ประเพณีเดือนยี่เป็ง

0
3652

“ประเพณีเดือนยี่ หรือบางทีเรียกว่า เดือนยี่เป็ง นับเป็นประเพณีเก่าแก่ของภาคเหนือประชาชนนับถือปฏิบัติกันมานับแต่พุทธศตวรรษที่๑๔ สมัยอาณาจักรหริภุญไชยได้มีประเพณีเดือนยี่ และทำพิธีลอยโขมดแล้ว ในตำนานเมืองลำพูนกล่าวว่า ชาวเมืองหริภุญชัยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคไปอยู่เมืองหงสวาดี ซึ่งมีเชื้อสายมอญด้วยกัน เป็นเวลาหลายปีเมื่อโรคร้ายสงบแล้วชาวเมืองลำพูนบางคนก็ย้ายกลับบ้านเมืองของตน บางคนก็แต่งงานมีครอบครัว เมื่อถึงเดือนยี่เป็งมาถึง ชาวเมืองลำพูนคิดถึงญาติที่อยู่ ณ เมืองหงสาวดี ก็จะเอาวัตถุข้าวของใส่แพไหลล่องไปตามแม่น้ำกวง แม่น้ำทา แม่น้ำปิง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะล่องลอยไปญาติที่อยู่เมืองหงสาวดีโพ้นจึงเป็นต้นเหตุแห่งการลอยโขมด หรือลอยกระทงแต่นั้น และประเพณีเดือนยี่ก็มีมาตั้งแต่ครั้งกระโน้นแล้ว
ในหนังสือโบราณภาคเหนือ พุทธศักราช ๒๐๖๑ รัชกาลพระเจ้าดิลกปนนัดดาธิราช เทศกาลเดือนยี่เป็ง ประเพณีใหญ่ ประชาชนพลเมืองทั่วประเทศ มีมหากษัตริย์เป็นประมุข ต่างก็พากันไปนมัสการบูชาพระในอารามทั้งหลาย คราคร่ำไปด้วยผู้คนหนุ่มสาว สนุกสนานมีความสุข เพราะได้ดูชมมหรสพที่เล่นกันเป็นที่พึงพอใจโครงนิราศหริภูญชัยกล่าวถึงเดือนยี่เป็งไว้หลายตอน อันแสดงถึงความนิยมชมชอบของผู้คนสมัยโน้น กวีผู้แต่งจึงนำมาสอดแทรกไว้ในนิราศของตน

รัชนีเพิงพุ่งแจ้ง
แสงส่องรังสีจันทร์
ราตรีดุจดูวัน
สนุกสนานปานด้าวหล้า
จวนตะวัน
แจ่มฟ้า
รวีแว่น ยังเอ
หล่มหล้มเมทนี
(พระจันทร์ส่องสว่างดังแสงพระอาทิตย์ แสงสว่างท้องฟ้าเป็นเวลากลางคืนอยู่ แต่ดูเหมือนกลางวัน สนุกสนานพื้นแผ่นดินจักถล่มทลายลง)

ประเพณีเดือนยี่เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร
ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ประเพณีเดือนยี่เกิดในท้ายฤดูฝนต้นเหมันต์ เป็นที่กล่าวขวัญและนิยมชมชอบของประชาชนเป็นอันมาก ทั้งเจ้าถิ่นอาคันตุกะผู้มาเยือน ชาวภาคเหนือนิยมจัดประเพณีเดือนยี่ขึ้นมีสาเหตุที่ครวิเคราะห์ได้หลายประการคือ
๑. เป็นฤดูที่พ้นจากภาวะฝนตกชุก น้ำท่วม ไปไหนไม่สดวก เมื่อมาถึงเดือนเกี๋ยง เดือนยี่เมฆฝนเริ่มจากไปอากาศสดใสจึงเป็นเวลาที่ปลอดโปล่งโล่งใจ
๒. ลักษณะภูมิประเทศงดงาม อากาศดี มองไปทางไหนจะมีต้นข้าวเขียวเต็มท้องทุ่งนาน่าชื่นใจ
๓. มีความเชื่อกันมาว่า เดือนยี่ หรือเดือน ๑๒ ใต้นี้ เป็นฤดูกาลที่ลูกหลานจะได้ทำบุญอุทิศกุศลกัลปนาแก่บรรพชนของตน
๔. ฤดูกาลแห่งพืชในไร่ของคนเริ่มได้ผล เช่น การทำข้าวเม่า (ซึ่งทำจากเมล็ดข้าวที่ยังไม่แก่) การถวายข้าวโพดสาลีและผลไม้ ชาวบ้านจึงถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ตน
๕. เดือนยี่เป็นเดือนที่ชาวเมืองนิยมประกอบพิธีแต่งงานหรือกินแขก คู่บ่าวสาวจึงนิยมแต่งกันมากในเดือนยี่นี้
๖. การเล่นว่าวหรือโคมลอย ในเดือนนี้นิยมกันมาก เพราะอากาศโปล่งท้องฟ้าแจ่มใสสามารถเห็นโคมลอยชัด ในวันยี่เป็งจึงมีโคมลอยถูกปล่อยขึ้นบนท้องฟ้าอย่างมากมาย เมื่อลอยไปในอากาศมีเสียงประทัดที่แขวนไว้ใต้โคมลอยแตกเป็นระยะๆ น่าสนุกสนานยิ่ง
๗. ความเชื่อของชาวภาคเหนือแต่โบราณในเดือนยี่เป็ง นิยมส่งเครื่องเซ่นสังเวยไปตามสายน้ำเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาพระนารายณ์ในเกษียรสมุทรบ้างเพื่อบูชาบรรพชนของตนบ้างและเพื่อบูชารอยพระบาท บนหาดทรายปากแม่น้ำนัมทนที จึงเกดประเพณีล่องสะเปา หรือลอยกระธงขึ้น

ประเพณีเดือนยี่เป็ง
พอเริ่มหนึ่งค่ำเดือนยี่ทุกวัดวาอารามในภาคเหนือ จะจัดเตรียมสถานที่ปัดกวาดวิหาร ศาลาให้สะอาดงดงามแล้วจัดเตรียมสิ่งต่อไปนี้
๑. ทำราชวัตรรอบวิหารหรือศาลา และทำประตูป่าหน้าทางเข้าวัด หรือหน้าวิหาร
๒. ทำโคมค้าง โคมแขวน โคมหูกระต่าย โคมรังมดส้ม โคมรูปต่างๆ บางรายทำเป็นรูปเครื่องบิน ทำโคมผัดหรือโคมเวียน
๓.ทำว่าวหรือโคมลอย โดยการนำกระดาษมาต่อกันเป็นทรงกลม ทำส่วนหัวและปากโคมลอยให้มีสัดส่วนเท่ากัน ไม่เช่นนั้นโคมลอยจะไม่ลอยขึ้นไป ลักษณะโคมลอยมีหลายแบบ เช่น แบบลูกฟักแบบกล่อง หรือกระติ๊บข้าว แบบรังมดส้ม แล้วแต่ช่างผู้ทำจะเห็นอย่างไร
โคมลอยมีลักษณะการปล่อยเป็น ๒ อย่างคือ โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวันเรียกว่าว่าวจะใช้การรมควัน คือเพิ่มควันเข้าไปในตัวโคมลอยหรือว่าวเรื่อยๆจนพองตัวมีความดันสูงขึ้นจนตึงมือ แล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า
โคมลอยที่ใช้ปล่อยตอนกลางคืน มีกรรมวิธีเช่นเดียวกันกับโคมลอยว่าวตอนกลางวันแตกต่างกันที่เขาใช้ท่อนไม้พันด้ายเป็นก้อนกลมๆ ซุบด้วยน้ำมันขี้โล้ จนชุ่มแล้วทำที่แขวนติดกับปากโคมลอย เมื่อรมควันจนได้ที่แล้ว เขาจะจุดไฟท่อนผ้าที่เตรียมไว้แล้วถูกติดกับปากโคมลอยปล่อยขึ้นสู่อากาศ โคมลอยจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลมจะมีลักษณะเป็นดวงไฟ คล้ายดาวเคลื่อนย้ายไปในเวหาอันเวิ้งว้างน่าดูยิ่งนัก แต่โคมลอยที่ปล่อยกลางคืนนี้เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นมาก บางครั้งผ้าที่ชุบน้ำมันยังไม่หมดเชื้อ ปรากฏว่าว่าวตกลงมาก่อนจึงเกิดไหม้บ้านเรือน หรือย่านป่าที่แห้งจัด เกิดไฟไหม้ป่าลุกลามไปในนั้น โคมลอยที่ใช้ปล่อยตอนกลางคืนจึงขาดความนิยมไป
๔. การทำบอกไฟ ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอไฟเทียน บอกไฟขวี บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจักจั่น บอกไฟท้องตัน บอกไฟขี้หนู งานเกี่ยวกับดอกไม้ไฟเหล่านี้นิยมทำกันตามวัดต่างๆ อาศัยตำราทางเคมีแต่โบราณ เรียกกันว่า ตำราเล่นแร่หรือตำราปะตา เป็นคู่มือในการผสมดินประสิว กำมะถันและถ่านให้ถูกสัดส่วนกัน ทำบอกไฟแต่ละชนิดขึ้นจุดในประเพณีเดือนยี่ มีคำภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอยทำว่าวไว้ด้วยว่าหากคนใดทำจะมีอานิสงส์และการปล่อยขึ้นไปนั้นเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ดาวดึงด้วย

การเตรียมการเดือนยี่ของประชาชน
เมื่อเทศกาลเดือนยี่มาถึงแล้ว ประชาชนจะมีความสนุกสนานร่าเริง เพราะฟ้าฝนและฤดูกาลเป็นใจจึงได้เตรียมกาลไว้เป็นหลายอย่างหลายประการ คือ
๑. เตรียมเครื่องแต่งกาย นุ่งหย้อง เพ่อจะใส่ไปวัดในเดือนเป็ง หรือวัดอื่นๆ ซึ่งหนุ่มสาวจะเตรียมกันพิเศษ เพราะที่วัดคือ สถานที่ในการบำเพ็ญกุศล ได้พบปะและสมานมิตรสัมพันธ์
๒. เตรียมโคมหูกระต่าย โคมราวไว้ เพื่อประดับราวหน้าบ้านของตน
๓. เตรียมผางผะติ้ด (ประทีป) ไว้ตามอายุของคนในเรือน เช่น อายุพ่อ อายุแม่และลูกมีกี่คนก็เตรียมไว้หมด โดยไปหาผางผะติ้ดใส่ตีนกาและน้ำมัน หรือขี้ผึ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย นำไปบูชาในเดือนยี่เป็ง
๔. เตรียมกัณฑ์ธรรม หรือกัณฑ์เทศน์สำหรับจะนำไปฟังเทศ ตามคัมภีร์ธรรมชะตาวัน ชะตาเดือน และชะตาปี ที่นิยมกันมาแต่โบราณกาล เกี่ยวกับธรรมชะตานี้ ผู้ถวายจะต้องไปจ้างให้คนจาร (เขียน) ลงในใบลานเป็นผูกๆ แต่ละเรื่องแล้งประกอบพิธีการลงธรรมด้วยเขม่าและน้ำมันยาง จนเห็นตัวอักษรชัดเจน สายสยองคือ ด้าย ใช้สำหรับร้อยใบลานเทศน์ เรียกว่าธรรมหรือคัมภีร์ แล้วทายกทายิกาจะเตรียมไว้ที่ต้นกัณฑ์ ให้พระหยิบขึ้นเทศน์ ในตอนท้ายพระธรรมหรืคำภีร์ จะมีชื่อผู้จานและผู้บริจากไว้ เช่น “ปถมมูลศรัทธา นายเมืองดี นางบังออนพร้อมด้วยลูกเต้า ได้ทานไว้ค้ำชูศาสนา ๕๐๐๐ พระวสา ของสุขสามประการ มีพระนิพพานเป็นยอด จิ่มเตอะ”การกระทำของชาวเหนือแบบนี้ จึงเกิดเป็นการสั่งสมพระคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนาไว้มากมาย นับเป็นล้านๆ ผูกเป็นกุศโลบาย ที่ดีเยี่ยมในการอนุรักษ์วิทยาการของบรรพบุรุษไว้ได้นาน
๕. เตรียมบุพผาลาชาข้าวตอกดอกไม้ชาวบ้านจะเอาข้าวเปลือก ข้าวฟ่างไปคั่วทำเป็นข้าวตอก เพื่อใช้ผุย (โปรย) เวลามีงาน เช่น ผุย (โปรย) เวลามีขบวนแห่ ผุย (โปรย) เวลาเทศน์มหาชาติ กัณฑ์ ครตอนมาถึง เวลาฝนห่าแก้วรัตนธาราตกลงมา การเตรียมดอกไม้เครื่องประดับสถานที่ เช่น การทำโคมระย้า อุบะดอกไม้นำไปถวายพระในวัดเป็นความเชื่อถือที่มีค่าอย่างหนึ่งคือ หากใครได้ถวายดอกไม้และข้าวตอกบูชาเกิดมาจะเป็นผู้มีกลิ่นหอมและเป็นคนมีเสน่ห์น่ารักแก่ประชาชน เมื่อใกล้เดือนยี่มาถึงประชาชนจึงเตรียมข้าวตอกดอกไม้ไว้เป็นเครื่องบูชา
๖. การเตรียมอาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เป็นประเพณีเดือนยี่มาแต่โบราณแล้ว หากวันขึ้น ๑๔ ค่ำมาถึงประชาชนจะเตรียมของถวายพระสงฆ์คือ อาหาร ขนม และผลไม้อาหารประกอบด้วย แกงอ่อม แกงฮังเล ห่อนึ่งและลาบ อาหารเหล่านี้เป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมทำกันในสังคมชาวเหนือมาช้านาน ขนมประกอบด้วย ขนมจ๊อก ข้าวต้มถั่วแปบ ข้าวต้มหัวหงอก ขนมปาด ฯลฯ ผลไม้ที่ปลูกกันในท้องถิ่นมีกล้วยต่างๆ ส้มโอ อาหารการกินเหล่านี้จะนำไปถวายพระในวันใกล้รุ่ง

การถวายประกอบด้วย
๑. การตาน (ทาน) ขันข้าว คือ นำอาหารใส่ถาดไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้ตัวเองได้กุศลและต้องการจะอุทิศกุศลแก่บรรพชนของตน เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว
๒. การถวายภัตตาหารภายในวิหาร คือ การนำภัตตาหารไปรวมกันแล้วถวายแด่พระสงฆ์ผลประโยชน์ที่ได้รับคือ การได้เข้าวัดเป็นการไปสังสรรค์กัน ได้พูดจาปราศัยเล่าสารทุกข์สุขดิบให้แก่กันและกัน
๓. การนำกัณฑ์เทศน์ หรือกัณฑ์ธรรม ไปถวายโดยนิมนต์พระสงฆ์ให้มาเทศน์คัมภีร์ ซึ่งทายกทายิกาผู้นั้นเตรียมไว้
๔. การเตรียมประเพณีใส่บาตรข้าวพระเจ้า การถวายข้าวมธุปายาส การถวายข้าว ๔๙ ก้อนการใส่บาตรพระเจ้า การถวายข้าวทิพย์
การถวายข้าวเหล่านี้มีชื่อแตกต่างกันไป แต่มีความหมายเช่นเดียวกันข้าวมธุปายาสคือข้าวที่กวนหรือหุงด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย ข้าว ๔๙ ก้อน ได้แก่ ข้าวที่พระพุทธเจ้าแบ่งเป็น ๔๙ คำให้เป็นที่ระลึกถึงการที่พระองค์ทรงอดข้าวนาน ๔๙ วันในคราวบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ป่าอุรุเวราเสนานิคม แขวงเมืองมคธ เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว การใส่บาตรข้าวพระเจ้า หมายถึงการตักบาตรใหญ่ โดยมีพระเจ้าเป็นประธาน ภาษาไทยใหญ่การถวายข้าวมธุปายาส เรียกว่า “ตานข้าวซอมต่อ”และการกวนข้าวที่ถวายเป็นข้าวมธุปายาสนี้ต้องมีพิธี คือ พิธีกวนในรั้วพิธี เรียกว่า“ราชวัตร”และนิยมให้หญิงพรมจารีเป็นผู้กวนและบางแห่งมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ด้วยเพื่อให้ข้าวมธุปยาสมีความสักดิ์จึงเรียกกันว่า ข้าวทิพย์ คือ ข้าวของเทวดา เมื่อรับประทานจะมีความสุขความเจริญในชีวิตของตน

วันเดือนยี่เป็งคืออะไร
การถวายข้าวมธุปยาสนิยม ถวายตอนเช้ามืด ประมาณเวลาตีห้าของวันเดือนยี่เป็ง โดยนำไปไว้ตรงหน้าพระประธาน แล้วปู่อาจารย์กล่าวคำสังเวย บูชาพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วนำเข้าประเคนพระพุทธรูปเป็นเสร็จพิธี ข้าวมธุปยาสที่ถวายพระนี้ถือว่าเป็นของสักดิ์สิทธิ์ หากใครนำไปบริโภคจะมีอายุยืน มีสุขภาพดี จึงนิยมบริโภคกันมาก
ประมาณ ๖.๐๐ น. ประชาชนจะนำถาดอาหารไปถวายพระสงฆ์ เรียกกันทางภาษาเหนือว่า “ตาน (ทาน) ขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ บรรพบุรุษของตน ทายกทายิกาจะบอกพระสงฆ์ว่าอุทิศให้ผู้นั้นผู้นี้ พระสงฆ์จะต้องระบุชื่อบุคลที่ต้องการอุทิศไปหา เชื่อกันว่าบุญกุศลจะไปถึงเขาในภพต่อไป
ประมาณ ๗.๐๐ น. ศรัทธาประชาชนจะนำเอาข้าวปลาอาหารขึ้นบนวิหารโดยไปไหว้พระรัตนตรัย คือแก้วทั้งสาม เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบนวิหาร พิธีกรคือ ปู่อาจารย์จะนำไหว้พระรับศีล เริ่มพิธีต่อไป ตอนกลางวันศรัทธาประชาชนจะนำเอากัณฑ์เทศน์ไปวัด นิมนต์พระสงฆ์เทศธรรมชะตาของคนบ้าง การเทศน์นี้หากเป็นคำสอนต่าง ๆ เรียกว่า “ธรรมวัตร” วัดบางแห่งมักจะมีการตั้งธรรมหลวง เรียกว่า ”ธรรมหาชาติ” ซึ่งฟังเรื่องของพระเวสสันดรเป็นบางครั้งคราว
ตอนเย็นเข้าสู่ค่ำประชาชนจะนำเอาผางผะติ้ด (ประทีป) ไปวัดเพื่อบูชาพระรัตนตรัยพระสงฆ์จะเทศน์อานิสงส์ผางผะติ้ดด้วย มีเรื่องเล่าสั้น ๆ ว่า “มีทุคตะเข็ญใจผู้หนึ่ง ได้ไปผ่าฟืนอยู่ในป่า วันเดือนยี่เป็ง ชายคนนี้คิดว่าวันนี้เราควรจะได้บูชาประทีป จึงบีบเอาน้ำมันจากหนังหมูทอดในห่อข้าวและฉีกชายแขนเสื้อของตนเอาน้ำมันหมูใส่ในถ้วยแล้วจุดประทีป อธิฐานขอให้ตนพ้นทุกข์ การบูชาของเขาทำให้แผ่นดินไหว เป็นขณะเดียวกันที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ในพระนครสาวัตถีกำลังบูชาประทีปต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เมื่อแผ่นดินไหวจึงแคลงพระทัย ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าพระองค์ดำรัสว่า การบูชาประทีปที่แผ่นดินไหวนี้ เนื่องจากการบูชาของนายทุคตะเข็ญใจ ได้บูชาด้วยเจตนาอันสูงยิ่ง พระเจ้าปเสนธิโกศลอยากจะได้บุญกุศลนั้นบ้าง จึงขอแบ่งบุญกับชายเข็ญใจ โดยพระราชทานทรัพย์ของพระองค์แลกเอาบุญ ในที่สุดทำให้ชายเข็ญใจคนนั้นกลายเป็นเศรษฐีของเมืองสาวัตถีในคืนวันนั้นเอง
การบูชาผางผะติ้ด (ปรัทีป) ของชาวเหนือจึงอยู่ในความนิยมของประชาชนมาก เพราะได้สร้างค่านิยมไว้ให้ประชาชนเห็นการบูชาผางผะติ้ดของชาวเหนือจึงอยู่ในความนิยมของประชาชนมาก เพาระได้สร้างค่านิยมไว้ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการบูชาว่ามีอานิสงส์ยิ่งในการบำเพ็ญคุณความดี
หลังจากการบูชาพระประทีปแล้วประชาชนจะจุดโคมไฟบูชาสว่างไสวทั่ววัด บางคนกลับบ้านแล้วบูชาดวงประทีปที่ตนเห็นว่าควรบูชา เช่น บ่อน้ำ ครัวไฟ หม้อน้ำ ประตูบ้าน ประตูยุ้งฉาง เทวดาประจำบ้าน ดังนั้นในคืนเดือนเป็ง ในบ้านของแต่ละคนสว่างไสวประดุจกลางวัน
เมื่อจุดธูปเทียนเสร็จแล้ว จะมีการจุดดอกไม้เพลิงและเล่นบอกไฟต่าง ๆ ภายในวัดโดยจุดเป็นพุทธบูชา บางแห่งมีการจุดบอกไฟดอก หรือดอกไม้เพลิง แข่งขันประชันกันมีการแจกรางวัลด้วย
ในคืนเดือนยี่เป็งประชาชนของหมู่บ้านพากันหลั่งไหลไปวัดแต่ละคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม มีใบหน้าเบิกบาน สนุกสนานด้วยการละเล่น เดือนยี่ทำให้เกิดประเพณีสำคัญหลายประเพณี
เมื่อเดือนยี่มาถึงประชาชนชาวเหนือจะจัดประเพณีขึ้นหลายต่อหลายประเพณี เช่น ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีทอดผ้าป่า ประเพณีขันข้าว ประเพณีธรรมหลวง ประเพณีทานโคมต่าง ๆ และผางประทีป ประเพณีจุดดอกไม้ไฟต่าง ๆ ประเพณีล่องสะเปา หรือ ลอยกระทง ประเพณีการแต่งงาน

