วัดดวงดี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ที่ตั้ง : วัดดวงดี เลขที่ 228 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
วัดดวงดี ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 1910
วัดดวงดีสร้างเมื่อ พ.ศ. 1910 ใครเป็นผู้สร้างนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ปรากฏว่ามีหลายชื่อ เช่น วัดพันธุมดี วัดอุดมดี วัดพนมดี ปรากฏชื่อวัดดวงดีในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2308 เจ้าขี้หุดบวชเป็นพระ อยู่วัดดวงดี เมื่อสึกออกมาได้เป็นเจ้าเมืองลำพูนและจากจารึกบนฐานพระพุทธรูปโลหะองค์หนึ่งที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารจารึกด้วยอักษรไทยยวน มีข้อความว่า “ สกราชได้ 858 ปี รวายสีพระเจ้าตนนีแสนนึงไว้วัดต้นมกเหนือ” (จ.ศ. 858 พ.ศ. 2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่) จากข้อความดังกล่าวหากว่าพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีการนำมาจากที่อื่น แต่สร้างขึ้นในวัดนี้หมายความว่าวัดดวงดีมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งคือวัดต้นมกเหนือ หรือวัดต้นหมากเหนือ วัดดวงดีสร้างขึ้นหลังจากพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้วและยังคงมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งเป็นผู้ต้นคิดสร้างดังปรากฏในใบลาน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า “จุลศักราช ๑๑๒๓(พ.ศ.๒๓๐๔) ตัวปีร้วงไส้ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ เจ้าปัด (ผู้เป็น) น้องเจ้าจันทร์ลุกจากป่ามอก(บ้าน,ตำบล,เมือง) มาพร้อมกันกับพระยาคืน(ฟื้น) ยึดอำนาจเจ้าจันทร์ เจ้าจันทร์หนีไปพึ่งพระยาทะกานเม็งทละก้าน(แพ้ หนี) ลงไปอยู่บ้านสันซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนเจ้าปัดได้เมืองแล้วก็ไม่เสวยเมือง เลยนิมนต์เจ้าขี้หุดซึ่งเป็นพระภิกษุอยู่วัดดวงดี และ คงเป็นเพียงพระลูกวัดไม่ใช่เจ้าอาวาส ลาออกมาเสวยเมืองเชียงใหม่ถึงเดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ ศกเดียวกันนั้นเจ้าเมืองลำพูนตาย
งานสถาปัตยกรรม
1 พระวิหาร วิหารเป็นแบบห้างผู้ซึ่งมีความสูงใหญ่โดยทั่วไปอาคารวิหารส่วนใหญ่ในล้านนามักเป็นแบบห้างแม่ที่มีลักษณะกว้างจึงทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่เหนือหลังคา วิหารเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าโครงสร้างซ้อนกัน 3 ซด(3 ขั้น) เป็นวิหารขนาดใหญ่ด้านในไม่มีแนวเสาตรงกลาง มีอิทธิพลของภาคกลางเข้ามาเกี่ยวข้องที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ นาคสดุ้งมีงวง หัวนาคยังคงเป็นแบบทางภาคเหนือลายไม้แกะสลัก หน้าบันเป็นลายพรรณพฤกษา(เครือดอก)ใต้หลังคามีการอวดโครงสร้างไม่มีเพดานปิดลักษณะเหมือนทางเหนือ โก้ก(ใบระกา) เป็นแบบทางภาคกลาง ราวบันไดทางขึ้นหน้าพระวิหารแต่เดิมเป็นรูปหางวัลย์ที่มีลวดลาย แต่ถูกบูรณะจนลบเลือน จนลายขมวดหายไปเหลือแต่รูปทรงภายนอก หางวัลย์ คือ เถาวัลย์ที่ขดงอ (อาจารย์พรศิลป์ รัตนชูเดช) ทางขึ้นด้านข้างของพระวิหารมีประตูขนาดเล็กเป็นบานไม้สักเปิดคู่ บานขนาดใหญ่ลงลักษณ์ปิดทอง แต่ปัจจุบันได้เลือนหายไปเกือบหมดแล้ว ฐานพระวิหารเป็นฐานบัวลูกแก้วแบบเหลี่ยมประกอบด้วยบัวคว่ำ มีอกไก่ขนาดใหญ่อยู่ด้านบนซึ่งฐานถูกดินทับถมบางส่วน ด้านบนเป็นลูกแก้วและอกไก่ หน้าแหนบสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากลวดลายแบบยุโรปบางส่วน ดูคล้ายกับลายช่อดอกไม้แบบยุโรปเป็นศิลปะร็อคโคโค่ ซึ่งพม่าได้รับอิทธิพลมาส่วนหนึ่งในยุคมันดาเลย์ ล้านนาจึงรับมาจากพม่าอีกต่อหนึ่งเช่นกัน ลายแกะสลักชิ้นนี้เป็นผลงานประณีตแห่งหนึ่งในการแกะลายลักษณะนี้ ส่วนแหนบหลังและแหนบหลังข้าง ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับด้านหน้าโดยไม่มีม้าต่างไหม แต่เป็นแผ่นแกะลายแบบภาคกลางเหมือนด้านหน้า หน้าแหนบ (หน้าบัน) ไม่ใช่โครงสร้างม้าต่างไหม เป็นลายไม้แกะสลักทั้งผืนปิดทึบ แกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษาหรือลายเครือดอก มีแบบอย่างใช้กันมาตั้งแต่สมัยเชียงแสนแล้ว
