ลัวะ

0
3635

Credit รูป : https://www.impect.or.th

ลัวะ หรือละว้า เป็นเจ้าของถิ่นเดิมภาคเหนือก่อนที่ไทยเราจะอพยพลงมาสู่แคว้นสุวรรณภูมิ ตามตำนานของเชียงรายได้บันทึกไว้ว่า ชาวละว้าเคยมีอำนาจปกครองไทยสมัยหนึ่ง แต่ต่อมาภายหลังได้เกิดการต่อสู้รบพุ่งกัน ไทยประสบชัยชนะได้ฆ่าฟันขับไล่และทำลายล้างชาติละว้า ชาวละว้าหรือลัวะเป็นจำนวนไม่น้อยที่หนีกระจัดกระจายไปอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อาศัยอยู่ในบริเวณห่างไกลจากเขตเจริญ โดยตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่บ้านเฉพาะพวกของเขา ครั้นบ้านเมืองย่างเข้าสู่ความเจริญโดยมีถนนหนทางติดต่อไปมาทั่วถึงกัน รัฐบาลไทยได้ขยายการศึกษาแพร่หลายออกไป บรรดาลูกหลานชาวลัวะซึ่งนับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่ดั้งเดิม และมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงคนไทยเผ่าอื่น ๆ ก็กลายเป็นชาวเหนือ มากขึ้นทุกที ซึ่งอาจทำนายได้ว่าอนาคตอันใกล้นี้ชาวลัวะจะต้องสิ้นสูญชาติไปอย่างแน่นอน

ในจังหวัดเชียงรายเท่าที่ทราบมีหมู่บ้านชาวลัวะอยู่ 5 แห่ง ด้วยกัน คือ อำเภอเมือง 2 หมู่บ้าน อำเภอพาน 2 หมู่บ้านอำเภอเวียงป่าเป้า 1 หมู่บ้าน สำหรับอำเภอเมืองมีอยู่ในเขตตำบลบัวสลี 1 แห่ง กับตำบลแม่กรณ์ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกตำบลนี้ แต่ละแห่งมีประมาณ 20 หลังคาเรือนชาวลัวะที่อยู่ ทางทิศตะวันออกบ้านฮ่องขุ่นตำบลบัวสลีอำเภอเมืองเชียงราย นั้นตั้งหมู่บ้านบนที่ราบเชิงเขาดอยปุย ปลูกบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ แบบชาวเหนือที่อัตคัดตามชนบท คือมีบ้านฝาสาน ขัดแตะ ห้องครัวอยู่ต่างหากต่อจากห้องนอน มีระเบียงและชานนอกชายคา โรงวัวควาย เล้าไก่ ยุ้งข้าวอยู่ห่างกันครกตำข้าวเขาเอาไม้สูงประมาณ 1 เมตร มาเจาะลึกลงไปประมาณ 1 คืบ ใช้ตำด้วยมือตั้งครกไว้ใกล้บันไดเรือนในร่มชายคาบางบ้านใช้ครกกระเดื่องตำด้วยเท้าใต้ถุนเรือนเตี้ยใช้เก็บฟืน และใช้เครื่องหีบเมล็ดฝ้ายด้วยมือ ทุกหมู่บ้านมีวัดทางศาสนาพุทธ มีพระภิกษุสามเณร การเทศน์ใช้ภาษาชาวเหนือ หนังสือจารึกบนใบลานที่ใช้เทศน์ก็เป็นอักษรพื้นเมืองเหนือ

