ชาวล้านนาถือเอาเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ เป็นเดือนเปลี่ยนศักราชใหม่ เรียกกันว่า ปี๋ใหม่
ประเพณีปีใหม่เมือง
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา มีความแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้น ปีใหม่เมืองของชาวล้านนา จึงมีวันและกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติกัน มากกว่าสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วย วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม
ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาตรงกับเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ในฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนมาก และช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงถือเอาวันปีใหม่เป็นวันทำบุญใหญ่วันหนึ่งในรอบปี เป็นวันที่สนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เย็นฉ่ำ ถือขันน้ำรดน้ำให้แก่กัน มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มะกอน ม้าจ๊กคอก อีโจ้ง (โยนหลุม) จึงเป็นโอกาสที่เด็กๆหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้พบเจอกันและทำกิจกรรมร่วมกันผ่านประเพณีต่างๆ เช่น สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด ดำหัว ทำบุญที่วัดในวันพญาวัน ประเพณีปีใหม่เมือง
ก่อนจะถึงวันปีใหม่ บรรยากาศในทุกหมู่บ้านคึกคักด้วยการจัดเตรียมช่อตุงปีใหม่ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยนั่งตัดตุง หลากหลายสี
ประเพณีปีใหม่เมือง
มีตุงไส้หมู ตุงรูปคน ตุงสิบสองราศี ส่วนแม่เรือนพ่อเรือนปัดกวาดแผ้วถางบ้านให้สะอาดงดงาม เพื่อชำระล้างความสกปรกที่หมักหมมมาตลอดทั้งปี และต้อนรับสิ่งดีงามที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่
การคำนวณวันขึ้นปีใหม่ในแต่ละปี โหราจารย์หรือผู้รู้ด้านวัฒนธรรมล้านนาจะเป็นผู้คำนวณ และประกาศปีใหม่เมืองของปีนั้นๆ เรียกว่า ปักขะทืนล้านนา หรือหนังสือปีใหม่เมือง โดยถือเอาวันที่ราศีมีนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกันในแต่ละปี
ประเพณีปีใหม่เมือง
เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วจึงประกาศให้ชาวเมืองรับรู้ และปฏิบัติตนตามประเพณี เช่น วันที่ ๑๔ เมษายน อาจเป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๕ เมษายน อาจเป็นวันเน่า ๑๖ เมษายน อาจเป็นวันพญาวัน เป็นต้น ปัจจุบัน ชาวล้านนานิยมทำบุญ และทำกิจกรรมเทศกาลปีใหม่เมือง ตามวันหยุดราชการในปฏิทินสากล วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๔ เมษายน เป็นวันเน่า ๑๕ เมษายน เป็นวันพญาวัน
ประเพณีปีใหม่ของชาวล้านนา มีคติความเชื่อเกี่ยวกับขุนสังขานต์หรือขุนสังกรานต์ ซึ่งแตกจากความเชื่อของชาวไทยภาคกลาง คือไม่ได้กล่าวถึงท้าวกบิลพรหมและธรรมบาลกุมารแต่อย่างใด แต่กล่าวถึงขุนสังขานต์ในลักษณะ บุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนศักราชในแต่ละปี และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ จากการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์
ตำนานปีใหม่เมือง
ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาไม่ปรากฏชัดเจนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มณี พยอมยงค์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2549 สาขาวรรณศิลป์ ปราชญ์แห่งล้านนาได้ประมวลความจากตำนานต่างๆ ว่า ชนชาติไทยรับเอาประเพณีวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่นี้มานับพันปีแล้ว
ประเพณีปีใหม่เมือง ตำนานปีใหม่เมืองจากคัมภีร์เทศนาธรรมเรื่อง อานิสงส์ปีใหม่เมืองและคำเวนทานปีใหม่(ทวี เขื่อนแก้ว ,๒๕๔๑, หน้า ๗๐) กล่าวถึงตำนานปีใหม่เมืองไว้ว่า ธรรมบาลกุมาร บุตรของมหาเศรษฐี อายุเพียง ๗ ขวบ เป็นผู้ฉลาดหลักแหลม เรียนรู้ภาษาสรรพสัตว์ จนเป็นที่เรื่องลือไปทั่ว ท้าวกบิลพรหมผู้อยู่บนสรวงสวรรค์จึงลงมาถามปัญหา ๓ ข้อ ว่า “ตอนเช้า กลางวัน และกลางคืนศรีของคนอยู่ที่ไหน” โดยให้เวลา ๗ วัน ท้าวกบิลพรหมจะลงมาเอาคำตอบ ถ้าหากธรรมบาลกุมารตอบปัญหาไม่ได้จะต้องถูกตัดหัว และถ้าหากตอบถูกท้าวกบิลพรหมจะยอมถูกตัดเศียร เวลาล่วงมาได้เกือบ ๗ วัน ธรรมบาลกุมารยังไม่ได้คำตอบ แต่เผอิญไปนั่งอยู่ไต้ต้นไม้ต้นหนึ่งได้ยินเสียงนกคุยกันว่า “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ใบหน้า กลางวันอยู่ที่หน้าอก และกลางคืนอยู่ที่เท้า” ครบวันที่ ๗ จึงนำคำตอบนี้ตอบแก่ท้าวกบิลพรหม และเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ท้าวกบิลพรหมจึงยอมถูกตัดเศียร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนั้นมีอานุภาพร้ายนัก หากตกใส่แผ่นดินก็จะเกิดอัคคีไหม้ทั่วทั้งแผ่นดิน หากตกลงในน้ำ น้ำก็จะแห้งขอด หากตกในอากาศ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกเกิดความแห้งแล้ง
ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้ง ๗ นางนำเศียรใส่พานไปไว้ในถ้ำคัณธธุลีในเขาไกรลาศ และเมื่อครบปีให้ธิดา ๗ นาง ผู้เป็นลูกผลัดกันอัญเชิญออกมาแห่ในช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ผู้คนในโลกมนุษย์รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีใหม่
เรื่องธรรมบาลกุมารนี้ เข้าใจว่าล้านนารับอิทธิพลมาจากไทยภาคกลาง แต่ผลจากการศึกษาการชำระปฏิทินล้านนาโดยนักวิชาการร่วมกับปราชญ์ท้องถิ่น (ยุทธนา นาคสุข, ๒๕๔๖, หน้า ๔๔) พบว่า อดีตคติของชาวล้านนาให้ความสำคัญต่อขุนสังขานต์ ในลักษณะบุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นสุริยะเทพ และจากคัมภีร์สุริยยาตร์ได้กล่าวถึงการล่องของสังขานต์ในแต่ละปีนั้น มีขุนสังขานต์เป็นตัวเอก และมีนางเทวดามารอรับขุนต์สังขานต์ การล่องของขุนสังขานต์มีความยิ่งใหญ่อลังการ และมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามวันที่สังขานต์ล่องในแต่ละปี เช่น สีเครื่องนุ่งทรง เครื่องประดับ การถือสิ่งของในแต่ละมือ อิริยาบถ พาหนะ ทิศการเสด็จ ฯลฯ และคำทำนายมีอิทธิพลต่อ ประเพณีปีใหม่เมือง
ความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ เช่น เหตุการณ์สำคัญ ศึกสงคราม ของถูกของแพง ปริมาณน้ำฝน พืชพรรณธัญญาหาร เป็นต้น จากการศึกษาดังกล่าว พบว่าไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญต่อท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์เลย
ตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดปีใหม่เมือง ปรากฏในธรรมพื้นเมืองเรื่อง “อานิสงส์ปีใหม่เมือง” ซึ่งมีหลายสำนวน สำนวนที่ร้านภิญโญ ตลาดหนองดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อใช้ในการเทศนาเนื่องในประเพณีปีใหม่เมือง กล่าวถึงการกำเนิดของปีใหม่เมืองไว้ว่า
ที่นี่จักกล่าวยังตำนานปีใหม่ก่อนแล ผู้มีผญาพึงจักรู้ดังนี้เทอะ
อตีเต กาเล ในอตีตาล่วงแล้วมาก่อนนั้น ยังมีเศรษฐีสองผัวเมียมีข้าวของสัมปัตติมากนัก เท่าว่าบ่มีลูกเต้าบุตตาบุตรีไว้สืบตระกูลแล ที่ใกล้บ้านเศรษฐีนั้นยังมีผัวเมียแถมคู่หนึ่ง ทุกข์ยากไร้อนาถาหาเช้ากินค่ำ อันว่าสองผัวเมียนี้เล่า ยังมีลูกเต้าไว้สองคนพี่น้อง ชายผู้เป็นพ่อนั้นมักจักถงเหล้าบ่ขาดทั้งวันก็มีแล ยังมีในวันหนึ่งชายผู้นั้นมันได้ถงเหล้ามากนัก มันก็กล่าวซึ่งเศรษฐีนั้นว่า
ดูราท่านเศรษฐีเหย ท่านนี้นามั่งมีข้าวของเงินคำสัมปัตติมากเท้า หากว่าบ่มีประโยชน์เล่าอันใด ส่วนว่าตัวเรานี้นา ถึงจักทุกข์ไร้ก็ยังดีกว่าท่านมากนัก เหตุว่าเรานี้มีลูกไว้สืบแทนตระกูลแล ส่วนอันว่าเศรษฐีนั้นกล่าวว่า ถึงเราบ่มีลูกเต้าหญิงชาย เราก็มีข้าวของหลายไว้จ่ายใช้ บ่หันว่าจักได้เคืองขีแลนาท่านเฮย
ส่วนว่าชายขี้เหล้านั้น มันก็จาคำไปว่า ดูราท่านเศรษฐี หากว่าท่านได้ตายหนีไปหน้า อันว่าข้าวของเงินคำทั้งหลาย ก็จักเป็นของสาธารณ์ดายปางเปล่าแลนาท่านเฮย
เมื่อนั้นชายเศรษฐีได้ยินคำชายผู้นั้นกล่าวดั่งนั้น ก็มีใจใคร่ได้ยังลูกไว้สืบแทนตระกูล ก็พากันไปกระทำยังพลีกรรมกราบไหว้ ใต้ต้นไม้โพธิ์ไทร วิงวอนขอลูกเต้า ต่อรุกขเทวดาเจ้าก็มีแล ส่วนว่ารุกขเทวดาอันรักษาอยู่ต้นไม้ รู้ว่าเศรษฐีมีศีลมีธรรมบ่ขาดดั่งอั้น ก็ไปจาบอกเล่าต่อตนอินทราเจ้าได้รู้ชุประการ ส่วนว่าพญาอินทรารู้แล้วก็บ่ช้า รีบเสด็จไปกราบไหว้ ขอเทวบุตรเจ้าตนมีบุญลงมาเกิด เอากำเนิดในท้องนางเศรษฐี ครั้นว่าสิบเดือนมีมารอดแล้วเล่า นางก็ประสูติลูกเต้าเป็นชาย พ่อแม่จึงใส่ชื่อหมายไว้ว่าธรรมปาละ อาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ว่า นามนี้เป็นผู้รักษาธรรมก็เพื่ออั้นแล
ในกาลไปภายหน้า เจ้าธรรมปาละนั้นก็ได้เรียนยังสรรพสิปปา อันว่าเจ้าธรรมปาละนั้นมีผญาองอาจ จบฉลาดไตรเพททั้งมวลแล สมัตถะรู้ยังเสียงสัตว์ต่างๆ นานาได้ชะแล
ตทา ในกาลนั้นเล่า ยังมีมหาพรหมเจ้าชื่อกปิลตนองอาจ รู้ว่าเจ้าน้อยนาฏธรรมปาลกุมาร มีผญาเชียงคราญจบฉลาด ท้าวตนองอาจก็มาอิจฉาขอยมากนัก ก็รีบเสด็จมาสู่ ยังที่อยู่ธรรมปาลบ่ช้า แล้วก็เอ่ยถามยังปริศนา ว่า
ดูรากุมารเหยหนุ่มเหน้า เรารู้ว่าเจ้านี้มามีผญาฉลาด เหตุนั้นเราใคร่ถามยังปริศนา ครั้นว่าเจ้านี้เล่าสมัตถะแก้ได้ เรานี้ไซร้จักตัดหัวเราหื้อขาด ครั้นว่าเจ้านี้บ่อาจแก้ได้ยังปริศนา รอดเจ็ดวันมาครบไคว่แล้วดังอั้น คอแห่งเจ้านั้นเที่ยงว่าจักขาดตายเป็นผี อันว่าปริศนามีดังนี้เล่า คือยามเช้าสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน บทถัดไปว่ายามกลางวันสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน บทถ้วนสามถัดไป ว่ายามค่ำนั่นเล่า สิริหรือราศีแห่งคนหนุ่มเฒ่าอยู่ที่ไหนนั้นชา
ครั้นว่าท้าวกปิลมหาพรหมจากล่าวแล้ว ก็รีบคลาดแคล้วหายไปก็มีแลนา ที่นั้นธรรมปาลกุมารนั้นเล่า ได้ฟังปริศนาแห่งพรหมเจ้าไขปัน ก็มีใจตันกีดช้อม เหตุบ่อาจแก้ยังปริศนานั้นได้ ตราบต่อเท่ารอดเจ็ดวันไคว่เทิงมา ธรรมปาลนั้นนาคิดฉันใดก็บ่ออก เป็นดั่งมีหนามมายอกหัวใจ เจ้ารีบคลาไคลไปยั้งอยู่ ที่ไต้ต้นไม้โพธิ์ไทรคู่ใหญ่กว้าง อันเป็นที่อยู่สร้างแห่งสกุณาทั้งหลายก็มีแล
ที่นั้นยังมีนกหัสดิลิงค์สองตัวผู้แม่ ตัวใหญ่แท้มีงวงงาดังช้าง ก็มาอยู่สร้างในรังมัน ที่นั้นนกตัวแม่ก็จาคำไปว่า
ดูราสูเหย วันพรูกนี้ก็หากเป็นวันศีล เราจักไปหากินที่ใดกันนี้ชา ที่นั้นนานกตัวผู้ ก็กล่าวอู้ว่าวันพรูกนี้มารอด สองเรานี้บ่ต้องจักไปสอดแดนไกล เหตุว่าเราจักได้กินชิ้นมนุสสา ด้วยเหตุว่าเจ้าบุญหนาธรรมปาลกุมารนั้นไซร้ บ่อาจแก้ปริศนาได้ อันท้าวกปิลมหาพรหมพันธนันไว้แต่หัวทีนั้นแล
ที่นั่นนกตัวแม่นั้นก็ย้อนถามนกตัวผู้ ว่าปริศนานั้นมีอยู่ฉันใดชา จงกล่าวจาบอกชี้ หื้อได้รู้แจ้งถี่เทอะราแด่เทอะ ส่วนนกตัวผู้ก็กล่าวว่า ปริศนานั้นมีสามข้อ จักย่อๆ พอเข้าใจ บทแรกเค้าหัวที่ว่า ยามเช้าสิริหรือราศีคนเรานี้อยู่ที่ไหน มีคำแก้ไขไว้ว่า ยามเมื่อเช้าสิริหรือราศีคนเรานั้นอยู่ที่หน้า เหตุนั้นคนโลกหล้าหญิงชาย ครั้นตื่นเช้ามา จึงเอาน้ำล้างหน้าเพื่ออั้นแล
ปริศนาบทถ้วนสองนั้นเล่า ว่ายามเมื่อกลางวัน สิริหรือราศีคนเรา อยู่ไหน หากมีคำไขกล่าวแก้ ว่าสิริหรือราศีที่แท้หากอยู่ที่หน้าอก เหตุนั้นเล่าคนหนุ่มเฒ่าหญิงชาย ครั้นกาลยามสายเที่ยงแล้วดังอั้น จึงเอาน้ำเย็นใสสะอาด มาลูบลาดยังอกตน ก็เพื่ออั้นแลนา อันว่าปริศนาบทถ้วนสามนั้นเล่า ถามว่ายามแลงค่ำนั้นสิริหรือราศีคนเราอยู่ที่ไหน มีคำไขว่าเวลาค่ำนั้น สิริหรือราศีของคนเรานั้นอยู่ที่ตีน เหตุนั้นคนหญิงชายทั้งหลายนั้นเล่า ครั้นจักเจ้านอนพักผ่อนกายา จึงเอาน้ำมาซ่วยล้างตีนก็เพื่ออั้นแล
นกหัสดีลิงค์สองตัวแม่ผู้ อันจากล่าวอยู่บนต้นไม้ อันว่าเจ้าหน่อไท้ธรรมปาลนั้นเล่า อันนอนอยู่พื้นเค้าโพธิ์ไทร ครั้นได้ยินคำไขกล่าอู้ แห่งนกสองตัวผู้แม่ ก็รู้แจ้งแก่ยังปริศนานั้นชุอันๆ ก็มีแล
ครั้นว่าวันถ้วนเจ็ดมารอดแล้ว ท้าวต้นแก้วกปิลมหาพรหมก็เสด็จมาสู่ ไปที่อยู่ธรรมปาลกุมาร เพื่อจักขอฟังยังคำกล่าวแก้ปริศนา อันได้สัญญาว่าไว้ ส่วนเจ้าหน่อไท้ธรรมปาลกุมาร ก็ไขยังปริศนานั้นได้ชุประการ
ยามนั้นท้าวกปิลมหาพรหมตนองอาจ รู้ว่าหัวตนจักขาดไปจากบ่า ก็เรียกยังลูกหล้าทั้งเจ็ดนางมาหา แล้วก็สั่งจาว่าไว้ หื้อรู้เสี้ยงไคว่ตามมี ว่าครั้นหัวพ่อนี้ขาดแล้ว หื้อลูกแก้วเอาขันมาใส่ไว้ อย่าหื้อได้ตกลงไปภายใด ครั้นว่าหัวพ่อนี้ตกลงใส่ปฐวี จักเป็นอัคคีไฟลุกไหม้ ครั้นว่าตกลงใส่สาคร น้ำจักแห้งเขินเป็นเกาะดอนบ่ช้า ครั้นว่าเอาโยนขึ้นฟ้าภายบน ฟ้าฝนจักบ่ตกแถ้ง บ้านเมืองจักแห้งแล้งบ่มีประมาณ เหตุดั่งอั้นหื้อนงคราญลูกพ่อไท้ หื้อผลัดเปลี่ยนกันเอาขันใส่ไปไว้ที่ในถ้ำใหญ่เขาไกรลาส อย่าหื้อขาดชุปีแด่เทอะ
ครั้นว่าท้าวกปิลพรหมจาบอกเล่าลูกทั้งเจ็ดนางแล้ว ก็เอาดาบแก้วตัดยังคอตนบ่ช้า แล้วยื่นยังหัวหื้อนางหน่อหล้าธิดา อันมีนามาชื่อสร้อย ว่านางอ่อนน้อยทุงสเทวี อันทรงรูปงามดีผู้เค้า เอาขันใส่ยังหัวพ่อเจ้าแห่แหนกันไป สู่ดงไพรเขาไกรลาส บ่ได้ขาดชุวันปีใหม่ก็มีหั้นแล
