วัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
1108

วัดผ้าขาว ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 36 ถนนราชมรรคา ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

วัดผ้าขาว เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่โบราณวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จากเอกสารที่พอมีของทางวัด ทำให้สันนิษฐานว่าวัดผ้าขาวมีอายุประมาณ 600 ปี และวัดนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยพ่อเจ้ามหาชีวิต ซึ่งเป็นโอรสของพ่อเจ้าชีวิตอ่าว ส่วนจะสร้างเมื่อวันที่ เดือน และปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน เพราะเคยเป็นวัดร้างมานาน สถานที่ตั้งวัดแห่งนี้ เดิมเป็นป่ารกชัฏ มีซากปรักหักพังของโบสถ์ วิหาร ศาลา ต่างๆปรากฏอยู่ แต่ต่อมาก็มีการซ่อมแซมจนเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ อนึ่ง มีเกร็ดเล็กๆ เล่าสืบกันมา เกี่ยวกับการขนานนามชื่อของ “วัดผ้าขาว” ว่า บริเวณที่ตั้งวัดผ้าขาวนี้ เดิมเป็นข่วง ( สนามสาธารณประโยชน์ ) ใช้เป็นสถานที่ชุมนุมกระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดขบวนแห่หรือพิธีการจิปาถะ จะมีการเลือกเอาบริเวณนี้เป็นที่ชุมนุมจัดตั้งขบวนทุกครั้ง มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งโอรสของเจ้าผู้ครองเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ จะขึ้นครองราชแทนพระราชบิดา ( จะเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์ใดนั้นเอกาสรไม่ได้ระบุไว้ ) ได้มาจัดขบวนแห่ ณ บริเวณนี้ โดยให้ทุกๆคนที่มาร่วมในพิธี แต่งตัวด้วยชุดขาวทั้งหมด แม้แต่พระองค์เองก็จะทรงเครื่องขาวทั้งชุดเช่นกัน จนทำให้บริเวณนั้นปกคลุมด้วยผ้าสีขาว ประชาชนที่ร่วมชุมนุมร้องออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้โฮผ้าขาว” เมื่อได้ฤกษ์งามยามดี จึงลั่นฆ้องชัย เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณนั้น เดินขบวนไปทางทิศเหนือ เมื่อแห่ขบวนไปถึงวักเชียงมั่น ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ก็เสด็จลงจากเฉลียงแห่ นำประชาราษฎร์เข้าสู่วัดเชียงมั่น กระทำพิธีราชาภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองเมือง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่สืบไป จึงถือเป็นนิมิตร ที่ประชาชนตลอดเจ้าผู้ครองนครแต่งและทรงเครื่องขาวทั้งชุด จนมองเห็นบริเวณนั้นเป็นเสมือนผ้าขาวปกคลุมอยู่ จึงขนานนามวัดนี้ว่า “วัดผ้าขาว” แต่จากตำนานการสร้างวัดสวนดอกนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างวัดผ้าขาวไว้ด้วยว่า เมื่อครั้งสมัยพระเจ้ากือนานั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้คนไปนิมนต์สุมนเถระจากกรุงสุโขทัย และหนึ่งในจำนวนนั้นมีชีปะขาวเงินกับชีปะขาวทอง พอคนเหล่านั้นนิมนต์พระสุมนเถระได้สำเร็จ พระเจ้ากือนาจึงปูนบำเน็จให้ทรัพย์สินเงินทองมากมาย เมื่อชีปะขาวเงินชีปะขาวทองได้รับเงินทองมากมายจึงนำทรัพย์สินที่ได้ไปสร้างวัด เป็นวัดผ้าขาวน้อยและวัดผ้าขาวใหญ่ ซึ่งวัดผ้าขาวในปัจจุบันเหลืออยู่แห่งเดียว ส่วนอีกแห่งหนึ่งถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันพื้นที่บริเวณนั้นสร้างเป็นโรงแรมอโนดาต

