วัดพันแหวน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ที่ตั้ง : วัดพันแหวน ๕๐ ถนนถนนพระปกเกล้า ซอย 6 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
วัดพันแหวน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2040 ตั้งวัดเมื่อ 2060 พ.ศ. ได้รับพระราชทานพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2327
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2040 ตามความเชื่อคนผู้สูงอายุ ว่าผู้สร้างคงเป็นนายทหารที่มีตำแหน่งเป็นนายพันที่มีชื่อว่าแหวน สมัยโบราณเมื่อทหารหรือเจ้านายต้องการความสะดวกของครอบครัวตนเองก็จะสร้างวัดไว้ใกล้บ้านเพื่อให้ครอบครัวของตนเองไปทำบุญใกล้บ้าน อีกประการหนึ่ง นายทหารอาจจะทำการรบทัพจับศึกชนะก็จะทำการสร้างวัดเพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิตในสนามรบเหมือนกับนายทหารพม่าที่นิยมสร้างเจดีย์เมื่อรบทัพจับศึกชนะเมื่อเราไปประเทศพม่าจะเห็นเจดีย์อยู่มากมาย ดังนั้นวัดพันแหวนที่สร้างขึ้นมาอาจมาจากสาเหตุเดียวกันก็ได้
วัดพันแหวนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ได้รับวิสุงคสีมาเมื่อ พ.ศ.2060(มีอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรม เช่น การทำอุปสมบท หรือสวดสังฆกรรมในพิธีทอดกฐิน) วัดพันแหวน เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในอดีตอยู่ในกลุ่มอุโบสถขึ้นกับวัดพันเตา ซึ่งประกอบด้วย วัดพันเตา วัดสบขมิ้น วัดหอธรรม วัดช่างแต้ม วัดหมื่นตูม วัดผ้าขาว วัดฟ่อนสร้อย ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มอุโบสถวัดพันอ้น ซึ่งประกอบด้วยวัดพันอ้น วัดผ้าขาว วัดทรายมูลเมือง วัดพันเตา วัดช่างแต้ม วัดหมื่นตูม วัดผ่อนสร้อย วัดเจ็ดลิน
พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์,ดร. คุตฺตสีโล มีลำดับชั้นสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตร ทผจล.ชพ. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดพันแหวน และยังดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะตำบล ประวัติด้านการศึกษาของพระครูสิริปริยัตยานุศาสก์,ดร. คุตฺตสีโล เจ้าอาวาสวัดพันแหวน จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาเอก / ph.d.
วัดพันแหวนเป็นวัดที่เก่าแก่ผู้อุปถัมภ์มีจำนวนน้อยเมื่อ พ.ศ.2475 ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นวัดร้าง สมัยที่พระโพธิรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดพันตอง รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ท่านเป็นเลขาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยนั้นไม่มีพระมาจำพรรษาสมบัติของวัดเช่นพระพุทธรูปและฆ้องกลองถูกนำไปวัดต่างๆ ต่อมาชาวบ้านได้นิมนต์พระจากที่อื่นมาจำพรรษาส่วนมากพระที่มาจำพรรษาก็อยู่ไม่นาน
พระที่มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้คือ ครูบาตั๋น ครูบาแก้ว พระเสาร์แก้ว พระติ๊บ พระผัด พระสิงห์คำ เจริญสุข พ.ศ.2500-2510 ได้สร้างศาลาธรรมทาน 1 หลัง
พระอธิการบุญมี โพธิสมฺปนฺโน 2510-2519 เมื่อท่านบุญมีมาจำพรรษาที่วัดพันแหวนปีแรก สภาพวัดเต็มไปด้วยหญ้าคา วิหารทรุดโทรม อุโบสถทรุดโทรม หอไตรไม้สักเก่า กำแพงต่ำๆ สูงประมาณ 1 เมตร ด้านทิศเหนือมีแต่ฐานกำแพงเก่าๆ ทิศเหนือของอุโบสถมีหนองน้ำ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือก็เป็นหนองน้ำ สิ่งที่พอจะใช้ได้คือกุฏิไม้หลังเล็กๆ 1 หลังและศาลาธรรมทาน 1 หลัง
เมื่อสภาพวัดทรุมโทรมจนทำให้ผู้ที่มาเห็นว่าถ้าวัดนี้เจริญขึ้นมาได้นั้นลำบากแน่ๆ จึงมีคนมาพูดกับพระอธิการบุญมีว่าถ้าวัดนี้เจริญขึ้นมาได้เมื่อไร เขาจะยอมเอาหัวเดินแทนเท้า เมื่อถูกคนมากล่าวสบประมาทอย่างนี้ ท่านพระอธิการบุญมีจึงมีความพยายามที่จะทำให้ได้โดยท่านเป็นพระที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี โดยขอความช่วยเหลือจากศรัทธาประชาชนที่อยู่ต่างถิ่น เช่น กรุงเทพ และจังหวัดต่างๆมาสร้างวัด อันดับแรกท่านได้ทำการบูรณะวิหารเมื่อ พ.ศ.2512 ฉลองวิหารเมื่อ พ.ศ.2514 เดิมวิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังฝาก็ทำด้วยไม้สักเหมือนกับวิหารวัดพันเตา ท่านได้รื้อหอไตรที่ทรุดโทรมมากจนไม่สามารถบูรณะทิ้ง พ.ศ.2517 ท่านได้บูรณะอุโบสถ และสร้างโรงครัวอีก 1 หลัง ฉลองเมื่อ พ.ศ.2519
