ผักกาดกวางตุ้ง

0
2711
ผักกาดกวางตุ้ง ผักกวางตุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง (ทั่วไป), ผักกาดฮ่องเต้, ผักกวางตุ้งฮ่องเต้, กวางตุ้งไต้หวัน, ผักกาดสายซิม (ภาคใต้), ปากโชย (ภาษาไต้หวัน) เป็นต้น

ผักกาดกวางตุ้ง ผักกวางตุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง (ทั่วไป), ผักกาดฮ่องเต้, ผักกวางตุ้งฮ่องเต้, กวางตุ้งไต้หวัน, ผักกาดสายซิม (ภาคใต้), ปากโชย (ภาษาไต้หวัน) เป็นต้น

ผักกาดกวางตุ้ง กินเป็นผักสด หรือใช้แกง ต้นอ่อนนิยมทำส้าผัก กวางตุ้ง เป็นผักที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เป็นผักที่นิยมบริโภคกันมาก ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว อายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 35-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่ว่าจะผัดหรือต้มเป็นแกงจืด ให้รสชาติหวานกรอบ โดยเฉพาะเมนูบะหมี่หมูแดงหรือเกี๊ยวก็จะมีผักชนิดนี้แซมอยู่เสมอ โดยสามารถรับประทานได้ทั้งลำต้น ใบ และดอก ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค แต่จะนิยมนำมาปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน (ตามธรรมชาติแล้วผักกวางตุ้งจะมีเส้นใยเหนียว ๆ เคี้ยวยากสักหน่อย)

ผักกาดกวางตุ้ง จะมีสารบางชนิดเมื่อถูกความร้อนแล้วจะกลายเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งได้แก่สารไทโอไซยาเนต (thiocyanate) เมื่อได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ความดันเลือดต่ำ ร่างกายอ่อนเพลีย แต่สารชนิดนี้จะสลายไปกับไอน้ำเมื่อเราเปิดฝาทิ้งไว้ แต่ถ้านำมารับประทานสด ๆ ก็ปลอดภัยเช่นกัน แต่จะมีกลิ่นเขียวบ้างเล็กน้อย

จุดเด่นของผักชนิดนี้จะอยู่ที่คุณค่าทางทางโภชนาการ โดยอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งก็มีประโยชน์มาก ๆ เลยทีเดียว โดยการถนอมวิตามินในผักชนิดนี้ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใส่ไว้ในถุงพลาสติก ปิดให้แน่นแล้วนำไปแช่ไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็น และการนำผักกวางตุ้งไปประกอบอาหารก็ไม่ควรตั้งไฟนานจนเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินที่อยู่ในผักกวางตุ้งอย่างวิตามินซีและเบตาแคโรทีน (แต่สำหรับเบตาแคโรทีนนั้นจะทนความร้อนได้ดีกว่าวิตามินซี)

กวางตุ้ง เป็นหนึ่งในผักที่มักตรวจพบสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงอยู่บ่อย ๆ การเลือกซื้อผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผู้บริโภคควรระมัดระวังในเรื่องของการเลือกซื้อให้มาก และทำความสะอาดผักก่อนการนำมาปรุงเป็นอาหาร ไม่ว่าจะด้วยวิธีการแช่น้ำส้มสายชู แช่ในน้ำเกลือ หรือจะล้างด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำนานอย่างน้อย 2 นาที ก็จะช่วยลดปริมาณสารพิษที่ตกค้างในผักชนิดนี้ได้เช่นกัน

ราก เป็นระบบรากแก้ว อยู่ในระดับตื้น ส่วนที่ใหญ่สุดของรากแก้ว ประมาณ 1.20 เซนติเมตร มีรากแขนงแตกออกจากรากแก้วมาก โดยรากแขนงแผ่อยู่ตามบริเวณผิวดิน รากแก้วอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าดินมีสภาพชื้นและเย็น

ลำต้น ตั้งตรง มีสีเขียว ขนาดโตเต็มที่ใช้รับประทานได้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.4-1.8 เซนติเมตร สูงประมาณ 43-54 เซนติเมตร ก่อนออกดอกลำต้นจะสั้น มีข้อถี่มากจนดูเป็นกระจุกที่โคนต้น เมื่อออกดอกแล้วในระยะติดฝักต้นจะสูงขึ้นมาก โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 85-144 เซนติเมตร

ใบ ใบเลี้ยงมี 2 ใบ มีสีเขียว ปลายใบตรงกลางจะเว้าเข้า ส่วนใบจริงจะแตกเป็นกระจุกที่บริเวณโคนต้น เป็นใบเดี่ยว ใบเรียบไม่ห่อหัว สีเขียว ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ขอบใบเป็นรอยฟันเลื่อยเล็กมาก ใบแก่ผิวใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ไม่มีขน ของใบเรียบหรืออาจมีรอยเว้าตื้นๆ ขนาดเล็กโคนใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบมน ก้านใบที่ติดกับลำต้นมีสีเขียวอ่อนเป็นร่องและเรียวกลมขึ้นไปหาแผ่นใบ ก้านใบหนาและมีสีขาวอมเขียว สำหรับใบที่ช่อดอกจะมีก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร รูปใบเรียวแหลมไปทางฐานใบและปลายใบ ขอบใบเรียบ

ช่อดอกและดอก ผักกาดเขียวกวางตุ้งจะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 55-75 วัน ช่อดอกยาว 50-90 เซนติเมตร ดอกตูมรวมกลุ่มอยู่บนยอดดอกช่อดอก ดอกบานจากด้านล่างไปหาด้านบน ดอกที่บานแล้วมีก้านดอกยาวกว่าดอกที่ตูม ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ขนาดดอก 1-1.5 เซนติเมตร กลีบชั้นนอกสีเขียวอ่อน 4 อัน ขนาดเล็กกลีบกว้าง 0.1-0.2 เซนติเมตร ยาว 0.7-0.8 เซนติเมตร กลีบชั้นในสีเหลืองสด 4 อัน แยกเป็นกลีบๆ ขนาดกลีบกว้าง 0.5-0.6 เซนติเมตรยาว 1.1-1.2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อัน อับเกสรสีเหลืองแก่ ก้านชูเกสรสีเหลือง รังไข่ยาว 0.5-0.6 เซนติเมตร ซึ่งอยู่เหนือกลีบดอกและเกสรตัวผู้ก้านเกสรตัวเมียสีเขียว ยาว 0.2-0.25 เซนติเมตร ยอดเกสรตัวเมียเป็นตุ่มสีเหลืองอ่อน ดอกบานในตอนเช้าประมาณเวลา 08.00 น.

ผล ผลมีลักษณะเป็นฝัก รูปร่างเรียวยาว แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนปลายไม่มีเมล็ด ยาวประมาณ 0.9-1.5 เซนติเมตร และส่วนที่มีเมล็ดยาวประมาณ 3-4.1 เซนติเมตร กว้าง 0.3-0.5 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.3-2.5 เซนติเมตร ผลตั้งขึ้น เมื่อผลแก่จะแตกตามยาวจากโคนไปหาปลายผลเมื่ออ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล

เมล็ด ค่อนข้างกลม มีทั้งสีน้ำตาลและสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเมล็ดมีลายแบบร่างแห เห็นไม่ค่อยชัด น้ำหนัก 1,000 เมล็ดประมาณ 2.5 กรัม

ประโยชน์ของผักกวางตุ้ง

ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ผักกวางตุ้งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ช่วยป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อม ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง
ช่วยในการขับถ่าย ถ่ายสะดวก ป้องกันโรคท้องผูก
เชื่อว่ามีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดตามข้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกล้ามเนื้อเสื่อม
ช่วยแก้อาการเป็นตะคริว สำหรับใครที่เป็นตะคริวบ่อย ๆ ผักกวางตุ้งช่วยคุณได้ เพราะเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง
การรับประทานผักกวางตุ้งเป็นประจำจะไปทำให้ฟีโรโมน (Pheromone) หลั่งออกมา ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวหอม
เป็นผักที่มีเส้นใยมากและมีไขมันน้อย ทำให้อิ่มท้อง รับประทานมากแค่ไหนก็ไม่ทำให้อ้วน
นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มจับฉ่าย แกงจืด ผัดผักกวางตุ้ง ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการของผักกวางตุ้งดิบต่อ 100 กรัม

พลังงาน 13 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม
เส้นใย 1.0 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม
โปรตีน 1.5 กรัม
วิตามินเอ 243 ไมโครกรัม 30%
วิตามินเอ 4,468 หน่วยสากล
วิตามินซี 45 มิลลิกรัม 54%
ธาตุแคลเซียม 105 มิลลิกรัม 11%
ธาตุเหล็ก 0.80 มิลลิกรัม 6%
ธาตุแมกนีเซียม 19 มิลลิกรัม 5%
ธาตุโซเดียม 65 มิลลิกรัม 4%

ที่มา : https://medthai.com/ผักกวางตุ้ง/

ที่มา : http://www.the-than.com/samonpai/P/4.html