วัดล่ามช้าง ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 32 ถนนมูลเมือง ซอย 7 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
เมื่อ พ.ศ.1835 – 1839 พญามังรายมหาราช กษัตริย์แคว้นล้านนา ได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ ณ เวียงเล็กหรือเวียงเชียงมั่น (วัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมอุปกรณ์การสร้างเมือง
พญามังรายได้ทรงเชิญพญาร่วง หรือ ขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แคว้นสุโขทัย และ พญางำ-เมือง กษัตริย์แคว้นพะเยา หรือ ภูกามยาม มาร่วมปรึกษาสร้างเมืองด้วย สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”
ด้านทิศตะวันออกของเวียงเล็ก เป็นป่าไม้มีหนองน้ำใหญ่ ช้างราชพาหนะของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์และของข้าราชบริพาร คงเลี้ยงและล่ามไว้บริเวณนี้ เรียกว่า “เวียงเชียงช้าง” ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นที่เวียงเชียงช้าง ณ ที่เลี้ยงและล่ามช้างเพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ขนานนามว่า “วัดล่ามช้าง” และปั้นรูปช้างถูกล่ามเลี้ยงไว้เป็นสัญลักษณ์ของวัด
โบราณวัตถุสถาน
1. วิหาร มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างใหม่ ไม่ใช่ของเก่าแก่มาแต่เดิม หน้าบันประดับด้วยลวดลายพรรณพฤกษาสีทองอ่อนช้อยมาก ความพิเศษของพระวิหารวัดล่ามช้างคือมีมุขยื่นออกมาด้านข้างพระวิหาร เพื่อใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับพระสงฆ์ ตามธรรมเนียมล้านนาดั้งเดิมนั้นมักนิยมแยกทางเข้าออกของสงฆ์กับฆราวาสไว้อย่างชัดเจน
2. เจดีย์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมย่อเก็จ ที่ฐานมีรูปปั้นช้างประดับอยู่ทั้งสี่ทิศ บริเวณฐานทรงกลมรองรับองค์ระฆังมีปูนปั้นเทพพนมประดับอยู่อย่างสวยงาม ถัดไปเป็นองค์ระฆังประดับด้วยกระจกสีสวยงามจนถึงส่วนปลียอด ฐานประดับด้วยลวดลายกลีบบัว ยอดเจดีย์ยกฉัตรสีทอง
3. ซากเจดีย์โบราณ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ลักษณะเป็นเจดีย์สัณฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มจระนำประดับอยู่ทั้งสี่ด้าน แต่เนื่องจากสวนยอดพังหายไปหมดแล้ว จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเจดีย์ลักษณะใด