ลำดับเจ้าอาวาส:
ลำดับเจ้าอาวาส 1. พระเจ้าหลวงรินทร์ มีสมณะศักเป็นเจ้าคณะ ปกครองพระภิกษุ สามเณรในหมู่บ้านตำบลนี้
2. พระหลวง ซึ่งเป็นพระลูกวัด เป็นเจ้าอาวาสแทนพระเจ้าหลวงรินทร์
3. พระกลิ้ง ซึ่งเป็นพระลูกวัด เป็นเจ้าอาวาสแทนพระหลวง
4. พระอินสม ซึ่งเป็นพระจำพรรษา ณ วัดพระยาหลวง ตำบลบ่อหิน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสแทนพระกลิ้ง
5. พระคำ เป็นพระลูกวัด
6. พระปั้น เป็นพระลูกวัดรอง ต่อมาเมื่อทานมรณภาพลง เหล่าศรัทธายกทายิกาทั้งหลายได้ประชุมปรึกษาหารือว่าควรไปนิมนต์พระในวัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสต่อไป เจ้าอาวาสนันทารามเมื่อได้พิจารณาแล้วจึงให้พระคนธิโยมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดผ้าขาว
7. พระคนธิโย ( ป๊ก มณีเทศ ) พระลูกวัดนันทาราม สืบไปเมื่อ พ.ศ. 2447 พระคนธิโย เป็นพระที่มีวาจาสัจ เมื่อทำสิ่งใดแล้วต้องทำให้สำเร็จ และยังมีพรวิเศษในการปรุงยารักษาโรคต่างๆได้วิเศษนัก จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งตำบลใกล้ไกล ว่าท่านเป็นหมอยารูปหนึ่ง
8. พระมหาทองสุข ป.ธ. 5 พระลูกวัด แต่พระมหาทองสุขมีโรคประจำตัว ไม่สามารถอยู่บำเพ็ญสมณะธรรมได้ จึงได้ลาสิกขาบทไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ศรัทธาทายกทายิกาจึงได้นิมนต์พระลูกวัดที่มีอาวุโสตามลำดับรักษาราชการแทนเจ้าอาวาส
9. พระอินตา รักษาราชการไม่นานก็ลาสิกขาบท
10. พระเอื้อ รักษาราชการไม่นานก็ลาสิกขาบท
11. พระอนันท์ รักษาราชการแทนไม่นานก็ลาสิกขาบท 1
2. พระหนูพันธ์ ชินวโร ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสจากสำนักวัดเมืองมาง ได้มาจำพรรษา 1 พรรษาก็ลาไปอยู่จังหวัดเดิมของท่าน 1
3. พระแก้ว รักษาราชการแทนไม่นาน ก็ลาสิกขาบท 1
4. พระครูมงคลรัตโนภาส ( พระอาจารย์อินแก้ว อาภาโส ) เป็นพระวิปัสสนาจารย์ คณะศรัทธาได้ไปอาราธนานิมนต์มาจากวัดทุ่งยู ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสแทน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 แต่ท่านไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสจนกระทั่ง พ.ศ. 2515จึงเป็นเจ้าอาวาสวัดผ้าขาวจนถึงปัจจุบัน ประวัติเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระครูมงคลรัตโนภาส มีชื่อเดิมว่าอินแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2467 ปัจจุบันอายุ 81 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านช่าง ตำบลท่าเดื่อ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายน้อย จันทา และนางเรือนมูน จันทา มีพี่น้องร่วมท้องรวม 12 คน เป็นชาย 4 หญิง 8 คน ท่านพระครูมงคลรัตโนภาสเล่าว่าเมื่อครั้งท่านยังเป็นเด็กวัดที่วัดบ้านช่าง อายุประมาณ 9 ขวบ ได้มาช่วยในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพร่วมกับคนอื่นๆ มีท่านครูบาศรีวิชัยเป็นประธานในครั้งนั้นด้วย เมื่อ พ.ศ. 2479 บวชเป็นสามเณร และใน พ.ศ. 2485 ท่านได้มาเรียนหนังสือที่วัดพันอ้น สอบได้นักธรรมเอก จนในพ.ศ. 2488 จึงบวชเป็นพระภิกษุ แล้วกลับไปสอนที่วัดวังลุง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แต่ในปัจจุบันวัดนั้นจมน้ำหายไปแล้ว พ.ศ.2497 อยู่วัดเมืองมาง ประตูเชียงใหม่ เพื่อมาสอนวิปัสสนากรรมฐาน จนถึง พ.ศ. 2506 ไปอยู่ที่สำนักวิปัสสนาแม่กลาง ที่น้ำตกแม่กลางเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเทียวไปแล้ว ต่อมา พ.ศ. 2507 ไปอยู่ที่อำเภอสารภี เพื่อเปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐาน แล้วจึงมาอยู่ที่วัดทุ่งยูจนกระทั่งปีต่อมา พ.ศ. 2515 จึงเป็นเจ้าอาวาสวัดผ้าขาว จน พ.ศ. 2539 ได้รับตำแหน่งพระครูมงคลรัตโนภาส เมื่อพระครูมงคลรัตโนภาสได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดผ้าขาวในแรกเริ่มนั้น ท่านได้บูรณะซ่อมแซมสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมและก่อสร้างถาวรวัตถุอีกหลายอย่างที่วัดยังขาดคือ ซ่อมกุฏิ สร้างถังเก็บน้ำ สร้างเสริมกำแพงรอบวัด ฯลฯ

งานสถาปัตยกรรม
1 วิหาร วิหารของวัดผ้าขาวมีพื้นฐานกว้าง 20 ศอก ยาว 28 ศอก สูงประมาณ 25 ศอก ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่น้อยมากมาย
2 เจดีย์ เจดีย์วัดผ้าขาวก่อด้วยอิฐถือปูน รูปฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงประมาณ 25 ศอก
3 เสื้อวัด เสื้อวัดคือศาลาที่อยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงของวัด เสื้อวัดเป็นศาลาเล็กๆที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองวัด

งานศิลปกรรม
1 พระประธาน
2 รูปปั้นชีปะขาว รูปปั้นชีปะขาวอยู่ติดกับผนังด้านทิศใต้ของวิหาร