ผักเสี้ยว หรือ ชงโค มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมถึงฮ่องกงและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอดอ่อนและใบอ่อนนึ่งสุกรับประทานเป็นผักจิ้ม หรือแกงใส่ปลาแห้ง แก้ไอ บำรุงร่างกาย
ชงโค มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมถึงฮ่องกงและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ดังนี้ : ชงโค เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้), เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ), เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน) กะเฮอ สะเปซี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ในสหรัฐอเมริกานิยมปลูกกันที่รัฐฮาวาย, รัฐแคลิฟอร์เนีย, ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา และทางตอนใต้ของรัฐเทกซัส ชงโคเป็นไม้ที่ชอบแดด ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดทั้งวัน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง
ลักษณะทางพฤกศาสตร์
ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 7-12 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างรูปทรงไม่แน่นอน ใบเดี่ยว ปลายใบเว้าลึกเข้าหากัน ฐานใบโค้งเข้าหากัน คล้ายรูปไตสองอันติดกันเรียงสลับ เป็นรูปไข่แยกเป็น 2 แฉกลึก คล้ายใบติดกันหรือใบแฝด ใบกว้าง 3 นิ้ว ยาว 4.5 นิ้ว ขอบใบเรียบ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 137) ดอกสีชมพูอมม่วง, สีม่วงสดคล้ายกล้วยไม้ และสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดวัน ดอกบานเต็มที่ขนาด 6-8 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีจำนวนดอกน้อย เกสรตัวผู้ 3 อัน ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกเกือบตลอดปี ออกดอกมากในฤดูหนาว การขยายพันธุ์ใช้การตอนกิ่ง ปักชำและเพาะ
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นคู่ตามข้อต้น ลักษณะใบรูปรีค่อนข้างกลม ปลายใบเว้าลึก รูปไตสองอันติดกัน โคนใบมนหรือเว้า ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีเขียวอ่อนปนขาว ก้านใบสั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยม
“ดอกชงโค” มีลักษณะคล้ายดอกกล้วยไม้ มีความโดดเด่นเนื่องจากเป็นดอกของต้นไม้ใหญ่ และมีใบเป็นคู่มีลักษณะโค้งมนและติดกันเหมือนปีกผี้เสื้อ จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Orchid Tree หรือ butterfly tree ออกดอกเป็นช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี มีกลีบดอก 5 กลีบ ตั้งแต่สีชมพูถึงสีม่วงเข้มออกดอกได้ตลอดปี
ผล เป็นฝักแบน เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก กว้าง 1-2 ซม. ยาวประมาณ 20-25 ซม. ลักษณะกลม มีประมาณ 10 เมล็ด
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทางโภชนาการ
ผักเสี้ยว 100 กรัม มี 111.89 แคลอรี่ ประกอบด้วย โปรตีน 14.28 กรัม ไขมัน 2.28 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.53 กรัม แคลเซียม 515.68 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 126.92 มิลลิกรัม เหล็ก 4.46 กรัม วิตามินเอ 416.61 อาณือี วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.11 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.84 มิลลิกรัม และวิตามินซี 5.89 มิลลิกรัม (เสาวภา ศักยพันธุ์, 2534)
ผักเสี้ยวเป็นผักที่ชาวเหนือนิยมกินมาก จะนำยอดใบอ่อนมาทำกับข้าว เช่น แกงผักเสี้ยวใส่ปลาย่าง แกงกับเนื้อ และนิยมแกงรวมกับผักชะอม ผักเชียงดา รสชาติอร่อยมาก นำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก จะสัมผัสกับรสชาติ รู้สึกได้ถึงความหวาน และเชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกายได้ดี เจริญอาหารฝีมือแกงผักเสี้ยวของชาวเหนือสุดยอดที่สุดเลย
ใบอ่อนและยอดอ่อน นำมานึ่งให้สุกรับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกตาแดง และน้ำพริกปลาร้า แกงกับปลาแห้ง ร่วมกับผักชนิดต่างๆ หรือแกงผักรวม ใส่ปลาแห้ง และมะเขือส้ม (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 137) แกงผักเสี้ยว
ทางยา
ใบ แก้ไอ ดอก ระบายพิษไข้ แก้โรคบิด ราก ระบายพิษไข้ (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 137)
ราก รสเฝื่อน เป็นยาระบายพิษไข้ ขับลม
เปลือก รสเฝื่อน แก้บิด แก้ท้องร่วง
ใบ รสเฝื่อน รักษาอาการไอ ใช้พอกฝี พอกแผล
ดอก รสเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรตัวอื่นเป็นเครื่องยา แก้ไข้ เป็นยาระบาย
ฤดูกาลใช้ประโยชน์
ฤดูฝนและฤดูแล้ง
รายการอ้างอิง
กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภาทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_ingredient.php?id_ingredient=345
อ้างอิงข้อมูล https://panutdakongsamai.wordpress.com/
[iggetimage type=”tags” tag=”%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7″ limit=”14″]