ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า

0
1767

ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า คือการนำเอาฟืนมาเผา เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ผิงไฟ จัดขึ้นในช่วงเดือน ๔ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ชาวล้านนามีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปในวิหารก็รู้สึกถึงความหนาวเย็นเช่นเดียวกับคนเรา จึงร่วมกันหาไม้ฟืนมาจุดเผาไฟผิงให้เกิดความอบอุ่น ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับบริบททางสภาพแวดล้อม เนื่องจากในดินแดนล้านนาเป็นพื้นที่ๆมีความหนาวเย็นมาก รวมทั้งมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และมีความชื้นสูง การผิงไฟนอกจากจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังขับไล่ความชื้นในอากาศที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๗๙)

คำว่า “หลัว” เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ฟืน ส่วนคำว่า “หิง” หมายถึง การผิงไฟ และคำว่า “พระเจ้า” หมายถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างแพร่หลายทั่วไปในล้านนา แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ส่วนมากจะเป็นวัดที่อยู่แถบชนบทห่างไกล และสามารถเสาะหาฟืนได้ง่าย ได้แก่วัดยางหลวง และวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีนี้มักจะทำควบคู่ไปกับประเพณี “ทานข้าวล้นบาตร” เพื่อบูชาแม่โพสพ และทานข้าวใหม่ให้แก่วัด บางแห่งก็เรียกรวมว่าเป็นประเพณี “ทานข้าวใหม่-หิงไฟพระเจ้า” (สนั่น ธรรมธิ. นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ, สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สัมภาษณ์, ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓) หลังจากสิ้นเดือน ๓ เหนือ หรือประมาณเดือนธันวาคม พระ เณร และขโยมวัด จะพากันออกไปหาฟืนในป่า เพื่อเตรียมไว้สำหรับทานหลัวหิงไฟพระเจ้าในเดือนยี่เป็ง
ประเพณีทานหลัว

วิธีการทำหลัวหิงไฟพระเจ้า

ไม้ที่จะใช้บูชาพระเจ้านั้นมีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม มีดอกหอม ห้ามใช้ไม้ที่มีรสเผ็ด รสเปรี้ยว หรือมีกลิ่นเหม็นเด็ดขาด ให้เลือกไม้ที่มีสีขาว ให้ถ่านดี ทนทาน ไม่แตกเวลาก่อไฟ และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม้ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้ ได้แก่
ไม้จี้ หรือไม้คนทา นิยมนำมาใช้บูชาพระเจ้า

ไม้จี้ หรือไม้ชิงชี่ หรือไม้คนทาในภาคกลาง เป็นไม้ที่มีหนามตามลำต้น เมื่อเก็บมาแล้วต้องริบหนามออก ไม้มีลักษณะเป็นเถาและเนื้อในมีสีขาว ขึ้นในป่าบริเวณป่าละเมาะใกล้เชิงเขา
ไม้โมกมัน หรือมูกมัน เป็นไม้ยืนต้น เนื้ออ่อนสีขาว
ไม้โชค หรือสะคร้อ เป็นไม้ยืนต้นผลกินได้ มีสีขาวให้ถ่านดีมาก ชาวบ้านนิยมนำมาเผาถ่าน
ไม้มะขาม เป็นไม้ยืนต้นข้างในสีขาว นิยมร่นกิ่งลงมาเหลือแต่ต้นไว้ เพื่อให้ออกกิ่งใหม่

นอกจากนี้ ยังมีไม้กาสะลอง (ไม้ปีป) ไม้สบันงา (ไม้กระดังงา) ไม้จุ๋มป๋า (ไม้จำปา) ฯลฯ ในการคัดเลือกไม้ ให้เลือกกิ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ นิ้ว และตัดให้มีความยาวประมาณ ๑ วาของเจ้าภาพ หรือ ๑.๘๐- ๒.๐๐ เมตร แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้ง ถึงวันก่อนเดือน ๔ เป็ง ๑ วัน แล้วถากเอาเปลือกไม้ออกทุกส่วน นำมามัดรวมกันให้ได้ ๘๐ ท่อน เท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า คือ ๘๐ พรรษา
ผึ่งแดดให้แห้งและถากเอาเปลือกออก

