วัดช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
ที่ตั้ง : วัดช่างเคี่ยน ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านช่างเคี่ยน ถนนห้วยแก้ว ซอยช้างเผือก หมู่ที่ 1 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 49 ตารางวา โฉนดเลขที่ 29330
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ จรดลำน้ำห้วยช่าง ความยาวประมาณ 3 เส้น – 16 ศอก
ทิศใต้ จรดถนนสาธารณะ ความยาวประมาณ 2 เส้น 10 วา 6 ศอก
ทิศตะวันออก จรดที่ดินเอกชน ความยาวประมาณ 1 เส้น 10 วา 6 ศอก
ทิศตะวันตก จรดถนนสาธารณะ ความยาวประมาณ 1 เส้น 10 วา 11 ศอก
มีที่ธรณีสงศ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน โฉนดเลขที่ 29330
ประวัติความเป็นมาวัดช่างเคี่ยน
จากการศึกษาประวัติที่มีชื่อว่า “ช่าง” นำหน้า เช่น วัดช่างกระดาษ อำเภอสันป่าตอง วัดช่างคำ (ช่างทอง) อำเภอหางดง และวัดช่างเคิ่ง (เครื่องประดับ) อำเภอสารภี สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดในกลุ่มที่ราชวงศ์กาวิละมาฟื้นฟูบ้านเมือง ภายหลังจากที่ขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2347
อย่างไรก็ตาม จากการออกสำรวจพื้นที่เพื่อสืบสาวหาช่างเคี่ยนในบริเวณ หมู่บ้านช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก ข้อมูลสัมภาษณ์ชุดหนึ่งซึ่งได้มาจาก พ่ออุ้ยมอย อินต๊ะชาญ อายุ 92 ปี มีใจความว่าในชั่วชีวิตของท่านประมาณ 85 ปีที่ผ่านมา เท่าที่จำความได้ท่านยังไม่เคยเห็นว่ามีช่างเคี่ยนหรือช่างกลึง ในหมู่บ้านนี้เลย ประกอบกับในตำนานพระธาตุดอยสุเทพเรียกท้องที่ละแวกนี้ว่า “ช้างเคียน” คำว่าช่างเคี่ยนจึงอาจมาจากคำนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ พ่ออุ้ยมอยยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวัดของหมู่บ้านช่างเคี่ยนว่า เดิมสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบันเป็นปางช้างของเจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยช้างในปางช้างแห่งนี้มีหน้าที่ขนของจำพวกวัสดุก่อสร้างขึ้นไปบูรณะพระธาตุดอยสุเทพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัยจึงได้สร้างถนนตามแนวทางของช้างที่เดินขนของขึ้นไปนั่นเอง
อนึ่ง การเดินทางขึ้นดอยสุเทพด้วยเท้าในสมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบัน ผู้คนมีวัตถุประสงค์ที่จะขึ้นไปนมัสการ และสรงน้ำพระธาตุในวันประเพณีเดือน 8 เหนือ (วิสาขบูชา) โดยจะเดินขึ้นตามแนวถนนสุเทพ ผ่านสถานีเกษตรภาคเหนือและวัดผาลาด จากนั้น ก็มุ่งไปสู่พระเจดีย์ดอยสุเทพได้ แต่ถ้าเป็นการใช้ช้างขนของ ช้างไม่สามารถจะเดินขึ้นทางตรงเหมือนคนเราได้
วัดช่างเคี่ยนเดิมนั้น ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของลำห้วยช่างเคี่ยน และในเวลาต่อมาคงชำรุดทรุดดทรม จึงมีการย้ายวัดมาตั้ง ณ บริเวณปางช้าง ของเจ้าหลวงซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน นอกจากนี้มีการจัดตั้งโรงเรียนวัดช่างเคี่ยนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2481
