ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพในวันวิสาขบูชา

ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพในวันวิสาขบูชา งานบุญวันวิสาขบูชา มีขบวนแห่น้ำสรงและผ้าไตรพระราชทานจากลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ประวัติประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพในวันวิสาขบูชา
ชาวล้านนาโดยเฉพาะชาวเชียงใหม่นั้น มีความผูกพันกับพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาทั้งมวลนั้นแห่งหนึ่ง คือ พระธาตุดอยสุเทพ สำหรับประเพณีการเดินขึ้นดอยสุเทพนั้น คนเฒ่าคนแก่ได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า “คงจะมีการเริ่มกันตั้งแต่เหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ วัดสวนดอกแยกออกเป็น 2 องค์ ทำให้พระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองราชย์สมัยนั้น คิดหา สถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง จึงทรงทำการเสี่ยงทายในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของปีนั้น ทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล ถ้าช้างไปหยุด ณ จุดใด ก็จะใช้สถานที่นั้น เป็นที่สร้างวัดเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ช้างเสี่ยงทายเริ่มเดินออกจากวัดสวนดอก บ่ายหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพไปจนถึงยอดชั้นที่ 1 ชื่อดอยหมากขนุน หรือดอยช้างนูน และขึ้นต่อไปถึงยอดชั้นที่ 2 ชื่อดอยสนามยอด หรือดอยสามยอด ระหว่างทางช้างเกิดสั่นและหยุดพักช่วงหนึ่ง พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ จุดที่ช้างพัก ปัจจุบันคือ วัดผาลาดเมื่อช้างหายเหนื่อยก็ลุกเดินต่อมุ่งหน้าไปจนถึงชั้นที่ 3 ชื่อว่า ดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีฤาษีวาสุเทพนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ ช้างก็ไปหยุดและตายที่นั่น พระเจ้ากือนาจึงทรงให้สร้างวัด พระธาตุดอยสุเทพขึ้นตรงจุดนั้น และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ และในปัจจุบันมีการปั้นรูปช้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
จากจุดที่ช้างเดินจากวัดสวนดอกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเส้นทางที่เรียกว่า ด่านช้าง ภายหลังจากที่สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพเสร็จแล้ว พระเจ้ากือนาก็ทรงใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ จนกลายมาเป็นประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพสืบต่อมา ด้วยเชื่อว่า จะทำบุญให้ได้กุศลแรงจะต้องเดินขึ้นไปทำบุญที่วัด
ประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ
ประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นเอกลักษณ์พิเศษของชาวล้านนา ต่อมาจุดเปลี่ยนแปลงของประเพณีเกิดขึ้นเมื่อปี 2477 เมื่อพระครูบาศรีวิชัยร่วมกับชาวล้านนาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เพราะเส้นทางเดิมที่ใช้เดินขึ้นดอยระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทางเดินเท้า ทั้งสูงชันและคับแคบ ดังนั้น เมื่อเดินทางไปถึงก็จะต้องพักแรมอยู่นมัสการอบรมสมโภชเป็นเวลาหลายวันถึงจะเดินทางกลับบ้าน เส้นทางที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นนั้น ชื่อ ถนนศรีวิชัย เริ่มจากวัดสวนดอกวิ่งไปตามถนนสุเทพ ผ่านวัดผาลาดไปยังพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งในตอนแรกที่ทำถนนเป็นถนนดินลูกรัง ต่อมามีการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางในปี 2524 เมื่อพระธาตุดอยสุเทพเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามเส้นทางระหว่างถนนศรีวิชัย ไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระครูบาศรีวิชัยและชาวพุทธได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด คือ วัดโสดาบรรณ หรือวัดศรีโสดา วัดสักกินาคา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโครงการควบคุมไฟป่าภูพิงค์ และวัดอนาคามี โดยวัดสักกินาคาและวัดอนาคามีถูกทำลายไปแล้ว
พระครูบาศรีวิชัยได้เปรียบการเดินทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพไว้ว่าเป็นเสมือนการเดินทางไปสู่การตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเปรียบเทียบวัดพระธาตุดอยสุเทพ คือวัดอรหันต์ ลักษณะการเดินทางจะเดินด้วยเท้า ถือประทีป ธูปเทียน เป็นริ้วขบวนประกอบด้วย พระสงฆ์เดินนำหน้าสวดมนต์ และประชาชนเดินตามหลัง โดยเริ่มขบวน ณ วัดโสดาบรรณ หรือ วัดศรีโสดา และนมัสการวัดสักกินาคม และวัดอนาคามี และเดินทางขึ้นไปนมัสการวัดพระธาตุดอยสุเทพหลังจากนั้นก็บำเพ็ญศีลวิปัสสนา ทำบุญตักบาตรในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วจึงเดินทางกลับ จึงถือว่าได้อานิสงส์แรง หรือได้ทำบุญมากนั่นเอง
ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพนี้จะจัดกันทุกปี ในคืนก่อนวันวิสาขบูชา ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเชียงใหม่ โดยลูกหลานชาวเชียงใหม่จะมาร่วมกันเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ โดยจะมีขบวนพระภิกษุสงฆ์ และขบวนของคณะต่างๆ ทั้งตัวแทนหมู่บ้าน บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆ และบรรดานักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ฯลฯ จะเริ่มเดินกันตั้งแต่ตอนเย็น จุดเริ่มต้นคือ หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินผ่านหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ และผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผู้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพ อันเป็นที่สักการะยิ่งของชาวเชียงใหม่ ก่อนผ่านไปเราก็ต้องกราบไหว้ครูบาศรีวิชัยกันก่อน และเดินไปตามถนนเรื่อยๆ ตามเนินเขาจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ ระยะโดยประมาณ 14 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางเดินขึ้นดอยสุเทพ จะมีจุดบริการทั้งหมด 10 จุด ซึ่งแต่ละจุดก็มาจากแรงศรัทธาของชาวเชียงใหม่ มีทั้งบริษัทห้างร้าน วัดต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานราชการ ได้จัดจุดบริการเพื่อร่วมศรัทธาอันแรงกล้า ซึ่งแต่ละจุดก็จะมีอาหาร และเครื่องดื่มต่าง ๆ แจกให้กับผู้ที่ร่วมเดินขึ้นดอยสุเทพฟรี แบบไม่คิดเงิน อีกทั้งยังจัดซุ้มพระประจำวันเกิด เพื่อให้ผู้ที่ร่วมเดินได้ทำการสรงน้ำพระประจำวันเกิด
กิจกรรม / พิธี
จากการที่มีถนนศรีวิชัยแล้วนั้น เส้นทางตั้งแต่อดีตที่พระเจ้ากือนาได้ใช้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพจึงไม่มีใครใช้ ทุกคนจึงหันมาใช้เส้นทางถนนศรีวิชัยแทน แต่ประเพณีการเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพในวันวิสาขบูชายังคงมีอยู่ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเดินขึ้นไปตามถนนที่พระเจ้ากือนาได้เสี่ยงทายช้าง เปลี่ยนมาเป็นทางถนน เริ่มที่ตอนเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เรื่อยไปจนถึงเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พุทธศาสนิกชนที่เปี่ยมด้วยศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศจะทยอยกันมาอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงการเดินทางขึ้นดอยสุเทพ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นในปี 2524 โดยจุดมุ่งหมายของอุทยานแห่งชาติต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการศึกษาวิจัย และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ดังนั้น ในสมัยก่อนที่มีการเดินขึ้นดอยสุเทพกัน อาจจะเป็นเฉพาะผู้ที่ต้องการจะขึ้นไปทำบุญ ยกเว้นชาวเขา เชื่อว่าสมัยก่อนคนเชียงใหม่ คงจะไม่มีใครเดินขึ้นดอยสุเทพไปเพื่อเที่ยวหรือพักผ่อน จะขึ้นไปก็ต่อเมื่อไปทำบุญเท่านั้นทุกคนควรละเว้นอบายมุขจนกระทั่งมีการตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ มีการอำนวยความสะดวกและมีการประชาสัมพันธ์ จึงทำให้คนเชียงใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาว นิยมขึ้นไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อพักผ่อนตามน้ำตก จุดชมวิวต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคมนาคมที่สะดวก รถยนต์ รถจักรยานยนต์จึงเป็นพาหนะที่พากันขึ้นไปแทนด้วยการเดินเท้า ซึ่งก็ถือว่ายังมีศรัทธาอยู่ แต่ที่ไม่สมควรคือ บรรดาวัยรุ่นกลับขึ้นดอยด้วยความสนุกเฮฮา ดื่มสุรา เล่นดนตรีก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา
ปัจจุบันทางศูนย์สื่อความหมายธรรมชาติ ได้จัดโครงการรณรงค์ฟื้นฟูประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพขึ้นใหม่ในปี 2535 และได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือเขต 1 เชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดถือเอาประเพณีดั้งเดิมมาเป็นต้นแบบและผสมผสานใหม่ให้เป็นแนวทางที่เหมาะสม เช่น ไม่มีขบวนอย่างเช่นในสมัยพระเจ้ากือนา ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการรณรงค์ฟื้ฟูประเพณีที่มีงามทางศาสนาดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยผสมผสานกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนการปลูกฝังให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่