ชาวลัวะ มีขนบธรรมเนียมเครื่องแต่งกายต่างกับชาวเหนือ ผู้ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนหรือโสร่ง ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำผ่าอกแขนยาว ปักเป็นแผ่นใหญ่ที่หน้าอกตามแถวกระดุม และแถวรังดุมรอบคอ ปักที่ชายแขนเสื้อตรงข้อมือทั้งสองข้างและที่ใต้ตะโพกรอบเอวด้วยดิ้นเลื่อม ไหมเงินคล้ายเสื้อขุนนางไทยโบราณ ผ้าซิ่นติดผ้าขาวสลับดำเล็ก ๆ ตอนกลางเป็นริ้วลาย ชายซิ่นติดผ้าสีดำกว้างประมาณ 1 ศอก ตามปกติผู้หญิงอยู่บ้านไม่ค่อยสวมเสื้อชอบเปิดอกเห็นถัน ถ้าเข้าไปในเมืองก็จะสวมเสื้อแต่งกายอย่างชาวเหนือ ถ้าออกไปหาผักตามป่า เอาผ้าขาวโพกศีรษะ สะบายกระบุงก้นลึกโดยเอาสายเชือกคล้องศีรษะตรงเหนือหน้าผาก ใส่คาดคอรองรับน้ำหนักอีกชั้นหนึ่ง ไม่สวมเสื้อ แต่ดึงผ้าซิ่นขึ้นไปเหน็บปิดเหนือถันแบบนุ่งผ้ากระโจมอก เวลาเดินน่ากลัวผ้าซิ่นหลุด แต่ไม่เคยปรากฎเพาะเหน็บแน่น ไปไหนถือกล้องยาทำด้วยรากไม้ไผ่เป็นประจำ เสื้อของผู้ชายอย่างเดียวกันกับผู้หญิง แต่ไม่ปักดอกลวดลายที่คอเสื้อและชายเสื้อ เครื่องแต่งกายดังกล่าวนี้ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว หันมานิยมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกกลาง กางเกงจีนธรรมดา แต่ผู้ชายที่นุ่งผ้ากระโจงกระเบนยังมีอยู่บ้าง

ชาวลัวะ มีอาชีพทางกสิกรรม ทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์จำพวกวัว ควาย หมู ไก่ หมูของเขาปล่อยให้หากินตามบริเวณบ้าน ถ้าฤดูข้าวเหลืองจึงนำมาขังไว้ในคอกเวลาว่างก็ทอผ้า ตำข้าว จักสาน เช่น กระบุง ตะกร้า ฯลฯฤดูแล้งชอบเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่อได้สัตว์ป่ามาหนึ่งตัวผู้ล่าแบ่งเอาไว้ครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้านผู้ใหญ่บ้านตีเกราะสัญญาณเรียกชาวบ้านมาแบ่งกันไปจนทั่วทุกหลังคาเรือน การปลูกสร้างบ้านเรือนชาวบ้านช่วยกันทั้งหมู่บ้านไม่ต้องจ้าง

การนับวันเดือนปีของชาวลัวะ ผิดกับชาวเหนือและไทยภาคกลาง คือเดือน 4 ของลัวะเป็นเดือน 5 ของไทย แต่ชาวเหนือถือเป็นเดือน 6 การนับเดือนของลัวะอย่างเดียวกันกับชาวไทยใหญ่ และชาวหลวงพระบาง ชาวลัวะมีนิยายประวัติประจำชาติ ซึ่งได้ทราบจากปากคำท่านผู้เฒ่าชาวลัวะบ้านลัวะตำบลบัวสี อำเภอเมืองเชียงรายว่าเดิมพญาลัวะกับพญาไตเพื่อนเกลอกัน ต่อมาพญาไตยกกองทัพไปรบกับพญาแมนตาตอก ซึ่งเป็นพญาอันยิ่งใหญ่ของบรรดาผีปีศาจทั้งปวง พญาไตพ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของพญาแมนตาตอก จึงมาหลบซ่อนตัวอยู่กับพญาลัวะ พญาแมนตาตอกติดตามหาจนไปถึงบ้านลัวะ แต่ถูกพญาลัวะกล่าวปฏิเสธว่า ไม่พบเห็นพญาไต พญาไตจึงเป็นหนี้บุญคุณพญาลัวะ ลัวะกับไตจึงเป็นชนชาติคู่เคียงกันนับตั้งแต่นั้นมา

