พระญาแสนภู ธรรมกษัตริย์ผู้รักสันติสุข
พระญาแสนภู ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๓ พญาแสนภู ทรงเป็นราชบุตรองค์แรกของพระญาไชยสงคราม เหตุที่ชื่อแสนภู เพราะเกิดบนภูดอยทรงพระประสูติ ณ เวียงหิรัญนครเงินยาในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีพี่น้องร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ คือ เจ้าแสนภู เจ้าน้ำท่วม และเจ้าน้ำน่าน(ท้าวงั่ว) ในขณะทรงพระเยาว์ ได้ติดตามพระราชบิดาไปพำนักที่เมืองเชียงราย
ในปีจศ.๖๔๙ หรือ พ.ศ.๑๘๓๐ ในขณะที่พระญามังรายครองเวียงกุ๋มก๋วมหรือกุมกาม พระญามังคามครองเมืองเชียงราย ปล่อยให้เวียงเงินยางว่างเว้นเจ้าเมืองปกครอง พระญามังรายจึงมีบัญชาให้เจ้าแสนภูกลับไปฟื้นฟูเมืองเงินยางให้เหมือนเดิม ดังนั้นพระญาแสนภูจึงได้นำครอบครัวเสนาอำมาตย์ ประชาราษฎร ลงเรือเสด็จล่องตามลำแม่น้ำกกจากเมืองเชียงรายสู่เมืองเงินยางในปี พ.ศ. ๑๘๓๐วันอังคาร เดือน ๓ ออก ๕ ค่ำ หรือประมาณเดือนธันวาคม เป็นเวลา ๗ วัน จึงออกสู่แม่น้ำโขงและแวะพักที่เวียงปรึกษา (เชียงแสนน้อย) เดือน ๓ ออก ๑๓ ค่ำ จึงได้เสด็จสู่เมืองเงินยาง
- ในปี พ.ศ. ๑๘๓๑ พระองค์ได้นำอาณาประชาราษฎร ขุดคูก่อสร้างกำแพงเมืองตามแนวคันหินเดิม
- พ.ศ. ๑๘๓๓ ได้สร้างวัดเจดีย์หลวงทับวัดเดิม คือ วัดหลวง
- ปีพ.ศ. ๑๘๓๘ ได้สร้างวัดป่าสักไว้นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
เมื่อครั้งที่ พระญาไชยสงคราม พระราชโอรสในพระญามังรายมหาราชได้ทรงครองราชย์สมบัติเพียง ๔ เดือนเท่านั้นก็ทรงจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วทรงมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าแสนภู พระราชโอรสปกครองเมืองเชียงใหม่แล้ว ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าท้าวน้ำท่วม ราชบุตรองค์กลางให้ไปครองเมืองฝาง ส่วนท้าวงั่วหรือท้าวน้ำน่านราชบุตรองค์เล็กโปรดให้ไปครองเมืองเชียงของ
ส่วนพระองค์เองกลับเสด็จไปปกครองเมืองเชียงรายดังเก่า ต่อมาเจ้าขุนเครือพระอนุชาในพระญาไชยสงครามซึ่งทรงปกครองเมืองนายอยู่นั้น ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระราชบิดาสวรรคต และพระญาไชยสงครามพระเชษฐาธิราชทรงยกเมืองเชียงใหม่ให้พระราชนัดดาคือเจ้าแสนภูทรงปกครอง ก็มิทรงพอพระทัยเจ้าขุนเครือจึงทรงจัดแต่งรี้พลชาวไทยใหญ่ของพระองค์เตรียมจะยกมาชิงราชสมบัติ