อันว่าราชธิดาแห่งท้าวกปิลพรหมทั้งเจ็ดนั้นเล่า นางผู้เป็นเค้าชื่อทุงสเทวี นางผู้ถ้วนสองชื่อนามมีว่าโคราสัสสา นางผู้ถ้วนสามนั้นนาชื่อราคะสัสสะ นางผู้ถ้วนสี่ชื่อมณฑาเทวีหน่อเหน้า นางผู้ถ้วนห้านั้นเล่าชื่อสิริณียอดสร้อย นางผู้ถ้วนหกชื่อนางอ่อนน้อยกิมินทาหน่อไท้ นางผู้ถ้วนเจ็ดนั้นไซร้ชื่อมโหตระบุญหนา ครั้นว่าสังขารมาไคว่รอด นางแก้วยอดทั้งหลาย ก็ผลัดเปลี่ยนกันเอาขันใส่ ยังหัวพรหมพ่อไท้แล้วแห่แหนกันไปบ่ขาดชุปี ก็มีแลนา (ธรรมพื้นเมืองเรื่อง “อานิสงส์ปีใหม่เมือง” ร้านภิญโญ ตลาดหนองดอก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน)
ความสำคัญของปีใหม่เมือง
ปีใหม่เมือง นั้นมีความหมายและความสำคัญต่อคนล้านนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเริ่มต้น ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต ความงอกงาม ความสุข โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓ หน้า ๕๑; โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑ หน้า ๕)
ประเพณีปีใหม่เมือง
๑. เป็นการเปลี่ยนปี เปลี่ยนศักราช
ตามระบบปฏิทินและโหราศาสตร์ เมื่อถึงวันสังขานต์ล่องจุลศักราชจะเลื่อนขึ้นอีกหนึ่งปี ในหนังสือปีใหม่เมืองหรือปักกะทืนล้านนา ใช้ศักราช ๒ ระบบ คือจุลศักราช และพุทธศักราช ซึ่งจุลศักราชนั้นได้รับอิทธิพลมาจากพม่า ซึ่งน้อยกว่าพุทธศักราชจำนวน ๑๑๘๑ปี
สังฆราชบุพโสรหันต์ ชาวพม่าเป็นผู้ตั้งขึ้น ชาวล้านนารับเอาระบบปฏิทินที่พม่าตั้งจุลศักราชขึ้นมาใช้ก่อนพุทธศักราชจะเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง อาจเป็นเพราะอดีตล้านนาเคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศพม่า และรับตำราการคำนวณปฏิทินมาจากพม่าจึงใช้ระบบจุลศักราชเป็นหลักในการคำนวณ
๒. เป็นการเตือนตน สำรวจตรวจสอบตนเอง
เริ่มเข้าสู่ปีใหม่ จะเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านชีวิต การเปลี่ยนปีทำให้อายุเพิ่มขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นการย้ำเตือนของวันและวัยที่เพิ่มขึ้น และสำรวจตรวจสอบตนเองทบทวนอดีตที่ผ่านมา ได้ทำอะไรไว้บ้าง สิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี ก่อเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด และวางแผนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ตั้งอยู่กับความประมาท ยอมรับในความจริง ความโรยราของสังขาร และการวางตัวให้เหมาะสมกับวัย
๓. เป็นการชำระสะสางสิ่งหมักหมม
การเข้าสู่ปีใหม่ ในวันสังขานต์ล่องตามจารีตประเพณี จะต้องทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอนหมอนมุ้ง อาบน้ำ ดำหัว นุ่งผ้าใหม่ เพื่อเริ่มต้นสู่ปีใหม่ ดังนั้นสิ่งสกปรกที่หมักหมมมาตลอดทั้งปี จะต้องได้รับการชำระสะสาง ให้สะอาดหมดจด รวมถึงการชำระล้างจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจาก ความเศร้าโศก ความหม่นหมองที่เกิดขึ้นในใจ เพื่อเข้าสู่การเริ่มต้นที่ดีงาม ประเพณีปีใหม่เมือง
ประเพณีปีใหม่เมือง
๔. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
เมื่อทบทวน สำรวจตรวจสอบตัวตน และชำระล้างจิตใจที่เศร้าหมองให้สะอาดแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เบิกบานเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยสิ่งดีงามเป็นมงคล เช่น การนุ่งผ้าใหม่ การสระเกล้าดำหัว การทำบุญ ทานขันข้าว ปักตุง สืบชะตา บูชาเทียนปีใหม่ ฯลฯ พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต เสริมสร้างขวัญกำลังใจ และพลังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
๕. เป็นการรำลึกถึงบุญคุณ
กิจกรรมในวันปีใหม่เมือง เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้มีโอกาสพบเจอกับ ผู้มีพระคุณต่างๆเพื่อไปสุมาคารวะ ดำหัว คือการไปขอขมาลาโทษที่ได้ล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ และขอพรปีใหม่จากผู้มีพระคุณ เช่น พ่อ แม่ ปู่ย่า ตา ทวด ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ ผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อแสดงความกตัญญู รำลึกในบุญคุณ และเยี่ยมเยือนไตร่ถามสารทุกข์สุกดิบ
กิจกรรมในวันปีใหม่เมือง
ประเพณีปีใหม่เมืองของชาวล้านนา ในอดีตมีกิจกรรมที่กระทำตามวันต่างๆ กินเวลากว่า ๗ วัน โดยแต่ละวันจะมีการปฏิบัติตนแตกต่างกันไปตามจารีตประเพณี ซึ่งประกอบด้วยวันต่างๆดังนี้
๑. วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง
๒. วันเน่า เป็นวันที่๒ ของปีใหม่เมือง
๓. วันพญาวัน เป็นวันที่๓ ของปีใหม่เมือง
๔. วันปากปีเป็นวันที่๔ ของปีใหม่เมือง
๕. วันปากเดือนเป็นวันที่๕ ของปีใหม่เมือง
๖. วันปากวันเป็นวันที่๖ ของปีใหม่เมือง
๗. วันปากยาม วันที่ ๗ ของปีใหม่เมือง
ประเพณีปีใหม่เมืองในปัจจุบัน นิยมยึดถือปฏิบัติกันเพียง ๔ วันคือวันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน และวันปากปี เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนในยุคปัจจุบันมีชีวิตที่เร่งรีบบีบรัดกว่าแต่ก่อน และประกาศหยุดสงกรานต์ทางราชการกำหนดให้แค่วันที่ ๑๓ -๑๕ เมษายน
วันสังขานต์ล่อง
วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ “สังขานต์” คือคำเดียวกับ “สงกรานต์” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ก้าวล่วงแล้ว” วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า (การออก เสียง กร คนล้านนาจะออกเสียงเป็น ข เช่น คำว่า โกรธ ออกเสียงเป็น โขด คำว่า ชาวกรอม ออกเสียงเป็น ชาวขอม ดังนั้น”สงกรานต์” จึงออกเสียงเป็น “สังขานต์” ) ในหนังสือประเพณีสิบสองเดือนล้านนาให้ความหมายว่า สังกรานต์ หมายถึงวันเดือนปีที่ล่วงไป (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๕๖) ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (๒๕๔๒, หน้า ๖๗๒๔) กล่าวถึงวันสังกรานต์ล่อง คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีน จะเข้าสู่ราศีเมษ
วันสังขานต์ล่องในแต่ละปีอาจไม่ตรงกันทุกปี เช่น พ.ศ.๒๕๕๑ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน (ปฏิทินล้านนา ฉบับวัดธาตุคำ) แต่ปัจจุบันนิยมยึดถือตามประกาศวันหยุดสงกรานต์ของทางราชการ ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปีเป็นวันสังขานต์ล่อง (ดุสิต ชวชาติ. ประธานชมรมปักขะทืนล้านนา, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ประเพณีปีใหม่เมือง
วันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโปก หรือประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส
เด็กๆมักจะถูกหลอกให้ไปซักผ้าที่แม่น้ำแต่เช้าตรู่ เพราะจะได้เห็นสังขานต์ล่องที่แม่น้ำ คนโบราณได้สมมุติตัวสังขานต์เป็นคนแก่สองคน คือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ถ่อแพไหลมาตามแม่น้ำ(บัวผัน แสงงาม. ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒) บ้างก็ว่าปู่สังขานต์และย่าสังขานต์หาบกระบุงตะกร้า เดินมาตามถนน เพื่อมารอรับเอา
เสนียดจัญไรทั้งหลาย ไปขว้างทิ้ง บ้างก็ว่าปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ ห่มผ่าสีแดงล่องแพมาตามแม่น้ำ นำพาสิ่งไม่ดีเป็นอัปมงคลมาด้วย จึงต้องขับไล่ด้วยเสียงดังของประทัดเร่งเร้า ให้ผ่านไปโดยเร็ว วันนี้คนโบราณจึงจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ซักผ้า เผาเศษขยะใบไม้ให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายหมดสิ้น ไปพร้อมๆกับสังขานต์ที่ล่องไป (น้อย ปราใจประเสริฐ. ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒) ประเพณีปีใหม่เมือง
ประเพณีปีใหม่เมือง
สิ่งสมมุติว่าเป็นปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์นั้น แท้จริงคือ ตัวตนของเราที่กำลังไหลล่องไป ตามวัยของสังขาร มีอายุที่มากขึ้น จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีนั้น จะต้องขว้างทิ้งเสียสิ่งเศร้าหมอง ทีมีอยู่ในกาย วาจา และใจนั่นเอง สิ่งสำคัญในวันนี้คือการ “ดำหัว” โดยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคล และในวันนี้ มีการทำพิธีลอยสังขานต์ที่แม่น้ำใหญ่ โดยการทำแพต้นกล้วย ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ ตุง อาหารคาวหวาน แห่ด้วยฆ้องกลองอย่างครึกครื้น
ในการทำพิธี มีการปั้นข้าวแป้งลูบไล้ตามตัว เพื่อขจัดเสนียด จัญไร จากนั้นนำแป้งมาปั้นเป็นรูปตัวเปิ้ง หรือนักษัตรตามปีเกิดของตนเอง อธิษฐานและใส่ลงในแพ และปล่อยให้แพไหลไปตามแม่น้ำ มีปู่อาจารย์เป็นผู้ทำพิธี ในปัจจุบัน พิธีลอยสังขานต์ ยังคงปฏิบัติกันที่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (เปี้ย เก่งการทำ. ปู่อาจารย์วัดยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๑)
ในวันนี้ยังมีพิธีสำคัญ คือ การแห่พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมือง ให้ประชาชนสรงน้ำและสักการบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลเริ่มต้นปีใหม่ และวันนี้ยังเป็นวันเริ่มต้นของการรดน้ำปีใหม่อย่างแท้จริง ชาวล้านนาใช้สะลุงใส่น้ำสำหรับรดน้ำปีใหม่ โดยรดน้ำที่หัวไหล่ พร้อมกับยิ้มแย้มแจ่มใสให้แก่กัน ส่วนใหญ่จะให้พรไปด้วยว่า โชคดีปีใหม่เน้อเจ้า (ครับ)
ดำหัววันสังขานต์ล่อง
การดำหัววันสังขานต์ล่อง เป็นกิจกรรมที่เป็นจารีตประเพณีที่ทำกันมาแต่อดีต การดำหัว ในความหมายโดยทั่วไปของชาวล้านนา หมายถึงการสระผม แต่การดำหัววันสังขานต์ล่อง หมายถึงการชำระล้างสิ่งอัปมงคลในชีวิตด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย การดำหัววันสังขานต์ล่อง จะต้องหันหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ในปักทืน หรือหนังสือปีใหม่เมือง ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น ปักขะทืนล้านนา
ปีพ.ศ.๒๕๕๒ ฉบับวัดธาตุคำ จังหวัดเชียงใหม่ คำนวณโดยพระครูอดุลสีลกิตติ์ กล่าวถึงการดำหัววันสังขานต์ไว้ว่า “ในวันสังขานต์ไปนั้นจุงหื้อพากันสระเกล้าดำหัว ยังแม่น้ำ ทางไคว่ เค้าไม้ใหญ่นอกบ้านชายคา อว่ายหน้าไปสู่ทิสะหนใต้ แล้วอาบน้ำส้มปล่อยดำหัว อาบองค์สรงเกศเกล้า ด้วยมนต์วิเศษสรูปเภท เปนคาถาว่า สัพพะทุกขา สัพพะยา สัพพะอันตรายา สัพพะทุนนิมิตตา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทวา วินาสันตุ” แปลได้ว่า “ในวันสังขานต์ล่องให้พากันสระเกล้าดำหัวที่แม่น้ำ ทางสี่แยก
หรือต้นไม้ใหญ่ที่อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หันหน้าไปทิศใต้ แล้วนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยสระผม และอาบด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เสกน้ำส้มปล่อยด้วยคาถา สัพพะทุกขา สัพพะยา…” (พระครูอดุลย์สีลกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน, ๒๕๕๑)
ผู้นำในการดำหัววันสังขานต์ล่องนี้ มีหัวหน้าครอบครัว เช่น พ่ออุ้ยแม่อุ้ย (ปู่ย่าตายาย)หรือพ่อบ้าน จะเป็นผู้เสกฝักส้มปล่อย ด้วยคาถา “โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม” (สนั่น ธรรมธิ, ๒๕๔๘) แล้วนำส้มปล่อยไปแช่น้ำ และเสกด้วยคาถามนต์น้ำส้มปล่อย เช่น “สัพเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะอุบาทว์ สัพพะพายาธิแลกังวลอนตรายทังหลาย ขอหื้อตกไปพร้อมกับสังขานต์ เคราะห์ทางหลังอย่ามาถ้า เคราะห์ทางหน้าอย่ามาหา พุทธังถอด ธัมมังถอด สังฆังถอด หูรู หูรู สวาหาย” (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๗๙) หลังจากนั้นเอาน้ำส้มปล่อยมาลูบศีรษะตนเองก่อน แล้วจึงลูบศีรษะสมาชิกในครอบครัว และมักนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเช็ดล้างกาลกิณีที่ร่างกาย เช่น ในหนังสือปีใหม่เมืองล้านนา พ.ศ.๒๕๕๒ กล่าวว่า กาลกิณีอยู่ที่ปาก จัญไรอยู่ที่บ่า จึงให้นำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาเช็ดปากและบ่า จึงจะเป็นศิริมงคล (พระครูอดุลสีลกิตติ์, ๒๕๕๑, หน้า ๔-๕)
ทิศที่ควรหันหน้าในการดำหัววันสังขานต์ล่องตามตำราโบราณ
มีดังนี้ (โฮงเฮียน.สืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๓)
สังกรานต์ล่องวันอาทิตย์ ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สังกรานต์ล่องวันจันทร์ ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตก
สังกรานต์ล่องวันอังคาร ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศใต้
สังกรานต์ล่องวันพุธ ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศใต้
สังกรานต์ล่องพฤหัสบดี ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สังกรานต์ล่องวันศุกร์ ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันออก
สังกรานต์ล่องวันเสาร์ ดำหัวอว่ายหน้าไปทิศตะวันตกเฉียงใต้
ในวันนี้ ตามประเพณีแต่โบราณมานั้น เจ้าผู้ครองนคร หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นกษัตริย์ที่ปกครองล้านนา ก็จะต้องสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้ และลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำ ดังเช่นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต ประกอบพิธีลอยเคราะห์และดำหัวที่แม่น้ำปิง ท่าวัดเกตุการาม เดิมจึงชื่อว่าวัดสระเกษ (พระครูอดูลย์ศิลกิตติ์. เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑; มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๖๖)