นอกจากนี้พ่ออุ้ยมอยให้ข้อมูลว่าบริเวณ หมู่บ้านนี้เดิมเป็นป่าทึบ จัดว่าเป็นหมู่บ้านชานเมือง มีจำนวนครัวเรือนไม่มากประมาณ 50-60 ครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีอาชีพทำนาซึ่งเป็นผืนเล็ก ๆ อาศัยน้ำฝนเพราะตั้งอยู่ตรงเชิงเขาสุเทพ อนึ่งการบุกเบิกที่ดินทำนาก็ลงมือกันเอง โดยผู้ปกครองหมู่บ้านชื่อแสนสังฆะจะเป็นผู้อนุญาตให้ผู้บุกเบิก ที่นาทำกินไปก่อนเป็นเวลา 3 ปี แล้วจึงจะวัดเขตนาเพื่อขึ้นบัญชีว่าเป็นของใคร จากนั้นจึงจะเก็บภาษีที่นาในภายหลัง อนึ่ง ที่นาของหมู่บ้านช่างเคี่ยน ซึ่งเป็นบริเวณหมู่บ้านอิงดอยในปัจจุบันนี้ มีเขตติดต่อกับหมู่บ้านเจ็ดยอดและหมู่บ้านข่วงสิงห์
วัดช่างเคี่ยน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2055 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระอธิการอินถา ถาวโร รูปที่ 2 พระอธิการก้อนแก้ว คนธวํโส รูปที่ 3 พระครูธรรมอรุณ อรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ.2525 แผนกบาลี เปิดสอน พ.ศ. 2528 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอน พ.ศ. 2525
สิ่งก่อสร้างภายในวัด
อุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาเป็นปูนทั้งหลัง ครึ่งบนเป็นไม้ หลังคาด้านหน้ามี 2 ชั้น ยื่นคลุมมุขหน้า มีบันไดขึ้นลงด้านข้าง
ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด
ศาลาการเปรียญ เป็นตึก 2 ชั้น
กุฏิสงฆ์ 3 หลัง
วิหาร เป็นแบบสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาซ็อนกัน 3 ชั้น หน้าบันพื้นเป็นปูสีฟ้า ประดับลวดลายก้านขด ตรงกลางประดับ
ด้วยปูนปั้นรูปพระนารายณ์ หัวเสาเป็นกลีบบัวซ้อนกัน 2 ชั้น โก่งคิ้วมีรวงผึ้งประดับด้วยปูนปั้นเส้นกนก หางหงษ์ประดับด้วยนาคลำยองประดับกระจกสี
ไม่มีราวบันไดนาค
ศาลาอเนกประสงค์
ศาลาบำเพ็ญกุศล
ศาลาบาตร
เจดีย์ ทรงเหลี่ยมย่อมุมสิบสอง 2 ชั้น ชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม 7 ชั้น ก่ออิฐถือปูนองค์ระฆัง ทรงกลมประดบด้วยแก้วสี และปิดทองจังโก
บัลลังก์สี่เหลี่ยม มีฐานบัวรองรับ ปล้องไฉน และปลียอด บนสุดประดับด้วยฉัตร
หอระฆัง ตั้งอยู่บนหลังคาของอาคาร บนสุดเป็นเจดีย์จำลองย่อมุมมีซุ้มมุขยื่นอกมา 4 ด้าน ประดับด้วยกาแลรองรับเจดีย์ทรงเหลี่ยม ซึ่งสร้าง
ด้วยอิฐก่อปูน ปล้องไฉนปิดทอง
สภาพแวดล้อมปัจจุบันของวัดช่างเคี่ยน
1. อุโบสถมีสภาพทรุดโทรม
2. องค์เจดีย์ ส่วนฐานมีรอยร้าว และมีสภาพทรุดโทรม
เจ้าอาวาสวัดช่างเคี่ยน
ลำดับเจ้าอาวาสวัดช่างเคี่ยน
แผนที่วัดช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดใกล้เคียงวัดช่างเคี่ยน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดศรีโสดาพระอารามหลวง ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดโชติกุนสุวรรณาราม (วัดหมูบุ่น) ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดประทานพร ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก อำเภอมเมืองเชียงใหม่