ชาวลัวะ นอกจากนับถือศาสนาพุทธ ยังนิยมนับถือผี มีการถือผีเสื้อบ้าน ส่งเคราะห์ ผูกเส้นด้ายข้อมือถือขวัญ เวลาเจ็บป่วยใช้ยารากไม้สมุนไพร เสกเป่า และทำพิธีฆ่าไก่เซ่นผี ถ้าตายก็จะทำพิธีอย่างชาวเหนือ มีพระสงฆ์สวดมนต์ บังสกุล เอาศพไปป่าช้า ฝังมากกว่าเผา แต่ถ้าตายอย่างผิดธรรมดาก็เผาให้สิ้นซากไป ในวันงานพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน (ผีหมู่บ้าน) เขาทำซุ้มประตูสานไม้เป็นรูปรัศมี 8 แฉกติดไว้ ห้ามไม่ให้คนต่างถิ่นเข้าสู่เขตหมู่บ้าน เครื่องหมายนี้ชาวเหนือเรียกว่า “ ตาแหลว” ซึ่งชาวไทยกลางเรียก “ เฉลว” เขาปิดบ้านทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน 1 วัน ถ้าเดินทางไปพบเครื่องหมายเฉลวนี้แล้วต้องหยุดอยู่ มีธุระอะไรก็ตะโกนเรียกชาวบ้านให้ไปพูดกันที่ตรงนั้น เช่น ขอดื่มน้ำหรือเดินหลงทางมา ถ้าขืนเดินล่วงล้ำเขตหมู่บ้านของเขาจะถูกปรับเป็นเงิน 5 บาท ถ้าไม่ยอมให้ปรับเขาบังคับให้ค้างแรม 1 คืน เวลาเกิดมีโรคสัตว์ระบาด หรือไข้ทรพิษเกิดขึ้นแก่คนภายในหมู่บ้านของเขา เขาจะปิดเฉลว หรือเครื่องหมายห้ามเข้าหมู่บ้านเช่นเดียวกัน

ภาษาของชาวลัวะไม่เหมือนภาษาไทยเลย ทั้งไม่คล้ายคลึงภาษาของชนชาติใด เข้าใจว่าเป็นชนชาติหนึ่งต่างหาก เช่น คำว่ากิน ชาวลัวะว่า จ่า แมว ว่า อั่งแมง หมู-ว่า สุนัข-ขื้อ ไฟ-มีท่อ น้ำ-ลาง ลูก-อังย่ะ เมีย-ข่ามบ๊ะ ผัว — อังบลอง อยู่ใกล้-อังดื้อ อยู่ไกล-อังเวอ บ้านท่านอยู่ที่ไหน-อาส่างข่องเดิ่งแง รับประทานอาหารกับอะไร-ไม้ เจ่อจ่าแอ รับประทานข้าว-ห่างจ่า ไปเที่ยวไหนมา-เกิ่งบ่แอ ไปไหน-อาละเกิ่งแอ ฯลฯแต่ถ้าเป็นคำที่เรียกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เรียกเป็นภาษาชาวเหนือทั้งสิ้น ตลอดจนชื่อก็อย่างชาวเหนือ เช่น บัวจั๋น คำปัน พรหมา ฯลฯ เข้าใจว่าชื่อเดิมของลัวะนั้นไม่ได้เรียกกันดังนี้ มานิยมใช้ชื่อแบบชาวเหนือภายหลัง ส่วนชื่อเครื่องใช้นั้นสมัยโบราณเครื่องใช้แบบปัจจุบันชาวลัวะไม่มีใช้และรู้จัก เมื่อซื้อไปก็เลยเรียกชื่อตามชาวเหนือเรียก อาศัยที่อยู่ใกล้เคียงชาวเหนือขนบธรรมเนียมจึงคล้ายชาวเหนือ เพราะชนชาตินี้ถูกกลืนง่ายที่สุด ดังปรากฎว่า ลัวะที่อยู่ในเขตไทยใหญ่ได้กลายเป็นชาวไทยใหญ่โดยมาก

ขนบธรรมเนียมในการเที่ยวสาวชาวลัวะ เขาจะหยุดการทำงานในวันพระ ตลอดจนการเที่ยวสาวก็พลอยงดเที่ยวไปด้วย การเที่ยวสาวขึ้นไปนั่งสนทนาเกี้ยวพาราสีหญิงสาวบนบ้าน เมื่อหญิงสาวพอใจรักใคร่จะล่วงเกินเอาเป็นภรรยาได้โดยใส่ผีเป็นเงิน 12 บาท ครั้นแล้วต้องไปทำงานให้พ่อตาแม่ยายเป็นเวลา 1 ปี ถึง 3 ปี จึงแยกปลูกบ้านเรือนต่างหากได้ ในปีแรกจะแยกเอาภรรยาไปอยู่บ้านตนหรือปลูกบ้านอยู่ต่างหากไม่ได้เป็นอันขาด อย่างน้อยต้องรับใช้งานพ่อตาแม่ยาย 1 ปี เพราะต้องการใช้แรงงานบุตรเขย