ประเพณีล้านนา : ประเพณียี่เป็ง
ประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ คำว่า ยี่ ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือน ๒ ส่วนคำว่า เป็ง หมายถึง คืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง การนับเดือนของล้านนานั้น เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน อันเนื่องมาจากการนับเดือนของชาวล้านนา เป็นการนับทางจันทรคติแบบจีน ประเพณียี่เป็ง ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดูปลายฝนต้นหนาว ท้องทุ่งข้าวออกรวงเหลืองอร่าม บางแห่งอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยว ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใสยิ่งนัก

ดังนั้น ในช่วงฤดูนี้ เด็กๆจึงพากันเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานตามท้องทุ่ง และยิ่งเข้าใกล้วันเพ็ญสิบห้าค่ำ เดือนยี่ มักจะได้ยินเสียง บอกถบ (ประทัด) ที่ชาวล้านนาจุดเล่นดังอยู่ทั่วไป พระและเณรช่วยกันทำว่าวลม(โคมลอย) และปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า กิจกรรมเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์บอกว่าใกล้จะเข้าสู่เดือนยี่เป็งแล้ว

ในยามค่ำคืนยี่เป็งของชาวล้านนา หมู่บ้านจะสว่างไสวด้วยแสงผางประทีส (ประทีป) ที่ชาวล้านนาจุดบูชา เรียงรายทั่วทุกครัวเรือน บริเวณที่จุด ได้แก่ บันได หน้าต่าง ยุ้งข้าว นอกจากนี้ ยังจุดโคมไฟใส่ค้างแขวน บริเวณหน้าบ้านประดับตกแต่งด้วยซุ้มประตูป่า ปักโคมหูกระต่ายเรียงรายทั้งสองฝากของท้องถนนในหมู่บ้าน
ประเพณียี่เป็ง โคมและถนน

ที่วัดมีเทศนาธัมม์ตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ ทำซุ้มประตูป่า ขัดราชวัตร ปักช่อตุง จำลองเขาวงกต ภายในวิหาร ประดับตกแต่งด้วยตุงพระบฏเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก และลานวัดมักจุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ คือ พระกกุสันธะพุทธเจ้า พระโกนาคมะพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคตมะพุทธเจ้า และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า

ความเป็นมาของประเพณียี่เป็ง

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้มีประเพณีเดือนยี่และทำพิธีลอยโขมดแล้ว (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๓๕; สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๕) ในเวลาค่ำคืนของวันเพ็ญเดือนยี่ มีการจัดแต่งเครื่องสักการบูชาใส่กระทง จุดธูปเทียนและนำปล่อยลงในน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำ เกิดเป็นเงาขึ้นวับๆ แวมๆ มองเห็นเป็นเสมือนแสงพะเนียงไฟผีโขมด ซึ่งผีโขมดนี้ เป็นชื่อเรียกผีป่า ที่ออกหากินในเวลากลางคืน มีพะเนียงไฟมองเห็นเป็นระยะอย่างผีกระสือ ชาวล้านนาจึงเรียกว่า ลอยโขมด (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๗, หน้า ๒๔๔)
สะตวง ในประเพณียี่เป็ง

ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน เช่น ในหนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) เมื่อ จ.ศ.๓๐๙ หรือประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ ช่วงพุทธศัตวรรษที่ ๑๔ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง
สะเปา ในประเพณียี่เป็ง สะตวง ในประเพณียี่เป็ง ภาพใกล้

ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญชัยไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดี และต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง ๖ ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลายคนก็มีครอบครัวใหม่ที่นั่น และเมื่อทราบข่าวว่าอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว พวกที่คิดถึงถิ่นเดิมต่างพากันเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองหงสาวดี จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน (สงวน โชติสุขรัตน์, ๒๕๑๑, หน้า ๑๑๗ – ๑๑๘; ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๕๘๕๑; ประสงค์ แสงงาม, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ตำนานประเพณียี่เป็งที่พบในคัมภีร์ใบลานที่ใช้เทศนาธัมม์ตามวัดต่างๆในล้านนา เช่น คัมภีร์อานิสงส์ประทีส คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส และคัมภีร์อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ เป็นคัมภีร์ที่มักใช้เทศนาธัมม์ในช่วงประเพณียี่เป็ง ในคัมภีร์เหล่านี้ ได้กล่าวถึงตำนานหรือมูลเหตุแห่งการบูชาและอานิสงส์ที่เกิดจากการบูชาผางประทีส ไว้ดังนี้
ประเพณียี่เป็ง โคมไฟ

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ประทีส กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้วได้ประทับอยู่เมืองสาวัตถี และเสด็จไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับลงมาโปรดพระพุทธบิดา เมื่อถึงเดือน ยี่เป็ง มีเทวบุตรตนหนึ่ง ชื่อ สยามาเทวบุตร พร้อมด้วยบริวารต้องการสักการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีส จึงแปลงกายเป็นนก ใช้ปากและเท้าถือผางประทีสบินไปพร้อมนกแปลง ซึ่งเป็นบริวาร ประทักษิณรอบพระพุทธเจ้า ๓ รอบ ได้เกิดอัศจรรย์แสงประทีสสว่างไสวไปทั่วชมพูทวีป คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้พากันมาทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงเทศนาธรรมถึงอานิสงส์การจุดประทีสเป็นพุทธบูชาว่า การสักการบูชาประทีสในเดือนยี่เป็ง ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัย นอกจากนั้น อานิสงส์การบูชาประทีสยังส่งผลทำให้ผู้ถวายทานมีรูปร่างและผิวพรรณงดงามไปทุกๆ ชาติ เป็นที่รักแก่คนและเทวดาทั้งหลาย (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๘๖)
ผางประทีป ประเพณียี่เป็ง

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ผางประทีส กล่าวไว้ว่า พระเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร ที่ทั้งห้าพระองค์ได้กำเนิดจากแม่กาเผือกเป็นไข่ห้าฟอง และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุ ทำให้ไข่ทั้งไข่ฟองพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ และมีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้า

เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไตร่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าจึงสงสัยว่าแม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐานจึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้น้ำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกา แล้วจุดเป็นประทีสบูชาในเดือนยี่เป็ง (อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๗๘๙๐)
ประเพณียี่เป็ง ลอยโคม

ธัมม์หรือคัมภีร์ชื่อ อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ปรากฏในหนังสือ ธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีปโคมไฟ (๒๕๓๐) กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวนาราม พระองค์ได้เทศนาชาดกเรื่อง อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีสโคมไฟ ว่า ในยุคของพระพุทธเจ้าชื่อโกนาคมนะ ครั้งหนึ่งพระสาวกชื่อ อุตตระ ได้เข้านิโรธสมาบัติในถ้ำสุตคูหาในดอยสิริทัตกะ และเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติได้เกิดนิมิตว่า หากผู้ใดได้ถวายทานแก่พระองค์ในวันพรุ่งนี้จะได้อานิสงส์เป็นอย่างมาก และได้เล็งเห็นด้วยญาณว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจผู้หนึ่งจะรอถวายทานแก่พระองค์ รุ่งเช้าพระองค์จึงได้อุ้มบาตรไปโปรดยังบ้านชายผู้นั้น ชายผู้นั้นเกิดปิติศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถวายข้าวกับแคบหมูแก่พระองค์ และอธิษฐานขอให้ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระศรีอริยะเมตไตร ที่จะมาบังเกิดในภายภาคหน้า เมื่อพระอุตตระได้กล่าวอนุโมทนาแล้ว ก็เสด็จกลับนำเอาแคบหมูมาบีบเป็นน้ำมันลงในผางประทีส และจุดบูชาพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ซึ่งวันนั้นเป็นวันเดือนยี่เป็งพอดี พอจุดประทีสบูชาแล้วนั้น แผ่นดินที่หนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็ไหวเป็นที่อัศจรรย์ พญาโสกราชาจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า เป็นเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มีชายทุกข์ไร้เข็ญใจได้ถวายแคบหมูใส่บาตรแก่พระอุตตระเถรเจ้า และพระอุตตระเถรเจ้าได้นำมาใส่ผางประทีสจุดเป็นพุทธบูชา เมื่อจุดบูชาในวันเดือนยี่เป็งจะมีผลานิสงส์มากนัก
ประเพณียี่เป็ง

พระพุทธเจ้าได้เทศนาธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีสโคมไฟให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า หากได้บูชาประทีสโคมไฟในวันเดือนยี่เป็ง จะได้ผลานิสงส์ผิวพรรณงดงามเป็นที่รักแก่คนและเทวดา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ และในตอนท้ายของธัมม์กล่าวต่อไปว่า ในเดือนยี่เป็งบุคคลใดที่ทำประทีปโคมไฟ ไปลอยในแม่น้ำน้อยใหญ่ หนองวัง และโบกขรณี เพื่อบูชารอยพระพุทธบาตรริมฝั่งแม่น้ำเมืองนาคราชบาดาลก็ดี เมื่อเกิดมาในชาตินี้ จะได้เป็นพญาใหญ่โต

ในแผ่นดิน ผิวพรรณงดงามดั่งพระจันทร์วันเพ็ญ มีฤทธิ์ปราบได้ทวีปทั้งสี่ เป็นที่เกรงขาม มีปัญญาหลักแหลม มีทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ข้าคน และได้เกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า

กิจกรรมในประเพณียี่เป็ง

กิจกรรมที่ชาวล้านนานิยมกระทำในประเพณียี่เป็ง คือ การจุดผางประทีส หรือผางผะตี้ด และโคมไฟบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ การปล่อยว่าว จุดบอกไฟชนิดต่างๆ การทำซุ้มประตูป่า เพื่อประดับตกแต่งบริเวณหน้าบ้านหรือวัด การไปทำบุญที่วัดในวันยี่เป็ง การฟังเทศน์ใหญ่ ที่เรียกว่า เทศมหาชาติ หรือ ตั้งธรรมหลวง กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดภูมิปัญญาในการจัดทำเครื่องสักการะบูชา เพื่อใช้ในการบูชาตามความเชื่อของชาวล้านนาในประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เครื่องสักการะ ลักษณะของเครื่องสักการะชนิดต่างๆ รวมถึงความเชื่อในการบูชาด้วยเครื่องสักการะนั้นๆ
กิจกรรมในประเพณียี่เป็ง

การทำโคมยี่เป็ง

ในช่วงก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ชาวล้านนาที่มีฝีมือเชิงช่างจะประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่างๆ เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีสบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น โคมรูปแบบโบราณที่พบทั่วไปในล้านนา เช่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร) โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว(โคมเพชร) โคมกระบอก โคมหูกระต่าย โคมดอกบัวโคมญี่ปุ่น โคมผัด ฯลฯ ในปัจจุบันมีการประดิษฐโคมรูปแบบใหม่ เช่น โคมรูปจรวด รูปเครื่องบิน โคมร่ม โคมปราสาท ฯลฯ โคมต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ใช้ไม้ไผ่เฮียะ นำมาหักขึ้นเป็นโครง ติดกระดาษสาหรือกระดาษแก้ว ผ้าดิบ ตัดลายกระดาษสีเงิน สีทอง ประดับตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ปัจจุบันหมู่บ้านที่เป็นแหล่งผลิตโคมและจำหน่ายโคมที่ใหญ่ที่สุด คือ บ้านเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โคมยี่เป็งแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันที่รูปทรงและการประดับตกแต่งลวดลาย เป็นรูปแบบเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงโคมยี่เป็งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
โคมรังมดส้ม
โคมรังมดส้ม

โคมรังมดส้ม บ้างเรียกว่า โคมเสมาธรรมจักร มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า ธรรมจักร โคมรังมดส้มนี้ ใช้ไม้ไผ่เฮียะ เหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒ – ๓ มิลลิเมตร นำมาหักเป็น ๑๖, ๒๔ เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำมาผูกด้วยด้ายให้แน่น เมื่อมัดโครงเสร็จแล้ว นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อทำเป็นโครงสำเร็จแล้ว ติดกระดาษรอบโครง ปล่อยส่วนบนไว้ เพื่อเป็นช่องใส่ผางประทีส และให้อากาศเข้ามาในโคมได้ ตัดลวดลาย อาจจะเป็นลายดอกก๋ากอก (ลายประจำยาม) ลายตะวัน สำหรับประดับตกแต่ง หลังจากนั้นติดหางโคม

สำหรับกระดาษที่ใช้ทำโคม อาจใช้กระดาษแก้วหลากสีเป็นอุปกรณ์ทำโคม ถ้าใช้กระดาษสี ไม่นิยมประดับด้วยลวดลาย โคมรังมดส้มใช้จุดเป็นพุทธบูชา (บัวไหล คณะปัญญา, สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
วิธีทำโคมรังมดส้ม
โคมไห
โคมไห

โคมไห ตัวโคมมีลักษณะเป็นคล้ายไห เนื่องจากด้านบนหรือปากโคมกว้างกว่าส่วนล่างหรือก้นโคม ด้านบนหักเป็นมุมหกเหลี่ยม ด้านล่างหรือส่วนก้นหักเป็นมุมสี่เหลี่ยม ด้านบนสุดทำเป็นรูปสามเหลี่ยม 4 อัน เป็นหูโคม ตัวโครงโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะทรงเรียวยาวพองาม ประดับตกแต่งด้วยกระดาษสา และลวดลายพื้นเมือง แต่งหางโคมให้งดงามด้วยการตัดกระดาษเป็นลวดลาย ทำป่องหรือปากไว้จุดผางประทีส โคมชนิดนี้ใช้จุดบูชาได้ทั่วไป บ้างเรียกว่า โคมเพชร หมายถึง ความสวยงามอร่ามตา บ้างนิยมให้เป็นของขวัญในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ หมายถึงหม้อเงิน หม้อทอง ไหเงิน ไหทอง ถ้าให้เป็นของขวัญในงานแต่งงาน เป็นนิมิตรหมายให้โชคลาภ ปัจจุบันมีการนำรูปแบบของโคมไหมาทำเป็นโคมไฟประดับบ้าน โดยใช้วัสดุผ้าหุ้มตัวโครง
โคมกระจัง
โคมกระจัง

โคมกระจัง หรือโคมกระจังมงกุฎ มีรูปทรงคล้ายกระจังสวมมงกุฏ เป็นโคมรูปแบบสมัยใหม่ บ้างเรียกโคมไห เพราะขึ้นรูปแบบโคมไห แต่เอาส่วนปลายเป็นส่วนหัว ส่วนหัวเป็นส่วนปลายโคม ส่วนคำว่า กระจัง คือลายไทยรูปแบบหนึ่ง ลักษณะคล้ายกลีบของดอกบัว หรือตาอ้อย ด้านข้างแยกปลายแหลมเหมือนถูกบาก ลายไทยนี้ใช้ประดับตามขอบ เช่น ขอบของธรรมสาสน์ หรือขอบบนของลายหน้ากระดาน ลายกระจังมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น กระจังรวน กระจังปฏิญาณ กระจังใบเทศ กระจังหลังสิงห์ กระจังหู เป็นต้น
โคมดาว
โคมดาว

โคมดาว เป็นโคมรูปดาว มีห้าแฉก ตัวโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะ หักมุมเป็นห้ามุม ใช้กระดาษสาหรือผ้าติดหุ้มตัวโครง ตัดกระดาษสีเงินสีทองประดับตกแต่งลวดลาย ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายดวงตะวัน (พระอาทิตย์) เป็นลายลักษณะรูปกลม เจาะช่องตรงกลางเป็นปล่องสำหรับใส่ผางประทีส เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา
โคมกระบอก
โคมกระบอก

โคมกระบอก เป็นโคมที่ทำง่ายกว่าโคมชนิดอื่นๆ เนื่องจากใช้ไม้ไผ่เหลาแบนกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร หนา ๒- ๓ มิลลิเมตร ขดเป็นวงกลมเท่าๆกัน ๒ วง ไว้เป็นโครงส่วนหัวและส่วนท้าย เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เซนติเมตร แล้วนำกระดาษสาด้านกว้างยาวกว่าเส้นรอบวงของไม้ไผ่ขดวงกลมประมาณ ๑- ๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕ -๒๐ เซนติเมตร เมื่อติดกระดาษติดกาวแล้ว ตัดลวดลายประดับตกแต่ง โดยใช้กระดาษสีเงิน สีทอง หรือสีอื่นๆ ลวดลายประดับส่วนใหญ่นิยมใช้ลายสร้อยดอกหมาก ส่วนท้ายหรือก้นกระบอกปิดด้วยกระดาษแข็งสำหรับวางผางประทีส เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา โคมกระบอกมีทั้งทรงกลมและทรงสี่เหลี่ยม สำหรับทรงเหลี่ยมบ้างเรียก โคมล้อ เนื่องจากคล้ายโคม ที่ใช้แขวนติดกับขบวนเกวียนที่พ่อค้าวัวต่าง ใช้เดินทางในยามค่ำคืน
โคมเงี้ยว
โคมเงี้ยว

โคมเงี้ยว เป็นโคมที่มีรูปทรงที่ได้มาจากชาวไทใหญ่ จึงเรียกว่า โคมเงี้ยว ทำค่อนข้างยากกว่าโคมชนิดอื่นๆ เนื่องจากตัวโครงโคมมีลักษณะหักมุมละเอียดซับซ้อน เป็นเหลี่ยมคล้ายเพชรที่เจียรนัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคมเพชร หรือ โคมเจียรนัย

โคมชนิดนี้แม้ไม่ได้ใส่หางประดับก็มีความงดงาม และเมื่อจุดผางประทีสไว้ข้างใน แสงสว่างที่ออกตามเหลี่ยมมุม มีความงดงามมาก
โคมหูกระต่าย
โคมหูกระต่าย

โคมหูกระต่าย เป็นโคมยี่เป็งอีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ละเอียดซับซ้อน ฐานโคมเป็นไม้หนาประมาณ ๕ มิลลิเมตร ทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร เจาะรูตรงมุมทั้งสี่มุม ใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๒๕ – ๓๐ เซนติเมตร เหลาให้มีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ปักลงไปในรูที่เจาะไว้ทั้งสี่มุม ดัดไม้ไผ่เหลาเป็นรูปโค้งคล้ายหูกระต่าย หรือกลีบดอกบัว ให้ส่วนบนผายออกกว้างประมาณ ๑๕ เชนติเมตร จะได้ตัวโคมที่มีปากบาน คล้ายหูกระต่าย ประดับตกแต่งด้วยกระดาษแก้วทั้งสี่ด้าน หรือใช้กระดาษสาก็ได้ โคมหูกระต่ายนี้ อาจจะทำฐานจากกาบกล้วย หรือลำต้นมะละกอก็ได้ และถ้าใช้ถือ ให้ใส่ด้ามถือยาวตามต้องการหรือปรับรูปทรงเป็นดอกบัว มีกลีบซ้อนได้ตามต้องการ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคมดอกบัว
โคมดอกบัว
โคมผัด
โคมผัด

โคมผัด เป็นโคมลักษณะพิเศษ เพราะหมุนได้ คล้ายโคมเวียนของภาคกลาง คำว่า ผัด ในภาษาล้านนา แปลว่า หมุน โคมชนิดนี้เป็นรูปทรงกระบอกขนาดกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๕๐ – ๗๐ เซนติเมตร หุ้มด้วยกระดาษสาหรือกระดาษว่าวสีขาว ด้านในจะเป็นโครงโคมที่มีเส้นด้ายเวียนไปตามเสาโครงด้านในเป็นวงกลม ติดรูปภาพที่ตัดจากกระดาษสีดำ เป็นรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดรชาดก รูปนักษัตรปีเกิด รูปวิถีชีวิต ฯลฯ ส่วนด้านบน ติดกระดาษสา เจาะเป็นใบพัดช่องระบายอากาศ ใส่เข็มติดไว้กับไม้แกนกลางโครงตัวใน นำมาวางอยู่บนถ้วยเล็กตรงแกนเสาโคม เมือจุดเทียนหรือผางประทีสข้างในตัวโคม ความร้อนจะดันใบพัดทำให้โคม ผัด หรือ หมุนฉายภาพ เรื่องราว ที่ประดับตกแต่งภายใน โคมผัดนี้ มักจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เพราะมีลักษณะที่แปลกกว่าโคมชนิดอื่นๆ
โคมผัด
โคมแอว
โคมแอว