การดำหัวแบบโบราณอีกวิธีหนึ่ง ต้องทำสะตวง มีดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ข้าวหนม หมากพลู เหมี้ยง บุหรี่ อย่างละ ๔ ชิ้น และนำเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ตามปีเกิดของตน ดังนี้
ปีเกิด เศษไม้ รูปปั้น
ปีไจ้(ชวด) โพธ์ ผีอารักษ์ อีแร้ง กวาง
ปีเป้า(ฉลู) บุนนาค สุนัข
ปียี(ขาล) ไผ่ ผีอารักษ์ งู
ปีเหม้า(เถาะ) หว้า ไก่ งู
ปีสี(มะโรง) ต้นข้าว ไก่ หมู
ปีไส้(มะเส็ง) หาด ผีอารักษ์
ปีสะง้า(มะเมีย) แค สุนัข
ปีเม็ด(มะแม) แค สุนัข
ปีสัน(วอก) กระเซา สุนัข
ปีเร้า(ระกา) ก่อ เสือโคร่ง
ปีเส็ด(จอ) ยอ เสือแผ้ว
ปีไก๊(กุน) กอบัว ยักษ์
เมื่อเตรียมสะตวง เครื่อพลีกรรม และรูปปั้นเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มประกอบพิธี โดยหันหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ ในหนังสือปีใหม่เมือง และกล่าวคำโอกาสว่า
“ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบ่ได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการบูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลีเทอะ”
ว่าจบ ให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วเสกน้ำส้มปล่อยด้วยคาถา
“โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม”
หลังจากนั้นสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำส้มปล่อยตกลงในสะตวง จึงนุ่งผ้าใหม่และทัดด้วยดอกไม้นามปี หรือพญาดอก แล้วนำสะตวงยกขึ้นเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ ลอยสะตวงลงแม่น้ำ หรือไว้ในที่อันควร เช่น ต้นไม้ใหญ่ ทางสี่แยก เป็นต้น ให้หันหลังกลับบ้านทันที ห้ามหันหลังมาดูสะตวง (สนั่น ธรรมธิ ,๒๕๔๘)
ทัดดอกไม้นามปีและนุ่งผ้าใหม่
หลังจากพิธีดำหัวเสร็จแล้ว จะต้องแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ หากเป็นผู้หญิงในวันนั้นก็จะทัดดอกไม้ อันเป็นนามปีหรือเป็นพญาดอกไม้ของปีนั้นๆด้วย
เช่นในปีพ.ศ.๒๕๕๑ ได้แก่ดอกแก้ว หรือดอกพิกุล เป็นพญาดอกไม้นามปี ควรทัดด้วยดอกแก้ว ปีพ.ศ.๒๕๕๒ ดอกเก็ดถะหวา (ดอกซ้อน) เป็นพญาดอกไม้นามปี ควรทัดดอกเก็ดถะหวา การทัดดอกไม้อาจจะนำมาประดับมวยผม หรือแซมผม (พระครูอดุลย์สีลกิตติ์. เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
การคำนวณ หาดอกไม้นามปีให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่ตั้ง หารด้วย ๘ ได้เศษเท่าไหร่ ทำนายตามนี้
เศษ ๑ ดอกเอื้อง
เศษ ๒ ดอกแก้ว
เศษ ๓ ดอกซ้อน (มะลิ,เก็ดถะหวา)
เศษ ๔ ดอกประดู่
เศษ ๕ ดอกบัว
เศษ ๖ ดอกส้มสุก (อโศก)
เศษ ๗ ดอกบุญนาค
เศษ ๘ ดอกก๋าสะลอง (ดอกปีบ)
เศษ ๐ ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)
ตัวอย่างเช่น ใน พ.ศ.๒๕๕๒ ลบด้วย ๑๑๘๒ คือจุลศักราศ ๑๓๗๐ หาร ด้วย ๘ ได้เศษ .๒๕ ปัดขึ้นเป็นเศษ ๓ ดอกไม้นามปี ได้แก่ ดอกซ้อน หรือดอกเก็ดถะหวา (เกริก อัครชิโนเรศ และคณะ, ๒๕๔๖, หน้า ๗๐ -๗๑)
พิธีลอยสังขานต์ (ล่องสังขานต์แบบอำเภอแม่แจ่ม)
ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำพิธีล่องสังขานต์ในลำน้ำแม่แจ่ม (ฝอยทอง สมวถา, ๒๕๔๖, หน้า ๘๒) ปัจจุบันเหลือเพียงหมู่บ้านยางหลวงที่ยังคงยึดถือปฏิบัติพิธีนี้อยู่ พิธีนี้ทำกันในช่วงบ่าย เริ่มจากชาวบ้านช่วยกันทำแพต้นกล้วย ให้เป็นสะตวงใหญ่วางบนแพ ตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ หลากสี ในสะตวงใส่เครื่องพลีกรรม ได้แก่ ข้าวหนม อาหาร ผลไม้ มะพร้าว กล้วย อ้อย ใส่ควัก (กระทง) และข้าวแป้งสำหรับใช้ปั้นเป็นรูปนักษัตประจำปีเกิด
เมื่อทำสะตวงเสร็จแล้ว ทุกคนช่วยกันแบกเป็นขบวนแห่หามแพสังขานต์ด้วยฆ้องกลองไปยังลำน้ำแม่แจ่ม วางแพไว้ริมฝั่งน้ำ ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี และกล่าวเสกข้าวแป้งด้วยคาถา “ยะถาวารีวาโห ปุโรสัพพะการัง ยักขียันติ เอวะเมตัง ยักขีโต หูมหังหูมเห เถถะเมหัง ขิปัง”
จากนั้นให้ทุกคนปั้นแป้งเป็นก้อน เอาเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว แขนขา โดยเชื่อกันว่าเป็นการเช็ดเอาเสนียดจัญไร เคราะห์ภัยต่างๆ สิ่งชั่วร้ายที่มีอยู่ในเนื้อตัวออกไป เสร็จแล้วปั้นแป้งเป็นสัตว์ประจำปีเกิด นำไปใส่ในสะตวง พ่ออาจารย์ผู้ประกอบพิธี ก็จะกล่าวคำโอกาส ดังนี้
“โภนโต ดูราปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ วันนี้ก็เปนวันดี ตามวาระปีใหม่มาครบรอบปี ตามประเวณีมาแต่ก่อน เพื่อบ่หื้อส่อนหายสูญ ถึงวันที่ ๑๓ เมษายนก็เปนวันสังขานต์ล่อง ผู้ข้าทั้งหลายก็ได้ตกแต่งเครื่องสักการบูชา มีน้ำขมิ้นส้มปล่อยและโภชนะอาหาร มาถวายเพื่อส่งสังขานต์ปีเก่า เปนเคราะห์และนามสิ่งที่บ่ดีบ่งาม ได้กระทำไว้บ่ถูก ก็ขอหื้อตกไปตามแม่น้ำทางหลวง เคราะห์พันพวงก็ขอหื้อไปตามปู่สังขานต์ย่าสังขานต์เสียในวันนี้ ปีใหม่วันใหม่เดือนใหม่ ที่จักมาภายหน้า ขอหื้อผู้ข้าทั้งหลายจุ่งจำเริญ อายุวัณณะ สุขะ พละ และโชคชัยลาภะ ริมาค้าขึ้น กระทำสวนไร่นาก็ขอหื้อได้ข้าว มีลูกมีเต้าหลานเหลนก็ขอหื้อสอนง่ายดั่งใจ ขอหื้อฟ้าฝนตกมาตามฤดูกาล ยุต่างกินทานอย่าได้ขาดจิ่มเทอะ”
หลังจากนั้น ทุกคนนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาสระเกล้าดำหัวลงในแพสังขานต์ และนำไปลอยลงน้ำแม่แจ่ม เพื่อให้เคราะห์ภัยต่างๆ ลอยไปกับสายน้ำพร้อมกับปีเก่า (เปี้ย เก่งการทำ. ปู่อาจารย์วัดยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๕ ธันวาคม, ๒๕๕๑)
กิจกรรมอื่นๆ ในวันสังขานต์ล่อง
ในวันสังขานต์ล่อง ยังนิยมนำวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง พระพุทธรูป มาชำระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย และนิยมปลูกฟักเขียว ฟักทอง โดยนำมูลควายตากแห้งมาทำปุ๋ย
เชื่อว่า เป็นที่ชื่นชอบของปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ (มณี พยอมยงค์, ๒๕๔๓, หน้า ๖๔) นอกจากนั้น ยังนิยมทำบุญโดยการปล่อยนกปล่อยปลา และเด็กๆ และคนในวัยหนุ่มสาว นิยมเริ่มรดน้ำปีใหม่กัน ก่อนวันสังขานต์ล่องแล้ว โดยมักจะเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เรื่อยไปจนถึงวันพญาวัน ในชนบทบางแห่ง ยังนิยมรดน้ำปีใหม่กันจนถึงวันปากปี
การแห่พระพุทธสิหิงค์
วันนี้ในเมืองเชียงใหม่ จะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงค์วรวิหาร เสด็จขึ้นบุษบกในช่วงเช้า และช่วงบ่ายอัญเชิญแห่รอบเมืองเชียงใหม่ ให้ประชาชนได้ทำการสรงน้ำขมิ้นส้มปล่อย ขบวนแห่ประกอบด้วย ขบวนช่อช้าง ขันนำทาน ช่างฟ้อนเล็บ กลองตึ่งโนง เครื่องสักการะล้านนา หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน ต้นดอก และมีขบวนพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปวัดดับภัย วัดดวงดี วัดศรีเกิด ฯลฯ เข้าร่วมแห่ในขบวน การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปสำคัญเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประเพณีปีใหม่เมือง จะทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว (สุวรรณ เทพจันทร์. ชาวบ้านตำบลศรีภูมิ ศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ความเชื่อเกี่ยวกับวันสังขานต์ล่อง
สังขานต์ล่องในแต่ละปี มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต เห็นได้จากมีการทำนายเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ ๑๓ กล่าวถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันสังขารล่อง ดังนี้
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันอาทิตย์ ชื่อว่า ทวารสสังกรานต์ ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง สังกรานต์ขี่นาคขี่รถไปยามอังคาร มือ ๑ ถือแก้ว มือ ๑ ถือผาลา จากหนอีสานไปสู่หนปัจจิม นางสงกรานต์ผู้มารับยืนไปมีชื่อ นางแพงศรี (ทุงษะเทวี) ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง แมงบ้ง(หนอนแมลง) จักลงกินพืชไร่ข้าวนามากนัก ฝนตกบ่ทั่วเมือง จักแพ้สัตว์ ๒ ตีน ๔ ตีน จักตายด้วยห่าด้วยพยาธิ คนทั้งหลายมักเป็นตุ่มเป็นฝีแผล จักแพ้ผู้ใหญ่ คมมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย หมากเกลือจักแพง ไม้ยางเป็นใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่ สัตว์ ๔ ตีนจักแพง ผู้เกิดวันพุธจักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันเสาร์จักมีโชคลาภ
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันจันทร์ ชื่อว่า ปโรโทสังกรานต์ขี่ครุฑ บางแห่งว่าขี่ม้าไปจากหนวันตกเฉียงใต้ไปยามพุธ มือซ้ายพาดตักมือขวาถือตุลย์คือคันชั่ง นางอันเป็นธิดาพระพรหมผู้มารับนั่งยองๆ รับเอา ชื่อว่านางมโนรา (โคราคเทวี) ปีนั้นงูจักเกิดมีมากนัก คนทั้งหลายจักเกิดเป็นพยาธิมากนัก ฝนหัวปีดีหางปีบ่พอดี ข้าวกล้าลางที่ดี ลางที่ก็บ่ดี ไม้กุ่มเป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้เดื่อเกลี้ยง (ไม้เดื่ออุทุมพร)คนเกิดวันอังคารจักมีเคราะห์ คนเกิดวันพุธจักมีโชค ของเขียวของเหลืองจักแพง ของลายจักถูก
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันอังคาร ชื่อว่า โฆรัสสสังกรานต์ นั่งบนตักผียักษ์ ไปจากหนเหนือไปหนตะวันออกเฉียงใต้ ไปยามพฤหัสบดี มือซ้ายเท้ามือขวาถือหลาวเหล็ก บางแห่งว่าถือดาบสรีกัญไชย แลนางธิดาผู้มารับเอานั้นชื่อว่า รากษสเทวี นอนคว่ำรับเอาแล ฝนหัวปีดีกลางปีไม่ดี ปลายปีดีมาก ข้าวไร่ข้าวนาจักเสีย ลูกไม้บ่มีหน่วยหลาย ของขาวจักถูกของแดงจักแพงจักแพ้ผู้หญิงมีครรภ์ บ้านเมืองจักเกิดกลียุค แมลงมีปีกจักทำร้ายพืชผักข้าวกล้ามากนัก ไม้พิมานเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลายขวัญข้าวอยู่ไม้อ้อยช้าง (ไม้อยู่ในป่าคล้ายต้นละหุ่ง) ผู้เกิดวันอาทิตย์จักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันพฤหัสบดีจักมีโชค
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันพุธ ชื่อว่า มัญจาคีรี สังกรานต์ไปยามศุกร์ จากหนวันออกไปหนใต้ เท้าสวมเกือก (ใส่รองเท้า) หมวกสวมหัว มือซ้ายถือผาลา มือขวาถือดาบ ธิดาผู้มารับเอาเศียรพระพรหมชื่อ มันทะ นั่งคุกเข่ารับเอาแล ฝนตกบ่ทั่วเมืองหัวปีมีมากกลางปีมีน้อย ข้าวในนาจักได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจักแพง ปีนั้นจะแพ้สมณพราหมณ์ ขุนบ้านขุนเมืองจักตกต่ำ ไม้สะเลียม (สะเดา) เป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวพึ่งไม้คราม ปีนั้นสัตว์ ๔ ตีนจักแพง ของเขียว ของดำ ของขาว ของเหลืองจักแพง ของแดงจักถูก คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์ วันเสาร์จักมีโชค แลนางเทพธิดาที่มารับเศียร โหราศาสตร์ไทยชื่อว่า มณฑา
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันพฤหัสบดี ชื่อว่า สมันตสังกรานต์ พิงตะแคงเหนือปราสาทซึ่งตั้งอยู่บนหลังม้า ไปยามพฤหัสบดีมือซ้ายถือดาบ มือขวาเท้าคางไป บางตำรามือขวาถือแก้ววิฑูรย์จากหนวันตกไปหนวันออก ธิดาผู้มารับชื่อ นางกัญญาเทพนั่งคุกเข่ารับเอาแล ฝนปีนั้นตกเสมอต้นเสมอปลายชอบตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิตะ พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ คนค้ากินเที่ยวจักมีเคราะห์ ไม้สักเป็นไม้ใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวาว คนเกิดวันศุกร์จักมีเคราะห์ คนเกิดวันอาทิตย์จักมีโชค ของขาวของแดงจักแพง ของเหลืองจักถูก นางธิดากบิลพรหมผู้มารับเศียรในโหราศาสตร์ไทยชื่อว่า กิรินีเทวี
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันศุกร์ ชื่อว่า มโตสังกรานต์ ขี่วัวไปยามอาทิตย์ มือซ้ายเท้าแขน มือขวาพาดอุ้มท้อง บางตำราว่ามือซ้ายถือขวาน มือขวาทูนก้อนหิน ลุกจากหนวันออกเฉียงใต้ไปหนวันตกแจ่งเหนือแล นางผู้รับชื่อ ริญโท นั้งยองๆ รับเอาฝนตกหัวปีดีกลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนา พืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ปีนี้ผู้หญิงจักมีเคราะห์ ไม้สะเดาเป็นพระยาไม้ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทรา คนผู้เกิดวันพฤหัสบดีจักมีโชค ผู้เกิดวันพุธจักมีเคราะห์ สัตว์น้ำจักแพง พืชผักจักถูก เทพธิดาผู้มารับตามโหราศาสตร์ไทย ชื่อว่า กิมิทาเทวี บางตำราว่า นางสิตา
สังขารล่อง หรือสังขานต์ล่อง หรือสังกรานต์ล่องวันเสาร์ ชื่อว่า มรณสังกรานต์ ขี่ปราสาทลมไปลุกวันออกไปแจ่งใต้ไปหนเหนือยามจันทร์ มือซ้ายถือคบเพลิง มือขวาถือไม้เท้า เทพธิดาของกบิลพรหมผู้มารับเศียรชื่อว่า สามาเทวี นั่งยองๆ รับเอาแล ปีนั้นฝนแล้ง แมลงต่างๆ จะทำร้ายพืชไร่มากนัก ไฟจังไหม้บ้านเมือง เกิดอัคคีภัยใหญ่ ปีนั้นจักแพ้ผู้ใหญ่ ข้าวยากหมากแพง ผู้เกิดวันจันทร์จักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันศุกร์จักมีโชค นางเทพธิดาที่มารับเอาบางแห่งว่า นางโพธา ในโหราศาสตร์ว่า นางมโหธรเทวี
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันสังขานต์ล่อง
