วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่

วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ที่ตั้ง : วัดอู่ทรายคำ เลขที่ 24 ถนนช้างม่อยเก่า ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300
วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2369 ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2384 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2465
วัดอู่ทรายคำ เลขที่ 24 ถนนช้างม่อยเก่า ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2369
วัดอู่ทรายคำเดิมเรียกกันว่า วัดอูบคำ บ้าง วัดอุกคำบ้าง วัดอุปลายคำบ้าง มีมหาอุบาสิกา ผู้มั่งคั่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก อพยพลงมาจากเวียงเก่าคือเมืองเชียงแสน (จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน)
ในสมัยพระบรมเชษถฐาธิราช หรือเจ้ากาวิละ ขึ้นไปอพยพพี่น้องคนไทยมาอยู่นครพิงค์ เพื่อความเป็นปึกแผ่น ในคำเรียกว่า “เก็บผักใส่ส้า หาข้าใส่เมือง” ตำนานเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึง พระบรมเชษฐาธิราช ยกกองทัพไปเชียงแสนมีความว่า “ศักราชได้ 1166 ปีกาบไจ้ เดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ วันอาทิตย์ ยกกองทัพเข้าไปตั้งทัพทำข้าวเปลือกทิศตะวันตกเมืองเชียงแสน ชาวเมืองเชียงแสนทั้งมวล มีท้าวพระยาเสนาอามาตย์เป็นตัน ก็พากันเข้ามากรอบแทนไต้พื้นสุวรรณบาทจักรคำพระเป็นเจ้านับเลี้ยง” พระเป็นเจ้า ก็อพยพพี่น้องไทยลงไปที่เชียงใหม่จนหมดสิ้น ทิ้งเมืองเชียงแสนไว้ ความจริงเมืองเชียงแสนในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็น ประชาชนประกอบอาชีพต่าง ๆ มีความชำนาญการงานเป็นที่เลื่องลือของแคว้นต่าง ๆ เป็นต้นว่า ช่างเครื่องเขิน เครื่องเงิน เครื่องทอง สถาปนิก ช่างตีเหล็ก ฯลฯ ช่างชำนาญเหล่านี้ ได้อพยพมาพร้อมกองทัพของพระเป็นเจ้า
เมื่อถึงเมืองเชียงใหม่ แล้วพระเป็นเจ้าก็กระจายไพร่พลเหล่านั้นไปอยู่ในที่ต่าง ๆ นอกเมืองบ้าง ในเมืองบ้าง เช่น บ้านฮ่อม บ้านเมืองสาท บ้านเจียงแสน (บริเวณแขวงมังราย ในปัจจุบัน) ช่างฝีมือเหล่านั้น ต่างก็มีความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ซึ่งได้นำพระพุทธรูป และใบลานที่เป็นธรรมเทศนาจากเวียงเก่า (เชียงแสน) แล้วนำมาไว้ในหอพระไตรในวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นจำนวนมากมายและพากันสร้างวัดวาอารามตามกลุ่มคณะของตน เช่น ช่างเงินก็สร้างวัดในนามว่า “วัดช่างดอกเงิน” (โรงเรียนเทศบาลดอกเงินในปัจจุบัน) ช่างดอกคำก็รวมใจกันสร้างวัดในนามว่า “วัดช่าง ดอกคำ” หรือ “วัดดอกคำ” ในปัจจุบัน วัดอูบคำ หรือวัดอู่ทรายคำ ก็เป็นนามหาอุบาสิกาท่านหนึ่ง ที่อพยพลงมาพร้อมกับพระเป็นเจ้าได้เป็นประธานสร้างวัดแห่งนี้ ซึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ อยู่นอกคูเมืองหลวง
สถาปัตยกรรม
1 พระเจดีย์ แรกเริ่มสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก ต่อมามีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่รอบองค์เดิมไว้ให้ใหญ่กว่าเดิม และได้ตกแต่งวิจิตรสวยงาม
2 พระพุทธรูปดินปั้น พระพุทธรูปดินปั้นนั้น คือพระประธานในพระวิหาร ซึ่งมีขนาด สูง 2.62 เมตร กว้าง 1.78 เมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ตามตำนานเล่ากันว่า นายช่างไปวาดภาพจำลองพระพุทธรูปเก้าตื้อ สวนดอก มาก่อสร้างพระประธานแห่งนี้ให้เหมือนของเดิมและงดงามน่าเลื่อมใส ใครได้นมัสการแล้วก็เกิดความสบายใจ และเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
3 หอไตร คนเมืองเรียกว่า “ประสาทหลังก๋าย” กล่าวกันว่ามีความสวยงามมาก และไม่ซ้ำแบใครในเมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบันได้ทำการบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิม พ.ศ. 2533 จากของเดิมซึ่งมีอายุร่วมร้อยปี ศิลปกรรมทรงแบบล้านนาไทย
4 อุโบสถ ผนักด้านนอกช่างได้ปั้นนิทานเรื่องสังข์ทองติดไว้อยู่สองด้าน ซึ่งได้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองในสมัยนั้นว่ามีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด อุโบสถหลังนี้อยู่ติดกับถนนช้างม่อยเก่า นักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปมาอดไม่ได้ที่จะต้องแวะมาถ่ายรูปภาพไว้เป็นที่ระลึก อุโบสถหลังนี้ได้สร้างและฉลองในปี พ.ศ. 2464 ซึ่งองค์ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จผ่านทอดพระเนตรในการฉลองครั้งนั้นด้วย นับว่าเป็นเกียรติประวัติของวัดอู่ทรายคำอีกยุคหนึ่ง และได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2530 ศิลปกรรมล้านนาผสมแบบจตุรมุข
