วัดโลกโมฬี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
822

วัดโลกโมฬี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 229 ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์:053-404039 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544

ยุคที่ ๑ ตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพ บันทึกไว้ว่า ปีพุทธศักราช ๑๙๑๐ ในสมัยพญากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ลำดับที่ ๖ เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงเสื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปรารภได้พระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกพระพุทธพจน์สามารถทำสังฆกรรมใหญ่น้อยได้ทุกประการมาไว้ในอาณาจักร เมื่อได้ทรงทราบสุปฏิปันตาทิคุณแห่งพระอุทุมพรบุปผามหาสวามีเจ้า ซึ่งอยู่ที่เมืองพัน จึงให้ราชทูตไปอาราธนาพระมหาสวามีเจ้า แต่พระสวามีเจ้ารับนิมนต์ไม่ได้ จึงให้ภิกษุลูกศิษย์ ๑๐ รูป มีพระอานนท์เถรเป็นประธานมาสู่เมืองเชียงใหม่แทนท่านพญากือนา ก็ให้พระเถระเจ้าทั้งหลายพำนักอยู่ ณ วัดโลกโมฬี กำแพงเวียงชั้นนอก บ้านหัวเวียง จากหลักฐานที่ปรากฏนี้พอจะอนุมานได้ว่า วัดโลกโมฬี น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพญากือนาประมาณปีพุทธศักราช ๑๙๑๐ หรือก่อนหน้านั้น ยุคที่ ๒ ๑๖๐ ปีต่อมา หนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่หน้า ๘๗-๘๘ บันทึกไว้ว่า ปีพุทธศักราช ๒๐๗๐ ในสมัยของพระเมืองเกศเกล้า กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๑๒ (พระเมืองเกศเกล้าเมืองครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ ๒๐๖๘-๒๐๘๑ ) หลักฐานบันทึกไว้ว่า “พญาเกศได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโลกโมฬี ) ปีพุทธศักราช ๒๐๗๑ พญาเกศ เมื่อได้บูรณะฟื้นฟูวัดโลกโมฬีและได้ทำบุญฉลองถวายให้เป็นอารามวัดโลกโมฬีแล้ว ก็ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ ขนาดองค์ใหญ่ (มหาเจดีย์) ขึ้น พร้อมกันนั้นก็ได้สร้าง พระวิหาร เพื่อใช้ประกอบพิธีบำเพ็ญศาสนกิจของพุทธศาสนิกชน พระเมืองเกศเกล้า หรือพญาเกศ ครองราชย์ครั้งที่ ๒ เป็นลำดับที่ ๑๔ พ.ศ ๒๐๘๖-๒๐๘๘ พญาเกศฯ ทรงออกผนวชมีพระสิริมังคลาจารย์เป็นพระอุปัชฌาจารย์ พระองค์ยังได้โปรดเกล้าแต่งตั้ง พระมหาสรภังค์เถระเป็นพระมหาสังฆราชนครพิงค์เชียงใหม่พญาเกศเสด็จสวรรคตถูกขุนนางลอบปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๐๘๘ หลังจากสวรรคตแล้ว ข้าราชการขุนนาง ได้ทำพิธีปลงศพที่วัดแสนพอก กำแพงเมืองชั้นในหลังจากได้ถวายพระเพลิงแล้วก็ได้นำพระอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ ณ วัดโลกโมฬี เอากระดูกไปบรรจุไว้ยังวัดโลกโมฬี ฝ่ายแจ่งหนเหนือทางนอกนั้น” ปีพุทธศักราช ๒๐๘๘ หลังจากที่พญาเกศ ได้สวรรคตแล้ว พระนางจิระประภา ราชธิดาของพญาเกศ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดาเป็นกษัตริย์ ในราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๑๕ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่มีเหตุการณ์ไม่สงบ เนื่องจากขุนนางทั้งหลายไม่สามัคคีกัน สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยาได้ยกทัพขึ้นมาหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ พระนางจิระประภาทรงทราบว่า กำลังทัพหลวงของพระไชยราชาธิราช และเมืองเชียงใหม่ไม่พร้อมที่จะรับศึกได้ เมื่อกองทัพพระไชยราชาธิราช ยกทัพมาถึงนอกเมือง พระนางจึงได้แต่งเครื่องราชบรรณาการออกปถวายและทูลเชิญเสด็จพระไชยราชาธิราช ได้นำเสด็จมาทำบุญที่กู่เฝ่า พระเมืองเกศเกล้า ที่วัดโลกโมฬี สมเด็จพระไชยราชาธิราชได้พระราชทานพระราชทรัพย์ทำบุญไว้กับกู่พญาเกศเกล้าอีก ๕,๐๐๐ เงิน กับผ้าทรง ๑ ผืน นอกจากนั้นยังได้รับพระราชทานรางวัลให้กับเจ้านาย ขุนนางที่รับเสด็จด้วย ยุคที่ ๓ ๖๐ ปี ต่อมาหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าหลักฐานพงศาวดารโยนกและตามรอยโครงมังทรารบเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช ๒๑๔๙ กษัตริย์ที่ครองเชียงใหม่ชื่อ มังนราช่อ (สาวัตถีนรถามังคะยอ)ซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ ๒๑๒๒-๒๑๕๐) ได้มีเมตตาธรรมให้พระมหาสมเด็จวัดโลกโมฬี ไว้กับวัดวิสุทธาราม ให้คนบ้านแปะและพวกยางบนดอยเป็นข้าวัดดูแลห้ามฝ่ายบ้านเมืองนำไปใช้แม้จะมีศึกสงคราม (วัดบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน) ปีพุทธศักราช ๒๑๘๒ หลักฐานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกไว้ว่า พระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาและได้อาราธนาพระสวามี ถวายทานในพระบาทสมเด็จพระสังฆราชโมฬีเจ้า วัดทุกวัดเป็นราชฐาน ทำบุญเดือนยี่เป็ง บูชาพระพุทธรูป พระธาตุเจ้าและพระภิกษุ สามเณร ตามพระราชประเพณีแห่งเมืองเชียงใหม่ ยุคที่ ๔ ยุคกาวิละวงศ์ หลักฐานรายชื่อวัดในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ สมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และสมัยของเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำดับที่ ๗ และ ๘ มีบันทึกไว้ว่า “ วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่แขวงบ้านทับม่านขึ้นกับแคว้นเจ็ดยอด เจ้าอธิการชื่อ ตุ๊พวง นิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ รองอธิการชื่อ ตุ๊คำ และในปีพุทธศักราช ๒๔๕๒-๒๔๘๒ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๙ ได้ บูรณะวัดโลกโมฬี เหนือเวียงและสร้างพระพุทธรูปพร้อมทั้งธรรมมาสน์ หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่จะบอกถึงความเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อเนื่องมาอีก นับแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ วัดโลกโมฬี ก็ตกอยู่ในสภาพเป็นวัดที่ว่างเว้นจากผู้ปกครองสงฆ์นาน ๖๐ ปี ที่ดินของวัดในอดีตก่อนหน้านั้นมีเนื้อที่กว้างขวางหลายสิบไร่ ได้ถูกถือครองโดยเอกชนและต่อมามีการออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหลายแปลง จึงเหลือเนื้อที่ตามที่ปรากฏในหลักฐานขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง ในความดูแลของกรมศาสนา จำนวนเนื้อที่ ๔-๑-๓๗ ไร่ พื้นที่ด้านหน้าของพระเจดีย์ ซึ่งติดถนนมณีนพรัตน์ กองศาสนาสมบัติกลางกรมการศาสนา ได้ให้กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เช่าเป็นที่ทำการของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะเวลากว่า ๓๐ ปี อีกส่วนด้านทิศตะวันออก ได้ให้สมาคมธรรมศาสตร์ภาคเหนือเช่า เป็นที่ทำการของสมาคม ฯ เป็นระยะเวลาหลายสิบปีเช่นกัน และต่อมาสมาคมธรรมศาสตร์ภาคเหนือได้ให้บริษัทโคโนโก้เช่าต่อ ถือสัญญาเช่ามีระยะเวลา ๓๐ ปี (๒๕๓๕) มีการปรับปรุงเป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ยุคที่ ๕ ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน พระญาณสมโพธิ “ปัจจุบันได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพวรสิทธาจารย์” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เจ้าคณะอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ในปี ๒๕๔๗ และเป็นรองเจ้าคณะภาค 7 ในปัจจุบัน ได้พิจารณาสถานที่วัดร้างในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่มีเนื้อที่กว้างพอประมาณหลายแห่ง ดังนี้ วัดเจ็ดลิน (ร้าง) ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัด เชียงใหม่ (หลังตลาดประตูเชียงใหม่) ซึ่งเป็นวัดร้างมีเนื้อที่ ๗-๐-๙๖ ไร่ เพียงพอที่จะสร้างสำนักงานได้ จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ ๒๕๔๓ เพื่อเช่าพื้นที่ตามระเบียบของกรรมการศาสนา แต่มีปัญหาพื้นที่มีผู้บุกรุกอยู่จำนวนมาก จึงได้ทำหนังขอยกเลิกไป วัดโลกโมฬี (ร้าง) พระญาณสมโพธิ (พระราชสิทธาจารย์) ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ ๒๕๔๔ เพื่อขอเช่าวัดโลกโมฬี ตั้งอยู่ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดร้างเช่นกัน มีเนื้อที่ ๒-๓-๐๙ ไร่ แทนวัดเจ็ดลินที่ยกเลิกไป ขณะที่กำลังรอคำตอบจากกรรมการศาสนานั้น ก็ทราบว่ามีปัญหาคล้ายกัน ทั้งยังมีผู้ยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินวัดร้างเพื่อทำประโยชน์ทางธุรกิจ สวนสาธารณะและอื่น ๆ ดังนั้นจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ ๒๕๔๔ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ ๖ เชียงใหม่ เพื่อขออนุญาติให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมส่งเสริมประเพณีปี๋ใหม่เมืองประจำปี ๒๕๔๔ มีกำหนด ๔ วัน คือ วันที่ ๑๒-๑๕ เมษายน พ.ศ ๒๕๔๔ และได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้ พระญาณสมโพธิจึงได้สั่งการให้มีการปรับพื้นที่ซึ่งรกร้างมานาน และกำหนดกิจกรรมงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง โดยได้รับความร่วมมือจาก นายบุญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ (สื่อมวลชน) ได้ประชาสัมพันธ์ข่าวเผยแพร่เป็นระยะ ๆ จนเกิดกระแสจากพุทธศาสนิกชน พระมหาเถระผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก วัดสระเกศ ได้เดินทางมาตรวจสถานที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะยกให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาตลอดไป มหาเถระทั้งสองมีเมตตาที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ต่อมาพระญาณสมโพธิ (พระราชสิทธาจารย์) มอบหมายให้นายบุญธรรม ยศบุตร เลขานุการมูลนิธิพระบรมธาติดอยสุเทพ ทำหนังสือเรียนเชิญ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น (ปัจจุบันได้โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งองคมมนตรี) มาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ ๒๕๔๔ โดยได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๗๐๕ รูป ซึ่งเท่าอายุเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น มาเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล พร้อมกันนั้นพระสงฆ์ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ได้กระทำปทักษิณรอบพระเจดีย์รวม ๓ รอบ เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก ต่อมา พระราชพุทธิญาณ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อขอยับยั้งการพิจารณาเช่าที่วัดร้างของกรรมการศาสนา และขอให้ยกวัดโลกโมฬี (ร้าง) เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอดไปแทน ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากกรรมการศาสนา ตามประกาศวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ พร้อมหนังสือแต่งตั้งให้ พระญาณสมโพธิ เป็นรักษาการเจ้าอาวาส คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการฟื้นฟูวัดโลกโมฬี จึงได้จัดพิธีเฉลิมฉลองตราตั้งวัดโลกโมฬี ในช่วงเช้า พระญาณสมโพธฺ (พระราชสิทราจารย์) ได้ประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูป พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ ขนาดหน้าตักกว้าง ๘๐ นิ้วขึ้น เพื่อเป็นองค์ประธานประจำวิหารหลังใหม่ เนื่องจากตรงกับเทศกาลยี่เป็งจึงได้มอบหมายให้อาจารย์ยุพิน เข็มมุกด์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) จัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติในเทศกาลยี่เป็งขึ้นเป็นตรั้งแรกของวัดโลกโมฬีประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๔ กิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเพื่อสืบสานและส่งเสริมประเพณีการตั้งธรรมหลวง ประกอบกับในช่วงนั้นมีภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย กำลังโด่งดังมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อเรื่องกล่าวถึงวัดโลกโมฬีและพระมหาเทวีจิระประภา ทางคณะกรรมการฟื้นฟูวัดจึงได้นำมาฉายให้ประชาชนได้ชม ปรากฏว่าประชาชนนับหมื่นให้ความสนใจ

งานสถาปัตยกรรม
1 เจดีย์วัดโลกโมฬี เจดีย์วัดโลกโมฬี มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า เจดีย์ของวัดโลกโมฬีในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างปลาย พุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑ เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่เจดีย์วัดโลกโมฬี การพัฒนารูปแบบได้เพิ่มความสูงของเจดีย์คือ ส่วนฐาน ได้แก่ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้ว อกไก่ เพิ่มเป็น ๒ ชุดอย่างชัดเจนโดยฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ที่ฐานปัทม์ชั้นที่สองมีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นมุมที่มีขนาดเล็กล ส่วนกลาง ยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จ ที่มีขนาดของมุมเล็กลง และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำมีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้ง และกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำ ก็มีขนาดเด่นขึ้น กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำที่เรียกกันว่า ปากแล ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูงโดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังค์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง
2 วิหารวัดโลกโมฬี วิหารวัดโลกโมฬี เป็นวิหารที่สร้างขึ้นภายหลังได้มีการบูรณะและยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ส่วนวิหารหลังเดิมนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2071
3 พระประธาน พระพุทธรูป พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม พระพุทธรูปมีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ
4 กุฏิสงฆ์วัดโลกโมฬี กุฏิสงฆ์ มีลักษณะต่างจากกุฏิทั่วไป เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่มีลักษณะงดงาม แบบล้านนา ด้านหน้ากุฏิมีรูปปั้นพระเมืองเกษเกล้า ประดิษฐานอยู่บนซุ้มประตู
5 ซุ้มประตูวัดโลกโมฬี ซุ้มประตูวัดโลกโมฬี อยู่ตรงด้านหน้าของวิหาร ติดกับถนน มีลวดลายปูนปั้นงดงาม ศิลปะแบบซุ้มประตูล้านนา ศิลปะแบบซุ้มประตูล้านนา
6 มณฑปพระนางจิรประภามหาเทวี มณฑปพระนางจิรประภามหาเทวี ภายในประดิษฐานพระรูปของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์
7 กุฏิสมเด็จ กุฏิสมเด็จ เป็นกุฏิที่ทางวัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่รองรับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เดินทางมาประกอบศาสนกิจที่เชียงใหม่ โดยมีพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง