คำว่า ปอยหลวง เป็นการนำเอาคำสองคำที่มีความหมายแตกต่างกันมารวมกัน โดยคำว่า ปอย เข้าใจว่ามาจากภาษาพม่าตรงกับคำว่า ปะแว ซึ่งกลายมาจากภาษาลีว่า ปเวณี หรือประเพณี (ยุพิน ธิฉลาด, ๒๕๔๒, หน้า ๔๖๑๐) อันหมายถึง งานที่มีคนชุมนุมกัน แต่เมื่อชาวพม่าออกเสียงเร็วๆ จะออกสำเนียงว่า ปอย
ประเพณีงานปอยหลวงเป็นงานทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองศาสนสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้เกิดอานุสงส์แก่ตนและครอบครัว ถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้านด้วยเพราะเป็นงานใหญ่ การทำบุญปอยหลวงที่นิยมทำกันคือทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำบุญงานปอยหลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแสดงความชื่นชมยินดีร่วมกันเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่นโดยการจัดมหรสพสมโภชเพราะหนึ่งปีถึงจะได้มีโอกาสได้เฉลิมฉลองถาวรวัตถุต่างๆ ได้ หรือบางแห่งอาจใช้เวลาหลายปีเพราะสิ่งปลูกสร้างบางอย่างใช้เวลาสร้างนานมาก สิ้นเปลืองเงินทองมหาศาล จะต้องรอให้สร้างเสร็จและมีเงินจึงจะจัดงานเฉลิมฉลองเป็นงานปอยหลวงขึ้นมาได้
พิธีกรรม
ก่อนงานปอยหลวง ๑ วันเรียกว่า วันดา ชาวบ้านจะนำสิ่งของที่ซื้อไว้ไปรวมกันที่วัด เรียกว่า รวมครัว โดยตกแต่งประดิษฐ์ประดอยให้สวยงาม ตามแต่จะคิดขึ้น เรียกสิ่งที่ตกแต่งนี้ว่า ครัวทาน หรือ คัวตาน เพื่อแห่ไปยังวัดที่จะจัดงานปอยหลวง ส่วนวัดที่จะจัดงานปอยหลวง คณะกรรมการจัดงานจะจัดทำตุงตุงยาว และช่อช้าง นำไปทานและปักไว้บนเสาไม้ไผ่ ซึ่งปักไว้สองข้างทางเข้าสู่วัดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าวัดนี้จะมีงานปอยหลวง ในตอนเย็นวันเดียวกันก็จะนิมนต์พระอุปคุต (ก้อนหิน) จากท่าน้ำใกล้วัด โดยอัญเชิญมาไว้ที่หออุปคุต ซึ่งมีลักษณะเหมือนศาลเพียงตาพร้อมเสื่อ หมอน น้ำต้น (คนโท)ขันดอกไม้ ธูปเทียน การนำก้อนหินซึ่งสมมุติเป็นพระอุปคุตมาจากแม่น้ำ เพราะมีความเชื่อว่าพระอุปคุตสามารถปกป้องคุ้มครองให้งานสำเร็จราบรื่น ปลอดภัยจากเหตุร้ายต่างๆ พระอุปคุตนี้เมื่อเสร็จงานแล้วต้องนิมนต์ท่านกลับไปอยู่ที่กลางน้ำเหมือนเดิม
เมื่อถึงวันงานบุญปอยหลวง ในวันแรกจะเป็นครัวทานหรือเครื่องไทยทานของชาวบ้านที่เป็นศรัทธาของวัดที่มีงานแห่ปอยหลวงเข้าวัดก่อน ส่วนวันต่อไปก็จะมีคณะศรัทธาหัววัดต่างๆ จัดขบวนแห่เครื่องไทยทานมาจากวัดของตนเองไปร่วมทำบุญงานปอยหลวงด้วย ขบวนแห่ครัวทานมักจะมีสาวงามฟ้อนเล็บนำขบวนด้วย ชาวเหนือถือว่าหากใครได้ฟ้อนนำครัวทานเข้าวัดแล้วจะได้อานิสงส์มาก เกิดไปในภายหน้าจะมีรูปร่างหน้าตางดงามยิ่งขึ้น
เมื่อขบวนแห่ครัวทานเข้ามาในวัดแล้วจะมีการเลี้ยงดูแขกที่มาจากต่างบ้าน การเลี้ยงอาหารชาวบ้านจะทำหลังเวลาถวายเพลพระภิกษุสามเณร ส่วนครัวทานที่แห่มาถึงวัดในช่วงบ่ายเจ้าภาพก็จะมีการเลี้ยงของว่าง และน้ำดื่ม มีหมาก เมี่ยง บุหรี่เจ้าภาพจะจัดเตรียมไว้ทุกๆ วันจนกว่าจะเสร็จงาน
ส่วนคณะสงฆ์ที่เดินทางมายังวัดของเจ้าภาพทางวัดจะเตรียมการต้อนรับให้เป็นพิเศษ เรียกว่า “เกณฑ์รับหัววัด” เมื่อบอกบุญไปกี่วัดก็เตรียมของไว้ต้อนรับเท่านั้น รวมทั้งพระสงฆ์ที่นิมนต์มาทำพิธีสวดเบิกในวันสุดท้ายด้วย เมื่อคณะศรัทธาหัววัดต่างๆ มาถวายเครื่องไทยทาน พระสงฆ์ที่คอยต้อนรับจะให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม พระที่จะให้ศีลนั้นควรเป็นพระที่อาวุโสที่สุดหรือพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใส
วันสุดท้ายของงานจะมีความสนุกสนานเป็นพิเศษ บางแห่งคณะศรัทธาของแต่ละบ้านนำครัวทานของตนที่จัดขึ้นหรือรวมกลุ่มกัน จัดเครื่องครัวทานแล้วนำไปถวายวัด คณะสงฆ์จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์และมีการสวด อบรมสมโภช หรือสวดเบิก ซึ่งเป็นการสวดที่ไพเราะน่าฟังมาก ยังมีการเทศน์บอกกล่าวถึงอานิสงส์ของการก่อสร้างอีกด้วย ในวันรุ่งขึ้นก็มีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร มีอาจารย์วัดกล่าวถวายสิ่งปลูกสร้างที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างมา เสร็จแล้วก็ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี พระสงฆ์ให้ศีลให้พรแด่คณะศรัทธาที่มาร่วมงานก็เป็นอันเสร็จพิธีทำบุญปอยหลวง