มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของภาคเหนือ และเป็นแห่งที่ 6 ของประเทศไทย ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501
พร้อมทั้งได้มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 นำโดยนายกีและนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม จังหวัดเชียงใหม่[2] ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จาก กระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551[3]
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการเรียนการสอนใน 22 คณะ 2 วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย และมีสถาบันวิจัย 4 สถาบัน[4]โดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะจำนวน 340 หลักสูตร โดยมีการจำแนกหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข และหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ และแบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม[5][6]
นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีอธิการบดีดำรงตำแหน่งมาแล้ว 15 คน โดยอธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต
ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 ก.ม. และมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ เปิดทำการสอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507
ปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นแต่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลชุด จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่า “จะดำเนินการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง” พ.ศ. 2502 ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นว่า “น่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่” พ.ศ. 2503 รัฐบาลชุด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกชื่อมหาวิทยาลัยนี้ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508
ในระยะเริ่มต้นได้เปิดดำเนินการสอนเพียง 3 คณะ ที่เป็นรากฐานของทุกสาขาวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จาก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ในปีการศึกษา 2511 ได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และในปีการศึกษา 2513 ได้จัดตั้งคณะใหม่อีก คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 จึงได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะคือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2518 ได้จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพิ่มขึ้น และตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นหน่วยประสานงานด้านการเรียนการสอนและมาตรฐานหลักสูตรขั้นบัณฑิตศึกษามีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งแต่การดำเนินงานด้านการสอนและการวิจัยซึ่งกระทำโดยคณาจารย์ของคณะ และได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2526 ในปี 2536 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดตั้งคณะเพิ่มอีก 1 คณะ คือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ขึ้นเป็นคณะที่ 17 ในปีพ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งอีกสองคณะ และหนึ่งวิทยาลัยคือ คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (เทียบเท่าคณะ) ล่าสุดปีพ.ศ. 2549 ได้จัดตั้งคณะที่ 20 คือ คณะนิติศาสตร์ โดย การประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยของไทย สกอ. ได้จัดให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ในกลุ่ม ดีเลิศ ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย
ในปี พ.ศ. 2550 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่าน สนช. และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐลำดับที่ 12
วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ
วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นรูปช้างชูคบเพลิงมีสุภาษิตเป็นภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” อยู่ในกรอบเส้นรอบวงด้านบนและคำว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507” อยู่ด้านล่างตรงกลาง ระหว่างข้อความทั้งสองนี้ มี “ดอกสัก” คั่นกลางปรากฏอยู่ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งมีความหมายดังนี้[7]
ช้าง เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าสูงมากในภาคเหนือ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของภาคเหนือ
การก้าวย่างของช้าง หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ไม่หยุดยั้ง
คบเพลิง หมายถึง ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ
รัศมี 8 แฉก หมายถึง คณะทั้ง 8 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พุทธสุภาษิต “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” มีความหมายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน
ดอกสัก ปรากฏอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีค่าและมีความอุดมสมบูรณ์ในภาคเหนือ ดอกสักเป็นดอกไม้ขนาดเล็กและอยู่ในพวงใหญ่ มีสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 6 กลีบ
การศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีจำนวนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 36,379 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2556) จำแนกตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต โดยมีคณะที่เปิดสอนจำนวนทั้งสิ้น 21 คณะ 3 วิทยาลัย 2 สถาบัน และ 1 บัณฑิตวิทยาลัย ได้แก่
กลุ่มคณะ
คณะกลุ่มสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
คณะศึกษาศาสตร์
คณะนิติศาสตร์
คณะบริหารธุรกิจ
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์
คณะการสื่อสารมวลชน
คณะวิจิตรศิลป์
คณะเศรษฐศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะวิทยาศาสตร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
คณะเกษตรศาสตร์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร
วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี
วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล
สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์
คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
คณะเทคนิคการแพทย์
คณะทันตแพทยศาสตร์
คณะพยาบาลศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์
คณะสัตวแพทยศาสตร์
คณะสาธารณสุขศาสตร์
กลุ่มสหวิทยาการ
วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล
สถาบันนโยบายสาธารณะ
การก่อตั้งคณะ
หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 100 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน
พ.ศ. | คณะ |
---|---|
2508 | คณะมนุษยศาสตร์ • คณะสังคมศาสตร์ • คณะวิทยาศาสตร์ • คณะแพทยศาสตร์ • คณะเกษตรศาสตร์ |
2511 | คณะศึกษาศาสตร์ |
2513 | คณะวิศวกรรมศาสตร์ |
2515 | คณะทันตแพทยศาสตร์ |
2518 | คณะเภสัชศาสตร์ • คณะพยาบาลศาสตร์ |
2519 | คณะเทคนิคการแพทย์ |
2525 | บัณฑิตวิทยาลัย |
2526 | คณะวิจิตรศิลป์ |
2537 | คณะสัตวแพทยศาสตร์ |