5 พระพุทธมณีศรีบุญนิวิฐภูมิพลมหาราชูทิศ รังสฤษเทโวปกรณ์ สหศรัทธา อริสตายุกาล สุวรรณวาลการามประดิษฐ์ สถิตย์นพบุรี ศรีนครพิงค์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “พระสิงห์หยก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูง 41 นิ้ว หนัก 109 กิโลกรัม สำหรับเนื้อหยก นำมาจากประเทศพม่า ที่เมืองมัณทะเลย์ ซึ่งมีอายุราว ๆ 570 ล้านปี เป็นหยกประเภทเลดไอท์ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 เสร็จ พ.ศ. 2547 ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน และใช้ช่างฝีมือโดยทีมงานของนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ทำพิธีพุทธาพิเศก วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 3 องค์ โดยใส่ในพระอบทองคำไว้ที่พระเศียรของพระพุทธรูปในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
พระครูพิศาลบุญนิวิฐ ฐิตปุญโญ มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฏร์ ชั้นเอก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดอู่ทรายคำ และยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ประวัติด้านการศึกษาของพระครูพิศาลบุญนิวิฐ ฐิตปุญโญ พระครูพิศาลบุญนิวิฐ ฐิตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดอู่ทรายคำ จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาโท จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
สมัยราชวงศ์มังราย พ.ศ. 1839 – 2101 (ยังไม่พบหลักฐาน) สมัยพม่ารามัญปกครองล้านนาไทย พ.ศ. 2101 – 2317 (ยังไม่พบหลักฐาน) สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2317 – 2325 (ยังไม่พบหลักฐาน) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 1. ไม่ทราบเจ้าอาวาส พ.ศ. 2384 – 2414
2. ธุหลวงจันทะ พ.ศ. 2414
3. เจ้าอธิการจันโท นิกายไทย (ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌายะ) รองอธิการ ชื่อ ตุ๊ต้าน ขึ้นแก่วัดมหาวัน วัดอุกคำ (อู่ชายคำหรืออู่ทรายคำ) ตั้งอยู่ในแขวงด้านประตูช้างม่อยในเวียงเชียงใหม่ชั้นนอก พ.ศ. 2430
4. พระครูสัทธรรมโกวิท (ตื้อ เทพวงศ) พ.ศ. 2440
5. พระอธิการศุกร์ ศรีวิชัย (ศุกร์ อุดมศรี) พ.ศ. 2470
6. พระอธิการดนัย ชินปุตโต (ชื่น ไชยศรี) พ.ศ. 2495
7. พระครูวินัยธรบุญทา เตชปัญโญ (บุญทา ใจบรรหาร) พ.ศ. 2511 – 2532
8. พระครูพิศาลบุญนิวิฐ ประวัติการทำงานเจ้าอาวาสวัดอู่ทรายคำ ชื่อ พระครูพิศาลบุญนิวิฐ สถานที่เกิด บ้านเหมืองหิน หมู่ 11 ต. ป่าหุ่ง อ. พาน จ. เชียงราย วัน เดือน ปี เกิด 10 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ประวัติการศึกษา น.ธ. เอก พ.ศ. 2518 ม.ศ. 5 โรงเรียนนันทบุรีวิทยา (พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา) จ. น่าน พ.ศ. 2523 พก.ศ (พิเศษประกาศนียบัตร) กรรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2526 ศษ.บ. (สังคมศึกษา) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2530 ศน.บ. (ภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา พ.ศ. 2538 เข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ปีการศึกษา 2541 สำเร็จการศึกษา 2545 พ.ศ. 2523 – 2530 เป็นครูสอนที่โรงเรียนศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาวัดศรีโสดา อ. เมือง จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2524 – 2530 เป็นครูสอนโรงเรียนพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ วัดบุพพาราม อ. เมือง จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2530 – 2543 เป็นครูสอนโรงเรียนเชตุพนศึกษา ในพระสงฆราชูปถัมภ์ (พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา อ. เมือง จ. เชียงใหม่) พ.ศ. 2532 – 2534) รักษาการเจ้าอาวาสวัดอู่ทรายคำ ต. ช้างม่อย อ. เมือง จ. เชียงใหม่ พ.ศ. 2534 – ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดอู่ทรายคำ ต. ช้างม่อย อ. เมือง จ. เชียงใหม่
แผนที่วัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดใกล้เคียงวัดอู่ทรายคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดดอกเอื้อง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดชมพู ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดหนองคำ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดเชตวัน ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่