เจ้าขุนเครือ ทรงยกพลมาถึงเวียงกุมกาม พักพลอยู่ ณ ทุ่งข้าวสาร ก็ทรงจัดทำเครื่องบรรณาการของฝากส่งไปถึงเจ้าแสนภูและสั่งบอกไปว่าพระองค์ทรงมาถวายพระศพพระญามังรายมหาราชผู้ทรงเป็นพระราชบิดาในพระองค์ จากนั้นเจ้าขุนเครือก็ทรงแต่งไพร่พลโดยพระองค์เองแต่งเครื่องทรงอย่างจะออกศึกไปดักที่ประตูเชียงใหม่ และอีกพวกหนึ่งดักอยู่ที่ประตูสวนดอก เพื่อคอยจับกุมตัวเจ้าแสนภูไปเป็นประกันเพื่อชิงราชสมบัติ เจ้าแสนภูในขณะนั้นทรงมีพระชนม์ได้ ๔๑ พรรษา ทรงทราบว่า เจ้าขุนเครือ เจ้าอาของพระองค์นั้นมุ่งประสงค์จะช่วงชิงราชสมบัติเพื่อครองเมืองนครพิงค์ที่พระองค์ครองอยู่
เจ้าแสนภูจึงทรงจัดแจงอพยพพระราชวงศ์เสด็จหนีออกทางประตูหัวเวียงไปทางเวียงเชียงโฉมในเวลาเที่ยงคืน เนื่องจากทรงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสู้รบกับเจ้าอาผู้มีสายพระโลหิตเดียวกันและมิทรงอยากให้ผู้คนล้มตาย พระองค์จึงได้เสด็จเลยไปหาเจ้าท้าวน้ำท่วมผู้เป็นพระอนุชาไปยังเมืองฝางแจ้งเหตุการณ์ให้ทราบตามที่เป็นจริงแล้วต่อจากนั้นก็เสด็จเลยไปถึงเมืองเชียงรายเข้าเฝ้าพระราชบิดาก็คือพระญาไชยสงครามเพื่อทูลแจ้งให้ทรงทราบ ส่วนฝ่ายเจ้าขุนเครือก็ทรงขึ้นครองนครพิงค์ตามที่ตั้งพระทัยไว้แต่แรก
ต่อมาพระญาไชยสงครามพระราชบิดาในเจ้าแสนภูทรงทราบเรื่องก็ทรงพิโรธ ที่ถูกพระอนุชากระทำให้เสียน้ำพระทัย พระญาไชยสงครามก็ได้แต่งพลโยธาแล้วสั่งให้เจ้าท้าวน้ำท่วมผู้ครองเมืองฝางยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่คืน เป็นวันอังคารแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ เวลาใกล้รุ่ง กองทัพของเจ้าท้าวน้ำท่วมก็มาพักอยู่ที่ตำบลทุ่งแสนตอ
พอได้เวลาสมควรท้าวน้ำท่วมผู้เป็นแม่ทัพก็ทรงแต่งกลศึกอันมีชื่อว่า “กลราชปัญญา” คือแต่งกลให้คนเอาเครื่องศึกซ่อนในหาบ หาบไปเหมือนดังจักไปเข้าเวรรั้งเมือง คนหาบเหล่านี้มีหลายคนต่างก็แยกย้ายเข้าประจำอยู่ทุกประตูเมือง ครั้นแล้วก็ทรงแต่งพลศึกยกเรียงรายกันเข้าตั้งล้อมเมืองเอาไว้ดุจจะเข้าตีในทันทีทันใด ชาวนครทั้งหลายก็ถูกเกณฑ์ให้เข้าประจำรักษาประตูต่างๆตามหน้าที่
ครั้นถึงเวลาได้ฤกษ์งามยามดี เจ้าท้าวน้ำท่วมกับทหารร่วมใจก็ลอบยกเข้าไปถึงประตูเมือง คนที่ล้อมตัวเป็นผู้รักษาประตูก็เปิดรับ เจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าเมืองได้ในคืนนั้นสั่งไพร่พลให้จุดไฟขึ้น กองทัพที่ล้อมเมืองก็โห่ร้องตีฆ้องกลองขึ้นอีกกะทึกแล้วกรูกันเข้าเมืองพร้อมกับยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ผู้คนแตกตื่นกันชุลมุนไปหมด เจ้าขุนเครือนั้นเสพสุราเมานอนหลับอยู่ เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้ยกทัพมาตีเอาเมืองง่ายๆ
