ผักไผ่ ใบกินเป็นผักสด หรือใส่แกงแต่งกลิ่นอาหาร ช่วยดับคาว ช่วยขับลม และเจริญอาหาร ทางภาคเหนือนิยมนำมาใส่ต้มยำ โดยเฉพาะลาบ
ผักไผ่ (ภาคเหนือ) หอมจันทร์ (อยุธยา) (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 4147) พริกบ้า (ภาคกลาง) จันทร์แดง (นครศรีธรรมราช) ผักแพรว (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 127) พริกม้า พริกม่า (นครราชสีมา) ผักแพว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จันทน์โฉม, จันทน์แดง, ผักไผ่น้ำ, ผักแพ้ว, ผักแพรว, ผักแจว, พริกบ้า, หอมจันทร์ เป็นต้น
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Persicaria odorata) เป็นผักพื้นบ้านจำพวกพืชล้มลุกที่มีลักษณะใบเรียวยาวและมีกลิ่นแรงชนิดหนึ่ง ผักแพวเป็นผักที่อยู่ในวงศ์ Polygonaceae มีลักษณะลำต้นคล้ายต้นไผ่ มีข้อตามต้นเหมือนเป็นปล่องไผ่ มีใบยาวรี ปลายแหลมเหมือนใบไผ่ เกิดเองตามธรรมชาติตามที่ชื้นพื้นราบ ตามแอ่งน้ำต่าง ๆ นอกจากนั้นยังพบขึ้นตามป่า ตามโคนกอไผ่อีกด้วย มีอายุเพียงปีเดียว กินยอด กินใบได้ตลอดลำต้น เพราะใบอ่อน เส้นใยไม่หยาบกระด้าง ขยายพันธุ์ด้วยการชำกิ่งเท่านั้น
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ต้น เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 30 – 35 เซนติเมตร ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดินและมีรากงอกออกตามส่วนที่สัมผัสกับดิน ใบ ใบรูปหอก ขอบใบเรียบ ปลายแหลม ฐานใบรูปลิ่ม ใบกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 5.5 – 8 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกช่อ ดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวนวลหรือสีชมพูม่วง ผล ขนาดเล็กมาก (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 127)
คุณประโยชน์
ผักไผ่นิยมกินเป็นผักแกล้มอาหารรสจัดทุกชนิด ถือเป็นผักชนิดสำคัญของอาหารอีสาน อาหารเหนือและอาหารเวียดนาม ผักแพวมีรสชาติเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม มีรสร้อนแรง กินมาก ๆ จะรู้สึกว่ามีรสปร่าในปาก นิยมนำไปคลุกเป็นเครื่องปรุงสด อาหารประเภทลาบ โดยเฉพาะก้อยกุ้งสด (กุ้งฝอย กุ้งน้ำจืด) นอกจากนี้ยังใส่แกงประเภทปลารสจัดเพื่อตัดกลิ่นคาวปลา นำมาใส่ปรุงรสอาหารประเภทหอยขม ทางภาคเหนือนิยมนำมาใส่ต้มยำ โดยเฉพาะลาบ
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ผักไผ่เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติทางยาสมุนไพร มีรสเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฟอสฟอรัสสูง มีวิตามินเอสูงมาก นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมและวิตามินซีอีกด้วย
ทางโภชนาการ
ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล้ก วิตามินเอ บี 1 บี 2 วิตามินซี ไนอาซิน (ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง, 2550, 59) ข้อมูลทางอาหารนั้น ชาวล้านนานิยมเก็บยอดอ่อนและใบเป็นผักสด เป็นผักจิ้ม หรือเครื่องเคียงหรือซอยใส่อาหารประเภทลาบ หลู้ทุกชนิด และยำต่างๆ ที่เป็นยำเนื้อสัตว์ เช่น ยำจิ๊นไก่ ยำกบ (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 4147; ประธาน นันไชยศิลป์, 2550, สัมภาษณ์)
- รสเผ็ดของผักแพวช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในเลือด เหมาะเป็นผักสมุนไพรลดความอ้วนได้โดยไม่ขาดสารอาหาร เพราะอุดมไปด้วยเส้นใยและวิตามิน แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่มากพอหรือวันละไม่น้อยกว่า 3 ขีด[8]
- ผักแพวมีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี โดยมีวิตามินเอสูงถึง 8,112 หน่วยสากล[1],[3] ในขณะที่อีกข้อมูลระบุว่ามีมากถึง 13,750 มิลลิกรัม[5]
- ผักแพวเป็นผักที่ติดอันดับ 8 ของผักที่มีวิตามินซีสูงสุด โดยมีวิตามินซี 115 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม[4]
- ผักแพวมีแคลเซียมสูงถึง 390 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงได้เป็นอย่างดี[4]
- ผักแพวมีธาตุเหล็กสูงสุดติด 1 ใน 5 อันดับของผักที่มีธาตุเหล็กสูง[4]
- ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้ประกอบอาหาร ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด ใช้เป็นเครื่องเคียงของอาหารอีสาน อาหารเหนือ อาหารเวียดนาม หรือนำมาหั่นเป็นฝอย ใช้คลุกเป็นเครื่องปรุงสดประกอบอาหารประเภทลาบ ลู่ ตำซั่ว ก้อยกุ้งสด ข้าวยำ แกงส้ม เป็นต้น[2]
- ใบผักแพวนำมาใช้แกงประเภทปลา เพื่อช่วยดับกลิ่นของเนื้อสัตว์หรือกลิ่นคาวปลาได้[2]
ทางยา
ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ใบ คั้นผสมกับแอลกอฮอล์ แก้กลากเกลื้อนผื่นคัน (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 127)
- ผักแพวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย (ใบ)[2]
- ช่วยป้องกันและต่อต้านมะเร็ง (ใบ)[2]
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจ (ใบ)[2]
- ใบใช้รับประทานช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[2]
- ช่วยบำรุงประสาท (ราก)[9]
- รสเผ็ดของผักแพวช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินสะดวกมากขึ้น (ใบ)[5]
- ช่วยรักษาโรคหวัด (ใบ)[6]
- ช่วยขับเหงื่อ (ดอก)[7],[8],[9]
- ช่วยรักษาโรคปอด (ดอก)[7],[9]
- ช่วยรักษาหอบหืด (ราก)[9]
- ช่วยแก้อาการไอ (ราก)[9]
- ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันและแก้อาการท้องผูก และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะเป็นผักที่มีไฟเบอร์สูงถึง 9.7 กรัม ซึ่งจัดอยู่ในผักที่มีเส้นใยอาหารมากที่สุด 10 อันดับของผักพื้นบ้านไทย (ใบ)[4],[7],[8]
- ผักแพวมีรสเผ็ดร้อน จึงช่วยแก้ลม ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ, ยอดผักแพว)[2],[3],[6],[9] ใช้เป็นยาขับลมขึ้นเบื้องบน ช่วยให้เรอระบายลมออกมาเวลาท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- รากผักแพวช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร (ราก)[7] แก้กระเพาะอาหารพิการหรือกระเพาะอักเสบ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8],[9]
- ช่วยแก้ท้องเสีย อุจจาระพิการ (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ช่วยแก้อาการเจ็บท้อง (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ช่วยแก้อาการท้องรุ้งพุงมาน (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ใบผักแพวช่วยรักษาโรคพยาธิตัวจี๊ด แต่ต้องรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน[6]
- ลำต้นผักแพวใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[9]
- ราก ต้น ใบ และดอก นำมาปรุงเป็นยาได้ ใช้รักษาริดสีดวงทวาร (ใบ, ดอก, ต้น, ราก)[8]
- ช่วยรักษาโรคตับแข็ง (ใบ)[6]
- ช่วยลดอาการอักเสบ (ใบ)[2]
- ใบผักแพวใช้แก้ตุ่มคัน ผดผื่นคันจากเชื้อรา เป็นกลากเกลื้อน[6] ด้วยการใช้ใบหรือทั้งต้นนำมาคั้นหรือตำผสมกับเหล้าขาว แล้วใช้เป็นยาทา (ใบ, ทั้งต้น)[7]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ราก)[9]
- ช่วยรักษาอาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ราก)[7],[9]
- ช่วยแก้เส้นประสาทพิการ แก้เหน็บชาตามปลายนิ้วมือ ปลายเท้า และอาการมือสั่น (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
- ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงเลือดลมของสตรี (ใบ, ดอก, ต้นราก)[8]
ฤดูกาลใช้ประโยชน์
ตลอดปี
วิธีการเลือกซื้อผักไผ่
การเลือกซื้อผักไผ่ ควรเลือกซื้อผักไผ่ หรือดูที่ความสดของใบเป็นหลัก ไม่เหี่ยวและเหลือง แต่ถ้ามีรอยกัดแทะของหนอนและแมลงบ้างก็ไม่เป็นไร ส่วนการเก็บรักษาผักไผ่ก็เหมือนกับผักทั่ว ๆไป คือเก็บใส่ในถุงพลาสติกแล้วปิดให้สนิท หรือจะเก็บใส่กล่องพลาสติกสำหรับเก็บผักก็ได้ แล้วนำไปแช่ตู้เย็นในช่องผัก
รายการอ้างอิง
http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_ingredient.php?id_ingredient=182
https://medthai.com/ผักแพว/
กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
ประธาน นันไชยศิลป์. (2550). สัมภาษณ์. 3 กรกฎาคม.
ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง. (2550). กรุงเทพฯ: บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ไผ่, ผัก. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4717). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
[iggetimage type=”tags” tag=”%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A7″ limit=”10″]