2 พระอุโบสถ ลักษณะอุโบสถวัดดวงดีมีหลังคาซ้อนกัน 2 ซด มีส่วนประกอบทางลักษณะทางล้านนาครบถ้วนสมบูรณ์ มีโก้กห้องปิดหัวแป มีการปิดทองทั้งนอกทั้งในและตามเสาขื่อคาน มีโก่งคิ้วหลวง(คิ้วกลาง) คิ้วข้าง มีการนำกระจกขนาดใหญ่มาไว้ตรงกลางระหว่างแผ่นม้าต่างไหม นาคคะต้นแกะสลักเป็นรูปพระยาลางมีทั้งหมด 6 คู่ ไม่ซ้ำแบบกัน เหมือนมังกรบินของจีนช่อฟ้าแบบล้านนาค่อนข้างชี้ไปข้างหน้า (คล้ายแบบหอไตรวัดพระสิงห์) ห้องกลางอุโบสถแบ่งเป็น 3 ช่อง เสาเสมาแบบเหลี่ยม สูงประมาณสามศอกทำแบบหยาบๆ ปักโดยรอบไว้แปดทิศให้รู้จุดฝังลูกนิมิต ทางเหนือ มีการทำลายคำรดน้ำแบบล้านนา โดยทำวิธีตัดปรุกระดาษลงไปแผ่นแก้วมีการก่อติด ผนังทั้ง 3 ด้านไม่มีมุขยื่นออกมา ประดับด้วยลายพิมพ์ด้วยปูนซีเมนต์ กระจกสีฝีมือช่างพื้นบ้านค่อนข้างหยาบ มีเสาคู่หน้าแท่นแก้วเป็นไม้สักทรงกลม ประดับลายปิดทองปรุกระดาษ ด้านหลังอุโบสถมีกรุบรรจุอัฐิขนาดเล็ก ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดแหนบเจดีย์ทรงลังกา แต่ยอดเจดีย์ได้หักหายไป
3 หอไตร หอไตรเป็นลักษณะอาคารทรงมณฑป (โขลงปราสาท) หลังคาเครื่องยอดประตูทางเข้าอยู่ทางทิศเหนือ อุโบสถนี้ได้รับการบูรณะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยเจ้าผู้ครองนคร ดังจะเห็นได้ในรูปซึ่งมีศิลปะภาคกลางเข้ามาปะปน เช่น โก้ก (ใบระกา) ซึ่งเป็นลายทางภาคกลาง มีหางหงส์ที่โครงร่างเหมือนวัดในจังหวัดอยุธยา หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ปลายยอดทรงสี่เหลี่ยม ยอดปักฉัตรเก้าชั้น มีหน้าต่างด้านหน้า 2 บาน ซ้ายขวา ส่วนด้านข้างด้านหลังด้านละ 3 บาน และมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนา หอไตรนี้เป็นทรงมณฑปชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนกันสามชั้นมีปลียอดทรงสี่เหลี่ยม ยอดปักฉัตรทรงสี่เหลี่ยมเก้าชั้น หมายถึง นวโลกุตรธรรม (ธรรมอันประเสริฐเก้าประการที่ทำให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์)
4 พระสถูป/พระเจดีย์ (พระธาตุ) ฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อเก็จแต่ละชั้นประกอบด้วยฐานบัวลูกแก้วประกอบกับฐานบัวคว่ำ บัวหงาย สมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ.2030 ได้ดัดแปลงให้เน้นบัวคว่ำมากขึ้น จึงทำให้มาลัยเถาในสมัยนี้กลับเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นมาลัยเถาที่เจดีย์วัดดวงดีมีลักษณะเหมือนกับมาลัยเถาอิทธิพลสุโขทัย ซึ่งมีใช้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช ลงมาจนถึงสมัยพระเกศเกล้าตอนต้น
พระปลัด อาทิตย์ อภิวฑฺฒโน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดดวงดี และยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบล (จต.) ประวัติด้านการศึกษาของพระปลัด อาทิตย์ อภิวฑฺฒโน พระปลัด อาทิตย์ อภิวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดดวงดี จบการศึกษาศึกษาระดับปริญญาตรี จากสถานบันการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
ลำดับเจ้าอาวาส:
1. ธุหลวงปัญญา
2. พระมหาเกสระ
3. ราชครู (ครูบาเต๋จ๊ะ)
4. ครูบามหาวัน
5. พระอธิการหมู (ลาสิกขา)
6. พระอธิการอินตา
7. พระอธิการจันทร์ (ลาสิกขา)
8. พระอธิการวงศ์ (ลาสิกขา)
9. พระอธิการแก้ว (ลาสิกขา)
10. พระอธิการบุญชู อภิปุญโญ (พ.ศ. 2515)
11. พระมงคลธนันชโย 1
2. พระปลัด อาทิตย์ อภิวัฒโณ (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)
แผนที่วัดดวงดี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดใกล้เคียงวัดดวงดี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดชัยพระเกียรติ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดพันเตา ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่