2538 | คณะเศรษฐศาสตร์ • คณะบริหารธุรกิจ • คณะอุตสาหกรรมเกษตร |
2546 | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ |
2548 | วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี |
2549 | คณะการสื่อสารมวลชน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ |
2560 | วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล • วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิตอล • คณะสาธารณสุขศาสตร์ |
สถาบันวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันที่มีลักษณะของศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellent center) โดยเป็นศูนย์กลางแห่งองค์ความรู้ด้านพลังงานระดับประเทศและระดับนานาชาติในการวิจัยและพัฒนารวมถึงให้บริการวิชาการโดยมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในทุกแขนงสาขาเป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นจากการหลอมรวมองค์กรในกำกับทั้ง 2 แห่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องในด้านพลังงาน คือ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน และสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยรับอนุมัติจากทางภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550 จัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ ” สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน” เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ[25]
สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมมีชื่อเรียกว่า โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ประชุมคณบดีเห็นชอบให้มีโครงการจัดตั้งฯ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2528 ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วยผู้แทนจาก 5 คณะหลัก คือ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความยั่งยืนและความสมดุลของมุนษย์ และสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นศูนย์ต่าง ๆ ดังนี้[26]
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุล
ศูนย์วิจัยนิวตรอนและเทคโนโลยีรังสี
ศูนย์วิจัยพลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ศูนย์วิจัยวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีและวัสดุ
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีเซรามิกส์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัตถุดิบยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
ศูนย์วิจัยอิเล็คทรอนิกส์ประยุกต์และคอมพิวเตอร์
ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทาง
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ภายใต้ชื่อ ศูนย์วิจัยโลหิตวิทยาและทุโภชนาการ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการในผู้ป่วยเด็กโรคขาดสารอาหารโรคโลหิตจางในเด็กและหญิงมีครรภ์ และความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทุโภชนาการและโลหิตจางกับการเกิดโรคติดเชื้อต่อมาได้เสนอโครงการขยาย และปรับปรุงยกฐานะโดยได้รับความ เห็นชอบในปี พ.ศ. 2521 ให้สถาปนาขึ้นเป็น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ สุขภาพเป็นหน่วยงานอิสระที่มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีภารกิจในการดำเนินงาน วิจัยและเป็นศูนย์กลางให้ความร่วมมือประสานงาน และส่งเสริมการดำเนินการ ค้นคว้าวิจัยในสาขา วิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์ต่อการค้นหาสาเหตุประกอบการวินิจฉัย ของการเกิดโรคได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะยังผลให้สามารถกำหนดมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพและอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศต่อไป[27]
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ได้เริ่มขึ้นโดยกลุ่มคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2519 มหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์ภายใน คณะสังคมศาสตร์ ใช้ชื่อว่า “ศูนย์วิจัยสังคมศาสตร์” และได้รับเงินสนับสนุนจากคณะสังคมศาสตร์ มูลนิธิ/หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อได้มีการขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน และมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงได้เสนอขอจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม และได้รับอนุมัติให้บรรจุ ” โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม ” เป็นโครงการใหม่ในแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524) ต่อมา ได้มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยยกฐานะโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยสังคม ขึ้นเป็น “สถาบันวิจัยสังคม” ให้มีสำนักงานเลขานุการสถาบันวิจัยสังคม[28]
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ
ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต
หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพ ให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานในสาขาวิชาชีพ นั้น ๆ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตจะต้องศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา มีหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต โดยเป็นกระบวนวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิต
ระดับปริญญาตรี
หลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 100 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ (เสาร์-อาทิตย์) หลักสูตรภาคพิเศษ (ช่วงเย็น) หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาที่เปิดสอนเอง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
โครงการพิเศษ
โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา โครงการวิศวะสู่ชุมชน โครงการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โครงการบัณฑิตเพื่อชุมชน โครงการนักคิดเพื่อสังคม โครงการส่งเสริมนักเขียนและกวีล้านนา โครงการสื่อสารมวลชนเพื่อสังคม โครงการสื่อสารมวลชนสู่ชนบท โครงการผู้มีความสามรถพิเศษทางการสื่อสารมวลชน โครงการช้างเผือกคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนฯ (วมว.) โครงการเด็กดีมีที่เรียน โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โครงการผู้มีแววเป็นนักนิติศาสตร์ โครงการพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ โครงการทายาทศิษย์เก่าบัญชี-บริหารธุรกิจ โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและเป็นทายาทผู้ประกอบการธุรกิจ โครงการนักเรียนที่สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคม คณะมนุษยศาสตร์
การสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ
โดยจะรับคัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเวลา 3 ปี โดยจะมีการจัดการสอบเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม
ระบบ Admission กลาง
ดูบทความหลักที่: การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย § เกณฑ์การคัดเลือกและกระบวนการ TCAS
โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.)
