วัดพันเตา ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ถนนถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์:053-814689 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2040
ในตำนานประวัติ ดั้งเดิมของวัดพันเตา มีอายุเก่าแก่ร่วมสมัยเดียวกันกับวัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์หลวง มีวัดที่ร่วมเป็นสังฆาวาสของวัดเจดีย์หลวง หรือวัดโชติการาม อยู่ 4 วัดด้วยกันคือ 1. วัดสุขมิ้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเมตตาศึกษาวัดเจดีย์หลวง 2. วัดสบฝาง (ป่าฝาง) ปัจจุบันเป็นบ่อเปิงและรวมเป็นวัดเจดีย์หลวง 3. วัดหอธรรม ปัจจุบันรวมเป็นวัดเจดีย์หลวง 4. วัดพันเตา ขึ้นกับคณะสงฆ์เชียงใหม่ มหานิกาย คำว่า “พันเตา” ในอดีตคนเมืองเชียงใหม่ นิยมเรียกว่า “วัดปันเต้า” หรือ “พันเท่า” ซึ่งมีความหมายว่าปริมาณที่เพิ่มพูนมากมายร้อยเท่าพันเท่า เป็นการเขียนตามอักษรล้านนา แต่ออกเสียงว่า “ปันเต้า” แล้วจึงกลายเป็น “พันเตา” ในเวลาต่อมา
ลำดับเจ้าอาวาส:
1. ครูบาคำมูล ปี พ.ศ. ไม่ได้ระบุไว้
2. ครูบาปินตา ปี พ.ศ. ไม่ได้ระบุไว้
3. ครูบาบุญมี ปี พ.ศ. ไม่ได้ระบุไว้
4. ครูบาอินสวน ปี พ.ศ. ไม่ได้ระบุไว้
5. พระมหาสร้อย ฐานวโร ปี พ.ศ. 2519 – 2540
6. พระอธิการอุทัย ปุญญสัมภโว ปี พ.ศ. 2540 – ปัจจุบัน
งานสถาปัตยกรรม
1 หอคำหรือวิหารวัดพันเตา เดิมทีหอคำประดิษฐานอยู่ที่พระตำหนักเวียงแก้วอันเป็นบริเวณเยื้องทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือศาลาเก่าหรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ตรงเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ ไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่อยู่ในขณะนี้ ตามตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอคำหลังนี้ พระยาอปราชมหาวงศ์ ได้สร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาเมื่อจุลศักราช 1209 ตรงกับ พ.ศ. 2390 เนื่องจากท่านได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่จากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่ท่านได้สร้างหอคำขึ้นไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเป็นปูชนียวัตถุล้ำค่าภายในที่อยู่ของท่าน ท่านได้ทำการฉลองอย่างเอิกเกริก อนึ่งในการสร้างหอคำหลังนี้ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ใช้ช่างพื้นเมืองและช่างพม่าผสมกันต่อมาพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ได้รับพระราชทานเลื่อนศานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้ามีพระนามในสุพรรณบัฏว่า พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร์นพีสิทรมหานคราธิษฐาน ใน พ.ศ. 2396 พอได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ได้ไม่กี่เดือนก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯ พิราลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงเทพมหานคร ทรงแต่งตั้งให้นายสุริยวงศ์ บุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ) ขึ้นเป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 6 ต่อจากพระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาได้ 16 ปีเศษ พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2413 เจ้าอุปราชอินทนนท์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาร่วม 3 ปี จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าอินทรวิชยานนท์พหลเทพภักดีฯ เจ้าครองนครเชียงใหม่ กาลเวลาล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีพระดำริว่า หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศฯ นั้นสมควรจะอยู่ในวัดมากกว่าอยู่ในวัง จึงทรงบัญชาให้ช่างช่วยกันรื้อหอคำ (หอคำ วังหรือท้องพระโรงหน้า ของเจ้านครเชียงใหม่เช่นเดียวกับวังหรือท้องพระโรงของเจ้านายทางภาคกลาง) หอคำหลังได้ย้ายมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ วัดพันเตาหรือวัดปันเต้า เมื่อวันเสาร์เดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ ปก (ยกเสา) วิหารวัดพันเตาหรือวัดปันเต้ากลางเวียงเชียงใหม่ เพราะในขณะนั้นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดหอธรรม วัดเจดีย์หลวง วัดสุขมิ้น อยู่แล้วการก่อสร้างวิหารของพระอารามทั้งสามแห่งกับหอคำของวัดพันเตา สำเร็จบริบูรณ์ลงใน พ.ศ. 2429 ทำการฉลองพร้อมกันทั้งสี่แห่งเมื่อวันอาทิตย์ เพ็ญเดือน 7 เหนือโดยมีงานปอยหลวง (งานทำบุญฉลอง) มาตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำจนถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ นับเป็นงานปอยหลวงที่สนุกสนานที่สุดครั้งหนึ่งของนครเชียงใหม่ อายุของหอคำเมื่อนับจากปีที่วางรากปกเสา พ.ศ. 2490 มาจนถึงบัดนี้ได้ 157 ปีเศษ (2547) ตัวอาคาร เนื่องจากสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนส่วนใหญ่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีโครงสร้างแบบกรอบยึดมุมมาก เสาและฝาทุกส่วนเป็นไม้โดยเฉพาะฝามีแบบวิธีการสร้างพิเศษคล้ายกับฝาปะกนของฝาไม้ในสมัยอยุธยาแต่มีขนาดตัวไม้ที่หนาแน่นมั่นคงกว่า คือเป็นกรอบไม้ยึดยันรูปสี่เหลี่ยม อัดช่องภายในด้วยไม้ลูกฟัก สัดส่วนใหญ่และหนากว่าฝาปะกน การทำฝาทางเหนือนั้น ใช้ตัวไม้เป็นช่องตารางยึดติดกับช่วงโครงสร้างก่อนแล้วจึงบรรจุแผ่นลูกฟักภายหลัง ฝาแบบนี้แข็งแรงและมั่นคงเพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนักของส่วนบนอาคารด้วย การทำฝาผนังของวิหารวัดพันเตาก็เป็นลักษณะนี้โดยเฉพาะวิหารนี้ฝาผนังด้านข้างจะยาวตลอดเป็นแนวเดียวกัน ไม่มีการย่อมุขซึ่งเป็นที่นิยมมากทางภาคเหนือคือ การย่อมุมตรงมุขหน้าวิหารทั้ง ๆ ที่เป็นวิหารขนาดใหญ่มากการสร้างวิหารนี้ช่างทางเหนือสามารถแก้ปัญหาที่ความรู้สึกหนักทึบของฝาผนังด้านข้างที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ นี้ได้ โดยอาศัยการแบ่งพื้นที่ของผนังด้วยกรอบไม้ยึดยันรูปสี่เหลี่ยมดังที่กล่าวมาแล้ว พร้อมกันนั้นก็ใช้ประโยชน์จากฝาผนังแบบนี้ให้เป็นตัวช่วยรับน้ำหนักจากหลังคาที่มีขนาดใหญ่ตามขนาดวิหาร