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันอาทิตย์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่นาค มือซ้ายถือค้อนเหล็ก มือขวาถือปืน มุ่งหน้าจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก มีนางสิริเป็นผู้รับ ปีนั้นฝนจะตกดีต้นปี ปลายปีฝนจะแล้ง ไม้ยางขาวจะเป็นใหญ่กว่าไม้ทั้งหลาย ลาจะเป็นใหญ่ นกยูงเป็นใหญ่ คนเกิดวันอังคารจะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชคลาภ ของเหลืองของขาวจะแพง ของแดงจะถูก ปีนี้ดำหัว(สระผมในวันสังกรานต์ล่อง)ให้หันหน้าไปทางตะวันตก จะอยู่ดีมีสุข
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันจันทร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ครุฑไปจากทิศอีสานสู่ทิศหรดี มือซ้ายถือหอก มือขวาถือขอช้าง มีนางมโหสถเป็นผู้รบ ปีนี้ฝนจะดี คนจะเป็นไข้กันมาก ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้เดื่อ(มะเดื่อ) คนเกิดวันพฤหัสจะมีเคราะห์ คนเกิดวันพะจะมีโชค ของขาวของแดงจะแพง ของเขียวจะถูก ดำหัวให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะอยู่ดีมีสุข
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันอังคาร (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์)ขี่ยักษ์ จากทิศเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนางสุนันทารับ ปีนี้ฝนแล้งต้นปีกลางปี ปลายปีฝนจะมีมาก ไม้กระชาวเป็นใหญ่ หญ้าปล้องเป็นใหญ่ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้อ้อ คนเกิดวันอาทิตย์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชค ดำหัวให้หน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันพุธ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์)ขี่ควาย มือซ้ายถือดาบ มือขวาถือดอกไม้ขาว ออกจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก มีนางสิรินันทารับ ปีนี้ฝนดีปานกลาง สัตว์สี่เท้าจะแพง ของดำแดงจะถูก ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้ป่านเถื่อน(ต้นดอกรัก) คนเกิดวันอาทิตย์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์จะมีโชค ดำหัวหน้าไปทางทิศเหนือ
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันพฤหัส (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ม้า มือซ้ายถือน้ำเต้า มือขวาถือพัด ออกจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนางสิริกัญญารับ ปีนี้ฟ้าฝนดี น้ำท่าจะท่วมบ้านเมือง คนเป็นไข้กันมาก สมณชีพราหมณ์จะเดือดร้อน สัตว์มีปีกจะแพง ของดำของเขียวจะถูก ไม้กระชาวเป็นใหญ่ ขวัญข้าวอยู่ที่ไม้พร้าว คนเกิดวันจันทร์จะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชค ดำหัวให้หน้าไปทางทิศใต้
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันศุกร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่วัว มือซ้ายถือไม้เท้า มือขวาถือค้อนเหล็ก มุ่งหน้าจากทิศตะวันออกสู่ทิศเหนือ มีนางสุชาดารับ ปีนี้ต้นปีแล้ง กลางปีฝนมีมาก มีผลหมากรากไม้ ไม้ยมหินเป็นใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย หญ้าคาเป็นใหญ่แก่หญ้าทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ที่ต้นพุทรา คนเกิดวันจันทร์มีเคราะห์ คนเกิดวันพุธมีโชค ดำหัวให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
วันสังขานต์ล่องที่ตรงกับวันเสาร์ (พญาสังกรานต์ ขุนสังกรานต์) ขี่ปราสาท มือซ้ายถือขวาน มือขวาถือค้อนเหล็ก จากทิศอีสานไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนางโพธานั่งยองๆ รับเอา ปีนี้ฟ้าฝนไม่เสมอกัน ไฟจะไหม้บ้านเมือง ไม้สะเดาเป็นใหญ่ สัตว์สี่เท้าสองเท้าจะแพง ของดำเหลืองจะถูก คนเกิดวันอาทิตย์จะมีโชค คนเกิดวันพฤหัสจะมีเคราะห์ ให้บูชาพระธาตุ ปล่อยสัตว์สองเท้า ดำหัวให้หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรนั่งไปดังอั้น ปีนั้นคนทั้งหลายมักจักกลั้นข้าวอยากน้ำกันมากนักแล ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรนอนไปดังอั้น เสนาอำมาตย์ทั้งหลายย่อมมีใจคดเลี้ยวแก่ท้าวพญา ไฟจักไหม้บ้านเมืองแล ครั้นว่าปีใดสุริยเทวบุตรยืนไปดังอั้น คนทั้งหลายจักอยู่ดีมีสุขมากนักบ่อย่าชะแล(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา , ๒๕๕๑, หน้า ๔๐ –๔๓; ธรรมพื้นเมืองเรื่อง ตำนานอานิสงค์ปีใหม่พื้นเมือง)
วันเน่า
วันเน่า เป็นวันที่สองของปีใหม่เมือง วันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นปีใหม่ เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังเนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในแง่โหราศาสตร์ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมมงคล และเชื่อว่าหากใครด่าทอ ทะเลาะ วิวาทกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็นเป็นอัปมงคลตลอดทั้งปี วันนี้จะไม่ดุด่า ว่าร้ายให้แก่กัน ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น “วันดา” คือวันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆเพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็กๆ บ่าว สาว เฒ่า แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย
เหตุที่ทางล้านนาเรียกวันนี้ว่าวันเน่า เพราะเชื่อตามวรรณกรรมที่มีการกล่าวขานกันมาว่า นานมาแล้วยังมีพญาตนหนึ่งได้ตายจากไปในวันหลังวันสังขารล่อง แล้วกลายไปเป็นเปรตหัวเน่า คนจึงเรียกวันนี้ว่าวันเน่า วรรณกรรมดังกล่าวได้แก่ธัมม์ หรือธรรมเรื่องอานิสงส์ปีใหม่ กล่าวว่า
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระยาสุริยะครองเมืองกลิงคราษฏร์ เลี้ยงผีปีศาจไว้มากมาย ตายไปในวันหลังสังขารล่องหนึ่งวัน ไปเกิดเป็นเปรตหัวเน่าอยู่นอกฟ้าจักรวาล ครั้นภายหลังภริยาสองนางตายไปเกิดเป็นเปรตอยู่ด้วยกัน เปรตทั้งสองนางจึงช่วยกันล้างหัวเน่าของพญา จึงเรียกว่าวันนี้ว่า วันเน่า
คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว
วันเน่าหรือวันเนานี้ บางปีจะมีสองวัน บางปีจะมีวันเดียว ส่วนมากจะมีวันเดียว ที่มีสองวันเพราะการนับวันตามแบบจันทรคตินั้น สี่ปีจะมีเดือนเดือนสิบ ๒ หนแบบไทยล้านนาครั้งหนึ่ง หรือสี่ปีจะมีเดือนแปด ๒ หนตามแบบไทยภาคกลางครั้งหนึ่ง หรืออาจเกี่ยวข้องกับการคำนวณวันเวลาตามแบบโหราศาสตร์ที่ตกทอดกันมาแต่ดั้งเดิม (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๔)
ไปกาดวันเน่า
วันนี้ตลาดเช้าของแต่ละหมู่บ้านจะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีคนเต็มตลาด ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านชาวเมือง ที่มาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของกินของใช้ต่างๆ นานาที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้า ครัวดำหัว ผลไม้ ฯลฯ เพื่อใช้ในการทำบุญและดำหัวผู้มีพระคุณ
สมัยโบราณลูกสาวของแต่ละบ้านจะตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพื่อมาตำข้าวแป้ง หรือโขลกแป้งข้าวเหนียวไว้ทำขนมจ็อกหรือขนมเทียน หนุ่มๆ ก็จะตื่นเช้าเป็นพิเศษเช่นกัน เพื่อถือโอกาสไปอู้สาวตำข้าว หนุ่มใดชอบสาวใด ก็จะไปยังผามมองที่สาวคนนั้น ไปตำข้าวแป้ง ผามมองหรือโรงกระเดื่องนี้ ในอดีตจะมีทุกบ้าน บางท้องถิ่นสามสี่บ้าน จะรวมกันใช้ผามมองร่วมกัน จึงเป็นโอกาสพบปะระหว่างหนุ่มสาวได้พบกัน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๕)
เตรียมขนมและอาหารปีใหม่
วันนี้ช่วงสายๆ แม่บ้านพ่อเรือนจะช่วยกันเตรียมขนมหรือข้าวหนมที่จะใช้ทำบุญ ดำหัวและเลี้ยงแขก เป็นของฝากญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือน ในอดีตพ่อเรือนมักจะนิยมดองเหล้าไว้ล่วงหน้า โดยใช้กรรมวิธีแบบโบราณ ใช้ส่าเหล้าหมักกับข้าวสารไว้ในไห และจะเปิดดื่มเพื่อเลี้ยงแขกในช่วงปีใหม่พอดี ส่วนข้าวหนมที่มักนิยมทำกันในช่วงปีใหม่ ได้แก่ ข้าวหนมจ็อก ข้าววิตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มหัวงอก ข้าวต้มมัด ข้าวหนมจั้น ข้าวแคบ ข้าวควบ ข้าวแตน ข้าวหนมเกลือ ข้าวหนมลิ้นหมา ฯลฯ แป้งทำข้าวหนมก็ได้จากการนำข้าวไปตำที่ครกกระเดื่อง ไม่ได้ซื้อหากันอย่างปัจจุบันนี้ ส่วนอาหารก็มักจะเป็น ห่อนึ่งปลีใส่เนื้อไก่ ใส่วุ้นเส้น ห่อนึ่งหน่อส้มใส่ไก่ แกงอ่อม แกงฮังเล ชิ้นสม(แหนม) เป็นต้น (น้อย ปราใจประเสริฐ ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
ขนทรายเข้าวัด
ประเพณีขนทรายเข้าวัด ส่วนใหญ่นิยมขนทรายกันในวันเน่า มีบางท้องถิ่นขนทรายในวันพญาวัน ทรายส่วนใหญ่ในอดีตจะต้องพากันเดินไปเอาทรายที่แม่น้ำใหญ่ เพราะช่วงเดือดเมษายนน้ำจะแห้งขอด จะเกิดหาดทรายขึ้นทั่วไป เช่น คนในเมืองเชียงใหม่จะถือขันสลุงไปตักทรายแม่น้ำปิงตรงเชิงสะพานนวรัตน์ มาก่อเจดีย์ทรายที่วัดของตน (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑) ขณะขนทรายเข้าวัด กล่าวคำขนทรายเข้าวัดเป็นภาษาบาลีว่า “อะโห วะตะ เม วาลุกัง ติระตะนานัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ” วนไปวนมาจนขนทรายเสร็จ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗)
ประเพณีปีใหม่เมือง
การขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย มีคติในการกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่นก่อเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ เท่าจำนวนอายุ ก่อเจดีย์ทรายตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อเสร็จ ให้นำตุงเทวดา ตุงคน ตุงไส้หมู ตุงสิบสองราศี ช่อ ข้าวตอกดอกไม้ปักประดับเป็นพุทธบูชา บางวัดก็นิยมสานเสวียนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือทำเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ๙ ชั้น เรียกว่า “เจดีย์ทรายสุดซ้าว” เพราะเปรียบเทียบความสุงยาว ขนาดเท่ากับลำไม้ไผ่ที่เป็นแกนเสวียนสุงถึงปลายสุดไม้ไผ่ เจดีย์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ทรายจำนวนมาก ดังนั้นการทำเจดีย์ทรายสุดซ้าว จะต้องอาศัยความสามัคคีความร่วมมือจากชาวบ้าน ในชุมชนเป็นอย่างมาก
ตำนานการขนทรายเข้าวัด มีความเป็นมากล่าวไว้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ทรงทอดพระเนตรเห็นทรายที่ขาวสะอาดที่ชายหาด ด้วยพระราชศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงทรงก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์ การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร” ดังนั้นการก่อพระเจดีย์ทราย ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ (พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องเตือน ให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ เช่นเดียวกับพระพุทธรูป) ถือว่าได้อานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นคตินิยมทำสืบต่อกันมา
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สมัยพระพุทธเจ้าเป็นชายสามัญมีนามว่าติสสะ เป็นคนยากจนเข็ญใจ แสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดฟืนขาย แต่เป็นผู้มีศีลธรรมดีเป็นที่รักของประชาชน อยู่มาวันหนึ่งติสสะเดินออกจากบ้านเข้าไปในป่า เห็นมีลำธารไหลผ่านมีหาดทรายขาวสะอาดงดงามนัก ติสสะมีจิตปสาทะอยากทำบุญ จึงได้เอาทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ แล้วฉีกเสื้อที่ตัวเองสวมอยู่นั้นฉีกเป็นตุงหรือธงปักลงบนยอดเจดีย์ แล้วอธิษฐานว่า “อิมินา ปุญญกมเมนา ทัง วาลุกเจติยัง กตรา สุขี อัตตานัง ปริหารันโต นิพพานะปัจจโยมันหิ เม นิจิจจัง” ด้วยอำนาจการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริหารตนให้มีความสุขและเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเจ้าเถิด และขอให้บุญเกื้อหนุนให้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์โลก เมื่อพระโพธิสัตว์ติสสะบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้วตายลง ต่อมาได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน (รังสรรค์ จันต๊ะ, ๒๕๔๘)
นอกจากการขนทรายเข้าวัดจะได้รับอานิสงส์ตามตำนานที่กล่าวมานี้แล้ว อีกประการหนึ่ง การขนทรายเข้าวัด ถือเป็นการชดเชยใช้หนี้คืนให้แก่ธรณีสงฆ์ เป็นการขอขมาต่อ “ข่วงแก้วทั้งสาม” (ลานพระรัตนตรัย) เพราะในอดีต ลานวัดจะปูด้วยทรายทั่วทั้งบริเวณ เรียกว่า “ลานทราย” มีคติความเชื่อว่าลานทรายเปรียบเสมือนทะเลสีทันดรที่รอบล้อมจักรวาล ส่วนโบสถ์วิหารหรือพระเจดีย์เปรียบเป็น เขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล ยอดสูงสุดของพระเจดีย์ที่เรียวแหลม เหมือนจะทะลุฟ้าขึ้นไปนั้นคือเป้าหมายสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย อันอาศัยอยู่ในมงคลจักรวาลเรานี้ นั่นคือเมืองแก้วมหาเนรพาน หรือพระนิพพานเป็นที่สิ้นสุด (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗) ดังนั้น ทรายที่อยู่ตามลานวัดนั้นถือเป็นของสงฆ์ ทั้งนี้มีคติความเชื่อที่ว่าการนำของสงฆ์ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะเป็นปาบอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากการเดินเข้าข่วงลานวัดแล้วเดินออกไปจากวัด อาจจะมีดินทรายที่เยียบย่ำติดเท้าออกไปด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เมือง ก็จะมีการขนทรายเข้าวัดเพื่อใช้หนี้สงฆ์จะได้ชดเชยบาปที่เม็ดทายติดตัวออกไป และทรายที่ขนมานั้นยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือนำไปใช้เพื่อปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ภายในวัดให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ตุงปีใหม่