เจ้าท้าวน้ำท่วมสั่งให้ทหารจับกุมตัวเจ้าขุนเครือทันที ครั้นแล้วก็สั่งให้นำไปขังไว้ที่มุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้แต่เป็นนอกเวียงชื่อว่า แจ่งกู่เฮือง ให้หมื่นเรืองเป็นผู้ควบคุมรักษามิให้หลบหนีไปได้ ตำบลที่เจ้าท้าวน้ำท่วมใช้เป็นที่คุมขังเจ้าขุนเครือผู้เป็นเจ้าอานี้ ภายหลังได้ชื่อว่า ตำบลขวงเชียงเรือง สืบต่อมาเจ้าท้าวน้ำท่วมกับไพร่พลโยธา ตีได้เมืองเชียงใหม่และจับได้ตัวเจ้าขุนเครือไปขังไว้แล้ว
ก็ได้ปราบปรามทหารของเจ้าขุนเครือซึ่งเป็นเงี้ยวมาจากเมืองนายล้มตายจำนวนมาก เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมตีได้เมืองแล้วก็จัดการพลเมืองอยู่ในปกติ แล้วก็ทรงส่งข่าวให้พระราชบิดาที่เมืองเชียงรายทราบ พระญาไชยสงครามได้ทราบข่าวก็ทรงดีพระทัยและทรงรีบกลับเมืองเชียงใหม่ในทันทีอีกทั้งยังทรงจัดการปราบดาภิเษกเจ้าท้าวน้ำท่วมให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แต่นั้นมา
ในขณะที่เจ้าท้าวน้ำท่วมทรงมีพระชนม์ได้ ๓๐ พรรษาแต่มีความสามารถปราบศัตรูได้สำเร็จ แต่ทรงครองราชย์ได้ ๒ ปีพระญาไชยสงครามพระราชบิดาเกิดระแวงว่าจะเป็นกบฏจึงได้มอบอำนาจให้ท้าวงั่วผู้เป็นอนุชาไปคุมตัวท้าวน้ำท่วมส่งไปปกครองเมืองเขมรัฐเชียงตุง พวกเขินชาวเมืองเขมรัฐก็เลยราชาภิเษกท้าวน้ำท่วมเป็นเจ้าผู้ครองเขมรัฐโชติตุงคบุรีในปีนั้น เจ้าขุนเครือถูกขังอยู่ ๔ ปีก็สิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง พระญาไชยสงครามจึงทรงยกให้เจ้าแสนภูขึ้นครองเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระญาแสนภูเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนา ในปี พ.ศ.๑๘๖๘ พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงรายโดยแต่งตั้งให้ท้าวคำฟู โอรสครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาราว พ.ศ. ๑๘๗๗ พระญาแสนภูโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสนขึ้นในบริเวณเมืองเงินยาง (เมืองรอย ก็ว่า) ครั้นสร้างเมืองเชียงแสนแล้ว พระญาแสนภูก็ประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ การสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นนั้น ก็เพื่อป้องกันข้าศึกด้านเหนือ เพราะเชียงแสนตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงและสามารถใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองตามธรรมชาติได้ ตัวเมืองมีกำแพงกว้าง ๗๐๐ วา ยาว ๑๕๐๐ วา มีป้อมรายล้อมเมือง ๘ แห่ง
เมืองเชียงแสนมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองต่างๆ คือ เมืองเชียงราย เมืองฝาง เมืองสาด เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง และเมืองเชียงของ เชียงแสนจึงเป็นศูนย์กลางของเมืองตอนบน โดยมีหน้าที่ควบคุมหัวเมืองต่างๆ ที่รายล้อมดังกล่าวอีกด้วย