การเดินทางไปบ้านลัวะ ตำบลบัวสลี อำเภอเมืองนั้น ออกจากตัวเมืองเชียงราย โดยรถยนต์ตามถนนประชาธิปัตย์เชียงราย-พานทางทิศใต้ ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านฮ่องขุ่น ซึ่งมีตลาดประจำตำบลที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง แล้วลงเดินแยกไปทางทิศตะวันออกมุ่งตรงไปสู่ดอยปุย ตามเส้นทางเดินเท้าใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ก็ถึงหมู่บ้านลัวะดอยปุย ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบริมเชิงเขา ประมาณ 20 หลังคาเรือน ชาวลัวะเหล่านี้เวลาอยู่ระหว่างพวกเดียวกันพูดภาษาลัวะ และแต่งกายแบบครึ่งลัวะครึ่งชาวเหนือ แต่ถ้ามาในเมืองแล้วแต่งกายแบบชาวเหนือ จะไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาเป็นชาวลัวะ แม้แต่ชาวเชียงรายเองน้อยคนที่ทราบว่ามีชาวลัวะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับที่พวกเขาอาศัยอยู่

ที่มาของข้อมูล
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2547. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม.

 

ชนเผ่าโบราณในแผ่นดินเหนือ ชนเผ่าลัวะ หรือ ละว้า เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมของดินแดนล้านนา

จุดเริ่มต้น คือ การสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางราชธานีโดยพระยามังราย เมื่อ 700 กว่าปีก่อน (ยุคสมัยเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง แห่งอาณาจักรสุโขทัย ทั้งสองพระองค์ยังเป็นมิตรสหายกันด้วย) ก่อนหน้าที่จะเป็นล้านนานั้น บนแผ่นดินนี้ประกอบด้วยชุมชน, เมือง และรัฐอิสระมากมาน โดยมี 2 รัฐที่มีอำนาจสูงสุด คือ หิรัญเงินยางนครเชียงแสน เป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุดทางตอนเหนือ (ปัจจุบัน คือ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) และ หริภุญไชย (ลำพูน) ซึ่งรับอิทธิพลมาจากละโว้ และเป็นเมืองที่สำคัญที่ติดต่อกับหัวเมืองทางตอนล่าง โดย เชียงใหม่นั้น แต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แต่มีชัยภูมิที่ดีมาก และมีเจ้าของพื้นที่เดิมคือ ชาวลัวะ (ภาษาราชการเรียกว่าละว้า) ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มิใช่ชาวเขา แต่เป็นคนพื้นถิ่น อาศัยเชิงดอยสุเทพ ปัจจุบันคือชุมชนช่างเคี่ยน และมีกระจัดกระจายทั่วไปหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ กว่าวได้ว่า ลัสะเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งแต่ก่อนสร้างหริภุญไชย(หริภุญไชยสร้างเมื่อ 1300 กว่าปีมาแล้ว)

ลัวะ นิยมสร้างชุมชนบริเวณเชิงเขา ไม่ใช่บนยอดเขา แต่คนไต(ไท) นิยมสร้างบ้านบริเวณที่ราบใกล้แม่น้ำทำให้คนไตสามารถขยับขยายพื้นที่ รุกเข้ามาสร้างเมืองแบบที่ลัวะไม่เดือดร้อน

เมื่อพระยามังรายซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งที่สุดของรัฐในหุบเขา มีดำริจะขยายอำนาจของหิรัญเงินยางนคร มาทางตอนล่าง จึงเสาะหาชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การตั้งเป็นราชธานีเริ่มจากเวียงกุมกามและมาที่ นพบุรีศรีนครพิงค์(เวียงเชียงใหม่) โดยดำเนินนโยบายสัมพันธไมตรีกับลัวะ  ทำให้เวียงเชียงใหม่ และชุมชนลัวะอยู่ห่างกันเพียงราวไม่ถึง 5 กิโลเมตร โดยชาวเวียงเชียงใหม่ นั้นเป็นเชื้อชาติ “ไทยวน” (อ่านว่า ไท-ยวน)

และเมื่อเชียงใหม่เติบโตเข้มแข็งขึ้น ก็แผ่อำนาจเหนือชุมชนและเมืองต่าง ๆ รวมอำนาจกับอาณาจักรเดิมคือ เชียงแสน และสร้างเมืองลูกหลวงขึ้น เช่น เขลางค์นคร ลำปาง อีกทั้งยึดหริภุญไชย ทำให้เกิดรูปแบบอาณาจักรขึ้นมา นั่นคือ ล้านนาและมีหลากหลายเชื้อชาติ เช่น ไทลื้อ, ไทเขิน, ไทเม็ง, ไทใหญ่ ฯลฯ