ในวันเน่า คนแก่คนเฒ่า หรือผู้ที่มีฝีมือในการตัดตุง ก็จำนำกระดาษว่าวหลากสีมาตัดเป็นตุงรูปลักษณะต่างๆ เช่น ตุงไส้หมูหรือช่อพญายอ ตุงเทวดา ตุงคน ตุงสิบสองราศี ช่อนำทาน เพื่อเตรียมไว้ปักเจดีย์ทรายในวันพญาวัน ไม้ที่นิยมนำตุงไปมัดติด เช่น ต้นเขือง กิ่งไผ่ ต้นข่า ต้นกุ๊ก เป็นต้น การถวายทานตุงนี้ คนล้านนาเชื่อว่าหากเราตายไปตกอยู่ในนรกภูมิ ตุงที่เราทำถวายทานเป็นพุทธบูชานั้น จะไปกวัดแกว่งให้เราเกาะชายตุงนั้นไว้ ตุงจะนำพาเราให้รอดพ้นจากนรกอเวจี นำขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์
ตุงเปิ้ง ตุงไส้หมู
ในตำนานหิรัญนครเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงการทานตุงว่า ทำให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากการตกนรกไว้ว่า สิงห์กุฏฏอำมาตย์เอาธงคือตุงและหยาดน้ำ ครั้นสิ้นชีวิตต้องเสวยวิบากในนรก พญายมถือว่าได้ผลทานตุงและทานน้ำส่งกุศลให้ขึ้นสวรรค์ ยังมีเรื่องพรานฆ่าเนื้อเบื่อปลา เคยเห็นตุงพระประธานองค์ใหญ่วัดศรีโคมคำอันพายุพัดไปมาดูงามแก่ตายิ่งนัก จึงสร้างตุงผืนใหม่ถวายบูชา ครั้นตายไป ก่อนลงขุมนรกก็มีตุงที่ตนถวายทานแล้วนั้นพันกายให้พ้นจากนรก
เมื่อตติยศักราชได้ ๙๐๖ ตัว ปีชวด อัฐศก เดือน๗ เพ็ญ มีชาวขานนำตุงรูปภาพผืนหนึ่งมาบูชาพระประธานใหญ่ พอถวายแล้วก็เอาขึ้นแขวนบนเพดาน แล้วก็พลาดตกลงมาตาย ธงผืนนั้นก็รับเอาชายผู้นั้นไปขึ้นสวรรค์ ไปปรากฏที่พระเกศแก้วจุฬามณี (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๘)
ด้วยเหตุนี้ในช่วงประเพณีปีใหม่ ชาวล้านนาจึงมีบูชาตุงและก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องด้วยอานิสงส์ดังกล่าว
ตุงไส้หมู
พิธีลอยเคราะห์วันเน่า
พิธีลอยเคราะห์วันเน่า เป็นพิธีกรรมแบบโบราณในปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว ปรากฏในหนังสือตำราพิธีส่งเคราะห์แผนโบราณ โดย ตรีรัตน์ แม่ริม เขียนถึงพิธีลอยเคราะห์วันเน่าไว้ว่า
เมื่อถึงวันเน่า(เนาว์)ของสงกรานต์ ปีใหม่เมืองเหนือทุกๆ ปี ถ้าท่านต้องการให้หมดเคราะห์หมดภัย ให้อยู่สุขสบายนั้น ก็ให้ทำพิธีส่งเคราะห์ลอยเคราะห์วันเน่าตามพิธีโบราณ ให้ทำในวันเน่านั้นแล
ให้ทำสะตวงหยวก ๑ อัน กว้างยาว ๑ ศอกเท่ากัน แล้วให้เอาดินมาปั้นรูปต้นไม้และสัตว์ที่เป็นกำเนิดของท่านใส่ และใส่เครื่องครัว ข้าวปลาอาหาร ลูกส้มของหวาน พร้าวตาลกล้วยอ้อย ข้าวตอกดอกไม้ ช่อ ๔ ตัวปักไว้ ๔ มุมสะตวง เทียน ๔ เล่มปัก ๔ ทิศของสะตวง เมื่อถึงวันเน่าตอนเย็นๆ ก็เตรียมเครื่องบูชาไปสู่ท่าน้ำแม่ใหญ่ พร้อมแล้วให้อ่านคำโอกาสลอยเคราะห์ว่า
ดูกราเจ้ากู ข้าเกิดมาเพื่อเจ้ากูแล เท่าว่าเราอยู่จิ่มกัน ภัยก็เกิดมีมาชะแล เจ้ากูจุ่งรับเอายังเคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์กำเนิดเกิดมา สรรพเคราะห์ทั้งมวล อันมีในตนตัวแห่งข้านี้ไปกับตนเจ้ากู แล้วจุ่งกระทำนำมา ยังวุฒิสวัสดี ลาภะ ยัสสะ สัมปัตติ อันมาก แล้วจุ่งหื้อเป็นที่ไหว้ปูชาระหะ วันทาระหะแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้ามีศรีทีฆาอายุมั่นยืนยาว มั่งมูลทุ่นเท้า เป็นดังจักวรรดิคหบดี แลสิมพลีเถรเจ้านั้นเสี้ยงปีนี้ทั้งมวล แก่ผู้ข้าแด่เทอะ
ว่า ๓ รอบแล้วเอาสะตวงเวียนแวดหัวผู้บูชานั้น๓ รอบแล้วปล่อยลอยแม่น้ำไปเสีย เอาน้ำส้มปล่อยสระหัวลงในสะตวงนั้นด้วย แล้วกลับบ้านอย่าเหลียวคืนหลัง กลับถึงบ้านเลย
รูปต้นไม้และรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินใส่ในสะตวงนั้น ผู้เกิดปีชวด ไม้ศรีมหาโพธิ์ รูปผีเสื้อยักษ์๑ ตัว เกิดปีฉลู ไม้บุนนาค๑ รูปหมา๑ตัว ปีขาล รูปผีเสื้อยักษ์๑ตัว ไม้ไผ่๑กอ ปีเถาะรูปไม้ชมพู๑ต้นไก่๑ตัว ปีมะโรงรูปต้นข้าว๑กอ รูปไก่๑ตัว ปีมะเส็ง รูปไม้หัด๑ต้น ผีเสื้อยักษ์๒ตัว ปีมะเมีย รูปไม้แก รูปหมา๑ตัว ปีมะแม ปีวอก ต้นไม้ทองกวาว๑ต้น หมา๑ตัว ปลา๑ตัว ปีระกา รูปไม้มะกอกรูปเสือโคร่ง๑ตัว ปีจอ รูปไม้มะตาเสือรูปเสือ๑ตัว ปีกุน รูปดอกบัว๑กอ รูปผียักษ์๑ ตัว
รูปเหล่านี้ ถ้าคนที่บูชานั้นเกิดปีใดก็ ให้ทำรูปนั้นๆ วางไว้กลางสะตวง เอารูปสัตว์วางไว้พื้นของต้นไม้ คล้ายกับมาพักพึ่งอาศัยอยู่ร่มไม้นั้นแล จบลอยเคราะห์วันเน่าแล (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๙ – ๒๐)
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า
วันเน่าไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปีวันเน่าควรตัดไม้ไผ่ที่จะสร้างบ้าน มอดปลวกจะไม่มากินเชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๑๗; บัวผัน แสงงาม ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
วันพญาวัน
วันพญาวัน วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ เรียกว่า “ทานขันข้าว” บางแห่งว่า “ทานกวั๊ะข้าว” หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นช่วงไปดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต เช่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้ทัดดอกเก็ดถว๋า (ดอกซ้อน) โดยให้เสียบที่มวยผม (พระครูอดุลสีลกิตติ์, ๒๕๕๑, หน้า ๔) นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
ทานขันข้าว
การทานขันข้าว เป็นการถวายอาหารให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ อาจเป็นของที่ผู้ตายชอบทาน หรืออาหารขนมทั่วไป ใส่ในถาดหรือตะกร้าและมีซองปัจจัยเขียนคำอุทิศไว้หน้าซอง
เช่น ศรัทธานายปั๋น นางคำ อุทิศถวายแด่แม่อุ้ยแก้ว ผู้ล่วงลับ บางคนก็จะถวายเป็นบุญสำหรับตัวเองเรียกว่าทานไว้ภายหน้า หมายเอาว่าสะสมกองบุญไว้สำหรับตัวเองในอนาคต หรือในปรโลกถ้าเผื่อบางทีไม่มีผู้ที่จะทำบุญอุทิศไปหาเรา บางคนถวายทานแด่ เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา พ่อเกิด แม่เกิด ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธา บัวผัน แสงงาม ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
การทำบุญอุทิศไปหาผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ หากจะทานไปหาผีตายเก่าเน่านานที่ตายธรรมดา ก็จะเข้าไปถวายในวัด แต่หากผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผีตายโหง เป็นผีตายร้าย ไม่ได้ตายดี ก็จะทานขันข้าวนอกวัด คือนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรออกมารับทานที่นอกกำแพงวัด เพราะถือว่าผีตายร้ายผีตายโหงและตายไม่ดีอื่นๆ เข้าไปในเขตวัดไม่ได้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๔)
วันนี้พระภิกษุสามเณรเองก็ต้องตื่นแต่เช้ามากๆ เช่นเดียวกัน เพราะชาวบ้านมักนิยมมาทำบุญทานขันข้าวมากว่าปกติ บางครั้งพระสงฆ์อาจจะแยกย้ายกันทำพิธีเช่นว่านี้หลายแห่ง ตามกุฏิพระ ศาลาวัด วิหาร ศาลาบาตร ตามมุมต้นไม้ต่าง ๆ เนื่องจากผู้คนมาทานขันข้าวในวันพญาวันมากกว่าวันพระและวันศีลปกติ เสียงพระให้พรดังไปทั่วบริเวณที่ผู้คนมาทานขันข้าว เด็กวัดหรือ “โขยม” ตามภาษาล้านนา ช่วยกันขนของที่ผู้คนนำมาถวายพระไปเก็บ การทานขันข้าวนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องทานเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น บางคนอาจนำไปทาน ให้แก่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า “ทานขันข้าวคนเฒ่าคนแก่” หรือ บางพื้นที่มีการนับถือผีปู่ย่า ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษ ผีเสื้อบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่นับถือ ผู้คนก็จะนำขันข้าวนี้ไปถวายด้วยเพื่อขอปกปักษ์รักษาให้ทุกคนอยู่ดีมีสุข และถือเป็นการสุมาคารวะในช่วงปีใหม่เมือง (เจริญ มาลาโรจน์, สัมภาษณ์, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒) ตุงไส้หมู
ทานตุงปีใหม่
หลังจากทานขันข้าว บ้างก็กลับบ้านนำเอาธงหรือตุงไปปักพระเจดีย์ทราย บ้างก็ให้ลูกหลานเป็นผู้นำมาปักที่กองเจดีย์ทรายตรงลานวัด บางแห่งก็นิยมนำน้ำใส่ขันสะหลุงมาบูชารดลงที่กองเจดีย์ทรายนั้นด้วย การถวายทานด้วยตุงปีใหม่นี้ มีคติว่าการทานตุงนั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่
มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ โดยหางตุงหรือชายตุงจะกวัดแกว่งไปถึงยมโลก ให้ผู้ที่ตกนรกนั้นเกาะชายตุงขึ้นสู่สวรรค์ ในการทำบุญอุทิศเจดีย์ทรายหรือทุงนั้น”ปู่อาจารย์”หรือมัคนายกจะกล่าวนำศรัทธาประชาชนไหว้พระรับศีล และอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์แบบย่อพอควรแก่เวลา จากนั้นปู่อาจารย์จะโอกาสเวนทานถวายเจดีย์ที่ศรัทธาประชาชนรวมกันสร้างขึ้น ดังมีคำกล่าวโอกาสเวนทานสำนวนหนึ่งดังนี้
วันนี้เป็นวันดีปีใหม่ เถิงขวบไคว่พระญาวัน เป็นผู้เข้าใจหันเลยหลิ่งหลู้ คึดขวาดรู้มาหลายพากันขนดินทรายมาสู่วัดเล่า ทำเป็นรูปพระเจ้าเรียกว่าเจดีย์ทราย ได้ยกสัตว์ในอบายออกมาเป็นอันมาก ตามดั่งธัมม์พระพุทธเจ้าหากเทศนา ในอดีตกาละเมื่อก่อน บ่ใช่เป็นความซ่อนลี้ อันมีเป็นความจริง ยังมีมนุสส์ชายญิงในโลก กระทำบาปแล้วไปบังเกิดในอบาย มีพระบุญผายผ่านเผ้า นามกรเจ้าชื่อว่ามหาเถรเทพมาลัย ท่านได้เดินไปกรายแลไปใกล้ สัตต์ในอบายเลยสากราบไหว้ท่านตนบุญมี ขอพออุดหนุนอินดูผู้ข้า หื้ออว่ายหน้าไพสู่ทางดี ที่นั้นลูกสิกข์พระมุนีตนผ่านเผ้าก็ได้ถามว่า สูเจ้ากระทำบาปเยื่องใดพ่องจา ฝูงสัตว์อบายก็เจียรจาตอบต้าน กล่าวชอบตามกรรมมี เมื่ออยู่ในโลกีย์โลกห้อง กระทำบาปไว้พร้อม ต่าง ๆ นานา ที่เขาได้กระทำมาต่อหน้ามหาเถรเจ้า เขาก็ยกมือสาใส่เกล้า จักหื้อหมู่พี่น้องเมืองคน กระทำบุญอย่างใดเล่าจักได้พ้นจากอบายนี้ชา เขายกมือสาก้มกราบ ว่าข้าเจ้าขอฝากยังข่าวสาร ที่ข้าเจ้าอยู่บ่สำราญไปบอก แก่ชาวเมืองนอกชมพูพ่อเชื้อเผ่าวงศ์วาน อันลูกหลานฝูงเป็นเปรตผี อันอยู่ยังโขงเขตอบาย หื้อสูเจ้าทังหลายกระทำบุญไปบ่ขาด หื้ออุทิศบุญนั้นฝากไปหา ฝูงญาติกาเขาเจ้า อันหนึ่งเล่าหื้อสูเจ้าได้สร้างเจดีย์ทราย หื้อมีจิตใจผ่องแผ้ว เอาไปไว้ที่ข่วงแก้วทังสาม หื้อแปลงใจบานงามสะอาด แล้วหื้ออังเชิญสารีริกธาตุ อันมีในหมื่นโลกธาตุจักรวาล อังเชิญมาประดิษฐานเจดีย์ทรายที่สร้างไว้ พอหื้อครบเจ็ดวันนี้ไซร้ สัตตเม ทิวเส ครั้นนครบเจ็ดวันมาไคว่ ฝูงเม็ดทรายน้อยใหญ่ขอเป็นทรายตามเดิม ส่วนหมู่ฝูงญาติพี่น้อง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างญาติของตน ได้ยินพี่น้องพระมหาเถรมาลัยบอกกล่าว ฝูงพี่น้องเล่าเลยมีปสาทศรัทธา พากันขนดินทรายมาก่อไว้ในข่วงแก้วทังสาม พากันทานอุทิศไปรอด ชู่ปูนจอดติถี เป็นวันดีใสบ่เส้า พวกเขานั้นเล่าก็พ้นจากอบาย ด้วยกุศลผลบุญอันญาติพี่น้องทังหลาย ได้ทานเจดีย์ทรายอุทิศส่วนกุศลไปหื้อเขาเจ้า เพราะเหตุนี้ ศรัทธาผู้ข้าทังหลาย ทังญิงชายหนุ่มเฒ่าก็ได้สร้างเป็นประจำปีเล่าเป็นลำดับมา แม้นศรัทธาผู้ข้าทังหลายได้สร้างเจดีย์วันนี้ไซร้ ขอเกิดผลได้ดีงาม เป็นแป้นกระดานคำอันใหญ่ ขอให้ไปปิดไว้ยังประตูอบาย ขออย่าได้ไปกลายแลไปใกล้ ขอพลันได้รอดพ้นอบาย ไปจุจอด เวียงแก้วยอดเนรพาน
อิมานิ มยํ ภนฺเต วาลุกานิ สปริวารานิ ติรตนสฺส โอโณชยาม สาธุโณภฺนเต ติรตนํ ปฏิคณฺหาตุ อมฺหากัง ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายะฯ
(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๕-๒๖)
แห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์
ในวันพญาวันนี้ บางท้องที่นิยมทานไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำโพธิ์) ไม้ค้ำศรี(ออกเสียงว่าสะหลี)จะเป็นไม้ง่าม อาจทำมาจากไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้อแข็งแกะสลักสวยงาม จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน และกระบอกไม้อ้อ หรือไม้ไผ่บรรจุน้ำ และทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย ตรงบริเวณง่ามของไม้ก็จะมีหมอนรองไว้
ประเพณีปีใหม่เมือง
เชื่อว่าจะหนุนค้ำจุนพระศาสนา ให้อยู่ยืนยาวตลอดไปตลอดห้าพันพระวัสส การทานไม้ค้ำศรีนี้ถือคติว่า
๑. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการค้ำชูพระศาสนาให้ยาวนานต่อไป
๒. เพื่อเป็นการสืบชะตา ค้ำอายุตัวเอง และเสริมศิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่
ในบางวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่กิ่งก้านสาขามากมาย ได้โอกาสนี้ใช้ไม้ค้ำโพธิ์ยึดค้ำกิ่งก้านสาขาไว้ไม่ให้โน้มลงมาจนกิ่งหักได้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๖)
ต้นไม้ศรี หรือ ต้นโพธิ์ คือ ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอาศัยร่มเงา ในคืนที่ทรงพิจารณาสภาวธรรม และก่อนการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากหนังสือสังขยาโลก กล่าวถึงตำนานการค้ำโพธิ์ว่า อดีตมีพระภิกษุรูปหนึ่งออกธุดงค์ในป่าลึก ระหว่างทางเห็นต้นไม้แห้งตายต้นหนึ่งมีลำต้นสวยงาม คิดว่าจะนำต้นไม้ต้นนี้กลับไปที่วัดที่จำพรรษาอยู่ แต่ก็ได้มรณภาพไปเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จิตจึงผูกพันกับต้นไม้นี้ จึงไปเกิดเป็นตุ๊กแกอยู่ในโพงไม้ต้นนี้ และตุ๊กแกได้ไปดลใจชาวบ้านให้รู้ว่าท่านเกิดเป็นตุ๊กแก และขอให้ชาวบ้านช่วยให้พ้นจากทุกข์ โดยการนำต้นไม้ต้นนี้ไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัด ตุ๊กแกจึงพ้นจากความทุกข์และไปเกิดเป็นมนุษย์ในภพต่อมา ( รัตนา พรหมพิชัย, ๒๕๔๒ หน้า ๖๖๒๒)
