วัดโพธารามมหาวิหาร ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
671

วัดโพธารามมหาวิหาร ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ ถนน- ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1998

วัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดเจ็ดยอด ( พระอารามหลวง ) เป็นวัดที่มีความสำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีโบราณสถานโบราณวัตถุที่ล้ำค่า จนเรียกได้ว่า มีครบทุกประการ คือมีสถานะธรรม สถานะวัตถุ สถานะบุคคล สถานะพิธี ที่บรรพชนได้กระทำและปลูกสร้างไว้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ชาวพุทธรู้จักดี เพราะเป็นวัดที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายสถาปนาขึ้น และวัดนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว โบราณสถานต่างๆในวัดนี้ได้สร้างความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยี่ยมชมอยู่ตลอดไปอย่างมิลืมเลือน

วัดเจ็ดยอดเป็นวัดที่ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุดคือมียอดตั้งแต่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด เหมือนมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ประวัติ
วัดเจ็ดยอด หรือวัดเจดีย์เจ็ดยอดเป็นชื่อวัดที่คนทั่วไปในภายหลังกำหนดเรียกขึ้นตามลักษณะเครื่องยอดส่วนบนหลังคา ซึ่งก่อสร้างเป็นสถูปเจดีย์จำนวนเจ็ดองค์เจ็ดยอดด้วยกันเป็นที่หมาย แต่ชื่อของวัดที่มีมาแต่เดิมเมื่อคราวสร้างวัดชื่อ “วัดโพธารามมหาวิหาร” วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามมหาวิหาร เป็นวัดโบราณและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์วัดหนึ่งของอาณาจักรล้านนาไทย กล่าวคือ เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1998 โปรดให้หมื่นด้านพร้าคต หรือสีหโคตรเสนาบดีเป็นนายช่างทำการก่อสร้างศาสนาสถานและเสนาสนะขึ้น เป็นพระอารามโปรดฯให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีสงฆ์องค์แรกในพระอารามนี้ ครั้นนั้นสมัยพระเจ้าสมเด็จติโลกราชได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากสำนักพระภิกษุสีหล(ศรีลังกา) เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ใคร่จะปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดฯให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์ต้นเดิมที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเอามาปลูกขึ้นไว้ในอารามป่าแดงหลวงเชิงดอยสุเทพ เอามาปลูกขึ้นไว้ในวัดนี้ เพราะเหตุที่ปลูกมหาโพธิ์ในอารามนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “วัดมหาโพธาราม หรือวัดโพธารามมหาวิหาร” วัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามมหาวิหาร มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อปี พ.ศ. 2020 สมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯให้จัดการประชุมพระเถระนุเถระทั่วหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาไทยแล้ว ทรงคัดเลือกได้พระธรรมหินมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดเจ็ดยอด (โพธารามมหาวิหาร) ใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จเรียบร้อย การทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 8 ของโลก และเป็นครั้งแรกที่ได้กระทำขึ้นในพระราชอาณาจักรไทย นับเนื่องจากที่ได้ทำมาแล้วในประเทศอินเดีย และศรีลังการวม 7 ครั้ง สมเด็จพระเจ้าติโลกราช เสวยสิริราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ได้ 45 พรรษา เสด็จสู่สวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2030 พระชนม์มายุได้ 71 พรรษา เมื่อสวรรคตใน พ.ศ. 2030 พระยอดเชียงราย พระราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน ได้โปรดฯให้สร้างจิตกาธาน(เชิงตะกอน)ขึ้นในวัดนี้เพื่อเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระอัยกาธิราช แล้วโปรดฯให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของสมเด็จพระเจ้าติโลกราชไว้ในพระอารามแห่งนี้ด้วย วัดเจ็ดยอด เคยเป็นสถานที่สถิตของอดีตพระมหาเถระผู้เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของล้านนาไทยอีกหลายท่าน แม้คัมภีร์ปัญญาชาดก(ชาดก 50 เรื่อง) คัมภีร์ชินกาลมาปกรณ์ คัมภีร์จามเทวีวงศ์ เป็นต้น ก็ได้แต่งขึ้นในพระอารามนี้ วัดเจ็ดยอดนี้ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2478 และได้ทำการบูรณะใน พ.ศ. 2517-2520