และเนื่องจากความเป็น “รัฐในหุบเขา” ทำให้ล้านนามีโครงสร้างการปกครองอย่างหลวม ๆ ไม่อาจควบคุมทางการทหารได้เต็มที่แต่หันมาใช้วิธี “ธรรมราชา” ในการควบคุมอาณาจักร นั่นคือสร้างรูปแบบศิลปะและใช้พุทธศาสนาเป็นศูนย์กลาง คือทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของล้านนาที่ชาวเมืองอื่น ๆ จะต้องมาสักการะ เป็นสิริมงคล

เนื้องจากลัวะนั้น อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขา เมื่อคนไทยวน (หรือคนเมือง) มาสร้างอาณาจักรและมีอำนาจมากขึ้น ทำให้ชุมชนลัวะต้องขยับขึ้นไป อาศัยห่างคนเมืองมากขึ้น และด้วยความที่นับถือผีอย่างเคร่งครัด ต่างจากคนเมืองที่นับถือพุทธ (แต่ก็เป็นพุทธผสมผี หรือความเชื่อดั้งเดิม) ทำให้ลัวะถูกมองว่าเป็นคนป่า คนเถื่อน ดังปรากฏใน ตำนานมูลศาสนา ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาปราบยักษ์ โดยแทนลัวะเป็นตัวยักษ์

ปัจจุบัน ลัวะหรือละว้า ถูกมองว่าเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งในประเทศไทย อันที่จริงแล้วคนลัวะแตกต่างจากชาวเขาทั่วไป อย่างม้ง, เย้า, มูเซอ, ปกากะญอ, ขิ่น ฯลฯ เพราะชาวเขาเหล่านี้เพิ่งอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อราว ๆ 200 กว่าปีนี้เอง แต่ลัวะเป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมที่ควรมีสิทธิมีเสียงและได้รับการยอมรับจากสังคมเมืองมากขึ้น

ประเพณีบูชาอินทขิล (เสาของพระอินทร์; เสาหลักเมือง) ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะ พื่นที่เวียงเชียงใหม่นั้น เป็นพื้นที่ที่ลัวะกลัวไม่กล้าเข้ามายุ่ง เพราะเชื่อว่ามียักษ์กุมภัณฑ์รักษาอยู่ มีรูปปั้นยักษ์เก่าแก่และอินทขิล พระยามังรายเมื่อเข้ามาสร้างเวียง ก็ต้องทำพิธีบูชาเสาอินทขิล และเลี้ยงยักษ์ตามความเชื่อชาวลัวะ ต่อมามีการทำพิธีตัดเศียรยักษ์แล้วต่่อใหม่ เพื่อลดความเฮี้ยนที่อาละวาดรังควาญผู้คนในเวียง

ขุนหลวงวิลังคะ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวลัวะ ตรงกับสมัยพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชยทั้งสองพระองค์สู้รบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ระหว่างลัวะดั้งเดิมและวัฒนธรรมละโว้

มีข้อสันนิษฐานว่าลวปุระหรือละโว้น่าจะเป็นเมืองของชาวลัวะ เพราะพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนไปจนถึงจีนตอนใต้เดิมเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มมอญ-เขมร ซึ่งลัวะก็เป็นกลุ่มหนึ่ง ตำนานต่าง ๆ ล้วนแต่กล่าวถึงชาวลัวะก่อนการเข้ามาของคนไท-ไทย และพุทธศาสนา ข้อสันนิษฐาน คือ ลัวะ เป็นชาวพื้นเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมทางทวารวดี เมืองลวปุระเป็นศูนย์อำนาจทางตอนเหนือที่จะขยายไปถึงหริภุญไชย ซี่งก็เป็นดินแดนลัวะเหมือนกัน พระนางจามเทวีน่าจะเป็นลูกสาวลัวะที่ถูกส่งไปรับวัฒนธรรมที่ลวปุระ เมื่อกลับมาปกครองจึงขัดแย้งกับขุนหลวงวิลังคะ ที่เป็นกลุ่มลัวะใหญ่บริเวณลุ่มน้ำปิง ด้านดอยสุเทพ ที่ยังยึดมั่นจารีตลัวะดั้งเดิมอยู่ ขณะที่หริภุญไชยนั้นอยู่พื้นที่น้ำกวง น้ำขาน และน้ำปิง ฤาษีวาสุเทพผู้สร้างหริภุญไชยก็คือลัวะที่รับวัฒนธรรมมอญ จามเทวีเป็นลูกสาวฤาษีก็ต้องเป็นลัวะเหมือนกันพื้นที่นี้จึงไม่มีความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมชาติพัรธุ์