ด้วยความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตำนานที่กล่าวมา ต้นโพธิ์จึงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตัดฟันโดยเด็ดขาด และมีข้อห้ามตัดไม้ศรี ปรากฏในความเชื่อเรื่องขึด เรียกว่า “รานศรี” ชาวล้านนายังมักนำไม้ค้ำ สะพานเงิน สะพานคำ จากพิธีสืบชะตามาวางไว้บนค่าคบของต้นโพธิ์ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีอายุยืนยาว
ขบวนแห่ไม้ค้ำ
ขบวนแห่มีการประโคมโหมแห่ด้วยเครื่องแห่พื้นเมือง เช่นแห่กลองมองเซิง แห่กลองปู่เจ่ แห่กลองสิ้งหม้อง ในขบวนจะมีพ่อบ้านแม่บ้านถือช่อ(ธงสามเหลี่ยม) หมากสู่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน หาบหรืออุ้มสลุงบรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อย น้ำสุคันโธทกะ น้ำอบน้ำหอมซึ่งเป็นเครื่องสักการะ คนเฒ่าคนแก่ผู้ชายตบมะผาบ วาดลายเชิงอวดกัน บ้างก็ฟ้อนดาบ ส่วนไม้ค้ำก็จะหามแห่ หรือตกแต่งบนรถให้งดงาม พอขบวนถึงวัด ก็จะนำ
ไม้ค้ำโพธิ์ขึ้นค้ำ โดยชายหนุ่มหาญที่แข็งแรงจะช่วยกันดึงไม้ค้ำขึ้นค้ำต้นโพธิ์ เพราะไม้ค้ำแต่ละต้นต้นใหญ่มาก พอค้ำเสร็จก็นิมนต์พระมารับการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะมีการรดน้ำส้มปล่อยที่ตัวไม้ค้ำเพื่อขอขมาครัวทาน และรับพรจากพระเป็นอันเสร็จพิธี
ดำหัวคนเฒ่าคนแก่
ตอนบ่ายของวันพญาวันนี้ บางที่บางแห่งก็จะมีการไปดำหัวหรือคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้มีอาวุโส ผู้มีบุญคุณ หรือผู้ที่มีความเคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษหรือภาษาล้านนาเรียกว่า “ไปสุมา คราวะ” เนื่องจากในปีที่ผ่านมาอาจทำให้ท่านโกรธเคือง หรือได้ล่วงล้ำด้วยกาย วาจา ใจ ก็ไปขอขมา และขอพรปีใหม่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่นำไปดำหัว ได้แก่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเมือง ผ้านุ่ง เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว มีขนมอาหารที่ทำในช่วงปีใหม่ เช่น ข้าวแตน ข้าวหนมจ็อก แหนม ห่อนึ่ง เป็นต้น ผลไม้ที่ออกมากในช่วงปีใหม่ก็จะมีมะปรางซึ่งจะใส่ในชะลอมสานไว้อย่างงดงาม นอกจากนั้นก็จะมีหมากพลู และปัจจัยใส่ในซองจดหมายแล้วแต่ความสมควร (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๙)
การดำหัวเริ่มต้นจากการกล่าวคำสุมาคารวะ โดยผู้อาวุโสในที่นั้นยกมือไหว้กล่าวนำ ดังนี้
“ในโอกาสที่ปี๋เก่าได้ล่วงพ้นมาแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าทั้งหลากก็มาร่ำเปิงเถิงยังอดีตปาเวณีอันดีงามแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังศรัทธา จึงพากันน้อมนำมายัง ข้าวตอก ดอกไม้ ไทยทาน วัตถุบริวารทานและน้ำส้มปล่อย เพื่อจักมาสุมาคารวะ หากได้ล่วงล้ำด้วย กาย วาจา ใจ ด้วยเจตนาก็ดีบ่เจตนาก็ดี ขอท่านจุ่งมีเมตตาลดโทษ และขอหื้อท่านจุ่งโปรดปันศีลปันพรชัยหื้อเปนมังคละ แก่ผู้ข้าทั้งหลายแด่เทอะ”
จากนั้นประเคนขันข้าวตอกดอกไม้ น้ำส้มปล่อย และเครื่องสักการะดำหัว
ผู้ใหญ่รับแล้วก็จะเอามือจุ่ม้นำส่มปล่อลูบศีรษะ และอาจสลัดพรมน้ำส้มปล่อยแก่ผู้มาดำหัวด้วยความเมตตา
ผู้ใหญ่จะให้โอวาท ปันพร เมื่อจบคำพร …อายุวัณโณ สุขัง พลัง …ทุกคนกล่าวคำว่า “สาธุ” พร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี (ศรีจันทร์, ๒๕๔๘, หน้า ๗๕ -๗๖)
ดำหัวพระเจ้า/พระธาตุเจดีย์
ดำหัวพระเจ้า คือการไปแสดงความคารวะต่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมือง เช่น พระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาววัดเชียงมั่น พระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพระสิงค์ พระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอก เป็นต้น หรือพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุศรีจอมทอง
การไปดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีตนิยมไปกันเป็นหมู่คณะ อาจจะเริ่มต้นในวันสังขานต์ล่องเรื่อยไปจนถึงวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ปากยาม เพราะสถานที่แต่ละแห่งอาจจะอยู่ไกลกัน ต้องใช้เวลาเดินทาง การดำหัวก็จะใช้ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนบูชา และสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ดำหัวกู่(อัฐิ)
การดำหัวกู่ คือไปดำหัวที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษที่อยู่ในวัดหรือป่าช้า หรือกู่อัฐิของบรรพกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครที่ได้ทำคุณงามความดีไว้กับบ้านเมือง เช่นกู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก ผู้ที่เป็นลูกหลานก็จะนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อยไปสรงเพื่อเป็นการสักการะบูชาดำหัวในช่วงปีใหม่ (ดุสิต ชวชาติ. ปู่อาจารย์, สัมภาษณ์, ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวัน
ในหนังสือองค์ความรู้ปีใหม่เมือง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑ หน้า ๔๓) กล่าวว่า วันพญาวันควรทำลาบเป็นอาหาร เพราะทานลาบในวันนี้จะทำให้มีโชคลาภตลอดปี
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม๑๒ กล่าวถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันพญาวันว่า ในหนังสือองค์ความรู้ปีใหม่เมือง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑ หน้า ๔๓) กล่าวว่า วันพญาวันควรทำลาบเป็นอาหาร เพราะทานลาบในวันนี้จะทำให้มีโชคลาภตลอดปี
พญาวันมาในวันอาทิตย์ ยักษ์มาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ห้ามทำการมงคลกรรมในวันอาทิตย์
พญาวันมาในวันจันทร์ นางธรณีมาอยู่เฝ้าเผ่นดิน กระทำมงคลกรรมในวันจันทร์ในปีนั้นดีนัก
พญาวันมาในวันอังคาร พญาวัวอุศุภราชมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน ทำการมงคลกรรมในวันอังคารดีนัก
พญาวันมาในวนพุธและวันพฤหัสบดี นาคมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการมงคลกรรมใดๆ ในวันพุธได้ผลดี
พญาวันมาในวันศุกร์ ช้างมาอยู่เฝ้าแผ่นดิน กระทำการใดๆ ในวันศุกร์ของปีนั้นให้ผลสมบูรณ์ดีี
วันปากปี
วันปากปี๋ วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว
กินแกงขนุน
ในวันปากปีดังกล่าว มีความเชื่อของคนล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ทุกหลังคาเรือนจะมีการทำอาหารที่เหมือนกันเกือบทุกบ้าน คือการทำแกงขนุน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แก๋งบ่าหนุน” โดยเชื่อกันว่า เมื่อได้ทานแกงดังกล่าว
จะช่วยส่งหนุนให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการงานใดก็สำเร็จผล มีคนมาอุดหนุนค้ำจุนอีกทั้ง เกิดสิริมงคลในครอบครัว ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปีของคนล้านนา (น้อย ปราใจประเสริฐ. ชาวบ้านแม่อีด ตำบลเชียงดาว อำเภอชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
บูชาข้าวลดเคราะห์
ในช่วงเช้าของวันปากปี พิธีกรรมจะเริ่มต้นที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า การบูชาข้าวลดเคราะห์ เป็นการนำเอาข้าวมาปั้นเป็นก้อน จำนวน ๙ ก้อนหรือตามอายุของแต่ละบุคคล ต่อจากนั้นนำไปถวายแด่พระประธานและพระสงฆ์ในพระวิหาร ซึ่งบางแห่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า การบูชาเคราะห์ปีใหม่ หรือ บูชาสระเคราะห์ ในบางชุมชนหรือบางหมู่บ้านจะกระทำกันที่บ้านเรือนของตน โดยมีปู่อาจารย์จะมาทำพิธีให้ที่บ้าน ซึ่งเป็นอันเสร็จพิธีช่วงเช้าของวันปากปี แต่บางแห่งก็ไม่มีปรากฏพิธีกรรมดังกล่าวนี้เลย (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๑)
ส่งเคราะห์บ้าน
พิธีส่งเคราะห์บ้าน เป็นพิธีทำบุญเสาใจบ้าน ใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาใจบ้าน หรือสะดือบ้าน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน จะมีหลักไม้จำนวน ๕ ต้น บางแห่งมีหอพ่อบ้าน หรือต้นไม้ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ เสาใจบ้านเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ที่สิงสถิตของเหล่าเทพยาดาอารักษ์
ประเพณีปีใหม่เมือง พิธีการจะประกอบด้วย การจัดทำรั้วราชวัตร ประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและอื่นๆ อย่างสวยงาม แล้วเตรียมอาสน์สงฆ์ไว้ด้วย จากนั้นให้โยง ฝ้ายล้วงหรือด้ายสายสิญจน์จากเสาใจบ้านต่อ ๆ กันทุกหลังคาเรือน และจะทำแตะไม้ไผ่สานขนาด ๙๐ X ๙๐ เซนติเมตรจำนวน ๙ แผง แล้วใช้ดินเหนียว หรือแป้งข้าว ปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น อย่างละ ๑๐๐ ตัว วางบนแตะนั้น พร้อมทั้งใส่เครื่องบูชาต่าง ๆ อันประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน ผลไม้ต่าง ๆ กล้วย อ้อย หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ และให้ใช้ไม้ทำ หอกดาบแหลนหลาวหน้าไม้ปืนธนู วางบนแตะทั้ง ๙ นั้น
เพื่อเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน หรือพิธีส่งนพเคราะห์ทั้ง ๙ ซึ่งบางทัศนะคติของชาวล้านนาได้ให้ความหมายว่า เป็นการส่งให้แก่ท้าวเวสสุวัณณ์ ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหมู่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย และเป็นท้าวโลกบาลผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาโลกให้เป็นปรกติสุข
หลังจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ ๑๐:๐๐ น. ชาวบ้านก็จะเริ่มทยอยเข้ามาสู่บริเวณปะรำพิธี ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หรือใจบ้านในภาษาล้านนา เพื่อร่วมประกอบพิธีดังกล่าว โดยพิธีจะเริ่มที่แต่ละครอบครัว จะนำเอาเสื้อผ้าของสมาชิกทุกคนในครอบครัว และทรายกลางแม่น้ำมารวมไว้ตรงกลางปะรำพิธี พร้อมกับนำข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนยที่เตรียมมาจากบ้าน มาใส่ไว้ในแตะทั้ง๙ แตะที่เตรียมไว้
อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้าน คือ แต่ละบ้านหรือแต่ละครอบครัวจะโยงด้ายสายสิญจน์ไปรอบ ๆ บ้าน แล้วเอาไปผูกเชื่อมต่อกับบ้านใกล้เรือนเคียง โดยพิธีกรรมการส่งเคราะห์บ้านจะเริ่มจากปู่อาจารย์ จะทำการกล่าวโอกาสส่งเคราะห์ในแต่ละทิศ โดยการนำแตะไม้ไผ่ที่ประกอบไปด้วยเครื่องพลีกรรมต่างๆ ไปวางไว้ในแต่ละทิศจนครบทั้ง๘ ทิศและอีกหนึ่งแตะจะนำมาวางไว้ที่กลางปะรำพิธี จากนั้นปู่อาจารย์ก็จะเริ่มพิธีการส่งเคราะห์ โดยการกล่าวโอกาสส่งเคราะห์บ้าน
หลังจากปู่อาจารย์กล่าวโอกาสส่งเคราะห์จบ ชาวบ้านผู้ร่วมในพิธีจะนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาพรมที่ศีรษะของตนเองพร้อมกับสะบัดลงไปที่แตะจนครบทั้ง ๙ แตะ ถือเป็นการส่งเคราะห์ของตนเองลงไปในแตะดังกล่าว (รังสรรค์ จันต๊ะ และวิลักษณ์ ศรีป่าซาง, ๒๕๔๘; โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๑ -๓๒)
สืบชะตาหมู่บ้าน
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีส่งเคราะห์บ้าน ต่อมาก็จะเป็นการสืบชะตาหมู่บ้าน โดยพิธีจะเริ่มที่ผู้นำหมู่บ้านจะทำการอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์สามเณรจำนวน ๕ รูป ๗ รูปหรือ ๙ รูป(ตามแต่หมู่บ้านดังกล่าวนั้นจะมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามากน้อยเพียงใด) เพื่อมาเจริญพุทธมนต์ซึ่งก่อนหน้าพิธีกรรมดังกล่าวปู่อาจารย์จะกระทำการขึ้นท้าวทั้งสี่ เพื่อเป็นสัญญาณให้ท้าวจตุโลกบาล รับรู้ถึงพิธีกรรมดังกล่าว อีกทั้งช่วยคุ้มครองการทำพิธีกรรมดังกล่าว ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งพิธีกรรมการขึ้นท้าวทั้งสี่ จะเป็นพิธีที่ต้องกระทำไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคลของคนล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเมื่อพระสงฆ์มาถึงปะรำพิธีที่ประกอบพิธีกรรม ปู่อาจารย์ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้ โดยปู่อาจารย์จะเริ่มนำกล่าวไหว้พระสวดมนต์ พร้อมทั้งขอศีล จากนั้นปู่อาจารย์จะกล่าวอาราธนาพระปริตรเพื่อที่พระสงฆ์จะได้เริ่มสวดพุทธมนต์ โดยปู่อาจารย์จะนำด้ายสายสิญจน์ ที่โยงมาจากแต่ละบ้านและโยงมาจากกองเสื้อผ้า และกะละมังที่บรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อยให้แก่พระสงฆ์ผู้ทำพิธี มีการประเคนบาตรน้ำพุทธมนต์แก่พระสงฆ์รูปแรกผู้เป็นประธานสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์ เสร็จแล้วชาวบ้านจะถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ พร้อมทั้งพระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาพิธีเป็นอันเสร็จพิธี