เป็นที่น่าเสียดายอย่างมากที่ท่านมีอายุสั้น ท่านได้มรณะเมื่อ พ.ศ. 2519 ในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 51 ปี เท่านั้น ถ้าท่านมีอายุยืนวัดพันแหวนคงจะเจริญกว่านี้อีก เมื่ออธิการบุญมี ได้มรณภาพลงทำให้ทางวัดพันแหวนขาดเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสไม่มีชาวบ้าน และสามเณรในวัดซึ่งประกอบไปด้วยสามเณรบุญรัตน์ และ มัคนายกในขณะนั้นคือ พ่อหนานทา สุทธนะ เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านหลายคนได้ไปนิมนต์จากวัดต่างๆ เพื่อที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสแต่ไม่มีวัดไหนรับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาส สาเหตุที่พระท่านไม่มาเพราะว่าวัดพันแหวนเป็นวัดเล็กๆ และยังอยู่ในซอย ไม่เหมือนวัดอื่นที่อยู่ใกล้ถนนสายใหญ่ง่ายต่อการบูรณะและพัฒนา
เมื่อชาวบ้านหาเจ้าอาวาสไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการประชุมปรึกษาที่จะเอาสามเณรบุญรัตน์ (พระครูประภากรพิศิษฎ์) ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 20ปี อุปสมบทเพื่อดูแลวัดไปก่อนและมีข้อแม้จากสามเณรบุญรัตน์อยู่ข้อหนึ่ง คือว่าถ้าอยู่แล้วมีความสบายใจก็จะอยู่เรื่อยๆ ถ้าอยู่แล้วไม่สบายใจก็จะไม่อยู่ ทุกคนในที่ประชุมตกลง เมื่อได้มีพระหนุ่มที่ที่ต้องมาดูแลวัดพันแหวนในหน้าที่เจ้าอาวาส ในปีแรกนั้นก็ทำให้พบปัญหาต่างๆ พอสมควร
พ.ศ.2520 เริ่มพัฒนาวัดโดยการบูรณะกำแพงวัดซึ่งในขณะนั้นเป็นกำแพงที่เก่าและต่ำมากให้สูงขึ้น
พ.ศ.2525สร้างกุฏิหลังใหญ่เป็นอาคารตึก 2 ชั้น ในขณะที่เริ่มก่อสร้างมีเงินอยู่ 50,000 บาท การก่อสร้างเป็นลักษณะสร้างไปทีละครึ่ง หลังเมื่อสร้างเสร็จครึ่งหลังก็ย้ายจากกุฏิเก่าไปอยู่ที่ใหม่เพราะภายในวัดมีกุฏิเล็กๆเพียงหลังเดียว การก่อสร้างใช้แรงงานของพระเณรในวัด ฉลองเมื่อ พ.ศ.2528 สิ้นทุนทรัพย์ 750,000 บาท พ.ศ.2533 สร้างศาลาการเปรียญเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างห้องน้ำ 20 ห้อง เริ่มสร้างมีเงินทุนทั้งหมด 100,000 บาท ฉลองเมื่อพ.ศ.2537 สิ้นทุนทรัพย์850,000 บาท
พ.ศ.2541 สร้างศาลาบำเพ็ญบุญด้านทิศตะวันตก พร้อมโรงครัวและห้องน้ำ 12 ห้อง เริ่มสร้างมีเงิน 50,000 บาท ฉลองเมื่อปี 2543 สิ้นทุนทรัพย์ 3,500,000 บาท
พ.ศ.2542-2546 บูรณะเจดีย์ วิหาร และสร้างกุฏิที่หลังเล็ก พร้อมปิดทองพระพุทธรูปในวิหารและอุโบสถ สิ้นทุนทรัพย์ 1,400,000 บาท ฉลองเมื่อ
พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นการบูรณะก่อสร้างวัดพันแหวนและทำบุญครั้งสุดท้ายของพระครูประภากรพิศิษฎ์(พระบุญรัตน์ ทาประภากร)ที่ทำหน้าที่ดูแลวัดพันแหวน พระครูประภากรพิศิษฎ์เป็นเจ้าอาวาสที่ช่วยดูแลวัดนานที่สุด คือ ตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่ที่วัดพันแหวน เมื่อ พ.ศ.2514 อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.2520-2546 เป็นเจ้าอาวาส 26 ปี ได้ทำหน้าที่ดูแลบูรณะวัดพันแหวนตามที่ตั้งใจไว้แล้วและได้ขอลาสิกขาบท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2546
พระมหาจันทร์ จนฺทสาโร เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสแทน
เจ้าอาวาสปัจจุบัน คือ พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์,ดร. คุตฺตสีโล
แผนที่วัดพันแหวน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดใกล้เคียงวัดพันแหวน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดพวกแต้ม ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดพระเจ้าเม็งราย ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่