ระดับปริญญาโท
หลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข ดังนี้
– แผน ก แบบ ก 1 หมายถึง การเรียนที่มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และจะต้องทำกิจกรรมทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อาจมีการเรียนกระบวนวิชาเพิ่มเติมได้โดยไม่นับหน่วยกิตสะสม
– แผน ก แบบ ก 2 หมายถึง การเรียนที่เป็นลักษณะของการศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต หน่วยกิตสะสมเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรของสาขาวิชา
– แผน ข หมายถึง การศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และทำการค้นคว้าแบบอิสระไม่น้อยกว่า 3-6 หน่วยกิต
มีการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
ระดับปริญญาเอก
หลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ แยกเป็น แบบ 1.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบบ 1.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต
แบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม แยกเป็น แบบ 2.1 สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต แบบ 2.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต
พื้นที่มหาวิทยาลัย
พื้นที่มหาวิทยาลัย
ไฟล์:แผนผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.gif
แผนผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยและสวนดอก
พื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวม 8,502 ไร่ พื้นที่บางส่วนเป็นที่ดินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ซึ่งมีการซื้อหรือเวนคืนในช่วงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย บางส่วนหน่วยงานราชการอื่น โดยเฉพาะกรมป่าไม้ อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ และมีบางส่วนได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ดังนี้
บริเวณเชิงดอยและสวนดอก 1,812 ไร่
บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ 1,293 ไร่
บริเวณสถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน 550 ไร่
บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงดอยป่าเกี๊ยะ 30 ไร่
บริเวณสถานีวิจัยการเกษตรที่สูงหนองหอย 50 ไร่
บริเวณค่ายสำรวจคณะวิศวกรรมศาสตร์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 17 ไร่
พื้นที่บริจาคให้แก่คณะแพทยศาสตร์ 12 ไร่
ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญชัย (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม่ธิ-แม่ตีบ-แม่สาร) ตำบลศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน 4,726 ไร่
ที่ราชพัสดุ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 12 ไร่
สถานที่สำคัญ
ศาลาธรรม
ศาลาธรรม
ศาลาธรรมเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทย ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถงกว้าง12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 ต่อมาได้มีการต่อเติมตัวอาคารด้านหลังและทำซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ในระยะแรกศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดพิธีไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อศาลาอ่างแก้วสร้างเสร็จจึงได้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครู ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยจึงใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและพระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ สถานที่แห่งนี้ ต่อมาเมื่อหอประชุมมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครูไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆของมหาวิทยาลัยในบางโอกาส เช่น การจัดงานแสดงความยินดี และงานเลี้ยงรับรองผู้มีเกียรติของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
ศาลพระภูมิ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 บริเวณหน้าตึกมหาวิทยาลัยหรือศาลาธรรมในปัจจุบัน ซึ่งศาลพระภูมิของมหาวิทยาลัยเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษามหาวิทยาเชียงใหม่ สมัยหนึ่ง เคยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำริให้โค่นศาลพระภูมินี้ทิ้ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าเป็นแกนนำ เพราะ ณ ที่นี้มีตำนานเก่าแก่โบราณเล่าขาน เคยมีนักศึกษาบางคนเห็นเจ้าที่โบกมือให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2514 รายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องลึกลับนี้ สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ เรื่องลึกลับของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งได้อ้างอิงและมีบันทึกเรื่องราวความลึกลับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งหมดทุกแง่มุม
อ่างแก้วเป็นทะเลสาบขนาดเล็ก โดยเป็นอ่างเก็บน้ำภายในเนื้อที่มหาวิทยาลัย
อ่างแก้ว
อ่างแก้วคืออ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่างแก้วนอกจากจะใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังเป็นสถาที่สวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจของลูกช้าง มช ด้วยเช่นกัน