หลังจากพิธีส่งเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้านเสร็จสิ้น บรรดาชาวบ้านผู้มาร่วมพิธีจะแบ่งน้ำขมิ้นส้มปล่อย ที่พระสงฆ์ทำการเจริญพุทธมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเอาเสื้อผ้าของตนพร้อมกับทรายกลางน้ำกลับบ้าน โดยนำทรายดังกล่าวไปหว่านบริเวณรอบๆ บ้านด้วยความเชื่อที่ว่า สามารถป้องกันภูตผีปีศาจและเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือนของตน ในส่วนของน้ำขมิ้นส้มปล่อย จะนำมาสรงน้ำพระบนหิ้งพระของตน ตลอดจนนำไปประพรมให้แก่ลูกหลาน ที่ไม่ได้ไปร่วมพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านดังกล่าว ถือเป็นอันเสร็จพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านในวันปากปีของล้านนา (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๒ )
ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน
วันนี้เป็นวันเริ่มดำหัวบุคคลสำคัญของชุมชน การดำหัวแบบนี้ นิยมร่วมกันทำทั้งหมู่บ้านโดยจะมีการปรึกษาหารือกันว่าจะไปดำหัวใครบ้าง เช่น คนแก่คนเฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในชุมชน กำนัน พ่อหลวง นายอำเภอ ผู้ว่าราชการ ชาวบ้านทุกคนจะต้องนำของดำหัวมารวมกัน และจัดริ้วขบวน ฟ้อนรำแห่โหมประโคมฆ้องกลองกันอย่างเอิกเกริกงดงาม
เครื่องพิธีสำหรับดำหัวนั้น ประกอบด้วย เครื่องเคารพซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อย และของบริวารอื่น ๆ เช่น มะม่วงมะปรางแตงกวา กล้วยอ้อย ขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ หรือเงินทองใส่ไปด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีเสื้อผ้า กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าขนหนูหรือของที่ระลึกอื่น ๆ จัดตกแต่งใส่พานหรือภาชนะเรียบร้อยสวยงาม
หรือจะจัดอย่างพานบายศรี พุ่มดอกไม้ทำนองเดียวกับการแห่ครัวทาน (เครื่องไทยทาน)ก็ได้ และนิยมทำเครื่องสักการะล้านนา ประกอบด้วยต้นดอก ต้นผึ้ง ต้นเทียน หมากสุ่ม หมากเบง หอบอุ้มหรือหามแห่ไปในขบวน การไปดำหัวนี้จะไปตั้งแต่เช้าก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่การไปดำหัวเป็นขบวน มักไปตอนเย็นประมาณ ๑๕.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา เพราะเป็นเวลาที่เย็นสบายไม่ค่อยร้อน เมื่อขบวนดำหัวไปถึงบ้านผู้อาวุโส ผู้เป็นหัวหน้าก็จะนำพานข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำเข้าหมิ้นส้มปล่อยรวมทั้งของที่นำไปดำหัว ไปมอบให้ด้วยความเคารพ และกล่าวขอขมาลาโทษเป็นทำนองว่า
“วันนี้เป็นวันเดือนชีปีใหม่หมู่ลูกหลานทั้งหลาย ได้มาขอขมาลาโทษพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) แม้นว่าพวกข้าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ล่วงเกินด้วยประการใด ๆ ก็ดี ขอพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย (หรือบอกชื่อผู้รับการดำหัว) ได้หื้อขมาลาโทษแก่ฝูงข้าเจ้าทังหลายด้วยเทอะ”
ผู้รับดำหัวจะรับประเคนของแล้วเอาผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบพาดบ่าแล้วให้พรด้วยโวหารว่า
เอวังโหนตุ ดีแล อัชชะในวันนี้ ก็เป็นวันดี ศรีอันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าวันทังหลาย บัดนี้รวิสังขารก็ล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ลูกหลานทังหลายก็บ่ละเสียยังรีต บ่รีดเสียยังปาเวณี เจ้าทังหลายก็ได้น้อมนำมายังมธุบุปผาและสุคันโธทกะ สัพพะวัตถุนานาทังหลาย มาขอสมาคารวะตนตัวผู้ข้า ว่าฉันนี้แท้ดีหลี
แม้นว่าเจ้าทังหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ขึ้นที่ต่ำ ย่ำที่สูง ผิดด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดั่งอั้นก็ดี ผู้ข้าก็จักอโหสิกรรมหื้อแก่สูเจ้าทังหลาย แม่นว่าสูเจ้าทังหลายจักไปสู่จตุทิสสะ อัฐทิสสะ วันตกวันออกขอกใต้หนเหนือค้าขายวายล่อง ท่องเทียวบ้านเมือง และอยู่บ้านชองหอเรือนก็ดี จุ่งหื้ออยู่ชุ่มเนื้อเย็นใจ หื้อเป็นที่ปิยะมะนามักรักจำเริญใจแก่หมู่คนและเทวดา แล้วจุ่งหื้อก้านกุ่งรุ่งเรืองไปด้วยโภคะธนะธนัง ข้าวของเงินคำสัมปัตติทังหลาย แม่นจักกินก็อย่าหื้อได้ผลาญ จักทานก็อย่าหื้อได้เสี้ยง หื้อมีอายุยืนยาวนั้นแท้ ดีหลี สัพพี ติโย… อายุ วัณโณ สุขัง พลัง
เมื่อผู้ให้พรกล่าวจบต่างก็ยกมือจรดเหนือหัวพร้อมเปล่งเสียง “สาธุ” พร้อม ๆ กัน เสร็จแล้วผู้รับการดำหัว ก็จะรับธูปเทียนไปใส่ในพานใหญ่ที่เตรียมไว้ เอามือจุ่มลงในน้ำขมิ้นส้มปล่อยแล้วลูบศีรษะของตน เป็นกิริยาว่าได้ดำหัวแล้ว และนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเทลงในขัน ต่อจากนั้นมีการรดน้ำผู้ที่เคารพหรืออาจมีการสนทนาสักครู่หนึ่ง ฝ่ายที่ไปคารวะก็จะลากลับแต่หากเจ้าภาพจะไปเลี้ยงดูคารวะแล้ว การเลี้ยงก็จะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป อนึ่งการดำหัวนี้ไม่นิยมกระทำก่อนวันพญาวัน และควรกระทำให้เสร็จสิ้นหลังช่วงสงกรานต์ไม่เกินเจ็ดวัน (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๒๙-๓๑; สงวน โชติสุขรัตน์ม, ๒๕๑๕, หน้า ๑๘-๒๓)
บูชาเทียนปีใหม่
ในช่วงค่ำ จะเป็นพิธีกรรมในส่วนของครอบครัวที่จะกระทำกันในบ้านเรือนของตน พิธีกรรมดังกล่าวคือ การจุดเทียนบูชาบ้านเรือนหรือคนล้านนาเรียกว่า ต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า
โดยเทียนดังกล่าวจะมีอยู่สามเล่ม คือ เทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บางท้องถิ่นจะมีการ “ต๋ามขี้สายเท่าอายุ” (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) ขี้สายหรือเส้นไฟนี้จะทำมาจากเส้นด้ายพื้นเมือง นำไปชุบขี้ผึ้งหรือไขมัน หรือน้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันนิยมชุบน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเพราะง่ายดี พอค่ำลง ก็จะเอาขี้สายเท่าอายุไปจุดบูชาที่ลานพระธาตุเจดีย์ในวัด หรืออาจจุดที่ลานทรายหน้าพระวิหาร ตรงที่สายตาพระเจ้าตก หรืออาจจุดที่ลานบ้านของตัวเองก็ได้ การต๋ามขี้สายเท่าอายุนี้ บางท่านก็ว่า เป็นการเผาอายุสังขารเก่าให้พ้นไป บางท่านก็ว่าเป็นการเผาเสนียดจัญไร อุบาทว์ อาถรรพณ์ ขึดขวงต่างๆ ที่ติดตัวเรามาให้หมดสิ้นไป บางท้องถิ่นก็ให้เพิ่มขี้สายไปอีกเส้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการสืบชะตาตัวเรา ให้รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ประดุจเปลวไฟในปีใหม่ที่มาถึงนี้ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๓)
ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันปากปี
วันปากปีควรกินข้าวกับแกงขนุน เพราะจะมีสิ่งดีๆ มาอุดหนุนค้ำจุนตลอดปี วันนี้นิยมสืบชะตา บูชาเทียนสะเดาะเคราะห์ รับโชค เพราะเชื่อว่าจะคุ้มครองไปตลอดทั้งปี ปลูกพืชพรรณไม้ผลวันนี้ก็เชื่อว่าจะได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๔๓; บัวผัน แสงงาม. ชาวบ้านหมู่ ๖ ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๑๘ มกราคม ๒๕๕๒)
วันปากปี
หลังจากจบสิ้นวันปากปี คนล้านนายังมีวันปากเดือน วันปากวัน และวันปากยาม เพื่อให้เวลาเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ หรือเดินทางไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกล และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่หยุดจากภาระหน้าที่การงาน
ช่วงนี้พระสงฆ์ สามเณร จะพากันไปดำหัวพระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ พร้อมคณะศรัทธา อาจจะเดินไปกันเป็นหมู่คณะ หรือนั่งรถไปในที่ไกลๆ โดยมีของดำหัวและน้ำส้มปล่อยใส่สะหลุงไปสุมาคารวะในหัววัดต่างๆ คนล้านนาเรียกว่า “หัววัดเติงกัน” คือวัดที่มีความสัมพันธ์และเคารพนับถือกัน
ประเพณีปีใหม่เมืองของคนล้านนา แท้จริงแล้วเป็นกุศโลบายที่สอดคล้องเหมาะสมกับกาลเวลา เป็นประเพณีที่งดงาม รื่นเริง สนุกสนาน สร้างความสมัครสมานสามัคคี เกิดความสุขอบอุ่นในครอบครัว และสังคม เป็นการเตือนตนสำรวจตัวเอง ให้ละทิ้งสิ่งไม่ดีไม่งาม ชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่พร้อมด้วยความดีงาม ความเป็นมงคล โดยผ่านกิจกรรม พิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความสนุกสนานจากการสาดน้ำ หรือการดื่มของมืนเมาจนเกิดการทะเลาะวิวาท ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันให้ความหมายและรักษาประเพณีปีใหม่ของคนล้านนาที่ถูกต้องดีงาม เพื่อสืบสานประเพณีล้านนาให้ยั่งยืนต่อไป
คำเวนทาน คำปันพร คำมัดมือ คำปัดเคราะห์ ในประเพณีปีใหม่เมือง
คำเวนทาน
คำเวนทาน คือถ้อยคำที่บอกกล่าวถึงเรื่องราว ความเป็นมา ความมุ่งหมายของกิจกรรมนั้นๆ ญาณสมฺปนฺโน(นามแฝง) กล่าวถึงความสำคัญของการเวนทาน ในหนังสือ ตำราพิธีกรรมโบราณ ไว้ว่า
การเวนทานนั้นเป็นการโน้นน้าวจิตใจของผู้ฟังให้เกิดศรัทธาปสาทะ มีปีติอิ่มเอมรื่นเริงในกุศลทานที่ได้กระทำมา และให้ตัดเสียยังความกังวลมลทินออกจากใจเจ้าภาพ ทำให้มีจิตใจผ่องใสและผู้ฟังย่อมรับทราบอรรถรสคำสอนที่แฝงอยู่ในคำเวนทานนั้นๆ นำไปเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจได้ดี
ขอเสนอคำเวนทานปีใหม่เมืองบางสำนวนดังนี้
สาธุโอกาสะ สิริวิสุทธิมกุฏปวะโรจน์โสดอุดม บรมพุทธาติรัตนาตนผ่านแผ้ว พระแก้วเจ้าทั้งสามประการ ยังคลี่บานงามเรืองเรื่อ เพื่อหื้อได้กระทำทานปารมี สีลปารมีไว้เป็นยอด
ขอดไว้กับตนตัว เพื่อเอาเป็นขัวเล่มแก้ว ได้ขี่ข้ามแล้วไปสู่รอด ยังเวียงแก้วยอดเนรพาน นัยกาลวันนี้ก็เป็นวันดี ดิถีอันวิเศษ เหตุว่าเป็นวันปีใหม่ อติกันโต ปีเก่าก็ข้ามล่วงไปแล้ว ปีใหม่แก้วพญาวันก็มาจุจอดรอดถึง ศรัทธาหญิงชายน้อยใหญ่ ต่างก็มาพร้อมไคว่ชุมนุมกันมวลหมู่ พร้อมหน้าอยู่ในพุทธาวาส เพื่อหื้อได้โอกาสกระทำบุญ สมมาคุณขมาลาโทษ หื้อเป็นประโยชน์แห่งความดี ตามประเพณีอันมีมาบ่ผ่อน ในอตีตาก่อนเมินมา วันสังขารล่องนั้นนา คนหนุ่มเฒ่า จักพากันสระเกศเกล้าดำหัวตน เพื่อเป็นมงคลหื้อได้สะอาด แล้วปัดกวาดเรือนเคหา ซักยังวัตถาผ้าเสื้อ เก็บหยากเยื่อตามข่วงบ้าน บ่ขี้คร้านล้างหม้อและไห ของใช้อันใดก็นำมาซ่วยล้าง ตามพื้นข่วงลานก็ปัดกวาด หื้อสะอาดหมดใส กระทำจิตใจหื้อชุ่มเชยบาน อันว่าวันสังขารล่องจักบอกชี้ ก็คืออายุแห่งคนเรานี้แก่ล่วงเลยไป บ่เมินเท่าใดปีหนึ่งก็มาจอด หื้อพากันคิดรอดสร้างแต่ทางดี ครั้นรอดวันพูกมีแถมเล่า เรียกว่าวันเน่าอันเล่าสืบๆ กันมา ว่ายังมีพระยาตนหนึ่งชื่อสุริยา มีภริยาอยู่สองพ่างซ้ายขวา พระยาตนนั้นได้มรณาตายไปเป็นเปรต อยู่ที่ในขอบเขตฟ้าจักรวาล สองนางนงคราญอันเป็นเมียนั้น ก็ได้ตายหั้นเมืองคน ก็เอาตนไปเป็นเปรตที่เดียวกัน ก็ได้ไปหันพระยาเจ้าอันเป็นผัวตนเมื่อก่อน จึงพากันส่อนไปกอดก็บ่ได้ เหตุว่าท้าวไท้เป็นพระยาหัวขาด เหตุนั้นคนจึงโอกาสจาเล่า ว่าวันนี้เป็นวันเน่าติดต่อกันมา มูลศรัทธาชุผู้ จงพร่ำรู้ตามมี ตามประเพณีมาแต่เค้า คนหนุ่มเฒ่าหญิงชาย จักขนทรายมาใส่ข่วงแก้วทั้งสาม แล้วแปลงเจดีย์งามผ่องแผ้ว เพื่อสมมุติเป็นเจดีย์แก้วดั่งในอตีตา ดังเราจักจาบอกเล่า ยังเค้าเหง้าว่า ยังมีมหาเถรเจ้าตนหนึ่งชื่อเทพมาลัย ตนทรงศีลใสอันเลิศแล้ว ตนแก้วได้เสด็จไปสู่อบาย หันสัตว์นรกทั้งหลายมีมวลมาก อันวิบากเขาหากนำมา พระก็จาถามไปใคร่รู้ ว่ายามเมื่ออยู่เมืองคนกระทำบาปสังชา? จึงได้มาทรงทุกข์ฉันนี้เล่า สัตว์นรกก็บอกเล่าแก่พระมาลัย ว่ายามเมื่อตูข้าอยู่ในโลกใต้ กระทำบาปไว้หลายประการ คือบ่ได้หื้อทานรักษาศีลสังสักหยาด ครั้นมรณาดจากเมืองคน ได้เอาตนมาสู่อเวจี ขอตนบุญมีมหาเถรเจ้า ได้บอกเล่าพี่น้องอันอยู่ในโลกา ว่าขอกรุณาหมู่ข้าทั้งหลาย มีใจผายแผ่ชมชื่น กระทำบุญยกยื่นแผ่มาหา ยามนั้นนามหาเถรเจ้าเทพมาลัย ได้ยินคำจาไขแห่งหมู่เปรต ก็รีบออกเขตห้องอบาย แล้วก็รีบเสด็จผันผายบ่ช้า มาสู่โลกหล้ามนุสสา ที่นั้นนาคนหนุ่มเฒ่า ก็พากันเอาข้าวมาใส่บาตร บ่ได้ขาดเสียคนใด ยามนั้นพระมาลัยก็บอกเล่า ว่าตนนั้นเล่าได้ไปสู่อบาย สัตว์นรกทั้งหลายมวลมาก เขาได้ทรงทุกข์ยากฝากคำมาหา ว่าขอหมู่วงศากระทำบุญหยาดน้ำ มีใจพร่ำสร้างยังเจดีย์ทรายผ่องแผ้ว ไว้ในข่วงแก้วทั้งสาม แล้วอัญเชิญสรีรธาตุงามอันหอมหื่น อันมีในหมื่นโลกจักรวาล มาประดิษฐานในเจดีย์ทราย ครั้นเจ็ดวันหมายครบไคว่ เม็ดทรายน้อยใหญ่ทั้งหลาย ขอกลับกลายเป็นทรายดังเก่า ยามนั้นพี่น้องเผ่าวงศ์ใย ได้ฟังพระมาลัยบอกกล่าว หื้อรู้ข่าวอันเป็นคลองดี ก็ศรัทธามีใจชื่นช้อย ทั้งใหญ่น้อยหญิงชาย ก็พากันขนทรายมาสู่อาราม แล้วก่อเป็นเจดีย์งามยายหยาดถ้อย ปักช่อน้อยแลทุงชัย พ่องก่อไปได้ตามอายุแห่งตน ครั้นเขาทานแล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปหา ยังหมู่วงศาพี่น้อง อันไปตกอยู่แห่งห้องนรกอบาย หื้อได้กลับกลายไปเกิด ในห้องฟ้าเลิศเมืองสวรรค์ อันว่าสร้างเจดีย์ทรายกันนี้เล่า พระพุทธเจ้าหากเทศนา ว่าภิกขเว ดูราภิกขุทั้งหลาย บุคคลผู้ใดได้สร้างเจดีย์ทราย แล้วปักช่อทุงยายหยดหยาด ไว้ในอาวาสและข่วงเจดีย์ หากมีอานิสงส์ล้ำเลิศ ผลบุญกุศลเกิดมีนักหนา แม้นจักปรารถนาเอายังสุขสามประการ คือสุขเชยบานในมนุษย์โลก จักมีสมบัติอาโภคมากมวลมี จักได้เป็นเศรษฐีมูลมั่งเท้า บ่มีทุกข์โศกเศร้าประการใด ครั้นว่าตายไปจากโลกหล้า จักได้ไปเกิดชั้นฟ้าเมืองบน เป็นตนเทวบุตรเทวดา อยู่ปรางค์ปราสาทแก้ววิมานคำ ก็ด้วยได้กระทำตามคลองนักปราชญ์เจ้า มาแต่เค้าในอตีตา วันนี้นาก็เป็นวันปีใหม่ เป็นวันใหญ่คือวันพญาวัน ศรัทธาพากันตกแต่งห้างของทาน ก็เป็นการบริบูรณ์ดีพร่ำพร้อม อันจักยื่นน้อมยอถวาย ผู้ข้าทั้งหลายได้ทานแล้ว มีใจผ่องแผ้วยินดี กุศลมีมวลมาก จักขออุทิศฝากไปหา หมู่สรรพเทวดาน้อยใหญ่ อันอยู่ต้นไม้เครือวัลย์ ทุกดอยดงตันเหวหาด ทุกท่าตาดคูหา เทวดารักษาบ้านช่อง รักษาแห่งห้องอาวาส รักษาพุทธศาสน์นิรันดร์มา ทั้งนักขัตตาและเทวดาเก้าหมู่ ขอมาชมชื่นสู้โมทนา กุศลบุญนี้นาขอผายแผ่ ไปหาพ่อแม่หมู่วงศ์ใย อันตายไปสู่ปรโลกหน้า ทั้งปู่ป้าน้าอาวอา อันมรณาตายจาก บุญนี้มากมีมูล ถึงเจ็ดตระกูลเป็นเค้า เก้าตระกูลเป็นแดน แสนตระกูลเป็นขนาด ขอหลั่งน้ำหยาดไปหา บัดนี้นาจักเวนทานตามมคธภาษาบาลีว่า
