วนกุศลให้คนที่ตายไปแล้วไว้มากแห่งอันเป็นการยอมรับถึงความมีอยู่ของผลที่บุคคลอุทิศไปให้ผู้ตาย
ถือกันว่าในวันเดือน 12 เหนือ ขึ้น 1 ค่ำถึงเดือนแรม 14 ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณสัตว์ ผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์เพื่อขอรับเอาส่วนบุญกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลาน จะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสุรกายทั้งหลาย “ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน”ออกมาขอส่วนบุญจากญาติพี่น้องบนเมืองมนุษย์ รับของตานจากญาติพี่น้องเช่น อุปกรณ์ เครื่องปรุง วัตถุดิบในการทำอาหาร อาหารแห้ง อาหารสด อาหารปรุงสุก และผลไม้ ตามความเชื่อแบบล้านนา คนเฒ่าบะเก่าว่าไว้ ลูกหลานคนใดบะตานหา ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน (ผีบรรพบุรุษ) วงศาคณาญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวัน 12 เป็ง ผีจะแจ่งหัว เมื่อบะได้กิ๋นของกิ๋นของตานเหมือนผีตนอื่น
ซึ่งมูลเหตุแห่งการประกอบกิจกรรมแห่งการทำบุญอุทิศหาผู้ตายของชาวล้านนาเช่นนี้ มีอิทธิพลมาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่สำคัญหลายคัมภีร์ที่ได้กล่าวถึง การทำบุญไปให้บุรพชนอาทิเรื่องพระเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงอุทิศบุญแก่พระญาติของพระองค์ในคัมภีร์เปตพลี
คนล้านนามีความเชื่อว่าญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษจะมารับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้ทำบุญไปให้ คนล้านนาเชื่อว่าวันนี้เป็นที่ ยมบาล ปล่อยเปรต ปล่อยผี ออกจากนรกที่ไม่เคยได้รับส่วนบุญกุศลก็จะมารับได้ในวันนี้ ซึ่งประเพณีนี้ชาวไทยโดยทั่วไปเรียกว่าประเพณี สารท
ประเพณีสารทเดือนสิบของสังคมไทย คงจะเกิดขึ้นตามพระพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ และด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันกับที่ชาวอินเดียมีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีนั่นเอง อันที่จริงความเชื่อในเรื่องของการเคารพบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนี้ จะเป็นความเชื่อที่มีอยู่โดยทั่วไปแทบทุกชาติทุกภาษา เช่นสังคมไทยก็เชื่อเช่นนี้ เช่น การเซ่นไหว้ผีเหย้าผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายายที่เรากระทำกันมาแต่โบราณ ก็เป็นความเชื่อในทำนองเดียวกันกับพราหมณ์ต่างกันเพียงว่า ผีปู่ย่าตายายของไทยเรานั้น มักจะอยู่ประจำตามหมู่บ้านเรือนของลูกหลาน
ประเพณีที่ชาวล้านนาปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน มีความเชื่อว่าในโลกของนรกภูมิ ได้มีการปลดปล่อยเหล่าวิญญาณ ผีเปรตต่างๆ เพื่อมาขอรับส่วนบุญส่วนกุศล ดังนั้นจึงเป็นการปฏิบัติประเพณีด้วยความกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลก จึงได้ทำกันสืบๆ มา