ศาลาอ่างแก้ว
ศาลาอ่างแก้วเป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรในอดีตก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปัจจุบันศาลาอ่างแก้วใช้ประกอบพิธีต่างๆเช่น การเตรียมตัวก่อนขึ้นดอยของนักศึกษาในกิจกรรมรับน้องขึ้นดอย การรับน้อง และการออกกำลังกายเป็นต้น
หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตรของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่จัดกิจกรรมรับน้องรวม ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ กิจกรรมเฟรชชีไนท์เป็นต้น
ตลาดร่มสัก
ตลาดร่มสัก หรือ ตลาดฝายหินเป็นตลาดขายอาหารที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาว มช เป็นอย่างมากซึ่งอยู่คู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มายาวนานหลายยุคสมัย และในตลาดร่มสักมีเมนูอาหารที่ขึ้นชื่อคือ สลัดฝายหิน และน้ำผลไม้ ซึ่งอาหารที่นี่มีราคาถูกมาก
หอพักนักศึกษา
เมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาในรั้วของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับการอยู่หอพักนักศึกษา เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ส่งเสริมให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน ได้เข้าพักในหอพักนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาต่างคณะรู้จักกัน และเป็นการฝึกให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุข จำนวนหอพักในมหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 15 อาคาร แบ่งออกเป็นหอพักนักศึกษาชาย 7 อาคารและหอพักนักศึกษาหญิง 8 อาคาร สำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องหอพักนั้นตกประมาณ 1,800 บาทต่อเทอม ซึ่งในราคานี้ได้รวมค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายอื่นๆไว้แล้ว นอกจากนั้นผู้ที่รักสบายขึ้นมาหน่อยก็สามารถเลือกอยู่หอพักในกำกับ มีอยู่ 4 หอได้แก่ หอสีชมพู หอแม่เหียะ หอพยาบาล และใหม่ล่าสุด หอ 40 ปี ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้นตามความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นด้วย หลังจากการก่อตั้งสำนักงานหอพักนักศึกษา เมื่อปี 2551 แต่เดิมมีฐานะเป็นงานหอพักนักศึกษา สังกัดกองกิจการนักศึกษา (ปัจจุบันคือกองพัฒนานักศึกษา) จึงเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลหอพักนักศึกษาในปัจจุบัน มีหอพักนักศึกษาในสังกัดจำนวน 18 อาคาร ได้แก่ หอพักภายในมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หอพักนักศึกษาชาย อาคาร 2 – 7 , หอพักนักศึกษาหญิง อาคาร 1 – 9 และหอพักในกำกับ ประกอบด้วย หอพักสีชมพู , หอพักแม่เหียะ และหอพัก 40 ปี การเปิด – ปิดหอพักนักศึกษานั้น หอพักนักศึกษาชาย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เปิดเวลา 6 โมงเช้า ปิดเวลาเที่ยงคืน (แต่เดิมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง) ส่วนหอพักนักศึกษาหญิง เปิดเวลา 6 โมงเช้า ปิดเวลา 4 ทุ่ม เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักศึกษาหญิง นอกจากนั้นทางหอพักก็ได้ให้บริการและสวัสดิการต่างๆที่จัดให้ เช่น หนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ โทรทัศน์ติด UBC ร้านเสริมสวย ร้านซัก อบ รีด ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้องคอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ต เพื่อบริการแก่นักศึกษาทุกคน
กิจกรรมและประเพณี
ไฟล์:ประเพณีรับน้องขึ้นดอย 2556.jpg
ประเพณีรับน้องขึ้นดอย
ประเพณีรับน้องขึ้นดอย
ปี พ.ศ. 2507 เป็นปีแรกของการเปิดดำเนินการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 291 คน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีที่รับผิดชอบดูแลนักศึกษามีความคิดที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประเพณีที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น และเป็นประเพณีที่น่าประทับใจ น่าจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่มีหนทางขึ้นดอยสุเทพ โดยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำในการทำหนทางดังกล่าว นับว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงความศรัทธาและความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหลังจากการปฐมนิเทศนักศึกษาในปีแรกแล้ว จึงได้ชักชวนนักศึกษารุ่นแรกทุกคนเดินขึ้นดอยสุเทพพร้อมกันด้วยความสามัคคี เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยความศรัทธาและแสดงถึงความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ ประเพณีดังกล่าวนี้นักศึกษารุ่นหลังยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาตราบจนทุกวันนี้และเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเพณีรับน้องขึ้นดอยเป็นประเพณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จัดขึ้นประมาณต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ตามประวัติแล้วประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกช้างเชือกใหม่ทุกคน และดอยสุเทพซึ่งวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ โดยในวันรับน้องขึ้นดอยนั้นแต่ละคณะจะจัดตั้งขบวนบริเวณหน้าศาลาธรรมตั้งแต่เช้าตรู่โดยริ้วขบวนจะประกอบไปด้วยเฟรชชีและพี่ๆแต่ละชั้นปีเดินขึ้นไปพร้อมกันโดยทุกคนจะแต่งกายแบบล้านนาทำให้มีสีสันสวยงามตื่นตาตื่นใจ
