วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 135 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1840
ตามประวัติศาสตร์บอกไว้ว่าเมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ตกลงพระทัยที่จะสร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา ( ต้นเลาและต้นหญ้าคา ) ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพแล้ว ได้ทรงแต่งราชบุรุษถือพระราชสาส์นไปทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานทั้งสองคือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาปรึกษาการสร้างเมืองที่ เวียงเหล็ก ( ที่ตั้งวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน ) หลังจากที่สามกษัตริย์ได้ตกลงกันว่า ควรสร้างราชธานีไม่ กว้าง 800 วา ยาว 1000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก ทั้งสามกษัตริย์พร้อมใจกันตั้งนามเมืองใหม่ว่า “เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ ” หลังจากสร้างราชธานีเรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามังรายมหาราชได้ทรงสร้างวัดสร้างวัดสำคัญฝ่ายคามวาสี ( วัดสำหรับภิกษุที่ชอบอยู่ในเมือง เพื่อเรียนพุทธวจนะ ) ประจำเมืองทั้งสี่ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวังด้วย และทรงสร้างวัดฝ่ายอรัญญวาสี ( วัดสำหรับภิกษุที่เรียนพุทธวจนะแล้ว ออกไปหาความสงบในป่า บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ) บริเวณชานพระนครขึ้นหลายวัด เช่น วัดเก้าถ้าน เป็นต้น พระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาและพระภิกษุสามเณรทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญญวาสีด้วยปัจจัยสี่ ให้มีกำลังใจศึกษาและปฏิบัติธรรมวินัยตามความสามารถแห่งตนอย่างดียิ่งทั้งสองฝ่าย กาลต่อมาพระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราชพระสหายผู้ครองกรุงสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา ที่มาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช มาสั่งสอนพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติแก่ชาวเมืองสุโขทัยปรากฏเกียรติคุณว่า พระสงฆ์ลังกาแตกฉานพระไตรปิฎกเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าพระไทยที่มีอยู่เดิม เกิดศรัทธาเลื่อมใส ประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปขอพระสงฆ์ลังกา จากพระเจ้ารามคำแหงมหาราชมา 5 รูป เมื่อได้พระลังกา 5 รูป อันมีพระมหากัสสปะเถระ เป็นหัวหน้ามาสมพระประสงค์แล้ว เกิดลังเลพระทัยไม่ทราบว่าจะนำพระลังกานี้ไปอยู่วัดไหนดี จะนำไปอยู่กับพระไทยเดิมทั้งฝ่ายคามวาสีและ อรัญญวาสีก็เกรงว่าพระลังกาจะไม่สบายใจ เพราะระเบียบประเพณีในการประพฤติปฏิบัติอาจจะไม่เหมือนกัน ในที่สุดได้ตกลงพระทัยสร้างวัดฝ่ายอรัญญวาสีเฉพาะพระลังกาขึ้นวัดหนึ่งต่างหากที่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ ( สถานที่ซึ่งเรียกว่าวัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรมทุกวันนี้ ) การสร้างวัดไผ่ 11 กอครั้งนั้น พระองค์ประสงค์จะสร้างเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก จึงขอพระมหากัสสปะเถระเป็นผู้วางแผนผังวัดให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และประเพณีอันดีงามของชาวพุทธจริง ๆ เมื่อพระมหากัสสปะวางแผนวัดออกเป็นสัดส่วนโดยจัดเป็นเขตพุทธาวาส ( สถานที่เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า เช่น พระเจดีย์ พระอุโบสถ ) และสังฆวาส ( สถานที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่น