โคมแอว เป็นโคมที่ทำต่อกันจำนวนตั้งแต่สองลูกขึ้นไป รูปแบบของโคมคือโคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร)ต่อกันเป็นสายประมาณ ๒ – ๕ ลูก ต่อกัน ยาวตั้งแต่ ๑ – ๕ เมตร เป็นการสร้างสรรค์ออกแบบของช่างพื้นบ้านเพื่อขยายรูปทรงให้ยาวเชื่อมต่อกัน บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างโคมแต่ละลูก ใช้ไม้ไผ่เชื่อต่อ 4 จุด ส่วนนี้เรียกว่า แอว หรือ เอว นั่นเอง นิยมใช้แขวนกับค้างไม้ไผ่ (เสาสำหรับแขวนโคม) ที่ยาวๆ หรือตั้งกับพื้นเพื่อประดับตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ บ้างนำหลอดไฟติดไว้ข้างใน เพื่อให้เกิดแสงสว่าง เนื่องจากตัวโคมยาว ประทีสที่ใช้จุดอาจสว่างไม่เพียงพอ (นภดล คำมูล, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑; ประสงค์ แสงงาม, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
โคมญี่ปุ่น
โคมญี่ปุ่น

โคมญี่ปุ่น เป็นโคมที่ทำเลียนแบบโคมญี่ปุ่น จึงเรียกว่า โคมญี่ปุ่น พับเก็บได้ตามรอยพับ บ้างเรียกโคมชนิดนี้ว่า โคมหย้อ (คำว่า หย้อ แปลว่า ทำให้เล็กลง) ตัวโคมทำจากกระดาษว่าวมัน ทำให้มีความเหนียวและมัน สีสันสดใส วิธีการทำ มีแม่พิมพ์เป็นแบบ หลากหลายรูปทรง เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปไข่ เป็นต้น และราคาค่อนข้างจะถูกกว่าโคมทั่วๆไป ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก (บัวไหล คณะปัญญา , สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
การบูชาโคมยี่เป็ง

ชาวล้านนาใช้ผางประทีสและข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องประกอบพิธีบูชาโคมยี่เป็ง เวลาที่นิยมจุดบูชาคือช่วงหัวค่ำ หลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาเรื่อง อานิสงส์ผางประทีสที่วัดเป็นที่เรียบร้อย การบูชาโคม อาจจะมีการชักโคมขึ้นแขวนที่ค้างโคม (ค้างโคม คือเสาไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ส่วนปลายเสามีค้างไม้และรอกสำหรับชักโคมขึ้นแขวน) อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า และอธิษฐานให้ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เช่น ขอหื้อแจ้งดั่งไฟ ขอหื้อใสดั่งน้ำ สัพพะเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะเสนียดจัญไร วินาสสันตุ

การทำว่าวฮม หรือ โคมลอย

ว่าวฮม หรือปัจจุบันมักเรียกว่า โคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ บ้างก็เรียกว่า ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน การทำว่าวชนิดนี้ มีความพิถีพิถันในการทำเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นว่าวอาจจะไม่ลอยขึ้นสู่อากาศได้ การทำว่าวฮมในอดีต มี ๒ แบบ คือ ว่าวสี่แจ่ง คือว่าวที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมและว่าวมน เป็นรูปทรงกลมทั้งด้านหัวและด้านท้าย ปัจจุบัน มีการประดิษฐ์ว่าวฮมหลากหลายรูปทรง เช่น ทรงเครื่องบิน ทรงจรวด ทรงแปดเหลี่ยม รูปปลา รูปช้าง รูปม้า รูปการ์ตูน ฯลฯ และมีการประกวดแข่งขันด้านรูปทรง และลูกเล่นที่ปล่อยในอากาศขณะที่ว่าวฮมลอยอยู่กลางอากาศ เช่น ปล่อยหาง ปล่อยร่ม ปล่อยเครื่องบิน ควันสี เป็นต้น
ว่าวฮม ว่าวลม หรือว่าวควัน

ว่าวสี่แจ่ง เป็นว่าวรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นรูปทรงที่ทำได้ง่ายและนิยมทำกันทั่วไป วัสดุที่ใช้ในการทำประกอบด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสาบาง ซึ่งกระดาษที่ใช้ทำนั้น ต้องมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่ายและเบา การทำว่าวสี่แจ่ง มีสูตรที่กำหนดขนาดของตัวว่าว เช่น ถ้าใช้กระดาษ ๓๖ แผ่น มีรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านละ ๖ แผ่น ๖ ด้าน เป็น ๓๖ แผ่นพอดี ส่วนสำคัญในการทำว่าวสี่แจ่งคือ การทำปากว่าว ให้พับครึ่งกระดาษสองครั้ง เพื่อหาจุดศูนย์กลาง ใช้เชือกวัดจากจุดศูนย์กลางไปหาขอบกระดาษ แบ่งเชือกออกเป็นสามส่วน ยกมาใช้เพียงส่วนเดียว แล้วนำส่วนที่มาใช้นั้นแบ่งเป็นสามส่วนอีกครั้ง และตัดสามส่วนนั้นออกหนึ่งส่วนให้เหลือสองส่วน เพื่อใช้เป็นความกว้างของปากว่าว ตัดกระดาษออกเป็นวงกลมให้มีขนาดย่อมกว่าปากว่าวเล็กน้อย จากนั้นนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้นกลมตามขนาดให้พอดีกับปากว่าว ขดเป็นวงกลมยึดติดกับปากว่าวด้วยกาว ส่วนด้านบนตรงกลางหรือด้านก้นของว่าว มักจะทำ หมง คือจุกสำหรับใช้ไม้สอดไว้ขณะที่รมควัน (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี,๒๕๔๒, หน้า ๖๒๕๗-๖๒๕๘)
โคมรังมดส้ม

ว่าวมน คือว่าวฮมทรงกลม นิยมใช้กระดาษว่าวจำนวนมาก อย่างน้อย ๖๔ แผ่น สำหรับทำส่วนปากและก้นอย่างละ ๑๒ แผ่น ส่วนด้านข้างต้องใช้กระดาษว่าว ๔๐ แผ่น หากต้องการขนาดใหญ่กว่านี้ และได้สัดส่วนลงตัวพอดี ต้องใช้สูตรที่ได้ทดลองทำกันมาตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๕๘-๖๒๖๐)
ว่าวมน
การทำว่าวมน

เริ่มจากการติดกระดาษว่าวในส่วนปากและส่วนก้นด้านละ ๑๒ แผ่น จากนั้นนำกระดาษว่าวที่ติดกาวให้แห้งแล้วนำมาพับตามรูป

กระดาษว่าว ๑๒ แผ่นที่ติดกาว ตากให้แห้ง จะได้ตามรูป
การทำว่าวมน 1
พับครึ่งจะได้ตามรูป
การทำว่าวมน 2
พับครึ่งอีก ๑ ชั้น
การทำว่าวมน 3
จะได้สามเหลี่ยมดังรูป
การทำว่าวมน 4
เชือกวัดจุดศูนย์กลาง แล้วลากหามุมทั้งสองข้าง แล้วใช้กรรไกรตัดตามรูปโค้ง
การทำว่าวมน 5
จะได้รูปโค้งตามรูป
การทำว่าวมน 6
เมื่อคลี่ออกจากรอยพับ จะได้รูปทรงกลม เป็นส่วนปากและส่วนก้นของว่าวมน
การทำว่าวมน 7

การคำนวณความกว้างของปากว่าวมีหลากหลายรูปแบบ เช่น วัดเส้นผ่าศูนย์กลางแล้วแบ่งเป็นสามส่วน จากนั้นเอามาส่วนเพียงหนึ่งส่วน เอาหนึ่งส่วนนั้นมาแบ่งเป็นสามส่วนอีกครั้ง ใช้สองส่วนในสามเป็นขนาดความกว้างของปากว่าว โดยใช้ไม้ไผ่เหลาให้ได้ขนาดพอเหมาะขดให้เป็นวงกลมตามขนาดที่คำนวณ ตัดช่องกลางกระดาษว่าว ส่วนปาก ให้ทากาวที่ไม้และติดกาวกับกระดาษว่าว จะได้ส่วนปากของว่าวมน เพื่อรมควันไฟเข้าไปข้างใน จากนั้นนำส่วนด้านข้างเข้ามาประกบติดกาวกับส่วนปากและส่วนก้นว่าว ส่วนก้นนิยมทำ หมง คือจุกสำหรับใช้ไม้ส้าว (ลำไม้ไผ่ใช้สำหรับสอยผลไม้หรือสิ่งของอย่างอื่นจากที่สูง) แทงยกขึ้น ขณะที่รมควันอัดเข้าไปในตัวว่าวรม
การปล่อยว่าวฮม

การปล่อยว่าวฮม ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน ควันไฟที่อัดเข้าไป ทำให้ภายในตัวว่าวมีความร้อนที่จะให้พยุงตัวว่าวให้ลอยขึ้น เนื่องจากอากาศภายนอกในช่วงเดือนยี่ (พฤศจิกายน) จะเย็นลงบ้างแล้ว ดังนั้น การปล่อยโคมนิยมปล่อยกันในช่วงก่อนเที่ยง เพราะอากาศกำลังดีสำหรับการปล่อยว่าว ซึ่งต้องทำในที่โล่งกลางแจ้ง
การปล่อยว่าวฮม 1 การปล่อยว่าวฮม 2

การรมควันนั้น แบ่งหน้าที่กัน กลุ่มหนึ่งช่วยกันพัดเอาลมเข้าปากว่าว สมัยก่อนใช้กระด้งหรือถาดสังกะสี ปัจจุบันนิยมใช้พัดลม เพราะสะดวกและมีลมแรง มีคนหนึ่งทำหน้าที่ใช้ไม้ส้าวประคองหมง (จุกสำหรับใช้ไม้ส้าวแทงยกขึ้น) ให้ยกขึ้น เพื่อไม่ให้ว่าวกองกับพื้น และอีกกลุ่มหนึ่งเตรียมในส่วนรมควันไฟ โดยมากใช้ไม้ไผ่พันด้วยผ้าแล้วชุบด้วยชันหรือน้ำมันขี้ย้า ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันโซล่า ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นกระบอกสูบ นำไม้ไผ่ที่พันด้วยผ้าชุบน้ำมันสอดเข้าไปในกระบอก ดันให้หัวผ้าโผล่ออกมานิดหน่อย เพื่อให้ไฟลุก หรือใช้กาบกล้วยทำเป็นกรวยสวมไว้ เพื่อกันมิให้ไฟลุกมากจนไหม้กระดาษว่าว กระบอกไม้ไผ่นี้ ยังใช้สำหรับเร่งไฟ เพื่อเพิ่มควันความร้อนเข้าไปในตัวว่าว ในขณะที่รมควันไฟ ให้สำรวจรอยรั่ว ถ้าพบรอยรั่ว ให้นำกระดาษติดกาวปะทันที เมื่อรมควันไปได้ระยะหนึ่ง ในตัวว่าวจะมีความร้อนเพียงพอ ที่ทำให้ตัวว่าวลอยขึ้น เรียกว่า ลู่มือ ให้นำเอาลูกเล่นต่างๆ เช่น หาง ประทัดสายมามัดติดกับปากว่าว
การปล่อยว่าวฮม 3

จากนั้นนำเอาสะตวงใส่ข้าวตอกดอกไม้ ข้าวปลาอาหาร และอาจมีจดหมายใส่ลงไปด้วย ผูกติดไว้ตรงกลางปากว่าว พอว่าวลู่มือมากขึ้น คือสามารถลอยขึ้นได้แล้ว ให้ ฮ่ม หรือ ต๊อกก๊อก คือการโยกว่าวขึ้นลงสองสามครั้งแล้วจึงปล่อยมือ พอว่าวลอยขึ้นไปได้สักระยะ เสียงประทัดจะดังขึ้น ลูกเล่นต่างๆ เช่น เครื่องบิน หรือลูกเล่นอื่นๆ จะถูกปล่อยออกมา แล้วแต่ลูกเล่นต่างๆ ที่ใส่ไปกับว่าว พอว่าวลอยสูงขึ้นจนติดลมบน จะสามารถลอยไปได้ไกลมาก เช่น ว่าวลมของวัดกู่เต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ลอยไปไกลและตกลงพื้นดินบริเวณจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ว่าวลมของวัดธาตุคำจังหวัดเชียงใหม่ตกลงพื้นดินบริเวณบ้านสะเอียบ แก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ และทางวัดได้มอบรางวัลให้ ๒๐๐ บาทสำหรับผู้ที่เก็บได้ โคมของชาวบ้านวัวลายลอยไปตกที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และชาวบ้านที่นั่นได้มารับรางวัลสลุงเงินจากชาวบ้านวัวลาย หลังจากนั้น ได้มีการสานสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน ไปมาหาสู่กันจนถึงปัจจุบัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนถึงปัจจุบัน (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีว่าวตกที่บริเวณกู่ว่าวใกล้ถนนสายเชียงใหม่ดอยสะเก็ด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๘ กิโลเมตร มีป้ายเป็นภาษาพม่าบอกว่าเป็นว่าวมาจากเมืองมะละแหม่ง ชาวเชียงใหม่เดินทางไปรับรางวัลที่มะละแหม่ง ใช้เวลาประมาณสามเดือน และชาวมะละแหม่งได้ให้การต้อนรับอย่างเอิกเกริก และประมาณปี ๒๕๔๑ ว่าวของเทศบาลนครเชียงใหม่ลอยไปตกที่เมืองหลวงพระบาง และชาวเมืองหลวงพระบางได้นำว่าวมารับรางวัลจากเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วย (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๖๐)
การปล่อยว่าวฮม 4
ความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยว่าวฮม

ชาวล้านนาเชื่อว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเส็ด (ปีหมา) คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ดังนั้น การสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮมหรือว่าวไฟ พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถบูชาว่าวฮม ว่าวไฟ เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีได้เช่นกัน ดังปรากฏในเทศน์ธัมม์พื้นเมืองเรื่อง พระมาลัยโปรดโลก กล่าวว่าผู้ใดอยากขึ้นสวรรค์ให้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ปราชญ์ล้านนาได้รจนาคำสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นภาษาบาลี ว่า

ตาวติงสา ปุเรรัมเม เกสาจุฬามณี สรีระปัพพะตา ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตัง สิระสา ธาตุง อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ

ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว แต่การปล่อยโคมในปัจจุบัน ถ้าโคมไม่ได้มาตรฐานขนาดสัดส่วน อาจจะตกใส่บ้านเรือนและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

การทำว่าวไฟ หรือโคมไฟ

ว่าวไฟหรือปัจจุบันนิยมเรียก โคมไฟ เป็นว่าวทรงกระบอก มักใช้ปล่อยให้ลอยขึ้นสู่อากาศในช่วงกลางคืน วิธีการทำ ใช้หลักการเดียวกันกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่า เช่น ใช้ ๑๒ แผ่น ติดกาวต่อกันเป็นทรงกระบอก ด้านบนใช้กระดาษ ๒ แผ่นติดกาวตัดเป็นวงกลม ส่วนปากใช้ไม้ไผ่เหลาขนาดประมาณ ๑ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร ขดเป็นวงกลมเท่ากับขนาดปากของโคมไฟ ติดกาวยึดติดกับกระดาษว่าวส่วนปากโคม เมื่อกาวแห้งติดกันดีแล้ว ให้ใช้ลวด ๒ เส้น มาผูกติดโครงไม้ไผ่ครึ่งวงกลมทั้งสองข้างเป็นกากบาท เพื่อใช้สำหรับติดขี้ย้า คือชันที่หล่อให้เป็นทรงกระบอก จึงเรียกว่า หมงขี้ย้า
ว่าวไฟ

ว่าวไฟอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ ลูกไฟที่ผูกติดแกนกลางของตัวว่าวหรือโคมในอดีตที่กล่าวมานั้น ใช้ขี้ย้าหล่อเป็นแท่ง ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียนพรรษา เนื่องจากในวัดต่างๆ มีเศษเทียนพรรษาที่เหลือจากการจุด และเทียนพรรษาที่ยังไม่ได้ใช้จำนวนมาก ช่างทำโคมจึงมักจะบูชา(ซื้อ) มาต้มให้ละลาย แล้วนำกระดาษชำระ ๑ ม้วน ตัดออกเป็น ๒-๓ ส่วน นำมาชุบขี้ผึ้งไว้เป็นลูกไฟ บ้างชุบด้วยน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันพืช แต่ชุบขี้ผึ้งให้คุณภาพดีกว่า เพราะน้ำขี้ผึ้งเมื่อถูกความร้อนไม่หยดมากระหว่างที่ลอย และให้แสงสว่างที่นานกว่าน้ำมันก๊าซและน้ำมันพืช (กำพล คุณวโร, ภิกขุ, สัมภาษณ์, ๑ ธันวาคม ๒๕๕๑)
การปล่อยว่าวไฟ

การปล่อยว่าวไฟ หรือโคมไฟ ต้องอาศัยความร่วมมือกัน อย่างน้อย ๒ – ๓ คน เนื่องจากต้องระมัดระวังมิให้ลูกไฟไหม้กระดาษ ดังนั้น การปล่อยว่าว ต้องมีคนช่วยกันจับประคองตัวโคมไม่ให้แกว่ง วิธีการปล่อยว่าวไฟ เริ่มจากการจับตัวว่าวขึ้นมาโดยให้ปากว่าวอยู่ด้านล่าง ก้นว่าวอยู่ด้านบน นำลูกไฟมัดติดตรงแกนลวดกึ่งกลางปากโคม ดึงตัวโคมให้ด้านในกลวงเป็นช่องทรงกลมโล่งๆ อาจจะจับแกว่งไปแกว่งมาให้อากาศเข้าไปพองตัวว่าว ให้ตัวว่าวเป็นรูปทรงกระบอก จากนั้นจุดลูกไฟแกนกลาง ความร้อนจะดันตัวโคมให้พองตัว สักครู่ว่าวจะขยับลอยขึ้น เรียกว่า ลู่มือ ให้จับว่าวให้แน่น และตั้งจิตอธิษฐานให้พบกับแสงสว่าง ปล่อยทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บ หรือกล่าวคำบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และเมื่อพร้อมที่จะปล่อย บางคนนำ บอกไฟน้ำตก และประทัดที่ผูกติดกับแกนลวดและจุดชนวน หรือผูกสวยข้าวตอกดอกไม้ติดไปกับว่าวด้วย เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณี เมื่อว่าวทำท่าจะขึ้น ให้ ฮ่ม หรือ ต๊อกก๊อก คือการโยกว่าวขึ้นลงสองสามครั้งแล้วจึงปล่อยมือ เพื่อเพิ่มแรงดันอากาศข้างในตัวโคม เมื่อได้จังหวะให้ทุกคนปล่อยพร้อมกัน อาจจะนับ หนึ่ง สอง สาม แล้วปล่อยมือพร้อมกัน ว่าวจะลอยไปตามทิศทางลม แลเห็นเป็นดวงไฟงดงามยิ่งนัก และเมื่อลูกไฟในตัวว่าวดับ ว่าวก็จะร่วงลงสู่พื้นดิน
การปล่อยว่าวไฟ และคนปล่อยว่าวไฟ การปล่อยว่าวไฟ มองจากด้านล่าง การปล่อยว่าวไฟ หลายกลุ่มคน การปล่อยว่าวไฟ ลอยขึ้นฟ้า

ปัจจุบันมีการนิยมปล่อยว่าวไฟ หรือ โคมไฟ เป็นจำนวนมากตามโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ได้จัดให้มีการปล่อยว่าวไฟจำนวนกว่า ๓,๐๐๐ ลูกขึ้นสู่ท้องฟ้า (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๖๒๖๑) และที่ธุดงคสถานล้านนา ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีเทศกาลปล่อยว่าวไฟเป็นประจำทุกปีเป็นจำนวนหลายพันลูก และร้านอาหารขันโตกนิยมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมปล่อยว่าวก่อนเดินทางกับที่พัก ว่าวไฟหรือโคมไฟ จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความเป็นล้านนาที่ใช้ประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวในเทศกาลต่างๆในล้านนา
ความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยว่าวไฟ

