วัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดเจ็ดยอด ( พระอารามหลวง ) เป็นวัดที่มีความสำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีโบราณสถานโบราณวัตถุที่ล้ำค่า จนเรียกได้ว่า มีครบทุกประการ คือมีสถานะธรรม สถานะวัตถุ สถานะบุคคล สถานะพิธี ที่บรรพชนได้กระทำและปลูกสร้างไว้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ชาวพุทธรู้จักดี เพราะเป็นวัดที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งรายสถาปนาขึ้น และวัดนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว โบราณสถานต่างๆในวัดนี้ได้สร้างความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยี่ยมชมอยู่ตลอดไปอย่างมิลืมเลือน
วัดเจ็ดยอดเป็นวัดที่ได้ชื่อว่ามีเจดีย์รูปทรงแปลกที่สุดคือมียอดตั้งแต่บนเรือนธาตุสี่เหลี่ยมถึงเจ็ดยอด เหมือนมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย จัดเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ประวัติ
ผู้สถาปนาวัดเจ็ดยอด พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์เม็งราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นองค์สถาปนาวัดเจ็ดยอดขึ้นในปี พุทธศักราช ๑๙๙๘ (ค.ศ.๑๔๕๕) ณ บริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้ ทรงโปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต เป็นนายช่างทำการก่อสร้างอารามขึ้น ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธที่เคารพนับถือต้นโพธิ์ เพราะต้นโพธิ์เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ เมื่อครั้งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ชาวพุทธจึงถือว่าการเคารพกราบไหว้ต้นโพธิ์เป็นการถวายความเคารพแก่พระพุทธองค์เช่นกัน ดังนั้นต้นมหาโพธิ์จึงถูกนำมาปลูกไว้ในบริเวณวัดทุกแห่ง ด้วยเหตุนี้เองพระเจ้าติโลกราชจึงให้ข้าราชบริพารไปตัดเอากิ่งตอนต้นโพธิ์จากวัดป่าแดงหลวง ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ที่นำมาจากศรีลังกามาปลูกไว้ในวัดนี้และตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัด“โพธารามมหาวิหาร” ซึ่งมีความหมายว่าวัดต้นมหาโพธิ์ และไปนิมนต์ พระอุตตมะปัญญามหาเถระมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้
เจดีย์เจ็ดยอด
เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เชื่อว่าถ่ายแบบมาจากมหาโพธิ์เจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดียสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชโปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาแล้วทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้ทรงอบรมรู้ภาษาบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นพระธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ ๘ โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังกา นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช
เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๐๓๐ พระยอดเชียงรายราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน โปรดให้สร้างจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ขึ้นในวัดนี้เพื่อเป็นสถานที่ฌาปนสถานถวายพระเพลิงพระศพของพระดัยกาธิราชแล้วโปรดให้สร้างพระสถูปใหญ่เพื่อบรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระเข้าติโลกราชไว้ภายในบริเวณวัดสถูปนี้ก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อมุมมีซุ้มคูหาเป็นจตุรมุข หลังคาทรงบัวกลม ส่วนเครื่องยอดต่อขึ้นไปก่อเป็นสถูปทรงระฆังกลม ซุ้มคูหาด้านทิศตะวันออกฝังเข้าไปในตัวมณฑป ประดิษฐานพระพุทธปฎิมากรปูนปั้นมารวิชัยหนึ่งองค์