ศาลาแสดงธรรม กุฏิพระโรงฉัน ) เรียบร้อยแล้วพระเจ้ามังรายมหาราชได้เป็นผู้อำนวยการสร้างวัดใหม่ตามแผนผังนั้น โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แม้พระเจดีย์ใหญ่อันเป็นหลักชัยของวัด ก็ทรงสร้างทรวดทรงแบพระเจดีย์ในเมืองลังกาทั้งหมด สร้างวัดเสร็จเรียบร้อยและทำการฉลองแล้ว ทรงขนานนามว่า “วัดเวฬุกัฏฐาราม” ( วัดไผ่ 11 กอ ) ต่อมาพระพุทธศาสนาในเชียงใหม่ก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการรบพุ่งชิงราชบัลลังค์ระหว่างเชื่อพระวงศ์และเริ่มมีการฟื้นฟูในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชโดยพระองค์ทรงบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม ซึ่งพระเจ้ามังรายทรงสร้างไว้ การบูรณะครั้งนี้ทรงทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งการพอกปูนซ่อมแซมใหม่ทับของเก่า ได้ทรงรักษาทรวดทรงเดอมไว้ทั้งหมด ส่วนรูปภาพสีน้ำที่เขียนไว้ในอุโมงค์ใต้ฐานพระเจดีย์ นั้นคงจะเขียนในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชเป็นแน่ เพราะศิลปะเหมือนกับรูปภาพสีน้ำอุโมค์ด้านเหนือพระเจดีย์ที่พระเจ้ากือนาทรงสร้างใหม่ เมื่อทรงบูรณะพระเจดีย์ใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้วพระองค์ได้ทรงสร้างอุโมงค์ใหญ่ ถัดฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างนี้ใหญ่และสวยงามมากมีทางเดินเข้าออกได้ 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึงข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับตามประทีปให้เกิดแสงสว่างไว้เป็นระยะ สะดวกแก่พระเดินจงกรม และภาวนาอยู่ข้างใน เพตานอุโมงค์เขียนภาพต่าง ๆ ด้วยสีน้ำมันทั้งสองช่อง ฝีมือการเขียนน่าจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทย เมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จและทำการฉลองแล้วได้ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดอุโมงค์ ” ชื่อวัดอุโมงค์จึงปรากฏตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหตุที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ทรงสร้างอุโมงค์ใหญ่โตสวยงาม ละเอียดประณีตเป็นพิเศษ เกิดมาจากพระองค์ทรงศรัทธาในมหาเถระชาวลานนา ผู้แตกฉานพระไตรปิฎก มีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาอยู่เป็นเยี่ยมรูปหนึ่ง พระมหาเถระรูปนั้นมีชื่อว่าพระมหาเถรจันทร์ หลังจากพระเจ้ากือนาธรรมิกราชสวรรคตปี พ. ศ. 1931 แล้วพระราชโอรส ( พระเจ้าแสนเมืองมา พ. ศ . 1931 -1954 ) ผู้มั่นคงในพระพุทธศาสนาเหมือนพระราชบิดา ได้ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาและภิกษุสามเณรด้วยปัจจัยสี่ให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เรื่อยๆ ครั้งถึงพระเจ้าสามฝั่งแกน ( พ.ศ. 1954 -1985 ) การศาสนาก็เริ่มทรุดลงอีกเพราะกษัตริย์พระองค์นี้มัวเมาในวิชาไสยศาสตร์ทรงเจ้าเข้าผี ถึงสมัย พระเจ้าติโลกราช ( พ. ศ . 1985 – 2030 ) รัชกาลที่ 12 พุทธศาสนาในลานนาไทยได้กลับเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ถึงกับได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ให้จัดทำสังคายนาครั้งที่ 8 ขึ้นที่วัดเจ็ดยอด เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตแล้ว พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ เพราะบ้านเมืองต้องทำศึกสงครามกับเมืองอื่นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่นั้นมาวัดอุโมงค์เถรจันทร์ก็ถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้างอยู่กลางป่าลึก โดยไม่มีใครเอาใจใส่ วัดอุโมงค์จะถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่ครั้งใดสืบได้ไม่ชัด ส่วนการขุดค้นทำลายพระเจดีย์เอาของมีค่าไปนั้น สันนิษฐานว่าคงเกิดขึ้นเมื่อ 80 -90 ปีมานี้เอง ( ราว พ .