ชาวล้านนาเชื่อว่าพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเส็ด (ปีหมา) คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ดังนั้น การสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี คือการปล่อยว่าวฮมหรือว่าวไฟ พร้อมกับบูชาด้วยสวยดอกไม้ธูปเทียน โดยนำผูกติดกับตัวว่าวขึ้นไป เพื่อสักการะ หรือบุคคลทั่วไปก็สามารถบูชาว่าวฮม ว่าวไฟ เพื่อสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีได้เช่นกัน ดังปรากฏในเทศน์ธัมม์พื้นเมืองเรื่อง พระมาลัยโปรดโลก กล่าวว่าผู้ใดอยากขึ้นสวรรค์ให้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี ปราชญ์ล้านนาได้รจนาคำสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเป็นภาษาบาลี ว่า

ตาวติงสา ปุเรรัมเม เกสาจุฬามณี สรีระปัพพะตา ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตัง สิระสา ธาตุง อุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา ฯ

ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)

ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว แต่การปล่อยโคมในปัจจุบัน ถ้าโคมไม่ได้มาตรฐานขนาดสัดส่วน อาจจะตกใส่บ้านเรือนและทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

การทำบอกไฟ

ในช่วงใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลยี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ ตามวัดวาอารามและบ้านสล่าบอกไฟ จะมีการจัดเตรียมทำบอกไฟชนิดต่างๆ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และเป็นเครื่องเล่นของเด็กๆล้านนา ทำให้บรรยากาศแห่งยี่เป็งเต็มไปด้วยสีสันที่สนุกสนาน บอกไฟล้านนา หรือดอกไม้ไฟที่ทำขึ้นมีหลายชนิด เช่น บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟหมื่น บอกไฟขึ้น บอกไฟจักจั่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟน้ำต้น หรือบอกไฟมะขี้เบ้า บอกไฟช้างร้อง บอกไฟเทียน เป็นต้น ส่วนเด็กๆก็มักจะเล่นบอกถบ หรือประทัด หรือจุดมะผาบ และสะโปก เพื่อให้เกิดเสียงดัง เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าประเพณียี่เป็งมาถึงแล้ว

บอกไฟที่นิยมจุดบูชาในช่วงประเพณียี่เป็ง เน้นที่เกิดประกายแสงงดงาม เพราะใช้จุดในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ลับฟ้าเป็นต้นไป บอกไฟที่นิยมจุด ได้แก่ บอกไฟยิง บอกไฟข้าวต้ม บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟบะขี้เบ้า หรือบอกไฟน้ำต้น การทำบอกไฟแต่ละชนิดมีสูตรการทำ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสูตรของสล่าหรือช่างแต่ละคน
บอกไฟชนิดต่างๆ

สล่าคัณโฑ อินทรแกล้ว (สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขี้เฝ่า บ้านสันทรายต้นกอก ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล่าถึงการทำบอกไฟชนิดต่างๆ ในสมัยก่อน ใช้วัสดุ เช่น เปลือกกระเทียม กากมะพร้าว ถ่านข้าวนึ่ง ตำละเอียดผสมกับดินประสิวและขี้ขาง บางสูตรใส่น้ำมันงาด้วย เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมานี้ จึงมีการนำเอาแมก (เศษเหล็กที่ได้จากการกลึงล้อเครื่องบิน) และโพแทสเซียมคลอเรต (ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า คลอเรต) มาใช้แทนวัสดุตามธรรมชาติ (เปลือกกระเทียม กากมะพร้าว)

บอกไฟยิง คือบอกไฟเล็กชนิดหนึ่งที่อัดเฝ่าหรือดินปืนลงในกระบอกไม้ขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๘ นิ้ว คาดด้วยหวาย และเจาะรูใส่ชนวน บ้างเรียกบอกไฟชนิดนี้ว่า “บอกไฟลูกหนู” เป็นบอกไฟชนิดหนึ่งในหลายชนิด ที่ประชาชนนิยมเล่นในภาคเหนือ ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่เมือง ประเพณียี่เป็ง งานเทศน์มหาชาติ (อานนท์ ไชยรัตน์, สัมภาษณ์, ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)ปัจจุบันนิยมแข่งขันกัน โดยกำหนดระยะทางให้บอกไฟยิงไปยังจุดหมายที่กำหนด เช่น ระยะ ๙ เมตร ถ้าบอกไฟยิงของใครใกล้จุดที่กำหนดมากที่สุด จะเป็นผู้ชนะ ถ้าพ้นเลยจุดที่กำหนดไว้ จะไม่ได้รับการพิจารณา

บอกไฟข้าวต้ม เป็นบอกไฟขนาดเล็ก เป็นที่นิยมอย่างมากของเด็กๆในล้านนา วิธีการทำ ใช้ดินเฝ่า(ดินปืน) ห่อด้วยกาบกล้วยแห้ง หรือใบกล้วยแห้ง ใส่สายชนวนตรงส่วนท้าย แล้วพันด้วยเชือกฟางหรือเชือกกล้วยให้แน่น เหมือนข้าวต้มมัด นำมามัดกับ แส้พร้าว (อ่านว่า แส้ป้าว) คือก้านใบมะพร้าว การจุด ให้จับที่ตัวบอกไฟอย่างหลวมๆ ใช้ไม้ขีดหรือก้านธูปจุดสายชนวน พอสายชนวนไหม้เข้าสู่ตัวบอกไฟ บอกไฟจะพุ่งขึ้น หรือใช้วิธีจุดสายชนวน โดยจับส่วนปลายก้านมะพร้าวแล้วแกว่งเหวี่ยงขึ้นไป เพื่อให้บอกไฟพุ่งขึ้นในแนวดิ่งมากขึ้น บอกไฟจะพุ่งขึ้นสูงมากกว่าการจับที่ตัวบอกไฟ
บอกไฟดอก และบอกไฟบะขี้เบ้า

บอกไฟดอก และบอกไฟบะขี้เบ้า (บอกไฟน้ำต้น) บอกไฟ 2 ชนิดนี้ เป็นบอกไฟที่ใช้วัสดุในการทำเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ภาชนะที่ใช้และจำนวนของวัสดุที่ใช้บรรจุลงไปในบอกไฟ เพื่อให้เกิดดอกเป็นพุ่มสูงและกว้าง กล่าวคือ ด้านภาชนะที่ใช้บรรจุขี้เฝ่า บอกไฟดอก ใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องสเปรย์เป็นภาชนะบรรจุขี้เฝ่า สำหรับบอกไฟบะขี้เบ้า ใช้ภาชนะดินเหนียวเผา คล้ายโอ่งเล็ก จึงมีผู้เรียกว่า บอกไฟโอ่ง ส่วนด้านจำนวนวัสุดขี้เฝ่า บอกไฟดอกบรรจุขี้เฝ่ามากกว่า เมื่อจุจึงมีความแรง

ความสูงและกว้างมากกว่า (คัณโฑ อินทรแกล้ว, สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) บอกไฟทั้งสองชนิดนี้ นิยมจุดกันมากในช่วงประเพณียี่เป็ง เนื่องจากมีประกายไฟเป็นพุ่มสวยงาม เปรียบเสมือนดอกไม้เงิน ดอกไม้คำ หรือฝนห่าแก้ว ที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ เป็นเวสสันดรชาดกกัณฑ์สุดท้าย ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระเวสสันดรเสด็จออกจากป่ากลับเข้าสู่นคร ปรากฏเป็นฝนห่าแก้วตกทั่วแผ่นดิน บ้างอธิษฐานด้วยข้าวตอกดอกไม้จุดเป็นพุทธบูชา เพื่อให้ชีวิตโชติช่วงเหมือนดอกไฟที่พวยพุ่ง

บอกไฟดอก เป็นบอกไฟที่ไม่ค่อยมีอันตราย จึงเป็นที่นิยมทำกันแทบทุกวัดในล้านนา ดังนั้น จึงมีสูตรการทำบอกไฟขึ้นหลายสำนัก เกิดจากการทดลอง และลองผิดลองถูกของพระภิกษุสามเณร เพื่อให้เกิดดอกและสีที่สวยงาม บอกไฟดอกมี ๒ ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทสวยงาม และประเภทโลดโผน

บอกไฟดอกประเภทสวยงาม ใช้วัสดุน้อยกว่าประเภทโลดโผน เน้นดอกไฟสวยงาม และพุ่มกว้าง วิธีการทำส่วนมากใช้ดินไฟ(ดินประสิว) ผสมกับขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์ที่กลึงแล้วอย่างละเอียด) ผสมกับมาด (กำมะถัน) และถ่านตามสัดส่วน แล้ว ต๊อกลงในกระบอกไม้ไผ่ คือการอัดลงในกระบอกไม้ไผ่ซาง ไม้ไผ่ที่ใช้คือส่วนโคนของไม้ไผ่ เนื่องจากมีความหนากว่าส่วนปลาย อัดให้แน่นพอดี ปิดส่วนก้นกระบอกด้วยดินเหนียวแห้ง การจุด ฝังกระบอกลงไปที่พื้นดิน และอัดดินรอบๆให้แน่น ให้ปากกระบอกโผล่พ้นดิน เพื่อใส่สายสายชนวนจุดไฟแล้วลงรูปากกระบอก

บอกไฟประเภทโลดโผน ใช้ส่วนผสมของเฝ่าที่แรงกว่าประเภทสวยงาม ทำให้เสียงของการพวยพุ่งดัง เป็นพุ่มสูงและกว้างกว่าประเภทสวยงาม ส่วนผสมใช้ดินไฟ(ดินปะสิว)ตำละเอียดผสมกับขี้เหล็กจากการตีมีดหรือจากโรงกลึงคั่วไฟผสมกับมาด(กำมะถัน) และถ่าน ผสมแล้วได้เฝ่ามีน้ำหนักประมาณ ๕ – ๑๐ กิโลกรัม อัดลงกระบอกไม้ซางหรือปัจจุบันนิยมใช้ท่อเหล็ก การจุด ใช้วิธีขุดดินฝัง จุดสายชนวนหย่อนลงรูปากบอกไฟ
บอกไฟบะขี้เบ้า (หมากขี้เบ้า) หรือบอกไฟน้ำเต้า บอกไฟน้ำต้น บอกไฟโอ่ง

บอกไฟบะขี้เบ้า (หมากขี้เบ้า) หรือบอกไฟน้ำเต้า บอกไฟน้ำต้น บอกไฟโอ่ง การเรียกชื่อขึ้นอยู่กับรูปทรงของบอกไฟ เป็นบอกไฟดอกขนาดเล็ก ถ้าเป็นบอกไฟบะขี้เบ้า มีลักษณะทรงกลมเหมือนรังแมงขี้เบ้า ที่วางไข่ตามมูลควาย ส่วนที่มีรูปทรงน้ำเต้าและน้ำต้น มีลักษณะเหมือนคนโฑ หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า น้ำต้น หรือบางแห่งเรียกว่า น้ำเต้า เพราะมีรูปทรงคล้ายผลน้ำเต้า ส่วนผสม ประกอบด้วย ดินไฟ (ดินประสิว) ขี้ขาง (เสื้อสูบรถยนต์กลึงอย่างละเอียด) ถ่านข้าวนึ่ง แม็กซ์ (เศษวัสดุที่กลึงมาจากล้อแมกซ์เครื่องบิน) และมาด(กำมะถัน) นำมาผสมกันเป็นขี้เฝ่าหรือเฝ่าลงในขี้เบ้าหรือภาชนะดินเหนียวเผา ด้านก้นขี้เบ้าดินเหนียวเผา อัดด้วยดินเหนียวแห้ง ใส่สายชนวน และปิดด้วยกระดาษแก้วตรงปากบอกไฟ เพื่อกันความชื้น ใช้จุดบริเวณที่โล่ง เช่น ลานหน้าวิหาร ลานวัด ลานบ้าน หรือลานกว้างที่พอเหมาะกับรัศมีของประกายไฟ และอธิษฐานบูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยข้าวตอกดอกไม้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
สูตรการทำบอกไฟบอก

สูตรการทำบอกไฟมีหลายสูตรจากหลายสำนัก จากการถ่ายทอดมาจากครูอาจารย์ ที่ได้จากการทดลองทำกันมาในอดีต ผู้ผลิตและเจ้าของสูตรบอกไฟ ซึ่งเรียกว่า สล่าบอกไฟ ส่วนใหญ่ผู้คิดค้นสูตรบอกไฟดอก มักจะเป็นพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ เนื่องจากมีหน้าที่ “ต๊อกบอกไฟ” สำหรับจุดในวัดในช่วงประเพณียี่เป็ง จึงทำให้มีชื่อสูตรบอกไฟเป็นชื่อวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น สูตรบอกไฟวัดพระนอนขอนม่วง สูตรบอกไฟวัดสันกำแพง หรือเรียกเป็นชื่อหมู่บ้าน หรือชื่อสล่า เช่น สล่าเมืองพานดอยวัน สล่าเมืองก๊ะแม่ริม สล่าคำเมืองพร้าว สล่าสันทรายต้นกอก เป็นต้น ปัจจุบัน ยังมีการคิดค้นพัฒนาสูตรบอกไฟกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสวยงามทั้งสีสันและประกายไฟ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างสูตรบอกไฟของสล่าคัณโท อินทรแกล้ว (สัมภาษณ์, ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) บ้านสันทรายต้นกอก ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
สูตรบอกไฟดอก ๓ กิโลกรัม
๑. ดินไฟ (ดินปะสิว) ๓ กิโลกรัม
๒. ขี้เหล็ก ๔ กิโลกรัม
๓. มาด (กำมะถัน) ๖ ขีด
๔. ถ่านข้าวนึ่ง ๓-๔ ขีด
๕. แมกซ์ ๑ ขีด
สูตรบอกไฟดอก ไม้ไผ่ขนาด ๔๐-๕๐ เซนติเมตร
๑. ดินไฟ (ดินปะสิว) ๓ กิโลกรัม
๒. ขี้เหล็ก ๔ กิโลกรัม
๓. มาด (กำมะถัน) ๓ ขีด
๔. ถ่านข้าวนึ่ง ๖ ขีด

กระบอกใส่เฝ่า (ส่วนผสม) ใช้ไม้ไผ่หวาน/ไม้ไผ่ซาง แกน ๑ นิ้วสำหรับขนาด ๔๐ เซนติเมตร แกน ๖ หุน สำหรับ ๕๐ เซนติเมตร
สูตรบอกไฟดอกเมืองพาน เชียงราย ไม้ไผ่ขนาด ๔๐-๕๐ เซนติเมตร
๑. ดินไฟ (ดินปะสิว) ๘ ขีด
๒. ขี้เหล็ก ๑๐ ขีด
๓. มาด (กำมะถัน) ๓ ขีด
๔. ถ่านข้าวนึ่ง ๒ ขีด
๕. แมกซ์ ๒ ขีด
๖. คอเรต ๒ ขีด
สูตรการทำบอกไฟบะขี้เบ้า

การทำบอกไฟของสล่าบอกไฟคัณโท อินทรแกล้ว อายุ ๕๕ ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขี้เฝ่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสล่าบอกไฟ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการทำบอกไฟจากพระครูถาวรรัตนวัตร (ตุ๊ลุงแก้ว) วัดศรีบุญเรือง ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และนายเลิศ สุวรรณ บ้านท่าลุก ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สล่าคัณโทเริ่มศึกษาการบอกไฟ ตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ สูตรการทำบอกไฟของกลุ่มฯ มีดังนี้
๑. ดินไฟ (ดินปะสิว) ๑๒ กิโลกรัม
๒. ขี้ขาง ๑๒ กิโลกรัม
๓. ถ่านข้าวนึ่ง ๒ กิโลกรัม
๔. แม็กซ์ ๑ ขีด
๕. มาด (กำมะถัน) ๒ กิโลกรัม

เฝ่าประมาณ 1 กิโลกรัม ทำบอกไฟบะขี้เบ้าขนาดเล็กสุดได้ 10 ลูก เฝ่าประมาณ 1.50 กิโลกรัม ทำบอกไฟบะขี้เบ้าขนาดใหญ่แบบจัมโบ้ได้ 1 ลูก

สูตรการทำบอกไฟบะขี้เบ้า/บอกไฟดอก แต่ละขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเพิ่มหรือลดถ่านข้าวและแม็กซ์ เช่น ลูกเล็กหรือกระบอกเล็ก ใช้วิธีเพิ่มถ่านข้าวและแม็กซ์ เพื่อเพิ่มแรงดัน ส่วนลูกใหญ่หรือกระบอกใหญ่ ใช้แรงดันน้อย ใช้วิธีลดถ่านข้าวและแม็กซ์ไปตามสัดส่วน

เดือยสำหรับใช้เป็นที่อัดเฝ่าลงบะขี้เบ้าดินเหนียว
เดือยสำหรับใช้เป็นที่อัดเฝ่าลงบะขี้เบ้าดินเหนียว
การอัดเฝ่าลงบะขี้บ้าดินเหนียวเผา
การอัดเฝ่าลงบะขี้บ้าดินเหนียวเผา
การทำชนวน
การทำชนวน
ติดกระดาษกันชื้น
ติดกระดาษกันชื้น

การบูชาผางประทีส (ผางประทีป) และการทำผางประทีส
ผางประทีส วางรวมกลุ่ม

ผางประทีส หรือผางประทีป เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า ผาง คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของประทีสที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ประทีส คือแสงสว่าง

ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีสตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)
ผางประทีส วางซ้อนกัน ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา
วิธีการทำผางประทีส

นายแก้ว ใจแก้ว (สัมภาษณ์, ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ผู้ผลิตผางประทีส หมู่ 8 บ้านสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ผลิตผางประทีสมานานหลายสิบปี ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผางประทีสไว้ดังนี้
การทำถ้วยผางประทีส
ถ้วยผางประทีส

ตำดินเหนียวให้ละเอียด ด้วยครกไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเดียวกันกับครกตำข้าว ปัจจุบันนิยมใช้เครื่องบดดิน
ผสมดินตำละเอียดแล้วกับน้ำ นวดให้เข้ากัน ให้เหนียว
นำดินมาวางบนแท่นปั้นดิน แล้วปั้นตามขนาด ลักษณะคล้ายถ้วย และใส่ขอบลายหยักโดยใช้ฝากระป๋องน้ำอัดลมแบบจีบประกบกันทาบกับขอบผางประทีส
เมื่อปั้นและใส่ขอบลายเรียบร้อยแล้ว สำหรับผางประทีสเล็ก ให้นำเข้าเตาเผาได้เลย ส่วนผางประทีสขนาดใหญ่ ต้องนำมาผึ่งแดดให้แห้งเสียก่อน ก่อนนำเข้าเตาเผา
เมื่อผางประทีสสุกได้ที่ รอให้เย็นก่อน แล้วจึงนำออกจากเตา และนำมาล้างฝุ่นขี้เถ้า และผึ่งให้แห้ง

การทำไส้ผางประทีสตีนกา

ชุบฝ้ายสีขาวกับขี้ผึ้งเหลวผสมน้ำมันมะพร้าว
ผึ่งฝ้ายที่แช่เรียบร้อยให้แห้ง ห้ามตากแดด เพราะจะทำให้ขี้ผึ้งละลายได้
ฟั่นฝ้าย ทำให้เป็นสามแฉกแบบตีนกา ให้ขนาดพอดีกับผางประทีส
ฟั่นฝ้าย ทำให้เป็นสามแฉกแบบตีนกา
ใส่ไส้ตีนกาวางลงตรงกลางถ้วย โดยให้ฝ้ายสามแฉกเป็นฐาน และฝ้ายแกนตั้งขึ้น
ใส่ไส้ตีนกาวางลงตรงกลางถ้วย
ต้มขี้ผึ้งในหม้อต้มน้ำหรือถ้าทำจำนวนมาก ให้ต้มในปีบขนาดใหญ่หรือกระทะ จนเหลวเป็นน้ำเทียน
การต้มขี้ผึ้ง
กะทะต้มขี้ผึ้ง
หยอดเทียนเหลวลงในผางประทีส จากนั้นผึ่งในที่ร่มให้แห้ง
หยอดเทียนเหลวลงในผางประทีส

ความเชื่อในการบูชาผางประทีส

พ่อหนานดุสิต ชวชาติ (สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน .๒๕๕๑) ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนา ได้กล่าวถึงการบูชาผางประทีสว่า ชาวล้านนาจุดผางประทีส เพื่อเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ชาวล้านนาจึงนิยมจุดผางประทีสบูชา เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได หน้าต่าง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประทีส ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็งจึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางประทีส
จุดผางประทีสเผื่อบูชายุ้งข้าว

การทำซุ้มประตูป่า

ก่อนจะถึงวันยี่เป็ง ประมาณ ๑-๒ วัน ชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านแบะประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย ต้นข่า โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกตะล่อม(บานไม่รู้โรย) ดอกคำปู้จู้ (ดาวเรือง) ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า
การทำซุ้มประตูป่า

พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนากล่าวว่า ในช่วงประเพณีเดือนยี่เป็ง ชาวล้านนานิยมที่จัดเทศนาธรรมเรื่อง เวสสันดรชาดก และในกัณฑ์ที่ ๑๓ กัณฑ์สุดท้ายหรือนครกัณฑ์ เป็นการพรรณนาเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังจากพระเวสสันดรทรงลาผนวช และทรงเครื่องกษัตริย์เสด็จกลับจากป่าหิมพานต์เพื่อเข้าครองนครสีพี ชาวบ้านชาวเมืองต่างดีใจจึงประดับตกแต่งเมืองด้วยซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม จากเรื่องราวที่ปรากฏในเวสสันดรชาดกนี้คนล้านนาจึงจำลองฉากเวสสันดรชาดกมาไว้ยังบ้านของตนเอง ด้วยการตกแต่งประดับประดาจำลองเป็นป่าหิมมพานต์ และเชื่อว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมาก
ซุ้มประตูป่าที่ตกแต่งสมบูรณ์