ประเพณีรับน้องรถไฟ
ประเพณีน้องรถไฟเป็นกิจกรรมหนึ่งของการรับน้องของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีประจำปีอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะจะมาต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ และอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่นอกเขตภาคเหนือ โดยจะเริ่มต้นกิจกรรมกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยปกติจะเหมารถไฟ ชั้น 3 ทั้งขบวน (ทั้งหมดหลายขบวน) โดยแบ่งตู้รถไฟกันตามคณะและจำนวนของรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะนั้นๆ โดยรุ่นพี่ของแต่ละคณะก็จะเตรียมกิจกรรมและเกมส์ต่างๆ มีการสอนร้องเพลงประจำแต่ละคณะ เพลงประจำมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้รุ่นน้องได้ทำกิจกรรมบนรถไฟเกือบตลอดทั้งคืนที่รถไฟวิ่งมุ่งหน้าไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโดยปกติเมื่อไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้วรุ่นพี่จะพาน้องใหม่ไปไหว้พระที่ศาลาธรรมเป็นเหมือนการรับขวัญน้องที่มาใหม่จากแดนไกล หลังจากนั้นรุ่นพี่ก็จะพาน้องใหม่เข้าไปพักตามหอพักนักศึกษา (หอใน) ที่น้องใหม่จองไว้ตั้งแต่วันที่มาปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่
ประเพณีรับน้องรถไฟ ก้าวไกลสู่อาเซียน ประจำปีการศึกษา 2556
ประเพณีรับน้องรถไฟเป็นกิจกรรมครั้งแรกๆ ที่รุ่นน้องและรุ่นพี่ได้พบเจอกัน และร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาราว 15 ชั่วโมง และยังมีเพื่อนฝูงและผู้ปกครองมาส่งรุ่นน้องทำให้บรรยากาศที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในวันนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายในการแสดงความยินดีการได้เริ่มต้นการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาจะได้แจกบัตรคล้องคอ (หรือติดเสื้อ) เขียนชื่อเล่นแต่ละคนเอาไว้ รุ่นน้องนั้นมักจะถูกเรียกว่า “ลูกช้าง” เพราะช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2549 งานรับน้องรถไฟได้ถูกยกเลิกในปีนั้น เนื่องจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยฉับพลันในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้รางรถไฟได้รับความเสียหาย เส้นทางรถไฟไม่สามารถใช้ได้ และในปี พ.ศ. 2553 งานรับน้องรถไฟได้ทำการย้ายสถานที่จากสถานีรถไฟหัวลำโพงมายังสถานีรถไฟรังสิตรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสถานีปลายทางจากสถานีรถไฟเชียงใหม่เป็นสถานีรถไฟสารภี เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการก่อจลาจลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553
ปัจจุบันประเพณีรับน้องรถไฟยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม อันเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไว้สืบไป
กิจกรรม Sport Day & Spirit Night
สปอร์ตเดย์ และสปอร์ตไนท์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความสามัคคีและน้ำใจนักกีฬาของแต่ละคณะโดยจะจัดขึ้นทุกๆปีในเดือนพฤศจิกายน โดยจะจัดกิจกรรมกันตั้งแต่ตอนเช้าจนถึงกลางดึก โดยในงานจะมีการประกวดเชียร์ลีดเดอร์ สแตนเชียร์ พาเหรด และการแสดงโชว์ของสแตนเชียร์ที่เรียกว่าไคลแมกซ์ โดยแต่ละคณะจะทำการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีในการเชียร์
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเปิดสอนในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยระยะแรกมีเพียง 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ มาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 และในปีเดียวกันนี้เองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับโอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2509) จึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมแพทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2510) จัด ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3-5 (พ.ศ. 2512 –2514 ) จัด ณ พลับพลาบริเวณสนามหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช 2515 เมื่อการสร้างศาลาอ่างแก้วแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมายังศาลาอ่างแก้ว ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 6–30 (พ.ศ. 2515–2539) จึงจัด ณ ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้คือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 (พ.ศ. 2534) เป็นปีฉลอง 25 ปีแห่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหรียญทองคำหนัก 25 บาท จำนวน 1 เหรียญ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 25 เพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช 2540 หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 31 (พ.ศ. 2540) จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร
แผนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่