เครดิต :
ประวัติศาสตร์ล้านนา   ศาสตราจารย์สรัสวดี   อ๋องสกุล ๒๕๕๓

https://board.postjung.com/575778.html

 

 ประวัติความเป็นมา

ประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว ก่อนที่พวกมอญจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เขตลุ่มน้ำปิง บรรพบุรุษ
ของละว้า ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ละว้าหรือที่คนไทยภาคเหนือเรียกว่า “ลัวะ” นั้น เป็นกลุ่มชนออสโตรนีเซียน
และเรียกตัวเองว่า “ละเวียะ” ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นที่เชื่อกันว่าอพยพมาจากทางตอนใต้ของไทย มลายา หรือ เขมร เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว บางคนเชื่อว่า พวกลัวะ เป็นเชื้อสายเดียวกับพวกว้าที่อยู่ทางภาคเหนือของเมียนมาร์และตอนใต้ของมณฑลยูนนานในประเทศจีน เพราะมีความคล้ายคลึงกันทางด้านภาษา ลักษณะรูปร่างและการแต่งกาย

พวกลัวะได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณ 900 ปีมาแล้ว พวกมอญจากลพบุรีซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองลำพูนและลำปาง ได้รุกรานพวกลัวะจนต้องหนีไปอยู่บนภูเขากลายเป็นชาวเขาไป ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 ชนชาติไทยได้อพยพเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ และตีพวกมอบแตกพ่ายไปและมีสัมพันธไมตรีกับพวกลัวะ

พวกลัวะเองก็เชื่อว่า บรรพบุรุษของเขาเคยอาศายอยู่ในเชียงใหม่ และเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ลัวะมีกษัตริย์ของตนเอง และองค์สุดท้ายคือขุนหลวงวิลังก๊ะ ซึ่งถูกพระนางจามเทวี กษัตริย์มอบแห่งนครหริกุญชัย (ลำพูน) ตีแตกพ่ายไปอยู่บนป่าเขา

มีลัวะบางส่วนที่อาศัยอยู่พื้นราบ แต่พวกนี้รับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จากคนไทยจนสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไปเกือบหมดแล้ว

ภาษา

ภาษาของลัวะจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตร-เอเซียนติด และได้รับอิทธิพลจากภาษาของพวกมอญ – เขมรด้วย ภาษาของลัวะมีแตกต่างกันหลายกลุ่ม แต่แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่ม วาวู ใช้พูดกัน
ในหมู่ลัวะ เขตลุ่มน้ำปิง เช่น บ้านบ่อหลวง อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มอังกา ใช้พูดกันในเขตตะวันตก เขต อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ความแตกต่างกันของภาษานี้ จะต่างกันไปตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างกัน แต่สามารถเข้าใจกันได้ นอกจากนี้ยังนำคำในภาษาไทยพื้นเมืองทางเหนือไปใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังสามารถพูดภาษาไทยได้ด้วย

ประชากร

ประชากรลัวะในประเทศมี 65 หมู่บ้าน 4,178 หลังคาเรือน ประชากร 21,794 คน คิดเป็นร้อยละ 2.38 ของประชากรชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทย โดยกระจายตัวกันอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย และลำปาง

การตั้งถิ่นฐาน

หมู่บ้านลัวะปัจจุบันส่วนมากยังอยู่ในเขตภูเขาที่ห่างไกลจากชาชนคนไทยหมู่บ้าน หนึ่ง ๆ จะประกอบ

ด้วยครัวเรือนประมาณ 20 – 100 หลังคาเรือน โดยสร้างบ้านเรียงรายอยู่ตามแนวสันเขา ลักษณะบ้านยกพื้นสูงคล้ายบ้านกะเหรี่ยง แต่ลักษณะหลังคาจะมีกาแลเป็นสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว หลังคาบ้านซึ่งมุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง จะสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดิน รอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และระหว่างพื้นที่ทำไร่
กับหมู่บ้านจะมีแนวป่าซึ่งเป็นป่าแก่สงวนไว้สำหรับเป็นแนวกันไฟเวลาเผาไร่ของหมู่บ้าน