การสร้างซุ้มประตูป่า นอกจากมีคติความเชื่อ ในเรื่องการต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดรแล้ว ยังเป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีส เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยจุดไว้ในโคมหูกระต่ายหรือโคมชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการประดับตกแต่ง

การทำสะเปา
สะเปาสำเภาไฟ

การลอยประทีปและเครื่องสักการะทางน้ำ หรือเรียกว่า ล่องละเปา หรือไหลเรือสำเภาไฟ ในสมัยโบราณตามตำนานเมืองลำพูน ฉบับใบลานผูกของวัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน กล่าวถึงการลอยสะเปาทางน้ำในสมัยหริภุญไชยไว้ว่า ราวพุทธศัตวรรษที่ ๑๔ ได้เกิดอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมือง ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงพากันอพยพออกจากหริภุญไชยไปอยู่ที่เมืองหงสาวดี เป็นเวลาหลายปี เมื่อทราบข่าวอหิวาตกโรคในเมืองหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงต่างพากันเดินทางกลับคืนสู่หริภุญไชย แต่หลายคนไม่ได้กลับมา เนื่องจากมีครอบครัวใหม่ ส่วนผู้ที่กลับมาแล้วคิดถึงญาติพี่น้อง ที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี ในช่วงเดือนยี่เป็ง จึงได้จัดดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงใน “สะเปา” ลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้อง จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยกระทงนับแต่นั้นเป็นต้นมา (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๗)
สะเปา เรียงติดกัน

การลอยสะเปา จึงเป็นการทำบุญบริจาคทาน อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ และแก่ตนเองในภายภพหน้า ในอดีตชาวบ้านวัวลาย ตำบลนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นิยมทำสะเปากันที่วัด โดยชาวบ้านช่วยกันทำสะเปาเป็นรูปเรือลำใหญ่ วางบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง พร้อมด้วยข้าวของต่างๆ ทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ใส่ลงไปในสะเปา ในช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพากันหามสะเปา พร้อมแห่ด้วยฆ้องกลองจากวัดไปลอยที่แม่น้ำปิง และทำพิธีเวนทานที่ท่าน้ำก่อนปล่อยสะเปาลอยลงไป ขณะที่สะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่ง จะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่างๆมาใช้อุปโภคและบริโภค จึงเป็นการบริจาคทานอีกรูปแบบหนึ่ง (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ปัจจุบัน ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะสงฆ์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ฟื้นฟูวัฒนธรรมการลอยสะเปาขึ้น และต่อมาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้สนับสนุนงบประมาณแก่วัดต่างๆในเขตเทศบาลฯ สำหรับจัดทำสะเปา เพื่อนำไปลอยตามประเพณีที่แม่น้ำปิง โดยชุมชนต่างๆ เช่น บ้านเจ็ดยอด บ้านสันป่าข่อย บ้านวัวลาย บ้านวัวลาย นันทาราม หมื่นสาร วัดเกตุ ฯลฯ ได้จัดทำสะเปารูปเรือลำใหญ่ นำไปลอยในคืนยี่เป็งที่แม่น้ำปิงบริเวณท่าวัดศรีโขง ตำบลฟ่าฮ่าม
ประเพณีล่องสะเปาจาวเวียงละกอน

ล่องสะเปาจาวเวียงละกอน นับเป็นประเพณีที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง เนื่องจากมีการสืบสานประเพณีนี้อย่างต่อเนื่อง และมีส่วนราชการ การท่องเที่ยวฯ และภาคเอกชน เข้ามาสนับสนุนให้เป็นกิจกรรมหลักประเพณียี่เป็งของจังหวัดลำปาง จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

การล่องสะเปาของชาวลำปางไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัดนักว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด แต่ปรากฏในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต(พ.ศ.๒๔๔๐ – ๒๔๖๕) เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย ได้แต่งดาสะเปาหลวง ทำเป็นรูปเรือที่หน้าคุ้ม ในเรือมีข้าวปลาอาหารและ รูปปั้นทาสีทาสาช้างม้าวัวควาย สะเปาหลวงสร้างเป็นรูปเรือแบบเรือสำเภา มีเสากระโดง มีโคมร้อย เป็นโคมราวเล็กๆ ก่อนจะแห่สะเปาเจ้าบุญยวาทย์ฯ จะกระทำพิธีสระเกล้าดำหัวลงในสะเปาก่อน หลังจากนั้นข้าราชบริพารและชาวเมืองนำสะเปาน้อย ตามแห่เป็นขบวนจากคุ้มหลวงลงที่ท่าน้ำ ท่าช้างเผือก(หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางปัจจุบัน)ราษฏรฝั่งแขวงเวียงเหนือต่างก็ถือสะเปาน้อย ร่วมลอยพร้อมกันสองฝั่งแม่น้ำ กล่าวกันว่าพ่อเจ้าฯโปรประเพณีล่องสะเปา ถึงกับตั้งชื่อธิดา ๒ องค์ว่า เจ้าหญิงสะเปาแก้ว และเจ้าหญิงสะเปาคำ (จากคำบอกเล่าของเจ้าหญิงบุษบง) และมีเรื่องเล่าถึงเรือสะเปาที่มาเกยตื้นที่เด่นสะเปา ที่ท่าน้ำแม่วัง จังหวัดลำปาง จึงได้ชื่อหมู่บ้านสะเปาสืบมาจนถึงปัจจุบัน (บุญชู วงค์รักษ์, สัมภาษณ์, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑)
ความเชื่อประเพณีล่องสะเปา จังหวัดลำปาง

ประเพณีล่องสะเปาของชาวลำปางกระทำกันในวันเพ็ญ เดือนยี่เป็ง ( ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคกลาง ) หรือวันลอยกระทง กระทำเพื่อ

ขอขมาต่อแม่น้ำคงคา บูชาพระนารายณ์ที่รักษาแม่น้ำคงคาตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
บูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐ์ ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา อันเป็นการเจริญพุทธานุสติรำลึกต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สะเปารูปนก

สะเปารูปนก นิยมใช้วัสดุจากกาบกล้วยและมะพร้าวทั้งเปลือก (ผาครึ่ง) วิธีการทำแล้วแต่สล่าแต่ละคนจะสร้างสรรค์ให้มีความสวยงาม ข้างในสะเปามีของคาวหวานและข้าวตอกดอกไม้ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ถ้าได้ล่องสะเปารูปนกเปรียบเสมือนได้บูชาแม่กาเผือก ผู้ให้กำเนิด พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตามเรื่องเล่าในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
สะเปารูปนก วางบนเสื่อ สะเปารูปนก วางบนดิน
สะเปารูปเรือ

สะเปาเรือ ลักษณะเหมือนเรือ ใช้วัสดุในการทำเป็นไม้แผ่นบางพอประมาณ ตกแต่งตามความพอใจ เช่น ใช้กระดาษสีตัดเป็นเส้นทากาวติดรอบสะเปา มีความเชื่อกันว่า ถ้าได้ล่องสะเปารูปเรือ ถ้าเราเสียชีวิตไปก็จะได้ขี่สะเปาใหญ่ส่งเรา ข้ามแม่น้ำใหญ่สู่สวรรค์ หรือเปรียบเสมือนเรือข้ามพ้นวัฏฏะสงสารไปสู่นิพพาน
สะเปารูปเรือ

การทานธัมม์ชาตาวันเกิด/เดือนเกิด

การทานธัมม์ชาตาวันเกิด/เดือนเกิด เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งในประเพณียี่เป็ง เป็นการสร้างธัมม์ประจำวัดเกิด เดือนเกิด และปีเกิด เพื่อหวังอานิสงส์ความเป็นมงคล เสริมดวงชะตาชีวิต เกิดปัญญารู้แจ้งขึ้นกับตัวเอง และการได้สืบพระพุทธศาสนาตราบห้าพันวัสสา ดังปราชญ์ล้านนาได้กล่าวไว้ว่า บุคคลใดก็ตาม ถ้าริบรอมทรัพย์สมบัติใดไม่ขึ้น เก็บเงินไม่อยู่มักทำให้สิ้นไปหมดไป ให้ทานธรรมชาตาของตนเสีย แล้วจะวุฒิจำเริญ การทานธัมม์ชาตาในสมัยโบราณ ผู้ที่จะสร้างธรรมถวาย จะต้องไปว่าจ้างให้น้อย (ผู้บวชเป็นเณรแล้วลาสิกขา) หนาน (ผู้บวชเป็นพระแล้วลาสิกขา) เป็นผู้จารเป็นตัวอักษรล้านนา (ตัวธัมม์) ลงในใบลานเป็นผูก นำเขม่าที่ติดหม้อมาลูบ แล้วเช็ดจนปรากฏเป็นตัวอักษร และร้อยเชือกด้วยฝ้าย (เรียกว่า สายสยอง) เมื่อถึงประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีสิบสองเป็ง และประเพณียี่เป็ง ผู้ที่ถวายจะนำธรรมใบลานที่สร้างขึ้นมาห่อในผ้าห่อคัมภีร์และนำไปถวายไว้ที่วัด การสร้างธรรมชาตา เป็นทานที่กล่าวไว้ตามจารีตโบราณ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบไว้ดังนี้

ทวี เขื่อนแก้ว (๒๕๔๑, หน้า ๒๐๙-๒๑๑) ได้กล่าวถึง ธรรมชาตาวันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด ไว้ดังนี้
ธรรมชาตาวันเกิด
เกิดวันอาทิตย์ สร้างธรรม สังคินี
เกิดวันจันทร์ สร้างธรรม วิภังคะ
เกิดวันอังคาร สร้างธรรม ธาตุกถา
เกิดวันพุทธ สร้างธรรม ปุคคลปัญญัตติ
เกิดวันพฤหัสบดี สร้างธรรม กถาวัตถุ
เกิดวันศุกร์ สร้างธรรม ยมกะ
เกิดวันเสาร์ สร้างธรรม มหาปัฏฐาน
ธรรมชาตาเดือนเกิด
คนเกิดเดือนเกี๋ยง(อ้าย) ประมาณตุลาคม สร้างธรรม สุทธนู หรือปฐมกัป
คนเกิดเดือนยี่ (สอง) ประมาณพฤศจิกายน สร้างธรรม ช่างฉัททันต์ หรือปทุมกุมาร
คนเกิดเดือนสาม ประมาณธันวาคม สร้างธรรม มัฎฐากุณฑลี หรือมโหสถ
คนเกิดเดือนสี่ ประมาณมกราคม สร้างธรรม หงส์ผาคำ หรือภูริทัต
คนเกิดเดือนห้า ประมาณกุมภาพันธ์ี สร้างธรรม อุทธรา หรือปุริสาท
คนเกิดเดือนหก ประมาณมีนาคม สร้างธรรม พุทธโฆสา หรือเตมิยะ
คนเกิดเดือนเจ็ด ประมาณเมษายน สร้างธรรม อรินทุม หรือเตมิราช
คนเกิดเดือนแปด ประมาณพฤษภาคม สร้างธรรม นารทะ หรือสิตธาตถ์์
คนเกิดเดือนเก้า ประมาณมิถุนายน สร้างธรรม พุทธาภิเษก หรือทสสิบชาติ
คนเกิดเดือนสิบ ประมาณกรกฎาคม สร้างธรรม ธัมมจักร หรือสุวรรณสาม
คนเกิดเดือนสิบเอ็ด ประมาณสิงหาคม สร้างธรรม พุทธนิพพาน หรือเวสสันตระ
คนเกิดเดือนสิบสอง ประมาณกันยายน สร้างธรรม มังคละสูตร หรือสมภมิตร
ธรรมชาตาปีเกิด
คนเกิดปีใจ้์ ปีหนู สร้างธรรม เตมิยะี
คนเกิดปีเป้า ปีวัว สร้างธรรม เวสสันตระ
คนเกิดปียี ปีเสือ สร้างธรรม สุทธนู
คนเกิดปีเหม้า ปีกระต่าย สร้างธรรม เนมิราช
คนเกิดปีสี ปีงูใหญ่ สร้างธรรม สมภมิตร
คนเกิดปีใส้์ ปีงูเล็ก สร้างธรรม ภูริทัต
คนเกิดปีสะง้า ปีม้า สร้างธรรม สุธน
คนเกิดปีเม็ด ปีแพะ สร้างธรรม ช้างฉัททันต์
คนเกิดปีสัน ปีวอก สร้างธรรม มโหสถ
คนเกิดปีเร้า ปีไก่ สร้างธรรม สิทธาตถ์
คนเกิดปีเส็ด ปีหมา สร้างธรรม กุสราช
คนเกิดปีไค้ ปีช้าง สร้างธรรม สุตตโสม

ทางล้านนานับปีหมูนักษัตรตัวที่ ๑๒ เป็นปีช้าง

ประเพณีการทานธัมม์ชะตานี้ ชาวล้านนาในอดีตนิยมสร้างธัมม์ถวายกันมาก ดังจะเห็นได้ว่าในหอไตรของวัดต่างๆในภาคเหนือ มีการเก็บรักษาพระธรรมคัมภีร์ที่จารบันทึกด้วยอักษรธรรมล้านนาไว้เป็นจำนวนมาก และในท้ายธัมม์แต่ละผูก มีการจารบันทึกชื่อผู้ถวายไว้ ตัวอย่างเช่น

ปถมมูลศรัทธา นายคำ นางแก้ว พร้อมด้วยลูกเต้าชุคน ได้สร้างธัมม์ทานไว้ค้ำชูพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ พระวัสสา ขอสุขสามประการมีนิพพานเป็นยอดจิ่มเทอะ

ตั้งธรรมหลวง/เทศมหาชาติ

ประเพณี ตั้งธัมม์หลวง หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธรรมหลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คำว่า “ตั้ง” แปลว่าเริ่มต้น การตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธรรมหลวงนี้ จะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ มีการเตรียมงานนับตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นพิธีใหญ่คู่งานทานสลากภัตต์ ดังนั้น จึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้นปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลากภัต เพราะสองงานนี้ต้องใช้ความเสียสละความร่วมมือจากศรัทธาชาวบ้านอย่างมาก (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๒๕๔; อุดม รุ่งเรืองศรี, ๒๕๔๒, หน้า ๒๓๔๐-๒๓๔๑)

“ตั้งธรรมหลวง” นอกจากเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกแล้ว ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้ ซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติชาดกปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง มหาชาติ หรือ เวสสันดรชาดก (เวสสันตระ) ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จะไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยะเมตไตรยในอนาคต และได้พละนิสงส์ดังปรากฏในพระธรรมเทศนาอานิสงส์แห่งการสร้างหรือฟังมหาเวสสันดรชาดกไว้ว่า

สังคายนาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวดั่งนี้แล้ว ก็กล่าวคาถามาว่า ปูชา ปาเก เตชยนติ ทุคคติ เตน ปุญญสส ปาเก ดังนี้ว่า อันว่าคนทั้งหลายฝูงใด ได้บูชามหาเวสสันดรชาตกะ ผู้นั้นก็จะได้เป็นเจ้าพระยาในเมืองคน ยศประวารบ่จนมีมาก ช้างม้าหากเนืองนันต์ มีกลองนันทเภรีเก้าพันลูก เปี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง สัททะสำเนียงชมชื่น สนุกต้องตื่นทุกรวายตรีทิวา ทาสีทาสามีมาก พร้อมอยู่แวดล้อมเฝ้าปฏิบัติ ทิพพสัมปัตติล้ำเลิศ ก็กลับเกิดมีตาม เล้มเงินเล้มคำและเสื้อผ้า ทั้งช้างม้าและข้าวเปลือกเข้าสาร ก็จักมีตามปรารถนาทุกเมื่อ จำเริญเชื่อมงคล ยถา ในกาลเมื่อใดพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสประยาและปัญญา เป็นพระพายหน้าบุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย เหตุได้เป็นปาเถยยะกับธัมม์เวสสันตระชาตกะ อันยกมาที่นี้แล้ว ก็จักเถิงเซิ้งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน บ่อย่าชะแล”

ในคัมภีร์มาลัยสูตร กล่าวเป็นใจความว่า เมื่อครั้งมหาเถรขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้น ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร ท่านก็ได้สั่งมหาเถรเจ้ามาว่า “ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา” ดังนี้ เมื่อพระมหาเถรเทพมาลัยกลับจากสวรรค์แล้ว ก็นำเรื่องนี้มาบอกกับชาวโลกคนทั้งหลายได้ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีสืบมา

หากเป็นธรรมที่มีใช่เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน ๓ วัน แต่หากเป็นเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังเทศน์ต่อเนื่องกันไปถึง ๗ วัน โดยแบ่งการเทศน์เป็นวันแรกเทศน์ธรรมวัตร วันที่สองเทศน์คาถาพัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ แล้วจะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ ธัมมจักกัปปวัดตสูตร และสวดพุทธาภิเษก ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว

เจ้าของกัณฑ์จะนิมนต์พระที่เทศน์เฉพาะกัณฑ์นั้นๆมาเทศน์ เรียกว่า เทศน์กินกัณฑ์ ทำนองที่ใช้เทศน์แบบพื้นเมืองเรียกตามแบบลานนาว่า ระบำ การเรียกชื่อกัณฑ์ ทางภาษาเหนือเรียกว่า ผูก ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม จึงมีนักปราชญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่นฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร ล้านช้างเวียงจันทร์ พุกาม พระงาม แม่กุ เมืองหาง พระสิงห์ โคมคำ เชียงของ น้ำดั้นท่อ ไผ่แจ้เรียวแดง พล้าวไกวใบ พล้าวหนุ่ม ชราเหลา อินทร์ลงเหลา ป่าซางเหลา สะเพาน้อย ฯลฯ และที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่ฉบับ สร้อยสังกรณ์ แต่งโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อัตฺตสิโว) ได้รวมเอากัณฑ์ที่เด่นๆของฉบับต่างๆมารวมกัน เป็นฉบับใหม่ เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า คาถาพัน และฉบับที่แปลคาถาพันเรียกว่า จริยา
การเตรียมพิธีตั้งธรรมหลวง

ก่อนการจัดพิธีตั้งธรรมหลวง พระเณรและชาวบ้านต้องช่วยกันเตรียมงานเป็นการใหญ่ ล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นเดือน เพราะต้องเตรียมการในหลายส่วน เช่น การ “ตกธรรม” คือการไปนิมนต์พระเสียงดีมาเทศน์ การตกแต่งสถานที่ การทำรั้วราชวัตร ประตูป่า ประดับโครงซุ้มด้วยทางมะพร้าว ประดับด้วยฉัตร ธง ช่อช้าง ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นข่า ต้นกุก มาปักไว้ให้ดูเหมือนกับประตูเข้าป่า การที่จัดทำประตูป่านี้ คาดว่าคงจำลองมาจากเรื่องในเวสสันดรชาดก คือตอนที่พระเวสสันดรถูกขับให้ออกจากเมือง พร้อมทั้งพระมเหสีและโอรสธิดา จึงพากันเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญบารมี เมื่อไปถึงประตูป่าที่มีพรานเจตบุตรเป็นผู้เฝ้า ได้ชี้ทางไปเขาวงกตให้และอาจมีการจำลองเขาวงกตไว้ภายในวัดให้ได้เดินเล่น โดยตรงกลางเขาวงกตจะมีแท่นบูชาพระพุทธรูปอยู่ หากหลงก็วนเวียนอบยู่จนกว่าจะเข้าไปสักการะพระพุทธรูปได้ จึงเป็นที่สนุกสนานของผู้ที่มาร่วมทำบุญ

สถานที่ใช้ในการ ตั้งธรรมหลวง จะนิยมใช้วิหาร ภายในจะต้องตกแต่งไปด้วยเครื่องบูชาเวสสันดรชาดก ได้แก่ ดอกบัว ดอกพ้าน(บัวสาย) ช่อสามเหลี่ยม ติดกนะดาษต้อง(กระดาษฉลุ) รูปช้าง ม้า วัว ควาย ทาสหญิง ทาสชาย แก้ว แหวน เงิน ทอง อย่างละ ๑๐๐ รูป ประดับโคมผัดที่เล่าเรื่องเวสสันดรชาดก มีการทำค้างโคมแขวนบูชา มีเชือกสำหรับดึงขึ้นลงได้ จึงเรียกว่า โคมล้อ ล้อ หมายถึงรอกที่ใช้สำหรับชักเชือกขึ้นลงเพื่อจุดประทีสบูชา