ลำดับเจ้าอาวาส:
พระราชเขมากร

งานสถาปัตยกรรม
1 ซุ้มประตูโขงทางเข้าวัด ก่อด้วยอิฐถือปูน ช่องประตูตอนบนโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัวซุ้มขนาบช่องประตูทำอย่างเสาย่อมุมทั้งสอง ศิลปกรรมของซุ้มประตูโขงที่น่าสนใจและดูชม คือ ลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งกรอบวงโค้งและหางซุ้มที่เป็นส่วนประกอบซุ้มประตูสองข้าง
2 มหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญยิ่งในวัดนี้ สมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯให้ใช้เป็นสถานที่ประชุมพระมหาเถระทั่วราชอาณาจักรล้านนาไทย ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎกนับเป็นอัฐมะสังคายนาครั้งที่ 8 ของโลก มหาวิหารแห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2020 ลักษณะเป็นวิหารทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 30 เมตร มีมุขยื่นออกไปทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยทำเป็นช่องทางโค้งสู่ด้านในวิหาร ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผนังด้านนอกโดยรอบวิหารประดับปูนปั้นรูปเทพชุมนุม บนหลังคาวิหารเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง 5 องค์ องค์ใหญ่สุดเป็นประธานอยู่ตรงกลาง และองค์เล็กเป็นบริวารอยู่ที่มุมทั้ง 4 คล้ายกับมหาวิหารที่พุทธคยา ที่มุขด้านหน้าเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมทางด้านทิศตะวันออกยังมีเจดีย์ทรงระฆังกลมแบบลังกาอีก 2 องค์ รวมแล้วมีเจดีย์เป็นยอดอยู่ทั้งสิ้น 7 องค์ มหาวิหารเจ็ดยอดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและระเบียงคตก่อด้วยอิฐ ตัวกำแพงแก้วกว้าง 1.8 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ภายในขนาดกว้าง 52.35 เมตร ยาว 82.45 เมตร มีประตูทั้ง 4 ทิศ ด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้า-ออกหลัก ต่อมาถูกต่อเติมและสร้างมหาวิหารให้ยาวออกไปอีกทางด้านหน้าทิศตะวันออกทับวิหาร ก่ออิฐขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร เพื่อเชื่อมต่อกับทางเดินที่มาจากซุ้มประตูโขง (ปัจจุบันฐานวิหารเดิมบางส่วนอยู่ใต้ฐานวิหารหลังใหม่) และขยายปีกด้านข้างวิหารตรงส่วนที่ต่อเติมเพิ่มกับด้านหน้ามหาวิหารเจ็ดยอดออกไปทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ข้างละ 7.9 เมตร มีบันไดขึ้น-ลงตามทิศ มีฐานเสาไม้กลมก่อหุ้มด้วยศิลาแลงจำนวน 40 ต้น โดยปีกด้านทิศเหนือใต้มีข้างละ 8 ต้น และอีก 24 ต้น อยู่บนตัวอาคารด้านบน วิหารอิฐส่วนหน้านี้มีขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นวิหารโถงโล่ง มีเสารองรับโครงหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แบ่งออกเป็นห้อง ทางด้านกว้าง 7 ห้อง และห้องทางด้านยาว 6 ห้อง ยกพื้นต่างระดับ มีบันไดขึ้น-ลงอยู่ทางทิศเหนือ และทิศใต้ วิหารส่วนด้านหน้าวิหารเจ็ดยอดนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีประชุมทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อปี พ.ศ. 2020
3 พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังแรกของวัดเจ็ดยอด พระเมืองแก้ว พระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดชียงราย พระราชบิดาของพระองค์ในวัดนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2045 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาล พระอุโบสถหลังนี้ทรงอุสภลักษณ์ กว้าง 32 ศอก กับ 1 คืบ ส่วนยาว 78 ศอก กับ 1 คืบ ที่ตั้งปาสาณนิมิตของพระอุโบสถกว้าง 41 ศอก ยาว 116 ศอก
4 พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช พระยอดเชียง พระราชาธิบดีลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดฯให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชอัยกา คือ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลภ หรือสมเด็จพระเจ้าติโลกราช เมื่อพุทธศักราช 2031
5 ปฐมโพธิบัลลังก์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งขัดสมาธิ ณ ควงไม้ศรีโพธิ์ด้านทิศตะวันออก ทรงตั้งวิริยาธิษฐานปฏิญาณพระองค์ว่า “ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด ก็จะไม่ลุกขึ้นเพียงนั้น แม้มังสะและโลหิตจะเหือดแห้งสูญเสียไป จะคงเหลืออยู่แต่หนังเส้นเอ็นก็ตามที” ปัจจุบันคือมหาวิหารเจ็ดยอด ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 17 เมตร ยาว 30 เมตร และสูง 18.65 เมตร มีบันไดทางขึ้น-ลงอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ด้านหลังเป็นมุขประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีบันไดและทางเดินไปสู่ประตูที่กำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก ภายในมหาวิหารทำเป็นช่องทางเดินโค้งสู่ห้องด้านในที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังวิหารด้านนอกโดยรอบประดับประติมากรรมปูนปั้นขึ้นรูปเทพชุมนุมในท่าพนมมือนั่งขัดสมาธิ และท่ายืนพนมมือ บนหลังคามหาวิหารมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม 5 องค์ และเจดีย์ระฆังทรงกลม 2 องค์ คนทั่วไปจึงนิยมเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดเจ็ดยอด” โพธิบัลลังก์นี้มีพระพุทธรูปประจำ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิเพชร
6 อนิมิสเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับยืนทอดพระเนตรปฐมโพธิ์บัลลังก์ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ณ ที่นั้นเป็นเวลา 7 วัน
7 รัตนฆรเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก เป็นเวลา 7 วัน ภายหลังที่ตรัสรู้ภายในเรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย รัตนฆรเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ ในสัปดาห์ที่ 4 เทวดาได้เนรมิตเรือนแก้วขึ้นในทิศพายัพของโพธิบัลลังก์ เพื่อให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด 7 วัน ปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงปราสาท บนฐานประทักษิณขนาดกว้าง 10.5 เมตร ยาว 10.7 เมตร ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่า เดิมอาจเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก หรือใช้พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ ต่อมาได้สร้างเจดีย์ก่ออิฐให้ใหญ่ขึ้นซึ่งปรากฏหลักฐานว่าบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์องค์นี้สร้างทับอยู่บนกำแพงแก้ว พระพุทธรูปประจำที่รัตนฆรเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูปยืนรำพึงยกพระหัตถ์ขวาและพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันที่ทรวงอกเพื่อพิจารณาธรรม
8 มุจจลินทเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขผลสมาบัติใต้ต้นจิก สระมุจจลินท์ ภายหลังตรัสรู้แล้ว เป็นเวลา 7 วัน
9 รัตนจงกลมเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินจงกลม หลังจากได้แสดงกตัญญูธรรมโดยการเพ่งต้นโพธิ์ เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นก็เสด็จออกจงกลมระหว่างที่ประทับอยู่ ณ โพธิบัลลังก์ รวม 7 วัน จากการขุดแต่งทางโบราณคดีปี พ.ศ. 2545 พบแนวก่ออิฐมีลักษณะที่เป็นทางเดินอยู่ 2 แห่ง ทางด้านทิศเหนือของโพธิบัลลังก์ แห่งแรกเป็นทางเดินปูอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1.4 เมตร ยาว 8.2 เมตร แห่งที่สองเป็นทางเดินรูปหกเหลี่ยม กว้าง 7.5 เมตร ยาว 25.5 เมตร ยกขอบผนังทางเดินสูง 1.2 เมตรจากพื้น ก่ออิฐติดกำแพงแก้วออกมาทั้ง 2 ข้าง หันด้านหน้าซึ่งเป็นระเบียงมีบันไดนาคไปที่โพธิบัลลังก์ พระพุทธรูปประจำที่รัตนจงกลมได้แก่ พระพุทธรูปยืนทำท่าเดินจงกลม โดยยกพระบาทขวาหย่อนพระหัตถ์ทั้งสองแนบขาทั้งสองข้าง
10 อชปาลนิโครธเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งขัดสมาธิ ณ บัลลังก์ภายใต้ร่มอชปาลนิโครธ(ไม้ไทร) อันเป็นที่อาศัยของคนเมืองแพะ และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร
11 ราชาตนเจดีย์ คือสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขสมาบัติ ณ ภายใต้ร่มไม้ราชายนพฤกษ์ ทรงยื่นพระหัตถ์ขวารับผลสมอจากพระอินทร์ เป็นเวลา 7 วัน ราชายตนะอยู่ทางทิศใต้ของโพธิบัลลังก์ เมื่อพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขสมาบัติใต้ร่มไม้มุจลินท์(ไม้จิก) ครบ 7 วันแล้ว พระองค์ทรงเสด็จย้ายไปประทับนั่งใต้ต้นราชายตนะพฤกษ์(ไม้เกด) ซึ่งอยู่ทางทิศทักษิณของต้นมหาโพธิ์ ในเวลาเช้า พระอินทร์ได้นำผลสมอเข้าไปถวายพระองค์ พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี่ถึง 7 วัน จากการขุดแต่งทางโบราณคดีปีพ.ศ. 2545 นอกกำแพงแก้วมหาวิหารเจ็ดยอดทางทิศใต้ พบแนวอาคารก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 8.7 เมตร ถึงประมาณ 50 เซนติเมตร ไม่พบกระเบื้องมุงหลังคาและเครื่องบนหลังคา ฐานอาคารนี้ควรเป็นฐานของเจดีย์และเนื่องจากถูกไถทำลายจึงไม่พบลักษณะสถาปัตยกรรมด้านบน พระพุทธรูปประจำที่ราชายตนะเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งยืนพระหัตถ์รับผลสมอ
12 หอไตร คือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎกในวัดเจ็ดยอด(โพธารามมหาวิหาร) เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าติโลกราช ทรงคัดเลือกพระมหาเถระ ผู้เจนจัดในพระบาลีมาชำระอักษรพระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่าอัฐมสังคายนา ครั้งที่ 8 ของโลก ทรงอบรมสมโภช หอไตรแห่งนี้เป็นการใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว