วัดข่วงสิงห์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
1893

วัดข่วงสิงห์ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ 15 ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2347

วัดข่วงสิงห์ สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในประวัติศาสตร์ลานนา ได้กล่าวถึงวัดสิงหราราม ว่าวัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ นอกเมือง ในสมัยพระเมืองแก้ว เป็นกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ คาดว่าเป็นวัดข่วงสิงห์ในอดีตก็ได้ ต่อมาในสมัย จุลศักราช 1163 พ.ศ. 2344 ปีระกา ตรีศก 1 เดือน 4 เหนือ ขึ้น 12 ค่ำ พ่อเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้โปรดให้สร้าง สิงห์ขึ้นไว้คู่หนึ่ง ณ ที่อันเป็นบริเวณโล่งเตียนกว้างขวาง อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ตัวหนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อีกตัวหันไปทางทิศเหนือ มีกำแพงและสระน้ำล้อมรอบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้ทำพิธีอันเชิญเทพยดาอารักษ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาสิงสถิตอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อให้เป็นสีหนาทแก่บ้านเมือง คราวใดเมื่อจะยกทัพไปต่อสู้ กับข้าศึกที่มารุกราน หรือเพื่อแผ่อานุภาพออกไป ก็ได้ยกกองทัพมาหยุดอยู่ ณ ที่บริเวณนี้เพื่อกระทำการอันเป็นมงคลต่าง ๆ แก่กองทัพเป็นประจำ และได้ทรงสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น ให้สถานที่แห่งนี้ชื่อว่า “ ข่วงสิงห์ชัยมงคล ” ประมาณปี พ.ศ. 2344 ให้เป็นที่เผยแพร่พระศาสนา และปฏิบัติธรรมของประชาชนในละแวกนั้น ต่อมาในสมัยพ่อเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ให้ดีขึ้น ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา วัดข่วงสิงห์ชัยมงคล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถานมงคลนามของหมู่บ้านข่วงสิงห์ จึงเหลือชื่อเพียง วัดข่วงสิงห์ เข้าใจว่าจะสะดวกในการเรียกดีกว่าชื่อเดิม เวลาในการบูรณปฏิสังขรณ์นั้น ประมาณ พ.ศ. 2417 ในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสนครเชียงใหม่ และได้เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านแห่งนี้ เพื่อรับน้อมถวายช้างเผือก ที่ทางจังหวัดได้จัดขึ้นทูลเกล้าถวาย ในครั้งนั้นด้วย นับเป็นมงคลแก่ประชาชน และหมู่บ้านแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง วัดข่วงสิงห์ เดิมชื่อวัดข่วงสิงห์ชัยมงคล สร้างขึ้นโดยพระเจ้ากาวิละ ผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 7.5 เมตร ยาว 17 เมตร

ลำดับเจ้าอาวาส:
ท่านพระครูพิศิษฏิ์พิพิธการ ชาติภูมิ พระครูพิศิษฏ์พิพิธการ มีนามเดิมว่า บุญปั๋น ใจพรม เกิดวันที่ 26 มกราคม 2481 ณ บ้านดอยหล่อ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของคุณพ่อแก้ว คุณแม่เขียว ใจพรม มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 7 คนคือ 1. นางคำมูล
2. นางกองแก้ว
3. นางปิมปา ใจพรม
4. นายอุ่นเรือน ใจพรม
5. นางสาวเทียมตา ใจพรม
6. พระครูพิศิษฏ์พิพิธการ (บุญปั๋น ใจพรม)
7. นายปรีชา ใจพรม การบรรพชา บรรพชาเมื่ออายุได้ 16 ปี วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ณ วัดดอยหล่อ ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระครูสุนทรคัมภีรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และยังเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาพื้นเมืองอย่างดีเยี่ยมอีกด้วย การอุปสมบท อุปสมบทเมื่ออายุได้ 21 ปี วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2500 ณ วัดดอยหล่อ ตำบลดอยหล่อ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระครูสุนทรคัมภีรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดำ ญาณวุฒโฑเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการดวงทิพย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาต่อทางบาลีจนจบชั้นมูลต้น แต่ไม่ได้ศึกษาต่อเพราะขณะนั้นทางวัดข่วงสิงห์ เจ้าอาวาสได้มรณภาพลง จึงได้รับอาราธนานิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้

สถาปัตยกรรม
1 อุโบสถ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นหอไตร ภายในมี ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปมหาชาติ 13 กัณฑ์
2 ศาลาการเปรียญ
3 กุฏิสงฆ์เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
4 ศาลาอเนกประสงฆ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน
5 หอระฆังวัดข่วงสิงห์
6 ศาลาอเนกประสงค์อานนทวิลาศสามัคคีนุสรณ์
7 เจดีย์ทรงปราสาท