ส่วนธรรมมาสน์สำหรับเป็นที่นั่งเทศน์ของพระสงฆ์ก็จะประดับตกแต่งด้วยม่าน และห้อยดอกพัน ที่อยู่ใน หับดอก ที่สานโดยแตะไม้ไผ่ประกบกัน ดอกไม้พันดอก หรือ สหสสฺปุปฺผานิ เป็นเครื่องบูชาพระธรรม บูชาพระคาถาจำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ที่เรียกว่า สหสฺสคาถา ดอกไม้ที่นิยมได้แก่ดอกกาสะลอง ดอกจีหุบ(มณฑา) ดอกสารภี เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้หอมทำช่วยให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นั่น ส่วนด้านข้างก็จะมีการจำลองเป็นป่าหิมพานต์ ปัจจุบันมีการตกแต่งด้วยซุ้มต้นไม้ดอกไม้ใส่กระถางไปประดับตกแต่งให้งดงาม

ด้านข้างพระประธานในวิหารก็จะมีการอ่างน้ำมนต์ โดยใช้น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว ใส่ลงไป โยงสายสิญจน์จากพระประธาน ไปยังธรรมมาสน์ โยงมาพันที่อ่างน้ำมนต์สามรอบ แล้วโยงกลับไปยังธรรมมาสน์ให้พระถือไว้ขณะเทศน์กัณฑ์ต่างๆ เชื่อว่าอานุภาพของการเทศน์ตั้งธรรมหลวงจะทำให้น้ำมนต์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทาแผล แก้ปวดเคล็ดขัดยอก แก้ผื่นคัน และเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน
ลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวง

เกี่ยวกับลำดับพิธีการตั้งธัมม์หลวงนี้ ประมวลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ(๒๕๔๒, หน้า ๒๓๕๖) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๗, หน้า ๒๖๐) และชูเกียรติ วงศ์รักษ์ (๒๕๓๙, หน้า ๔๔) และพระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
วันแรก

วันแรก ในการเทศน์ นิยมเทศน์ในวันเดือนยี่เหนือขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น ศรัทธาชาวบ้านจะมาฟังเทศน์คาถาพัน คือเรื่องราวของเวสสันดรชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นภาษาบาลี รวมทั้งหมดมี ๑,๐๐๐ พระคาถา และเทศน์คัมภีร์ต่อไปอีก คือ คัมภีร์มาลัยต้น มาลัยปลายและอานิสงส์เวสสันตระ และธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ

คาถาพัน หรือสหัสสคาถา คือคำบาลีที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ กล่าวเรื่องย่อของพระเวสสันดรตั้งแต่ต้นจนจบ

คัมภีร์มาลัยต้น กล่าวถึงพระมาลัยเถร พระสงฆ์ชาวลังกาเป็นพระอรหันต์ เดินทางไปเยี่ยมนรก ได้พบพญายมราชและเห็นสัตว์นรกจำนวนมาก พญายมราชบอกกับพระมาลัยว่า การทำบุญทำทาน การฟังเทศน์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตายนั้น อาจทำให้ผู้ที่อยู่ในนรกพ้นจากความทุกข์ได้

คัมภีร์มาลัยปลาย กล่าวถึงพระมาลัยเดินทางไปสวรรค์ ได้พบพระอริยะเมตไตรเทวบุตร ผู้ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป พระมาลัยถามว่า ทำอย่างไรจะได้ร่วมศาสนากับพระศรีอริยะเมตไตร ได้คำตอบว่า ผู้ที่ได้สดับฟังการเทศมหาชาติตั้งแต่ต้นจนจบจะได้พบกับศาสนาพระศรีอริยะเมตไตรพุทธเจ้า

ธัมม์อานิสงส์เวสสันตระและธัมม์ไขวิบากเวสสันตระ กล่าวถึงอานิสงส์ต่างๆของการฟังเทศน์มหาชาติ รวมถึงการได้อยู่ร่วมพระศาสนาของพระศรีอริยะเมตไตร และชาติต่างๆของพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี ชูชก จึงทำให้เกิดเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดกชาติสุดท้ายก่อนเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน
วันที่สอง

วันที่สอง รุ่งขึ้นวันเดือนยี่เหนือเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าตรู่จะเริ่มฟังกัณฑ์ทศพรและกัณฑ์ต่อ ๆ มาตามลำดับ มีเวลาพักตักบาตรตอนเช้าและฉันเพล จากนั้นเทศน์ติดต่อกัน การฟังเทศน์และเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมกันหรือฟังแบบสืบชาตาต่ออายุ ตามปีเกิดของแต่ละคน เมื่อเทศน์กัณฑ์ใด ให้เจ้าภาพของกัณฑ์จุดธูปเทียน (ผางประทีส) เท่าจำนวนพระคาถา เพื่อบูชาคาถาของกัณฑ์นั้น จนครบคาถา ดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร มี ๑๙ คาถา ปีใจ้(ปีชวด)
๒. กัณฑ์หิมพาน มี ๑๓๔ คาถา ปีเป้า(ฉลู)
๓. ทานกัณฑ์ มี ๒๐๙ คาถา ปียี(ปีขาล)
๔. กัณฑ์ประเวสน์ มี ๕๗ คาถา ปีเหม้า(ปีเถาะ)
๕. กัณฑ์ชูชก มี ๗๙ คาถา ปีสี(ปีมะโรง)
๖. กัณฑ์จุลพล มี ๑๕ คาถา ปีใส้(ปีมะเส็ง)
๗. กัณฑ์มหาพน มี ๘๐ คาถา ปีสะง้า(ปีมะเมีย)
๘. กัณฑ์กุมาร มี ๑๐ คาถา ปีเม็ด(ปีมะแม)
๙. กัณฑ์มัทรี มี ๙๐ คาถา ปีสัน(ปีวอก)
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ มี ๔๓ คาถา ปีเร้า(ปีระกา)
๑๑. กัณฑ์มหาราช มี ๖๙ คาถา ปีเส็ด(ปีจอ)
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี ๓๙ คาถา ปีใค้(ปีกุน)
๑๓. นครกัณฑ์ มี ๔๘ คาถา ทุกปีเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
รวมทั้งหมด ๑,๐๐๐ คาถา
เนื้อเรื่องย่อในแต่ละกัณฑ์

เนื้อเรื่องย่อในแต่ละกัณฑ์ในการเทศน์มหาชาติ ประมวลจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๗, หน้า ๒๖๑-๒๖๒)

กัณฑ์ที่ ๑ ชื่อกัณฑ์ทศพร พรรณนาตอนที่พระนางผุสดีขอพรจากพระอินทร์ ๑๐ ประการ ก่อนที่จะจุติในโลกมนุษย์เป็นมารดาของพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ ๒ ชื่อกัณฑ์หิมพานต์ พรรณนาถึงจุติปฏิสนธิของพระเวสสันดร จนถึงทรงได้อภิเษกสมรส กับพระนางมัทรี พระธิดาแห่งกษัตริย์แคว้นมัทราช จนกระทั่งถูกเนรเทศออกจากเมืองเข้าสู่ป่าพรรณนา ถึงป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๓ ชื่อทานกัณฑ์ พรรณนาสัตตสดกมหาทาน พระเวสสันดรสั่งเมืองและให้ทานรถเทียมด้วยม้าแก่ผู้ที่มาทูลขอ

กัณฑ์ที่ ๔ ชื่อกัณฑ์วนปเวศน์ พรรณนาถึงสี่กษัตริย์เสด็จถึงนครมาตุลราช พระยาเจตราฐ เจ้าเมืองทูลขอให้ครองสมบัติ พระเวสสันดรไม่ทรงรับ

กัณฑ์ที่ ๕ ชื่อกัณฑ์ชูชก พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกขอทานจนได้นางอมิตตดาลูกสาวเพื่อนเป็นเมีย เมียต้องการคนรับใช้ให้พราหมณ์ชูชกไปขอกัณหาและชาลีมาเป็นคนใช้ พราหมณ์จึงออกเดินทางไปสู่เขาวงกฏ เจอพรานเจตบุตรผู้รักษาทางเข้าป่าหิมพานต์

กัณฑ์ที่ ๖ ชื่อกัณฑ์จุลพน พรานเจตบุตรถูกชูชกหลอกจึงบอกทางไปสู่เขาวงกฏ

กัณฑ์ที่ ๗ ชื่อกัณฑ์มหาพน พรรณนาถึงพราหมณ์ชูชกพบอจุตฤาษี ก็ชี้ทางไปสู่เขาวงกฏ พรรณนาถึงป่าเขาลำเนาไพร

กัณฑ์ที่ ๘ ชื่อกัณฑ์กุมาร ชูชกไปถึงเขาวงกฏเพื่อขอกัณหาชาลี สองกุมารลงไปหลบในสระน้ำ พระเวสสันดรเรียกขึ้นมามอบให้พราหมณ์ชูชก ชูชกทุบตีฉุดกระชากลากสองกุมารไป

กัณฑ์ที่ ๙ ชื่อกัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีกลับจากหาผลไม้ในป่าพบสัตว์สามตัวนอนขวางทางจึงไม่พบลูกทั้งสอง พอทราบความจริงก็เป็นลมสลบไป

กัณฑ์ที่ ๑๐ ชื่อกัณฑ์สักกบรรพ์ พระอินทร์แปลงกายมาทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดรแล้วคืนให้ พระเวสสันดรทูลขอพร ๘ ประการจากพระอินทร์

กัณฑ์ที่ ๑๑ ชื่อกัณฑ์มหาราช พราหมณ์ชูชกพา ๒ กุมารหลงทางเข้าสู่เมืองสีพี พระเจ้าสัญชัยทรงไถ่กุมารคืนด้วยสิ่งของอย่างละ ๑๐๐ พราหมณ์ชูชกรับประทานอาหารจนตายพระเจ้าสัญชัยเตรียมไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี

กัณฑ์ที่ ๑๒ ชื่อกัณฑ์ฉกษัตริย์ พรรณนาถึงหกกษัตริย์พบกัน เกิดความยินดีจนเศร้าโศกสลบไป พระอินทร์บันดาลฝนโบกขรพรรณตกลงมาประพรมจนฟื้นคืนสติทั้งหมด

กัณฑ์ที่ ๑๓ ชื่อกัณฑ์นครกัณฑ์ (ขณะเทศน์จะมีการโปรยข้าวตอกข้าวสาร สมมติว่าพระอินทร์ได้บันดาลฝนแก้ว รัตนธารา) กัณฑ์สุดท้ายถือเป็นกัณฑ์ชัยมงคลพรรณนาถึงพระเวสสันดร พระนางมัทรี ลาจากเพศพรตฤาษีนิวัติคืนสู่พระนครครองเมืองสีพี พระอินทร์บันดาลห่าฝนสัตตรตนะธาราตกลงทั้งภูมิมณฑลโปรดให้ประชาชีทำบุญทำทานตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่งๆ จะมีการประโคมฆ้องกลองบูชาบนวิหาร หรือแห่วงปี่พาทย์พื้นเมือง(วงกลองเต่งถิ้ง) และจุดประทัดบอกสัญญาณให้รู้ว่าธรรมจบกัณฑ์หนึ่ง เมื่อผู้คนได้ยินเสียงกลอง จะประนมมือไหว้มาทางวัดกล่าวคำว่า สาธุ
กัณฑ์ที่นิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมเสียง

ในมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์นั้น จะมีบางกัณฑ์ที่คนนิยมฟังเป็นพิเศษและนิยมกำหนดเสียงพระนักเทศน์ไว้ คือ

กัณฑ์ชูชก นิยมเสียงใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่
กัณฑ์มัทรี นิยมเสียงเล็กคล้ายเสียงผู้หญิง
กัณฑ์กุมาร นิยมเสียงเล็กกลมกล่อมนุ่มนวล
กัณฑ์สักกบรรพ นิยมเสียงคล้ายกับมัทรีหรือกุมาร
กัณฑ์มหาราช นิยมเสียงใหญ่หนักแน่น
กัณฑ์ฉกษัตริย์ นิยมเสียงเด็กส่วนมากเป็นสามเณรเล็กๆเทศน์
นครกัณฑ์ นิยมเสียงใหญ่ทุ้มกังวาน

ในการเทศน์ตามกัณฑ์ที่กล่าวมานี้ ก่อนจะเทศน์พระผู้เทศน์จะใส่กาบเค้า คือแหล่กาพย์ตอนต้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เข้ากับเหตุการณ์ เช่น กาบสิทธารถ กาบพิมพาพิลาป กาบศีลห้า เป็นต้น แต่เสียงใหญ่มักนิยมใส่กาบคำสอน เช่น กาบทศพิธราชธรรม กาบร่ำสงสาร เป็นต้น เฉพาะกัณฑ์ชูชก จะต้องใส่กาบเค้าเรื่องกำเนิดของชูชก เมื่อจบกาบเค้าแล้วจะดำเนินเทศน์ตามเนื้อเรื่องที่มีในคัมภีร์

เมื่อเทศน์จบในกัณฑ์ใดแล้ว จะมีการใส่กาพย์ปลายอีกครั้งหนึ่ง เป็นการสรุปใจความในกัณฑ์นั้น ถ้าเป็นกัณฑ์สุดท้ายคือนครกัณฑ์ มักจะใส่กาบลำดับกัณฑ์ คือสรุปเรื่องราวของมหาเวสสันดรทั้งหมด ตั้งแต่กัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์

การฟังเทศน์มหาชาตินี้ มีบางครั้งบางกัณฑ์เช่นกัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มหาราชมักจะนิมนต์พระที่เทศน์เก่งมาเทศน์ประชันกัน การเทศน์ประชันกันนี้ ให้องค์หนึ่งเทศน์จนจบกัณฑ์แล้วองค์ที่ ๒ จึงจะเทศน์ต่อ ไม่ได้เปลี่ยนกันแหล่สลับกันเหมือนภาคกลาง มีการเทศน์ในกัณฑ์เดียวมากๆเวลาที่จะฟังให้จบในวันหนึ่งคืนหนึ่งก็น้อยลง บางครั้งเมื่อเทศน์ถึงนครกัณฑ์จวนจะจบแล้ว พระอาทิตย์ในวันใหม่ก็จะโผล่พ้นขอบฟ้า ศรัทธาต้องเร่งปิดประตูวิหารเพื่อมิให้แสงสว่างอย่างนี้ก็มี
คำอาราธนาธัมม์พระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์

คำอาราธนาธัมม์พระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เป็นคำกล่าวอัญเชิญให้พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา ในการตั้งธรรมหลวง หรือเทศน์มหาชาติ นักปราชญ์ราชบัณฑิตของล้านนาได้มีการแต่งคำอาราธนาธัมม์ ขึ้นมาโดยเฉพาะมีหลากหลายสำนวน ที่กล่าวไว้ในหนังสือประเพณีเดิมของทวี เขื่อนแก้ว (๒๕๔๑) ได้รวบรวมไว้ ดังนี้
(กัณฑ์ถ้วน ๑ ทัสสพอร-ทศพร)
วันนี้ เปนวันดี เป็นวันมูละสัทธาผู้ข้าทังหลาย
ได้มาฟังธัมมมหาชาติ์กัณฑ์ถ้วนเค้า ปางเมื่อขุนอินทาธิราชท้าว์
เจ้าเจื่องจอมสรี หื้อนางราชผุสดีลงมาเกิด
ถวายพอรแก้วเลิสสิบประการ ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๒ หิมพานต์)
ทสฺสวรกณฺฑํ ปริปุณฺณํี สุดเสี้ยงไพนึ่งผูก
ผู้ข้าค็มาคิดถูกอยากฟังไพแถม ชื่อว่าหิมพานต์เรยเลิสแล้ว
กัณฑ์ที่ท่านแก้วหื้อทานช้างเผือกแก้วแก่พราหมณ์ไพ ขุนเมืองไทค็มาจาจ่มฟ้อง
เขาค็มาร้องต่อพระราชปิตา ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๓ ทานกัณฑ์)
หิมพานธมฺมเทสนํ ธัมม์หิมพานต์ท่านได้เทสน์สุดเสี้ยงไพแล้ว
บัดนี้ ผู้ข้าอยากฟัง ทานกัณฑ์ไชยเรยร้องไห้แค้นคั่ง
ร้องไห้สั่งสีพี ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระมุนีตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๔ วนปเวสน์)
ธมฺมเทสนํ ผูกทานกัณฑ์ ค็ปริปุณณังจนสุดเสี้ยงเขตต์
บัดนี้ค็รอดวนปเวสน์ เขตเขาไกลขั้นด่านดงรี
จตุราท้าวเท่าไพทรงผนวชบวชเปนรสีี อยู่ในคีรีป่าไม้์
โขงเขตใกล้ที่พระปัณณราชลาสา ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนสักติ์สวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์ แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๕ ชูชก)
ธมฺมเทสนํ ปริปุณฺณํ์ ค็พากันฟังจนเสี้ยงเขตต์์
คือธัมม์วนปเวสน์ดังท่านเทสนา์ บัดนี้ค็มารอดชูชกชยาเรยี
เถ้าชราเชยชุ่มีี มาได้เมียน้อยหนุ่มสาวจี้์
บึดนึ่งแต่งมาตริให้อ้อนมีหั้นพร่ำพร้อม ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งบนธัมมาสน์แก้ว แล้วนิมนต์เทสนาธัมม์์์์์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๖ จุลพน)
ชูชกชยกณฺฑํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ จุลพนเดินด่าน
ของพรานเจตบุตรบอกหนทาง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระภูบาลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งบนธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๗ มหาพน)
จุลวนกณฺฑํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ มหาพนรังสีใสบ่เส้า
เจ้าอัจจุตรสีเจ้าลำดับป่าไม้หื้อปู่พราหมณ์ฟัง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนผ่านแผ้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว แล้วเทสนาธัมม์
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๘ กุมมารบัรพ์-กัณฑ์กุมาร)
มหาวนํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุ กุมมารบัรพ์ชัยเรย
กัณฑ์นี้เนตต์ค็มาหน้าสังเวชแท้กัณหาชาลี อันพ่อพระรสีหื้อทานแก่พราหมณาผู้เถ้า
แม่มทรีเจ้าไพป่าแต่เช้ายังบ่ทันมา ชาลีกัณหาขอเทวดานำเอาข่าวสารไพบอก
แก่ออกไธ้แม่เทวี คันแม่มทรียังรักลูกเต้า
ขอหื้อแม่ออกเจ้ารีบมาเรว แสรโสกาเจ็บแสบไหม้
ร้องร่ำไห้อยู่วอยๆ พูดงดอยแม่น้ำเหวหาดห้วย
เหมือนดั่งจักม้างม้วยเสียคู่แดนดง ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระทัสสพลตนเลิสแล้ว
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แก้ว นิมนต์เทสนาธัมม์ อย่าไพละกาพย์เค้ากาพย์ปลาย
หมู่สัทธาผู้ข้าทังหลาย ต่างค็ใคร่ฟังเหมือนกันทั่วหน้า
ทุกคนมีจิตต์แก่กล้า อยากใคร่ฟังกุมมารบัรพ์
ระบำใดดีค็ขอจิ่มเจ้าที่ไหว้สัก ๒-๓-๔ บั้ง กันอิดหิวไหนค็ค่อยยอบยั้งเทสนาไพนึ่งลา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๙ กัณฑ์มัทรี (อ่าน “มะที”)
กุมารปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพแท้ดีหลี
บัดนี้ค็มารอดกัณฑ์มทรีกัณฑ์ถ้วนเก้า อันนางหนุ่มเหน้าแม่ค็มาเวทนาหา
สองบุตตาพี่น้อง อันอยู่ห้องกลางป่าดงไพร
พระนางบ่รู้ว่าลูกเต้าอยู่ไหน ไพเซาะหาในไพรแห่งห้อง
กลางเทศท้องหลายที่หลายทาง พระนางยิ่งมีอาธวา
มีความโสกาโสกเส้า เพราะบ่หันลูกเต้าหน่อโอรสา
นางค็มรณาเจียรจาก มรนาตติงตนตาย
เสี้ยงลมหายใจไพน้อยนึ่งแล้ว ได้ยินเสียงผัวตนเรียกร้องอยู่แจ้วๆ
นางหน่อแก้วได้สติชื่นตื่นขึ้นมา ขอนิมนต์ลูกศิษย์พระพุทธาตนผ่านแผ้ว
ขึ้นนั่งธัมมมาสแก้วแล้วเทสนาธัมม์ ระบำใดดี ค็ขอระบำธัมม์จิ่มเจ้าที่ไหว้
ที่ท่านได้เรียนไว้และชนาญมา บัดนี้ผู้ข้าน้อยหากแข้งขับแข้งจำ
พอขอระบำธัมม์สัก ๒-๓-๔ บั้ง อิดหิวไหนค็ค่อยยอบยั้งเทสนาธัมมไพนึ่งลา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๑๐ สักกบัรพ์)
มทฺทิปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพแล้ว
ซ้ำมีใจผ่องแผ้วอยากฟังสักกบัรพ์เรย การกะทำบุญของเวสสันตระ
ค็บ่เบ่นหน้าไพเฉย ได้รับคำชมเชยบ่ขาด
ปางเมื่อขุนอินทาเสด็จจากฟากฟ้า มาขอเอาหน่อหล้าชื่อมัททีรา
ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนผ่านแผ้ว ขึ้นนั่งแท่นแก้วแล้วนิมนต์เทสนาธัมม์
แล้วจิ่งขอระบำกาบส้อย หื้อสัทธาข้าม่อนน้อย
ได้เหงี่ยหูฟังนึ่งรา ธมฺมํ อนุกมฺมปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๑๑ มหาราช)
สักกบัรพ์ระบำได้รับการฟังบ่ขาด บัดนี้ค็มารอดมหาราชกัณฑ์ไชยกัณฑ์ใหญ่กว้าง
ปางเมื่อพราหมณ์นำลูกพระเจ้าช้างพรากเดินดง เทวดาเจ้าค็มาบันดลหื้อพราหมณ์หลง
เข้าสู่โขงเทสท้องเขตต์พระนคอรไชย ในคืนนั้นท้าวปรมสัญชัยค็มายังฝันหัน
ปูนอัสสจัรย์แท้แลฝันว่ายังมีชายผู้หนึ่งแท้แก่ดูดำ มันมีมือสองหัตถังถือประทุมมัง
ดอกบัวอันนั้นค็ฟุ้งซ่านอุฬาร ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนสักติสวาสตร์
ขึ้นนั่งธัมมาสน์แล้วเทสนาธัมม์ ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธังตนผ่านเผ้า
ขอให้ทังกาพย์ปลายแลกาพย์เค้า ธัมม์พระเจ้าสุดแล้วแต่เทสนา
ฉันใดจักได้สว่างโสกา ขอไขกรียาหื้อมันจนแห้ง
เพื้อหื้อมันแจ้งแก่มูลสัทธาแลนา ธมฺมํ อนุกมฺมปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๑๒ ฉขัตติ-ฉกษัตริย์)
มหาราชปพฺพํ นิฎฺฐิตํ สุดเสี้ยงไพแล้วบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุฉขัติยรุ่งเรืองไรไสบ่เส้า ปางเมื่อหกท้าวเจ้าเข้ามาล้มกองกัน
ในหิมวันต์ป่าไม้ ฝูงหมู่เจ้าค็เข้ามาล้มที่ใกล้แห่งพระปัณณสาลา
ขอนิมนต์ลูกสิกข์พระพุทธาตนองอาจ ขึ้นนั่งธัมมมาสน์แก้วแล้วเทสนาธัมม์
ระบำใดดีขอระบำธัมม์จิ่มเจ้าที่ไหว้ สัก ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ บั้ง
คันอิดหิวไหนค็ค่อยยั้งเทสนาธัมม์ ขอจะไพว่าผู้ข้าแข้งขับแข้งจำ
พอขอระบำธัมมกาพย์สร้อย พอหื้อสัทธาข้าม่อนน้อย
ได้เหงี่ยหูฟังนึ่ง ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ
(กัณฑ์ถ้วน ๑๓ นครกัณฑ์)
ฉขตฺติยปพฺพํ นิฎฺฐิตํ ค็สุดเสี้ยงไพบ่เสส
บัดนี้ค็มารอดห้องเหตุนครกัณฑัง คือนครกัณฑ์สุดส้อยหล้า
ปางเมื่อพระเจ้าฟ้าสิกข์ใหม่แล้วขี่ช้างงาแก้วมาเมือง ห่าฝนเรียงแถวถั่ง
อินทาร้อนที่นั่งจักหื้อห่าฝนแก้วฝนฟ้าหลั่งลงเมือง ตกลงมานันเนืองดั่งจะจดจะจอด
ดูท่างท้าวราชอยู่ส้างเล่าเปนทาน ขอลูกสิกข์พระภูบาลตนผ่านแผ้ว
กัณฑ์เทสน์ธัมม์จบแล้วขอเพิ่มเติมกาพย์ปลาย ขอชักนิยายตั้งแต่ปลายรอดเค้า
พอหื้อสัทธายิงชายหนุ่มเถ้าผู้นิดนั่งถ้าอยู่ดาฟัง ขอไขตามระบำเอาจดหมดขีด
พร้อมทั้งธัมมเทสนา ตามที่ท่านได้เล่าเรียนมานึ่งเรา
ธมฺมํ อนุกมฺปิ มํ ปชํ อาราธนํ กโรมฯ