จากนั้นช่วยกันแบกหามเข้าสู่วัดนำมาไว้ที่ลานข้างวิหาร หรือที่ล้านนาเรียกว่า “ข่วงแก้วทังสาม” หรือ “ข่วงแก้วอาราม” ตรงหน้าพระประธาน จากนั้นจัดการกองสุมหลัวเป็นรูปเหมือนกระโจมอินเดียนแดง โดยทำเป็นซุ้มสองกองไว้ ชั้นแรกใช้ไม้รวกเป็นแกนตั้งข้างใน ข้างนอกเป็นพวกไม้ซางและไม้อื่นๆที่เตรียมไว้ ใช้เถาวัลย์ตรึงมัดกองโดยรอบ โดยเฉพาะตัวแกนในเพื่อไม่ให้กองฟืนโค่นล้ม ไม้ฟืนทั้งหมดต้องคละด้วยไม้ที่เก็บมาใหม่ หากเป็นไม้แห้งหมดจะไหม้ไฟไวเกินไป นอกจากนี้มีการใส่ “หมากสะโปก” ไม้ประทัด หรือไม้ระเบิดสอดเข้าข้างในด้วย ขณะที่ไม้ติดไฟจะแตกเสียงดังไปไกล เป็นสัญญาณให้ชาวบ้านลุกตื่นมาจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร เพื่อมาทำบุญที่วัด ไม้นี้ทำจากไม้ไผ่ซาง หรือไม้บง ตัดปิดหัวท้ายเป็นท่อน อาจเป็น ๒ ท่อนบ้าง ๓ ท่อนบ้าง ใส่สะโปกประมาณ ๔-๕ ชุด เตรียมไว้สำหรับเผาต่อไป

พิธีการเผาบูชา

ก่อนวันทำพิธีชาวบ้านจะทยอยกันนำไม้ที่ตนเก็บมาวางในกองฟืน เพื่อทำพิธีพร้อมกันในเช้าวันรุ่งขึ้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ สำหรับพิธีการเริ่มจากชาวบ้านผู้มีศรัทธาจะเตรียมพานข้าวตอกดอกไม้ ฟืนท่อนยาว ๑ วา จำนวนหนึ่งมัด และภัตตาหารถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อไหว้พระรับศีลรับพรเรียบร้อยแล้ว จะมีการกล่าวคำถวายที่มีใจความเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย การถวายทานและการสร้างกุศล

จากนั้นจะเอาฟืนเข้าประเคนหน้าพระพุทธรูปองค์ประธานพิธี หรือบางแห่งจะใช้กรวยดอกไม้ประเคนหน้าพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการะ ในเวลาประมาณ ๐๔.๐๐-๐๕.๐๐ น. จะเริ่มจุดกองไฟหรือกองฟืนนั้น โดยเจ้าอาวาสจะจุดไฟเป็นท่านแรกพร้อมกับตีฆ้อง ๓ ลา เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและร่วมอนุโมทนาบุญด้วย (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๗, หน้า ๒๗๗๓-๒๗๗๔)
พิธีเผาบูชา

การทานข้าวใหม่ และทานข้าวหลาม-ข้าวจี่

ในชนบทบางท้องที่นอกจากจะทำบุญทานหลัวหิงไฟพระเจ้าแล้ว ก็จะทำพิธีทำบุญทานข้าวใหม่ ข้าวล้นบาตร ไปพร้อมๆ กันในช่วงของประเพณีเดือน ๔ เมื่อชาวบ้านนำข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางแล้ว จะนำข้าวนั้นไปทำบุญข้าวใหม่ ก่อนที่จะนำไปข้าวนั้นไปสีเพื่อรับประทาน การทำบุญในวาระนี้เรียกว่า “ทานขันข้าวใหม่” เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปถึงเทวดาขุนน้ำ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไร่นามาแต่เดิม สำรับอาหารประกอบไปด้วยข้าวนึ่งสุก พร้อมกับอาหารที่นิยมกันตามท้องถิ่น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๕)