ศ.2450 ) ขณะที่ชาวพุทธนิคมมาเริ่มถางที่นั้น บริเวณวัดอุโมงค์มีป่าปกคลุมหนาแน่นมาก เมื่อจัดการแผ้วถางพอปลูกที่อยู่ได้แล้ว ก็ได้ปลูกกุฏิเล็กๆ 3 หลัง ให้พระสงฆ์พักจำพรรษา 3 รูป เมื่อต้นฤดูร้อน พ. ศ. 2490 ต่อจากนั้นมาก็ยึดเอาสถานที่นี้เป็นที่อยู่ประจำการทำงาน หลังจากจัดสวนพุทธธรรมให้เป็นที่อยู่ของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา แล้ว วัดอุโมงค์ก็เข้ารวมอยู่ในสวนพุทธธรรม
ลำดับเจ้าอาวาส:
1. พระศรีธรรมนิเทศน์ พ. ศ . 2512 – 2520
2. พระครูสุคันธศีล พ. ศ . 2520 – ปัจจุบัน
งานศิลปกรรม
1 สร้างในสมัยพระเจ้ามังรายแต่ของเดิมมีขนาดย่อมกว่านี้ ที่ใหญ่ขึ้นยังไม่เก่ามากนัก และมองเห็นลวดลายสวยงามชัดเจน เป็นเพราะพระเจ้ากือนาธรรมิกราชรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังรายทรงบูรณะขึ้นใหม่ด้วยการพอกปูนทับของเก่าพร้อมกับสร้างอุโมงค์ให้พระมหาเถรจันทร์อยู่ระหว่าง พ. ศ . 1910 -1930 โดยพระอุโมงค์นี้มีทางเดินเข้าออกได้ 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึงข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับตามประทีปให้เกิดแสงสว่างไว้เป็นระยะ เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่าง ๆด้วยสีน้ำมันไว้ตลอดทั้ง 2 ช่อง ฝีมือที่เขียนดูจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทย ต่อมาเมื่อวัดอุโมงค์ถูกทอดทิ้ง คนแก่บางคนในหมู่บ้านอุโมงค์ ตีนดอยที่มีชีวิตอยู่เล่าว่า ในปีที่ผู้ร้ายช่วยกันเจาะทำลายพระเจดีย์ได้สำเร็จจนพบกรุบรรจุทรัพย์สมบัติ ในฐานเจดีย์อันทำด้วยแผ่นหินอย่างแข็งแรงมั่นคงนั้น เขาได้ขนเอาพระพุทธรูปทอง เงิน นาก และทองรูปพรรณอื่น ๆ ไป เช่น เชี่ยนหมากทองคำ ขันทอง เขารื้อขนออกมาทรัพย์สมบัติมารจนถึงขนาดยกกันไป ตั้งเตาหลอมกันบนเขา ทำกันอยู่เป็นแรมเดือน บางคนก็นำไปซุกซ่อน ฝังดินไว้ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็ยังมีพวกรถยนต์ขนดินขุดพบ เครื่องทองพระธาตุผังดินอยู่เอาไปแบ่งกัน เล่าว่าในสมัยขุดพระธาตุคนที่กลัวบาปมากถึงกับไม่กล้ารับซื้อทองกัน เพราะเกรงว่าจะเป็นทองที่ผู้ร้ายเอาไปจากวัดอุโมงค์ เมื่อพิจารณาตามคำเล่าลือต่อ ๆ กันมาดูก็น่าจะเป็นความจริงอยู่มาก ด้วยเหตุผลหลายประการเช่นในยุครัชสมัยของพระเจ้ากือนา เป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มากเป็นสมัยที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาแก่กล้าทรงเป็นผู้นำของราษฎรในด้านการบุญการกุศล ทรงอุทิศเวลาเงินทองทุ่มเทในการก่อสร้างถาวรวัตถุ วัดวาในพระศาสนาและพากันเชื่อแน่อย่างมั่นคงในเรื่องการฝังทรัพย์ไว้ในพระศาสนาว่าเป็นมหากุศลอันสูงสุด เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้ว การบูรณะครั้งหลังสุดเป็นการปรับปรุงยอด ให้เป็นแบบศิลปะพม่ายุคหลัง ใต้องค์เจดีย์มีกรุ และภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับเท่าที่ปรากฏเหลืออยู่ เป็นภาพดอกไม้ใบไม้ และสัตว์ ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลผสมกันระหว่างศิลปะพม่า แบบพุกาม และจีน สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 วัดอุโมงค์ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2478และกำหนดขอบเขต เมื่อปี พ.ศ. 2523