กิจกรรมในประเพณียี่เป็งที่วัด

กิจกรรมในประเพณียี่เป็งที่วัดนี้ ประมวลจากหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ฉบับรวมเล่ม. โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มณี พยอมยงค์ (๒๕๔๓, หน้า ๑๓ – ๑๔) และการสัมภาษณ์พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ) (สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมในประเพณียี่เป็งที่วัด กิจกรรมในประเพณียี่เป็งที่วัด ผางประทีป
ช่วงเช้า

เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณตีห้าของวันยี่เป็ง มีการถวายข้าวมธุปายาส โดยนำไปถวายหน้าพระประธาน โดยมีปู่อาจารย์กล่าวคำสังเวย บูชาพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วประเคนพระพุทธรูปเป็นเสร็จพิธี

หลังจากนั้น เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. ทานขันข้าว อุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย บรรพบุรุษ หลังจากนั้นเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ น.จะพากันนำดอกไม้ธูปเทียนใส่ในขันแก้วทั้งสาม เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบนวิหาร พ่ออาจารย์จะนำไหว้พระรับศีล และกว่าคำเวนทานเดือนยี่เป็ง ช่วงสายๆพระเณรและเด็กๆช่วยกันปล่อยโคม “ว่าวฮม” ลอยขึ้นฟ้า เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์
ช่วงกลางวัน

ถวายคัมภีร์ธัมม์ชะตา ปีเกิด หรือเดือนเกิด วันเกิด และนิมนต์พระสงฆ์เทศน์ให้ฟังที่วัด หรือบางวัดอาจมีการเทศน์มหาชาติ หรือบางวัดมีการทำสะเปาเพื่อเตรียมแห่ไปลอยที่แม่น้ำใหญ่ในตอนค่ำ
ช่วงค่ำ

นำขันข้าวตอกดอกไม้ และผางประทีสไปวัดเพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ และพระรัตนตรัย พระสงฆ์จะเทศน์ธัมม์ อานิสงส์ผางประทีส และจุดประทีปโคมไฟ ทั่วบริเวณวัด จุดบอกไฟ เป็นพุทธบูชา หลังเสร็จสิ้นการทำบุญที่วัดแล้ว กลับมาบ้านบูชาผางประทีสตามประตูบ้าน บ่อน้ำ ครัวไฟ หม้อน้ำ ยุ้งข้าว ฯลฯ และปล่อยโคมไฟ “ว่าวไฟ” อย่างสนุกสนาน ฟังเทศน์มหาชาติ บางแห่งที่มีการทำสะเปา จะมีการแห่ขบวนสะเปาไปลอยที่แม่น้ำใหญ่ที่อยู่ในบริเวณนั้น
กิจกรรมช่วงค่ำ

การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง

ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (๒๕๔๒, หน้า ๒๘๕๒ – ๕๘๕๓) ได้ประมวลเกี่ยวกับการเข้ามาของประพณีลอยกระทงไว้ดังนี้
การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง

ลอยกระทงเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพิธีตามประทีปหรือทีปาวลี ของอินเดีย ซึ่งจะมีการลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ คือพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์และประเทศไทยได้รับเอาคติความเชื่อนี้ เข้ามาปรับกับความเชื่อของท้องถิ่น เกิดเป็นประเพณีการลอยกระทง เพื่อขอขมาลาโทษ พระแม่คงคาขึ้น ทั้งนี้เพราะชาวไทยสมัยก่อนประกอบอาชีพเกี่ยวกับ การกสิกรรมซึ่งจะต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ต่อมาการลอยกระทงได้กลายเป็นประเพณีที่ชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคถือปฏิบัติกันทั่วไป จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยแต่ละภูมิภาคต่างก็มีประเพณีปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรม และความเชื่อของท้องถิ่นนั้น กระทงที่นำมาลอยส่วนใหญ่มักจะประดิดประดอยเป็นรูปดอกบัวบานอย่างสวยงามด้วยวัสดุซึ่งหาได้ในท้องถิ่น เมื่อถึงเวลาพลบค่ำบรรดาผู้คนต่างนำกระทงที่เตรียมไว้มาปักดอกไม้ จุดธูป เทียน แล้วปล่อยให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ บางคนก็ตัดผมและเล็บใส่ลงไปด้วยเพื่อให้เคราะห์ต่างๆลอยไปพร้อมกับกระทง บางคนก็ใส่เงินลงไปในกระทงเพื่อเป็นการให้ทาน บางคนโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆก็อธิษฐานขอพรให้สมหวังในความรัก
การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 2 การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 3

กล่าวกันว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้ที่ริเริ่มการลอยกระทงที่เชียงใหม่เป็นคนแรก ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐-๒๔๗๐ โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะชาวบ้านทั่วไปนิยมการประดับตกแต่งโคมตามบ้านเรือน ทำซุ้มประตูป่า และจัดเทศน์มหาชาติ หรือตั้งธัมม์หลวงมากกว่า

ลอยกระทงเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพิธีตามประทีปหรือทีปาวลี ของอินเดีย ซึ่งจะมีการลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ คือพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์และประเทศไทยได้รับเอาคติความเชื่อนี้ เข้ามาปรับกับความเชื่อของท้องถิ่น เกิดเป็นประเพณีการลอยกระทง เพื่อขอขมาลาโทษ พระแม่คงคาขึ้น ทั้งนี้เพราะชาวไทยสมัยก่อนประกอบอาชีพเกี่ยวกับ การกสิกรรมซึ่งจะต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ต่อมานายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ ในช่วง พ.ศ.๒๔๙๐ ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้น และมีการจัดงานขึ้นที่ประตูท่าแพ และพุทธสถานริมแม่น้ำปิง
การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 4 การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 5

หลังจากนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาจัดตั้งสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ได้ส่งเสริมการลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นอย่างจริงจังและร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีการประกวดขบวนกระทงเล็ก และขบวนกระทงใหญ่ ต่อมาสมาคมผู้ประกอบการย่านไนท์บาร์ซา ได้จัดประกวดขบวนโคมยี่เป็งขึ้นอีกวันหนึ่ง
การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 6 การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง 7
เวนทานเดือนยี่เป็ง

ทวี เขื่อนแก้ว (๒๕๔๑, หน้า ๘๓ – ๘๗) กล่าวถึงเวนทานเดือนยี่เป็งว่า เป็นการบรรยายถึงวัตถุประสงค์ และเหตุแห่งการทำบุญเดือนยี่เป็ง ผู้เวนทานคือปู่จารย์( มัคคทายก) หลังจากเวนทานเสร็จ จะมีการถวายของทานแด่พระสงฆ์ หลังจากนั้นก็จะรับพร

โย สันนิสินโน วะระโพธิมูเล มารัง สะเสนัง มะหันติง วิชะโย สัมโพธิมาคัจฉิ อะนันตัญญาโณ ตัง ปะณะมิ พุทธังฯ

อัฎฐังคิโก อะริยะปะโถ ชะนานัง โมกขะปะเวสายะ อุชุกะ มัคโค อะยัง สันติกะโร ปะนิยานิโก ตัง ปะณะมามิ ธัมมัง ฯ

สังโฆ วิสุทโธ วะระทักขิเณยโย สันตินทะริโย สัพพะมะลัปปะหีโน คุเณหิเนเกหิ สะมิทธิปัตโต ตัง ปะณะมามิ สังฆังฯ

โย โส สมเด็จเลยพระเปนเจ้าเลิศองค์ใด สันนิสินโน ตนประเสริฐกว่าโลกาทุกแห่วห้องถะไรภูมิ ผู้ข้าทังหลายประนมนบน้อมเกล้าวิถีทวาร ตัง ปะณะมามิ พุทธัง ตนผจญแพ้มาร ทิวะสังจุวันๆผู้ข้าไหว้กราบวันตา อิติปิโส ภะคะวา ตนเป็นเค้าเหง้า ห้าสิบหกบ่เส้ากือว่าคุณศรีสัพพัญญูเจ้าหน่อพุทโธ อันว่าคุณพระสัทธัมโม มี สะวากขาโตเป็นที่ไหว้ นับว่าได้สามสิบแปด กฎแขวนเปนกุณพระสัทธรรม ส่วนกุณพระสังฆัง ก็มีงามแท้แด่ ตั้งแต่สุปะฏิปันนะตา จะตุทัสสาสิบสี่ จัดแจ้งถี่รวมกุณ แห่งพระแก้วเจ้าทังสาม มีร้อยแปดดูงามเลิศเลศ ผู้ข้าทังหลายรู้ว่าวิเศษแต็นักหนา ฯ

สาธุ โอกาสะ ข้าแด่พระติถะไรระตะนะผ่านแผ้วพระแก้วเจ้าตังสาม ในครากาละบัดนี้ ก็หากเป็นวันดี ติถีอันวิเศษเหตุว่าเป็นวันเดือนยี่เป็ง นับตามธรรมเนียมมาแต่เก๊า ปางเมื่อโปธิสัตว์ยังสร้างสมปารได้ต่วนเตียวไปมาในสงสารหลายกำเนิด ปางเมื่อได้เกิดเปนลูกกาเผือกมะฐะมะก่อแรกเป็นมะนุสสา ยังมีแม่กาตัวนึ่งเล่า ในศาสนาพระพุทธเจ้าตนชื่อ ตัณหังกะโร, พระพุทโธ ปะรินิพพุโต ต่านก็นิพพานไปแล้วไว้สารูปแล้วและกำสอน ยามนั้นพระภูธรก็จุติคลาดแคล้ว จากชั้นฟ้าตาวะติงสา ปัญจะมะนุสสาได้ลงมาเกิด เอากำเนิดในท้องแม่กาเผือก ทะรงคัพภะเกิดไข่ห้าฟอง ในรังกอนค่าไม้ ตี่จิ่มใกล้แม่น้ำนะตี ในติถีขึ้น ๑๕ ค่ำ ฤดูเดือนแปด สายฟ้าแมบรวายเรือง เมกฆะเนืองสะสน พายุฝนอันใหญ่ก็มาปัดรังไข่ตกลง ในโขงนะตีน้ำกว้าง ด้วยกุศลอันได้สร้างก็ไหลไปค้างริมธาร กุกุฎั่งยังมีแม่ไก่ แอ่วเซาะไซ้หากิน ก็มาหันยินชอบสู้ แล้วก็ร้องกุ๊กคาบเอาไป ตามนิสัยสัตว์ธรรมชาติ รักษาไว้บ่พรากไกกา จันติมาโกนา ยังมีแม่นาคมาหันใส่ไข่ ก็คาบเอาไปก็มีใจอ่วงห้อย รักคะค้อยจุ๊คืนวัน อังการังถีนะกัง ยังมีแม่เต่า ก็เอาไข่นั้นเล่าเป็นลูกถ้วนสาม โคณะจตุตถัง ซ้ำมีแม่งัว ตัวมีวรรณะผิวผ่อง แอ่วเดินต่องเต้าเสียบแม่น้ำนะตีในวิถีแก่นกล้า เดินกินหญ้าริมน้ำลำคลอง ก็ได้ไข่สองฟอง ด้วยน้ำนองปัดล่อง งัวก็รีบวะว่องเร็วไว ใส่ใจเอาไข่มารักษาไว้หื้อพ้นภัยยาสัพพะถาจุ๊สิ่ง รักษาเจ้าจอมมิ่งโปธา เอกา อิตถี ยังมีนางญิงผู้นึ่ง เกยระรื่นไปซักผ้าจุ๊วันๆ ก็มาพบพานหันไข่ มีใจใคร่ได้แล้วก็เก็บเอามาตามภาษาคนและสัตว์ต่างเพศ ด้วยจิตเจตน์ไผมัน ได้หลายคืนวันน้อยมากสิบห้าวันหากเตมตัน ตามนิทานไขกล่าว ธรรมดาหากไข่เถิงกาละกวรฝูงไข่ทังมวลห้าลูก แม่เลี้ยงหากผูกชื่อไว้ติดตามมา เถิงวัยยาขึ้นใหญ่อายุได้สิบปี ด้วยปารมีปางก่อน ก็บ่ผ่อนหายหน อันว่าเขาเจ้าตังห้าคนก็มีใจใคร่บวช สร้างผนวชเป็นระษี ก็ขอลาแม่เลี้ยงไผมันด้วยดีด้วยชอบเพื่อประกอบพรหมจริยกรรม ท้าวตนหนต่างวิเวก ก็ลาแม่เลี้ยงถ่ายเปนระสี ตามคัมภีร์ไขบอก อันออกนิยายธรรม ด้วยสัจจังมั่นแก่น หากถูกแม่นเปนลูกกาเผือกตังห้าตนต่างตนก็บวช ทรงผนวชชฎา พ้ำเพ็งพรหมเมตตาในป่า ด้วยปารมีแสร้งส้าติดตามมาจะเดินมัคคา เทียวใต่ มีวันนึ่งนั้นไส้ เทพพะไท้บันดล ต่างตนก็ไปพร้อมหน้า ในป่าไม้ปัพพะตา ในดอยสิงกุตตะระตะโก้ง อันองค์ต่านเจ้าระสี ก็มีคำปาณีต้านตอบ ว่าระสีพี่น้อง อยู่บ้านเมืองใด อันว่าระสีทังหลาย ก็ผาศัยถ้อยถูก ก็หากเปนลูกกาเผือกแม่เดียวกัน ก็มีคำผาถะนาใคร่หันหน้าแม่ ตั้งแต่นั้นมา อันว่าแม่กา คันจุติมรณากลากล้าด ก็ได้ไปเกิดสุทธาวาส มีชื่อกะติกามหาพรหม ทรงพระชนม์วิโรจน์ เสวยทิพพะโสด ด้วยนางนาฎสนม เทพาชมชื่นเค้า ส่วนว่าเจ้าระสี ใคร่หันหน้าแม่เจ้าชุวันยาม ก็ตั้งสัจจะปฏิญญาณเสี่ยงท่า กันจักได้เปนพระภายหน้า ขอแม่ตูข้าจุ่ง เสด็จลงมา ด้วยทิพพะจักขุตา ในกาละนั้นนานางมหาพรหม ก็รู้แจ้งเหตุ จิ่งกลายกลับเพศมาสู่โลกา หื้อสมคำผาถะนาแห่งลูก อันผูกเกล้าเปนชฎา อันว่ามหาพรหมก็เสด็จลงมา เทสะนาไขบอกต้านถ้อยตอบเปนวาจา ว่าลูกปุตตาทั้งห้า แต่นี้ไปหน้ายี่สิบห้าอสงไขยจักบ่สงสัยเว้นแต่ เมื่อสมปารเจ้าแก่ จักได้เปนแม่พระเหมือนกันชุองค์ก็มีความจำนงรักลูก ตานถ้อยถูกวจีว่า หื้อเปนสักขีพยานภายหน้าในสำนักพระเจ้าฟ้า เมื่อเถิงสัพพัญญู อันเป็นครูแก่โลก เพื่อเปนพระโผดสัตตา หื้อเอาปาตาแห่งแม่ ไว้บูชาแก่ส่องหน้าในสำนักภะคะวา ในขณะยามนั้นนา มหาพรหมตนวิเศษจึงเอาฝ้ายทิพย์เทพมาฟั่นแล้ว ชักออกเป็นตีนกา ด้วยเหตุนี้นา คันเถิงเดือนยี่เป็งมา ก็พากันบูชาน้ำมันงาผะตีส ตามจารีตประเพณี แต่นั้นมา เมื่อพระโคตมะเจ้า เข้าสู่แม่น้ำนัมมะทานะตี ยังมีพระยานาค ก็หากได้มาบูชาพระพุทธเจ้า ในกาละนั้นเล่าหากเป็นเดือนยี่เป็ง เหตุนั้นมูละศรัทธา ก็มาเล็งหันว่า ฤดูมาไคว่ ชุน้อยใหญ่จายญิง ก็ฝั้งกัททะลีกล้วยอ้อย โคมไฟใหญ่น้อย ไฟดอกไฟดาวเจาะขึ้นกลางหาว ภายบนหนอากาศ มีตังไฟลูกหยวาดโคมลอย โคมผัดละอ่อนกอยเปนหมู่ ฝูงเถ้าแก่นั่งอยู่ฟังธรรม อันว่ามูลศรัทธา ก็มาหื้อตานธรรมชาตาปี เดือน วัน ตามกำลังไผมันน้อยใหญ่ มีใจใฝ่ชมทานบัดนี้ก็ได้ตกแต่ง นำมายังบุปผาลาชาดวงดอก ข้าวตอกดอกไม้ ลำเทียนโภชนาหารนานาวัตถุทาน มาถวายเถิงแก่พระแก้วเจ้าสามผะการ แล้วขอจุ่งมีธรรมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคคะหะรับเอา ยังวัตถุทานทังหลาย ขอเป็นพละจัยแก่ชาตินี้ชาติหน้า คือเมืองคนและเมืองฟ้า มีเนรปานเปนยอดแท้ดีหลีฯ

บุญราศีอันนี้นามีมาก จัดอุทิสะฝากไปหา ฝูงจุติมรณากลากล้าดเป็นต้นว่าญาติพี่น้อง ลูกเต้าหลานเหลน พ่อแม่เถ้าแก่วงศาหลอนได้เปนเปตาทุกข์ยาก ด้วยเดชะฝากของทาน จุ่งไปยกออกทางผลาญเร็วด่วน หื้อพ้นทุกข์ส่วนแสนอัน ด้วยเดชะบุญทานมีมาก ยกออกจากเปตา หื้อได้เป็นเทวดาตนวิเศษ สมบัติทิพย์เทพมีหลาย ในเวหาปราสาท เทวะกัญญามากในสอกา กันเมี้ยนปัญจะขันธา ลงมาเกิดในเมืองคน หื้อมีริพลแหนแห่ เปนเจ้าแก่ประชา ในรัฐฐาเมืองใหญ่ มีไพร่ฟ้ามากหลวงหลายพละนิกายเงินคำช้างม้า ตังเครื่องง้าอลังการ ได้พบพานพุทธบาท อย่าได้ประมาทบุญหื้อมีกุศลแก่กล้า ไปสู่ชั้นฟ้าและเนรพานแท้ดีหลี บุญราศีอันได้มาบูชาน้ำมันผางผะตีสนี้แล้ว จักอุทิสะไปหาเทวตา อันรักษาที่นี้เปนเค้าประธาน อันรักษากายาเนื้อตน ปานนอกตนมีต้นว่า รุกขะเทวะตา ปัพพะตาเทวะตา สอกามาวะจะระเตปีนอินตาพรหมยมราช ครุฑนาคน้ำไอศวรนางนารถไท้ธรณีศรีกุตตะอามาตย์ตนจำบุญและจำบาป ตนจำน้ำหยาดเมื่อยามทาน จุ่งมาภัตตานุโมทนา แล้วจุ่งมากฎเอาลายหมายเอาชื่อแห่งศรัทธาทังหลาย ใส่ไว้ในปัตตาหลาบคำสะนำจำชื่อไว้ใกล้ต่อหน้าทันตา ฉายา อิวะ จุ่งเปนดังร่มเงาไปเตรียมตัวทุกชาติ อย่ากล้าดกลาแท้ดีหลี สุดท้ายนี้นา จักโอกาสเวนทานตามมคธ ภาษาบาลีว่า ;-

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ปะทีปานิ สะปะริวารานิ ติระตะนานัง โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ติระตะนานิ ภัตตานิ ปะทีปานิ สะปะริวารานิ ปะฎิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ยาวะ นิพพานายะ สังวะตันตุ โน ฯ
เวนตานธรรมมหาชาติ

ทวี เขื่อนแก้ว (๒๕๔๑ หน้า ๘๓ – ๘๘) ได้ประมวลคำเวนธรรมมหาชาติ ไว้ดังนี้

โย สันนิสินโน วะระโปธิมูเล มารัง สะเสนัง มะหัตติวิชะโย สัมโปธิมาคัจฉิ อะนันตัญญาโณ โลกุตตะโม ตัง ปะนะมามิ พุทธัง, อัฎฐังคิโก อะริยะปะโถ ชะนานัง โมกขะปะเวสายะ อุชุกะมัคโค อะยัง สันติกะโร ปะนิยานิโก ตัง ปะนะมามิ ธัมมัง, สังโฆ วิสุทโธ วะระทักขิเณยโย สันตินทะริโย สัพพะมะลัปปะหีโน คุเณหิเนเกหิ สะมิทธิปัตโต ตัง ปะนะมามิ สังฆัง ฯ

สาธุ โอกาสะ ข้าแด่พระแก้วเจ้าสามผะการ บัดนี้ศรัทธาผู้ข้าทังหลาย ทังญิงจายน้อยใหญ่ เปนผู้เอาใจใส่พระพุทธะศาสนา การทำบุญทานมารอด มีจิตใจคิดสอด คิดรอดด้วยการบุญ บ่หายสูญเสีย จากหากเกิดด้วยศรัทธา พระพุทธะศาสนายังรุ่งเรืองใสบ่เสร้า ตางวัดวานั้นเล้าภิกขุเณรเถรเจ้า อยู่เฝ้าพ้ำเพ็งธรรม บัดนี้ศรัทธาผู้ข้าทังหลาย มีจิตใจหมายบ่ขาด ใคร่ฟังธรรมห้าชาติ เรื่องพระเวสสันดร โอรสเจ้านครสญชัยองอาจ เจตุตตะระราชธานี นิยายธรรมมีกล่าวอ้าง ปางเมื่อพระพุทธเจ้าสร้างสมปาร อดีตะกาลล่วงแล้ว เวสสันตะระหน่อแก้ว จุติจากเมืองบน มาเอาปฎิสนธิ์กำเนิด เกิดจากท้องแม่เจ้าผุสสะดี จอมเทวีเจ้าแม่ รักลูกแก่เหลือใจ พระยาศรีสญชัยราช รักโอรสนารถเพียงใจ คันเจ้าเจริญวัยขึ้นใหญ่ มีใจใฝ่ทวี ก็ได้ขอนางมัททีนุชนาฎ เปนเทวีพระบาทเวสสนดร อยู่ในพระนครเจตุตตะระราช มียศอาจลือชา เกิดมีบุตตาผู้เค้า นามจื่อเจ้าชาลี ซ้ำมีบุตตีน้องหล้า นามหน่อฟ้าว่ากัณหา สี่กษัตถารักใคร่เลี้ยงสองเจ้าไว้ที่ในวัง บุญของหลังชูช่วย ค้ำเตื่อมด้วยสมภาร พญาเวสสันดรได้หื้อทานช้างเผือก ชาวเมื่องเยือกขับหนี เข้าสู่ดงรีป่ากว้าง พากันอยู่สร้างบวชเปนชี ซ้ำยังมีชูชะกะพราหมณ์เฒ่า สวักเต๊าเข้าสู่ดงหนาไปขอชาลีกัณหาสองหน่อแก้ว ท้าวตนผ่านแผ้ว ก็ได้หื้อลูกแก้วเปนทานเพื่อหวังสัพพัญญูตัญญาณดวงเลิศแล้ว ซ้ำได้หื้อเมียมิ่งแก้วเปนทาน แก่อินทร์ถวายพรจิ่มเจ้า ตามเรื่องเค้ามีมา เถิงพญาสญไชยะราช พานางนาฎผุสสะดีกัณหาชาลีเข้าดงรีป่าไม้ นิมนต์แก้วแก่นไท้ปิ๊กป้อกคืนมา เสวยพาราดั่งเก่าเปนท้าวเล่าสองตี องค์ท่านพระมุนีได้สร้างความดีหลายชาติ หวังพ้นบ้วงบาสตัณหา หวังได้โผดสัตตามนุษย์โลก ข้ามพ้นโอฆสงสาร หื้อเถิงเนระพานเวียงแก้ว เมืองเลิศแล้วยิ่งอุดม การบำเพ็ญทานสะสมบุญเผื่อหื้อมนุษย์คนเราได้เชื่อ ทำบุญหากเปนบุญ บุญจักอุดหนุนเตื่อมตุ้ม ยกจากลุ่มเมือบน ผู้ข้าก็หันผลประเสริฐ บังเกิดปะสาทะศรัทธา ทานธัมมะเตสะนาคนละผูก ตั้งแต่ทะสะปอนเถิงนครกัณฑ์ (หื้อลำดับชื่อเจ้าศรัทธาคนที่ ๑ ถึง ๑๓) รวมสิบสามกัณฑ์ดีงาม ฟังกันครั้งละผูก ตามรายชื่อเจ้าศรัทธา ได้กล่าวมาแต่กี้ บัดนี้จักถวายเป็นทาน ขอนาบุญอันไพศาลจุ่งกลับกลายเป็นญาณอันประเสริฐ นำผู้ข้ายังมีชีวิตจิตใจ สถิตอยู่ในโลกกว้าง ขอดูต่างสร้างกินทาน อยู่สุขบานค่ำเช้า มูลมั่งเข้าย้ำผะไชแม่นได้ลาไปจากโลกได้พ้นโสกโสกา ขอเป็นนาวาลำใหญ่ ขี่ข้ามใต่สาครถึงเมืองบวรเลิศแล้ว กือเวียงแก้วยอดเนระปาน นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี ฯ

บัดนี้จักจอเวนวาง ตามมคธภาษาบาลีว่า สาธุ โอกาสะ มะยัง ภันเต ธุปะบุปผาลาชะตานัง เวสสันตะระจาตะกัง สัพพะ วัตถุนานา ตานัง สะปะริวารัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ ทุติยัมปิ…ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ธุปะบุปผาลาชะตานัง เวสสันตะระชาตะกัง สัพพะวัตถุนานาตานัง สะปะริวาราทานัง อัมหากัง ทีฑะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ยาวะ นิพพานนายะ สังวัตตัยตุ โน ฯ
ค่าว อานิสงส์ ธรรมมหาชาติเวสสันตระ คู่ชะต๋าปี๋เกิด
โสตุชนา ฟังราพี่น้อง ม่อนจักเล่าถ้อง หื้อหายสังก๋า
ยังยอดบทจั๊น ธรรมพันกถา เวสสันตรา มหาชาติเจ้า
ตานป๋ารมี ใสดีบ่เศร้า เปื้อหวังจักเอา โพธิ

สละเข้าของ บ่หมองหม่นจิ๊ ดำริตั้งหมั้น ในตาน
แก้วแหวนสิ่งทรัพย์ กับตังอาหาร ดวงทัยเบิกบาน หาได้เสแสร้ง
ป๋ารมีกุณ ยู้หนุนเตื่อมแถ้ง หื้อตานเมียแปง ลูกรัก

ธรรมคู่ชะต๋า อานิสงส์นัก ประจักษ์จุผู้ ศรัทธา
สร้างก๊ำวระ พระศาสนา จักผาถะนา สิ่งไดก่ได้
ทศพรดี รองรับปี๋ไจ้ ตั๋วหนูเปิ้งใน ภาวะ

สิบข้อกำพร ภูธรอินต๊ะ ราชะมอบหื้อ ผุสดี
หากตานแล้วนั้น วิมารเรืองศรี ยอดปราสาทมี แก้วเจ็ดสิ่งถ้วน
วรรณะผิวขาว เปิงปาวอ่อนอ้วน นัยต๋าแจ่มนวล เปล่งวะ

กั๋ณฑ์หิมพานต์ เวสสันตระ ปะช้างเผือกแก้ว ตั๋วงาม
ตานธรรมผูกนี้ สิ่งดีติดต๋าม ตกชะต๋ายาม เปิ้งงัวปี๋เป้า
สมบัติเพชรแสง เมียแปงลูกเต้า ไฝ่แฝงเตียมเงา คู่เชื้อ

ตานะขันธ์ โพธัญหน่อเนื้อ ตานเจ็ดสิ่งเอื้อ ยินดี
ควรกับมูลละ ศรัทธาดิถี คนเกิดปี๋ยี เปิ้งเสือว่าอั้น
เคหะสถาน เบิกบานตั้งหมั้น มีปริวาร เจ็ดร้อย

วนาประเวสน์ วิเศษจื้นจ๊อย สี่พระยอดสร้อย บุญเรือง
จากประเตสต๊อง ละจองคำเหลือง ไปอยู่แดนเมือง ดอยดงป่าเส้า
ตั๋วเปิ้งญิงจาย กระต่ายปี๋เหม้า หื้อตกแต่งเอา สร้างไว้

มเหสิกขา เทวาเทพไท้ อยู่รักษาใกล้ ตวยไป
ฝูงคนมากนัก จักมาเอาใจ๋ แม้นอยู่แดนได ศัตรูกราบไหว้
ชูชกกัณฑ์หลวง ดวงปี๋สีได้ เปิ้งนาคเรืองไร เป๋นเก๊า

จักเกิดกุศล ลาภผลมั่งเต๊า เงินทองของเข้า หลั่งมา
ดั่งพราหมณ์เถ้านั้น หมั้นอมิตต๋า เป๋นภริยา สุขใจ๋บ่หน้อย
มีความสำราญ ลูกหลานเชื่อถ้อย เมียรักก่คอย หนุนก๊ำ

จุลพน ไพรสณเลิศล้ำ เต๋มไปว่าอั้น ครัวยา
ปู่พราหมณ์ชูชก ปะป๊บฝูงหมา เถ้าบาปพาลา ตกใจ๋ร้องให้
ชะต๋าเปิ้งงู ยามจูปี๋ไส้ หื้อน้อมดวงทัย อุทิศ

ผละเต๋ชา บุญญาเปล่งฤทธิ์ นิมิตรสวนกว้าง อุทยาน
จตุราทิศ วิจิตรสถาน สระดอกบัวบาน หลายพันกาบก้าน
อยู่สุขเสถียร เหย้าเรือนหอบ้าน แสนสิ่งอุฬาร บ่ไร้

มหาพน ป่าผลลูกไม้ หาเก็บกิ๋นได้ มากมี
ต๋นเพ่งฌาณะ จุตตะระสี ถูกพราหมณ์ก๋าลี หลอกถามทางหั้น
จุมคนมากมาย ตังหลายดั่งอั้น ยามเกิดตั๋วตัน เปิ้งม้า

ชะต๋าราศี ตกปี๋สะง้า หื้อแป๋งเครื่องถ้า ปู่จา
เป็กแสงระยับ ประดับเคหา สินสิ่งไร่นา จ๊างม้าไฝ่อ้าง
สมเจ๋ตนา ศรัทธาที่สร้าง บ่บกเบาบาง นั้นเล้า

กุ๋มมารบรรพ์ กุ๋มมารลูกต๊าว อันอยู่ด่านด้าว ดงรี
เวสสันตระ พระพ่อระสี หื้อตานชาลี กั๋ณหาน้องหน้อย
ฝูงบุคคลา ชะต๋าแม่นถ้อย โหราตั๊ดรอย ปี่เม็ด

เปิ้งแพะตั๋วงาม บ่งนามออกเคล็ด ตั้งเกศน้อมเกล้า ตานเอา
จักเป๋นเจ้าจ๊าง ผาบกว้างกว่าเขา ยศศักดิ์บ่เบา ชื่อเสียงเข้มกล้า
ป๊บพระเมตไต๋ย ในภัทกัปหน้า เวียงนิปปานา บ่แกล๊ว

กั๋ณฑ์มัทรี โฉมดีเลิศแล้ว นางยอดมิ่งแก้ว ชายา
เซาะหาปี้น้อง ตังสองบุตต๋า ทั่วห้องศาลา พฤกษาไพรกว้าง
เปิ้งวอกปี๋สัน จวนกั๋นกึ๊ดสร้าง ครัวตานตำวาง สาธุ

สมผาถะนา ฑีฆาอายุ ลุรอดขวบเข้า ร้อยซาว
ผิวเนื้อพรรณะ วัยยะหนุ่มสาว อ่อนเอื้อทุกคราว บ่มีเหี่ยวแห้ง
สัพพะข้าวของ ไหลนองเตื่อมแถ้ง มีเงินค่าแปง จ่ายไจ๊

สักกะบรรพ์ เทวันราชไท้ แปล๋งเป๋นพราหมณ์ได้ ลงมา
เพื่อขอแล้วนี้ มัทรีเตียมต๋า พระก่ขุณณา ปล๋งปั๋นปล่อยหื้อ
หนักแหน้นดวงทัย มากมายหลายตื้อ หยาดน้ำถึงมือ อินทร์ต๊าว

ดวงชะต๋าคน จับหนปี๋เล้า เปิ้งไก่และเจ้า นายเฮย
สร้างตานแก่พระ บ่ละเพิกเฉย เทวดาเชย ปกปักหลังหน้า
ข้าวของหายสูญ ปายลูนปู๋นหล้า ป๊อยจักปิ๊กมา คืนนั้น

มหาราช สองนาฎหลานจั๊น กลับคืนเขตขั้น นคร
สญชัยต๊าวไท้ รีบได้ไถ่ถอน หลานคิ่นภูธร รับขวัญสู่ห้อง
ปี๋เส็ดเปิ้งหมา ชะต๋าตั๋วต้อง ดาเครื่องครัวกอง ตานน้อม

กุศลนำปา ยศฐาศักดิ์พร้อม ปริวารอ้อม จูจม
จักเป๋นเจ้าจ๊าง เหนือนางสนม ดนตรี๋ผารมณ์ ม่วนเพราะหิ่งห้อย
ฉักขัตติยา หกราชาสร้อย ปะกั๋นในดอย ป่าไม้

ชะต๋าราหู เปิ้งหมูปี๋ไก๊ แป๋งใจ๋หนิมไหว้ วันทา
เกิดเดชเต๋จ๊ะ ผละบุญหนา อริบ่มา ข่มเหงเอาได้
หมู่คนสักเสริญ จ๋ำเริญหายไข้ ป๊นจากโรคภัย สิ่งร้าย

กั๋ณฑ์นคร ธรรมต๋อนผูกท้าย สุดยอดขอดด้าย รวมเอา
กู้ปี๋เกิดนี้ บ่มีหมองเหงา ตึงเปิ้นตึงเฮา ช่วยกั๋นร่วมสร้าง
พระเวสสันดร ลาจ๋รป่ากว้าง สิกออกจากตาง นักพรต

กลับสู่สีพี บุรีงามงด ย้อมยศผาบด้าว อาณา
กุศลเลิศล้ำ บุญก๊ำรักษา จักเป๋นพระยา เสนาผ่อเฝ้า
ปริโภคา จ๊างม้าของเข้า รถล้อคันเลา พรั่งพร้อม

หมู่ญา-ติก๋า ไหลมาหลิ่งน้อม สมาคมต้อม ขุณณา
ฝูงหมู่สัตว์นก วิหคปักษา ปักขีติชา สีเนรับต้อน
พันข้อคาถา วาจ๋าเขาะข้อน ปู่จาบวร พุทธะ

ขอบุญกุศล เกิดผลพละ ป๊บพระเจื่องเจ้า ศรีอารย์
หมดเสียซึ่งทุกข์ สุขสามประก๋าร รอดพระนิปปาน เป๋นฝั่งก๊ำหน้า
ดับนิวรณ์ธรรม ตั๋วก๋รรมบาปกล้า สมผาถะนา แต๊นี้

อานิสังสา นำมากล่าวจี๊ ยุติมอกอี้ ค่าวโคลง
สุดซ้อยปล่อยลง ปลดปล๋งกำไว้ สาไหว้ลวดเอวัง ก่อนแลนายเหย

เฒ่าค่าว บ่าวกะโลง
วัดป่าสหธรรมิการาม (ศรีประดู่)
ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

รายการอ้างอิง

ก้อนแก้ว อภัย. (๒๕๑๕). ประเพณีพื้นเมืองฉบับโบราณ. เชียงใหม่: แสงชัยการพิมพ์.
ชูเกียรติ วงศ์รักษ์. (๒๕๓๙). ประเพณีเก่าเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่: ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเชียงใหม่.
คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส (ม.ป.ป.) เชียงใหม่: ธาราทองการพิมพ์.
ทวี เขื่อนแก้ว. (๒๕๔๑). ประเพณีเดิม. ลำปาง: เลี่ยงเชียง.
ธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่อง “อานิสงส์ยี่เป็ง ลอยประทีปโคมไฟ”. (๒๕๓๐). ลำพูน: ร้านภิญโญ.
ฝอยทอง สมวถา. (๒๕๔๖). เล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม. เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.
พระครูสิทธิวรเวช (สิงห์คำ กญจโณ). (๒๕๓๖). ศาสนพิธีพื้นเมือง: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสิทธิวรเวช. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
รัตนปัญญาเถระ. (๒๕๑๕). ชินกาลมาลีปกรณ์ (แสง มนวิทูร, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สามมิตร. (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางทองคำ สุวรรนิชกุล).
เรื่องเล่าล้านนา. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ ๑๙.
ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๒). ล่องสะเพา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๑, หน้า ๕๘๕๐-๕๘๕๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สงวน โชติสุขรัตน์. (๒๕๑๑). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.
เสถียรโกเศศ. (๒๕๑๐). ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน
สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ว่าวสี่แจ่ง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม ๑๒, หน้า ๖๒๕๗-๖๒๕๘). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ว่าวมน. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๒, หน้า ๖๒๕๘-๖๒๖๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ว่าวไฟ. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๒, หน้า ๖๒๖๐-๖๒๖๓). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ว่าว/ว่าวลม. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๒, หน้า ๖๒๖๓-๖๒๖๔). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). อานิสงส์ประทีส/ประทีป. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๕, หน้า ๗๘๘๖). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ตั้งธัมม์หลวง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๕, หน้า ๒๓๔๐-๒๓๕๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). อานิสงส์ผางประทีส/ประทีป. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๑๕, หน้า ๗๘๙๐). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). โคมหูกระต่าย. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๓, หน้า ๑๒๔๑). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ข้อมูล/รวบรวมและเรียบเรียง/ภาพประกอบ
ประสงค์ แสงงาม ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนาประตำโครงการ
และคณะทำงานโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้
ส่วนกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรกฎาคม ๒๕๕๒