นอกจากประเพณีทานข้าวใหม่แล้ว ในบางท้องที่มีการทำบุญทานข้าวจี่ ข้าวหลาม ชาวบ้านจะนำเข้าที่ได้จากท้องนามาประกอบอาหารประเภทต่างๆ เช่น ข้าวจี่ ข้าวหลาม ข้าวเม่า ข้าวต้ม ข้าวต้มกะทิ ข้าวหนมจ๊อก ข้าวต้มใบอ้อย โดยนำอาหารเหล่านี้ไปถวายพร้อมกับอาหารคาวประเภทอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทานขันข้าว คือถวายอาหารเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

ข้าวจี่ คือของกินเล่นชนิดหนึ่ง โดยการนำก้อนข้าวเหนียวเสียบปลายไม้แล้วปิ้งบนเตาถ่านให้ข้าวเหลืองกรอบและมีกลิ่นหอม ส่วนข้าวหลามนั้น คือข้าวเหนียวถูกหลามให้สุกในกระบอกไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่มีเยื่อหนา โดยกรอกข้าวเหนียวที่เป็นข้าวสารเติมน้ำไว้ตั้งแต่ตอนเย็น พอถึงตอนเช้าข้าวที่แช่น้ำไว้จะพองตัว นำกระบอกไม้นั้นไปผิงไฟกับถ่านแดงจนข้าวสุก การปอกข้าวหลามนั้นนิยมถากผิวไม้ส่วนที่ไหม้ไฟออกให้เหลือเนื้อไม้ไผ่สีขาวหุ้มข้าวหลามไว้ (บำเพ็ญ ระวิน, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๓)

ในการทานข้าวใหม่ ศรัทธาจะนำเอาข้าวเปลือกและข้าวสาร มาทานเป็นข้าวล้นบาตร หรือเรียกว่า “หล่อข้าวบาตร” หรือ บางแห่งเรียกว่า “ทานดอยข้าว” ตรงกลางวิหารปูเสื่อกะลาไว้ ๒ จุด แต่ละจุดตั้งบาตรไว้ ๑ ลูก เมื่อชาวบ้านนำข้าวมาเทลงไปในบาตรข้าวเปลือกกองหนึ่ง และบาตรข้าวสารกองหนึ่ง กองข้าวสารเรียกว่า “เงินดอย” ส่วนกองข้าวเปลือกเรียกว่า “เงินคำ” ซึ่งข้าวที่ได้นี้พระภิกษุสามเณรจะเก็บไว้นึ่งกินในช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก ออกบิณฑบาตไม่ได้ ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีไร่นา การทำบุญข้าวล้นบาตรจึงค่อยๆ หมดไป เพราะไม่มีข้าวเปลือกไปหล่อบาตร บางแห่งจึงมีแต่การ “ทานดอยข้าวสาร” เท่านั้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๔๒, หน้า ๒๗๕๕) การทานข้าวล้นบาตรนี้ นอกจากจะเป็นการบูชาแม่โพสพ ขอบคุณเทวดาอารักษ์ และบำรุงพระศาสนาด้วยการให้ผลผลิตแก่วัดแล้ว ยังเป็นโอกาสให้คนชุมชนแสดงความเอื้อเฟื้อต่อผู้ยากไร้หรือผู้ที่ประสบปัญหาได้ผลผลิตน้อยในปีนั้น นับเป็นการสร้างสามัคคีในชุมชนโดยผ่านพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย

รายการอ้างอิง

บำเพ็ญ ระวิน. (๒๕๔๒). ทานข้าจี่ ทานเข้าหลาม/ทานเข้าจี่ เข้าหลาม. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๖, หน้า ๒๗๕๓). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๐). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๗). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๕). เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.
มณี พยอมยงค์. (๒๕๔๒). ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๖, หน้า ๒๗๗๓-๒๗๗๔). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๒). ทานเข้าใหม่ ทานเข้าล้นบาตร. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม ๖, หน้า ๒๗๕๕). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ข้อมูล/รวบรวมและเรียบเรียง/ภาพประกอบ
ประสงค์ แสงงาม ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนาประตำโครงการ
และคณะทำงานโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้
ส่วนกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

http://library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/