ลักษณะทางสังคม

ลัวะมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่ฝ่ายชายและนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย บุตรที่เกิดมาอยู่ในสวยเครือญาติของฝ่ายพ่อในครัวเรือนหนึ่ง ๆ โดยทั่วไปประกอบด้วยสามี ภรรยา บุตร บุตรชายคนโตต้องไปสร้างใหม่เมื่อแต่งงาน บุตรชายคนสุดท้ายจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมรดกและเลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดชีวิต

หน้าที่ในครัวเรือนจะแบ่งออกตามอายุ และเพศ กล่าวคือ ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบหาฟืน ตักน้ำ

ตำข้าว ทำอาหาร และทอผ้า ผู้ชายมีหน้าที่ซ่อมแซมบ้าน ทำรั้ว ไถนา และล่าสัตว์ วนงานในไร่เป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ต้องช่วยกันทำ รวมทั้งสมาชิกวัยแรงงานทุกคนในครอบครัวด้วย งานด้านพิธีกรรมถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายเกือบทั้งหมด

การปกครอง

สังคมลัวะ ไม่มีตำแหน่งเฉพาะทางการปกครอง ไม่มีการตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ตัดสินกรณีพิพาก และรักษากฎระเบียบของหมู่บ้านโดยตรง แต่ให้ความเคารพเชื่อถือหัวหน้าทางความเชื่อถือของหมู่บ้านที่เรียก “สมัง” ให้เป็นผู้มีหน้าที่กระทำพิธีการต่าง ๆ ในนามของหมู่บ้าน ตั้งแต่การเลือกที่ดิน

ทำไร่ของหมู่บ้านว่าดีหรือไม่ก่อนที่จะตกลงตัดไม้ การตัดสินกรณีแก่งแย่งที่ดิน ฯลฯ โดยพิธีเหล่านี้สมัง จะทำร่วมกับ “ลำ” หรือผู้นำทางด้านพิธีกรรมของแต่ละกลุ่มในหมู่บ้าน นอกจากนั้นก็มีผู้ช่วย ลำ ซึ่งเป็นผู้ที่อายุมากในกลุ่มรองจาก ลำ เมื่อลำ คนเดิมเสียชีวิตลง ผู้ช่วยก็จะเป็นผู้ได้รับตำแหน่ง ลำ คนต่อไป

เศรษฐกิจ

ลัวะมีเศรษฐกิจแบบยังชีพ ขึ้นอยู่กับการทำไร่เลื่อนลอยแบบหมุนเวียนโดยจะปลูกข้าวเจ้าเป็นพืชหลัก ลัวะนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว และนิยมดื่มเหล้าที่ทำจากข้าวเจ้าอีกด้วย พืชอื่น ๆ ที่ปลูกแซมในไร่ข้าวสำหรับไว้เป็นอาหารและใช้สอยได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว แตงกวา พริก ฝ้าย ผักต่าง ๆ

ส่วนสัตว์เลี้ยงได้แก่ วัว ควาย หมู ไก่ สุนัข เป็นต้น ซึ่งสัตว์เลี้ยงเหล่านี้บางชนิดก็ฆ่าสำหรับใช้เลี้ยงผี ผลิตผลทางเศรษฐกิจของลัวะ มีประมาณเพียงพอสำหรับบริโภคและขายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้บ้าง เศรษฐกิจ

มีลักษณะพอมีพอกินเลี้ยงตนเองได้ไม่เดือดร้อน

มาตรฐานการครองชีพของลัวะ อยู่ในระดับปานกลาง ในอดีตปลูกข้าวเป็นรายได้ เช่น ปลูกท้อ เสาวรส ผักกาด กล่ำปลี มะเขือเทศ ถั่วแดง ถั่วลันเตา ทำให้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิม บ้านที่เคยมุ่ง
หลังคาด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นมุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสีกันมากแล้ว ส่วนสัตว์เลี้ยงก็ยังคงเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมโดยการฆ่าแล้วนำไปเซ่นไหว้ผี เช่น พิธีด้านการเกษตร พิธีแต่งงาน พิธีไหว้ผีต่าง ๆ
เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้ลัวะไม่มีสัตว์เลี้ยงเหลือสำหรับขาย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากศูนย์พัฒนาสังคม จังหวัดแม่ฮ่องสอน