(ตั้งนโม ๓ จบก่อน)
อิมานิ มยัง ภันเต วาลุกเจติยานิ ติรตนานัง โอโนชยามะ สาธุ โน ภันเต อิมานิ วาลุกเจติยานิ สัพพปริวารานิ ปฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆรัตตัง หิตายะ สุขายะ ยาวนิพพานายะ ปัจจโย โหตุ โน นิจจัง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๔-๓๖)
คำปันพรปีใหม่
ปันพร คือให้พรหรืออวยพร เมื่อลูกหลานหรือญาติโยมมาทานขันข้าว หรือมาดำหัวนั้น พระสงฆ์หรือผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รับเอาขันข้าวหรือเครื่องดำหัวนั้น จะปันพรแก่ลูกหลานหรือญาติโยม คำปันพรปีใหม่บางสำนวนมีดังนี้
เอวังโหนตุ สัมปฏิจฉามิ ดีแล อัชชะในวันนี้ก็หากเป็นวันดีติถีวิเศษ
เหตุว่ารวิสังขารปีเก่าก็ล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วพญาวันก็มารอดมาเถิง
มาเทิงยังหมู่เราเจ้าข้าทั้งหลาย บัดนี้หมายมี(ระบุชื่อ)เป็นเค้า
พร้อมด้วยลูกหลานต่านเต้าสูเจ้าทั้งหลายชุหมู่ชุมวล ก็บ่ละเสียยังรีตบ่นีดเสียยังปาเวณี
อันเป็นคลองแห่งสัปปุริสะเจ้าแต่ก่อนหากมีมา ก็หากได้สนงขงขวายตกแต่งดาพร่ำพร้อม
น้อมมายังธูปบุปผาลาชาดวงดอก ข้าวตอกดอกไม้ลำเทียนน้ำอบน้ำหอม
เพื่อจักขอสมมาคารวะยังตนตัวผู้ข้า ว่าฉันนี้เที่ยงแท้ดีหลี
บัดนี้ตนตัวผู้ข้าก็หากได้อว่ายหน้ารับเอา แม้นว่าสูเจ้าทั้งหลายได้ประมาทลาสา
ด้วยกายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมังก็ดี ได้ขึ้นที่ต่ำได้ย่ำที่สูงใดๆ ก็ดี
อันเป็นสัญจิญจโทสัง อสัญจิญจโทสัง อตีตโทสัง ปัจจุปนโทสัง อนาคตโทสังใดๆก็ดี
ก็ขอหื้อกลายเป็นอโหสิกรรมอันบ่มีโทษ บ่หื้อเป็นนิวรณธรรมแก่สูท่านทั้งหลายสักเยื่องสัก
อันจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี ตั้งแต่มุหุตกาลวันนี้ยามนี้ไปภายหน้า
ขอหื้อสูท่านทั้งหลายชู่ผู้ชู่คน ชู่ตนชู่องค์หื้อพ้นจากสรรพทุกข์ สรรพโศก
สรรพโรค สรรพภัย สรรพจังไรวินาสันตุ อยู่ก็หื้อมีชัย ไปก็หื้อมีโชคมีลาภ
เคราะห์ร้ายหยาบอย่ามาใกล้ เจ็บป่วยไข้อย่ามาพาน
หื้อได้อยู่สำราญช้อยโชติ เงินคำล้านโกฏิจุ่งมีเต็มฉางบ่รู้บกบางสักเทื่อ
เต็มอยู่ชู่เมื่อเที่ยงแท้ดีหลี หื้อได้อยู่สวัสดีทีฆาเที่ยงเท้า
อายุร้อยซาวขวบข้าววัสสา ได้อยู่ค้ำชูพระวรพุทธศาสนาไปไจ้ๆ
อย่าได้คลาดคลาเที่ยงเท้าดีหลี ตามบาทบาลีว่า
อายุวัฑฒโก ธนวัฑฒโก สิริวัฑฒโก ยสวัฑฒโก พลวัฑฒโก วัณณวัฑฒโก สุขวัฑฒโก โหตุ สัพพทา ทุกขะ โรคะ ภยา เวรา โสกา สัตตุจุปัททวา อเนกา อันตรายาปิ วินัสสันตุ จะ เตชสา ชยะ สิทธิ ธนัง ลาภัง โสตถิ ภาคยัง สุขัง พลัง สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฑฒิ จะ ยสะ วา สตวัสสา จะ อายุ จะ ชีวสิทธิ ภวัตตุ เต
สัพพีติ โย วิวัชชันตุ สัพพโรโค วินัสสตุ มา เต ภวัตวันตรายโย สุขีทีฆายุโก ภวะ อภิวาทนสีลีสนิจจัง วุฑฒาปจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุวัณโณ สุขัง พลัง (โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๖ – ๓๗)
คำปันพรปีใหม่อีกสำนวนหนึ่ง
เอวัง โหนตุ อัชชะ ในวันนี้ก็เป็นวันดี อติกันโต สังขารปีเก่าก็ข้ามล่วงพ้นไปแล้ว
ปีใหม่แก้วพญาวันก็มาจุจอดรอดเถิง ลูกหลานทั้งหลายก็บ่ละเสียยังรีต
บ่ลีดเสียยังปาเวณีแห่งอริยะเจ้าทั้งหลาย อันเป็นมาแล้วในกาละเมื่อก่อน
ท่านทั้งหลายก็บ่หื้อผ่อนหายสูญ บัดนี้จึ่งตกแต่งน้อมนำมายังสุคันโธทกะ
แลสิ่งทานังทั้งหลายมวลฝูงนี้ มาสะสางสระเกล้าดำหัวยังตนตัวแห่งผู้ข้า
บัดนี้ผู้ข้ามีธรรมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว แม้นว่าลูกหลานทั้งหลายได้กระทำ
ด้วยกายวจีมโนกรรมหลายหลาก ได้กระทำกับผู้ข้าเป็นอันมาก
แม้นได้ปากล้ำคำเหลือเป็นสัจจัง ได้ปากเสียงดังครางเสียงใหญ่
ได้ขึ้นที่ต่ำได้ย่ำที่สูงฉันใดดังอั้นก็ดี แม้นักเป็นวจีกรรม มโนกรรมไปถูกต้อง
ลูกหลานทั้งหลายก็ดาพร้อมถ้าจักมาขอสูมา ผู้ข้าก็บ่หื้อเป็นโทสาสังสักอย่าง
กายวจีมโนกรรมใดหื้อคลาดจากตนตัว บ่หื้อมีความหมองมัวสังสักอย่าง
หื้อแจ้งกระจ่างล้ำเลิศ แลหือพ้นเสียยังปาปโทษ
โปรดหื้อหายกลายเป็นอโหสิกรรม ขออย่าได้เป็นนิวรณธรรม
กรรมอันจักห้ามยังสุขสามประการ สุขในเมืองฟ้าแลเมืองคน
มีมหาเนรพานนั้นจุ่งจักมี แม้นลูกหลานทั้งหลาย
ได้เอาปัจจัยมวลฝูงนี้มาหื้อทาน ขอหื้อมีความสุขสำราญเที่ยงเท้า
หื้อเป็นปัจจัยแก่เจ้าชู่คนๆ สมดั่งความมักความปรารถนาตนอย่าคลาด
หื้อปราศจากโรคภัยทั้งหลาย อย่ามากรายมาใกล้
แม้นจักไปวันตกวันออกเหนือใต้ ก็มีมิตรแก้วสหายคำ
จักไปเมื่อคืนเมื่อวัน ก็อย่าได้มีเคราะห์มาพานถูกต้อง
แม้นมีพี่น้องก็หื้อถูกโล่งกัน ขอหื้อมีความสุขความงามอยู่บ่ขาด
หื้อสมดังคำปากผู้ข้าปันพรชู่ประการ นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี
สัพพีติ โย วิวัชชันตุ สัพพโรโค วินัสสตุ มา เต ภวัตวันตรายโย สุขีทีฆายุโก ภวะ อภิวาทนสีลีสนิจจัง วุฑฒาปจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุวัณโณ สุขัง พลัง
(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๗-๓๘)
คำปัดเคราะห์
เมื่อลูกหลานมาดำหัวนั้น เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ปันพรแล้ว ลูกหลานก็มักขอให้พ่อหม่อนแม่อุ๊ยคนนั้น มัดมือหรือผูกขวัญให้ แต่ก่อนจะมัดมือหรือผูกข้อทอขวัญเพื่อเป็นสิริมงคล เพื่อให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะปัดเคราะห์ให้ลูกหลานเสียก่อน
การปัดเคราะห์นั้น ผู้เฒ่าจะให้ลูกหลานแบมือสองข้างชิดกัน หรืออาจแบมือข้างเดียวก็ได้ แล้วจะเอาหางฝ้ายที่จะใช้มัดมือนั้นมากวาดในฝ่ามือของลูกหลาน แล้วกล่าวคำปัดเคราะห์
คำปัดเคราะห์อาจมีหลายสำนวน ในที่แห่งนี้จะนำเสนอสำนวนของพระครูสิงหวิชัย วัดฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
โอมสัพพัตถุสัมพทา สัพพโรคา สัพพอุบาทว์ สัพพพยาธิอันตราย เคราะห์ทั้งหลาย เคราะห์พาวายขี้ไข้ เคราะห์หัวปีถูกต้อง เคราะห์พี่น้องมาเยือน เคราะห์ในเรือนต้องค้าย เคราะห์เมื่อย่างย้ายพามี เคราะห์ไร่นามีปูเฝ้า เคราะห์ปู่เฒ่าฝากครัว เคราะห์งัวควายตัวกล้า เคราะห์ช้างม้าต่อชน เคราะห์กังวลเป็นถ้อย เคราะห์ปีเดือนวันโกรธไหม้ เคราะห์เจ็บเคราะห์ไข้เคราะห์หนาว เคราะห์เมื่อคืนเมื่อวัน เคราะห์พากลั้นพาอยาก เคราะห์กวนเคราะห์กรรม เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่นหลับบ่ชื่นเป็นฝัน เคราะห์ภายหลังอย่าได้มาถ้า เคราะห์ภายหน้าอย่าได้มาจก เคราะห์ทางวันตกอย่าได้มาเฝือ เคราะห์ทางเหนืออย่าได้มาต้องมาถูก เคราะห์วันนี้วันพรูกจุ่งหื้อหนีไกล หื้อหนีไปตามพระอาทิตย์พระจันทร์ อังคารที่ฟ้าเสี้ยงแผ่นดินสุด จุ่งหื้อตกไปกับพระพุธที่ป่ากวางดงสงัด จุ่งหื้อหนีไปตามพระหัสที่ยุคันธรแอ่วเล่น เทียวแว่เว้นสนุก จุ่งหื้อหนีไปตามพระศุกร์ที่ป่าดงมืดเส้า ที่พระพุทธเจ้าบ่ไว้ศาสนา จุ่งหื้อตกไปตามพระเสาร์นาคาหย่อมหญ้า ใต้ขอบฟ้าอุดรกรู จุ่งหื้อไปตามราหูอสุรินทไอสวร เคราะห์ต่างๆ นานาจุ่งหื้อตกไปในวันนี้ยามนี้ ตั้งแต่วันนี้ยามนี้เป็นต้นไป อยู่หื้อมีชัยไปหื้อมีโชคมีลาภ ปราบแพ้ข้าศึกศัตรูทุกเยื่องทุกประการ จุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี
ชยตุ ภวังค์ ชยสุภมังคลัง ชยโสตถิง ภวันตุเต
(โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, ๒๕๕๑, หน้า ๓๘)
รายการอ้างอิง
ก้อนแก้ว อภัย. (๒๕๑๕). ประเพณีพื้นเมืองฉบับโบราณ. เชียงใหม่: แสงชัยการพิมพ์.
เกริก อัครชิโนเรศ และคณะ. (๒๕๔๖). สำนักงาน. รายงานการวิจัย การชำระปฏิทินและ
หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา (ประกาศสงกรานต์). กรุงเทพฯ: กองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ญาณรังสี. (๒๕๓๐). ตำราแผนโบราณพื้นเมือง. เชียงใหม่: ประเทืองวิทยา.
ญาณสมฺปนฺโน, ภิกขุ. (๒๕๓๘). ของดีจากปั๊บสา. (พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงแก้ไข). ลำพูน:
ร้านภิญโญ.
ญาณสมฺปนฺโน, ภิกขุ. (๒๕๓๘). ตำราพิธีกรรมโบราณ. ลำพูน: ร้านภิญโญ.
ตรีรัตน์ แม่ริม. (๒๕๓๐). ตำราพิธีส่งเคราะห์แผนโบราณ. เชียงใหม่: ประเทืองวิทยา.
ทวี เขื่อนแก้ว. (๒๕๔๑). ประเพณีเดิม. ลำปาง: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.
ธรรมพื้นเมืองเรื่องตำนานอานิสงค์ปีใหม่พื้นเมือง. ลำพูน: ร้านภิญโญ.
นภัสนันท์ พุ่มสุโข, บรรณาธิการ.(๒๕๔๘). เรื่องเล่าล้านนา. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ.
ประเพณีเก่าเชียงใหม่ 700 ปี. (๒๕๓๙). เชียงใหม่: ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเชียงใหม่.
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง: จะเยียะจะใดดี : เอกสารประกอบการสัมมนา วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘
ณ โรงละครเล็ก หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: สำนัก
ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ฝอยทอง สมวถา. (๒๕๔๖). เล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม. เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์.
พระครูสิทธิวรเวช (สิงห์คำ กญจโณ). (๒๕๓๖). ศาสนพิธีพื้นเมือง: อนุสรณ์งาน
พระราชทานเพลิงศพ พระครูสิทธิวรเวช. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ). (๒๕๕๑). ปฎิทินล้านนา. ลำพูน: ณัฐพลการพิมพ์.
พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ). (๒๕๔๓). ฮีตกองของบ่เก่า. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). เชียงใหม่:
ดาวคอมพิวกราฟิก.
ไพฑูรย์ ดอกแก้ว. (๒๕๔๖). ประเพณีสงกรานต์: ความเชื่อดั้งเดิมและการเปลี่ยนแปลง.
เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
มณี พยอมยงค์ และศิริรัตน์ อาศนะ. (๒๕๔๙). เครื่องสักการะในล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒).
เชียงใหม่: ธนาคารไทยทนุ.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๕ ฉบับปรับ
ปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่: ส. ทรัพย์การพิมพ์.
รังสรรค์ จันต๊ะ. (๒๕๔๘). เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องป๋าเวณีปี๋ใหม่: จะเยียะจะใดดี.
เชียงใหม่: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
รังสรรค์ จันต๊ะ และวิลักษณ์ ศรีป่าซาง. (๒๕๔๘). เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง
ป๋าเวณีปี๋ใหม่: จะเยียะจะใดดี. เชียงใหม่: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ศักดิ์ รัตนชัย. (๒๕๓๒). ตุง ช่อ พญายอ เจ๋ดีย์ทรายปี๋ใหม่เมือง. ลำปาง:
โรงพิมพ์ลำปางการพิมพ์.
ศรีจันทร์. (๒๕๔๘). เรื่องเล่าล้านนา. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ ๑๙.
สงวน โชติสุขรัตน์. (๒๕๑๑). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.
สมบัติ พลายน้อย. (๒๕๔๗). ตรุษสงกรานต์. กรุงเทพฯ: มติชน.
สนั่น ธรรมธิ และยุทธพร นาคสุข. (๒๕๔๕). หนังสือปีใหม่เมืองและปฏิทินล้านนา
ประจำปีจุลศักราช ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ปีเต่าสง้า. ม.ป.ท: ม.ป.พ.
สนั่น ธรรมธิ. (๒๕๔๘, ๑๑ เมษายน). ดำหัวปีใหม่เมือง ความหมายของคนล้านนา. ประชาไท.
ค้นเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๒ จาก
http://www.prachatai.com/journal/2005/04/3587
สนั่น ธรรมธิ. หนังสือปีใหม่เมือง พ.ศ. ๒๕๔๖. (โปสเตอร์).
สนั่น ธรรมธิ. หนังสือปีใหม่เมือง พ.ศ. ๒๕๔๘. (โปสเตอร์).
สนั่น ธรรมธิ. หนังสือปีใหม่เมือง พ.ศ. ๒๕๔๙. (โปสเตอร์).
ยุทธนา นาคสุข. (๒๕๔๖). รายงานการวิจัย การชำระปฏิทินและหนังสือปีใหม่เมืองล้านนา
(ประกาศสงกรานต์). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
เสถียรโกเศศ. (๒๕๑๐). ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (๒๕๔๒). ปีใหม่. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. (เล่ม ๘, หน้า
๓๘๓๔- ๓๘๔๑). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา. (๒๕๕๑). องค์ความรู้ประเพณีปีใหม่เมือง. เชียงใหม่:
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา.
โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา. (๒๕๔๒). สืบสานล้านนา สืบต่อสมหายใจของแผ่นดิน.
เชียงใหม่: มิ่งเมืองนวรัตน์การพิมพ์.
ข้อมูล/เรียบเรียง/ภาพประกอบ
ประสงค์ แสงงาม ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนาประจำโครงการ
และคณะทำงานโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้
ส่วนกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือจากสำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรกฎาคม 2552