ประเพณีตานเปรตพลี อุทิศส่วนบุญหาผู้ตาย

ประเพณีอุทิศหาผู้ตาย บางทีเรียกว่า ประเพณีเดือน 12 เป็ง ประชาชนในภาคเหนือ นิยมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ลุงป้า ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีนี้เรียกกันแต่ละท้องถิ่น ก็มีชื่อแตกต่างกันไป บางจังหวัดในภาคเหนือเรียกประเพณีอุทิศหาผู้ตายว่า ประเพณีเดือนสิบสองบ้างประเพณีปล่อยผีปล่อยเปรตบ้าง ตรงกับภาคกลางว่า “ตรุษสารท” ปักษ์ใต้เรียกว่า ประเพณีเดือนชิงเปรตและภาคอีสานก็คือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์เป็นอันเดียวกัน ต่างกันด้วยวิธีการทำตามจารีตประเพณีที่เคยทำมาในท้องถิ่นของตน
สำหรับการอุทิศหาผู้ตายของภาคเหนือ มีประเพณีสืบต่อกันมาเนื่องในการอุทิศกุศลแก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วถือกันว่าในเดือน 12 เหนือขึ้น 1 ค่ำถึงเดือนแรม 14 ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณสัตว์ ผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์ เพื่อขอรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลานจะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสูรกายทั้งหลาย ดังนั้นการปฏิบัติต่อประเพณีก็ด้วยการกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลกจึงได้ทำสืบต่อกันมา
ตำนานทางพระพุทธศาสนากล่าวถึง เปรตราชของพระราชาพิมพิสารไว้ดังนี้ ในกับปที่ 92 นับแต่ภัทรกัลป์ปขึ้นไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า “ปุสสะ” พระพุทธบิดาทรงพระนามว่า “พระเจ้าชยเสนะ” พระพุทธมารดามีพระนามว่า “ศิริมา” พระเจ้าชยเสนะยังมีพระราชบุตรอีก 3 พระองค์ ต่างพระมารดาและเป็นพระกนิษฐาภาภาของพระปุสสะพระพุทธเจ้า ราชบุตรทั้ง 3 นี้ มีเจ้าพนักงานรักษาคลังหนึ่งเก็บส่วยในชนบท กาลต่อมาพระราชบุตรทั้งสามมีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญกุศลบำรุงพระศาสนา ผู้เป็นพระเชษฐภาดา ตลอดไตรมาส จึงขอทูลอนุญาตแก่พระบิดา เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว พระราชบุตรทั้งสามจึงตรัสสั่งเจ้าพนักงาน ผู้เก็บส่วยในชนบทของพระองค์ให้สร้างวิหาร ครั้งสร้างเสร็จแล้ว พระราชบุตรทั้งสามจึงนำเสด็จพระพุทธเจ้าไปที่วิหารและทูลถวายวิหารแก่พระศาสดา แล้วสั่งเจ้าพนักงานรักษาพระคลังและพนักงานเก็บส่วยว่า เจ้าจงดูแลและจัดของเคี้ยวของฉันถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ 90,000 องค์ที่เป็นพุทธบริวาร และตัวเราทั้งสามกับบริวารทุกๆ วัน ตลอดจนไตรมาสด้วย ตั้งแต่วันนี้ไปเราจักไม่พูดอะไร ตรัสแล้วก็พาบริวาร 1,000 องค์ สมาทานศีล 10 แล้วประทับอยู่ในวิหารตลอดไตรมาส เจ้าพนักงานรักษาพระคลัง และเจ้าพนักงานเก็บส่วย ผลัดกันดูแลทานวัตต์ตามความประสงค์ของพระราชบุตรทั้งสามด้วยความเคารพ
ครั้งนั้น ชาวชนบทบางพวกจำนวน 84,000 คน ได้ทำอันตรายต่อทานวัตต์ของพระราชบุตรทั้งสาม มีกินไทธรรมเสียเองบ้าง ให้แก่บุตรเสียบ้าง เผาโรงครัวเสีย ชนเหล่านั้นครั้งทำลายขันธ์แล้วจึงไปบังเกิดในนรก กาลล่วงไปถึง 92 กัลป จนถึงกัลปนี้ ในพระพุทธศาสนาพระกัสสะสัมมาสัมพระพุทธเจ้าชนเหล่านี้มีจิตอันอกุศลเบียดเบียนแล้วนั้น ได้มาบังเกิดในหมู่เปรต ครั้งนั้นมนุษบ์ทำบุญให้ทานอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่เป็นเปรตของตน เปรตเหล่านั้นก็ได้ซึ่งทิพย์สมบัตินานาประการ แต่หมู่เปรตผู้ทำลายเครื่องไทยธรรมพระราชบุตรทั้งสามนั้นหาได้รับส่วนกุศลไม่ เปรตเหล่านั้นจึงทูลถามพระกัสสปะพุทธเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้านี้ พึงได้สมบัติอย่างนี้บ้างหรือไม่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายยังไม่ได้สมบัติ บัดนี้ ต่อไปภายหน้าพุทธกาลแห่งพระโคดมพระพุทธเจ้าญาติของท่านทั้งหลายจักได้เป็นพระราชา ทรงพระนามว่า “พิมพิสาร” และจักได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วอุทิศส่วนบุญถึงท่านทั้งหลาย เมื่อนั้นแหละท่านจะได้สมบัติดังนี้
การล่วงมาได้พุทธันดรหนึ่งถึงพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้เจ้าพนักงานผู้เก็บส่วยของพระราชบุตรทั้งสามได้มาบังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร แต่หาได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตที่เป็นญาติไม่ เปรตที่เป็นญาติเหล่านั้นมาคอยรับส่วนกุศลอยู่ เมื่อมิได้รับส่วนกุศลตามความปรารถนาก็เสียใจ พอถึงเวลาตีหนึ่งก็ส่งเสียงร้องประหลาดน่าสะพรึงกลัว ครั้นรุ่งสางขึ้น พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเหตุนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเนื้อความทั้งปวง แต่หนหลังให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เข้าไปรับเครื่องไทยธรรมในพระราชนิเวศน์ แล้วพระราชาทรงกระทำทักษิโณทก ทรงอุทิศว่าทานนี้จงถึงหมู่ญาติของเรา ขณะนั้นฝูงเปรตที่มีความกระวนกระวายและร่างกายที่น่าเกลียดน่ากลัวก็สูญหายไป กลับมีผิวพรรณงามผ่องใสดั่งทอง แล้วพระราชาถวายยาคูและของเคี้ยวอุทิศถึงญาติอีก ยาคูและของเคี้ยวอันเป็นทิพย์ก็เกิดขึ้นในสำเร็จประโยชน์แก่ฝูงเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น แล้วพระราชาถวายผ้าและเสนาสนะทรงอุทิศถึงญาติอีก ผ้าและเครื่องเสนาอาสนะปราสาทล้วนแต่เป็นทิพย์ให้สำเร็จประโยชน์แก่ฝูงเปรตเหล่านั้นได้ประสบความสุข พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก
ในครั้งนั้นมีเรื่องสืบมาว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนาติโรกัณฑสูตร ทรงสรรเสริญทานที่นายกอุทิศบริจาคแก่ญาติที่ตายไปแล้วอีกหลายวัน แล้วกล่าวคำอุทิศถึงญาติว่า “อทํ โว ญาตีนํ โหตุ ญาตโยฯ” ทานนี้จงถึงญาติทั้งหลาย (ที่เกิดในเปรตวิสัย) ขอญาติเหล่านั้นจงมีความสุข (คือได้เสวยผลแห่งทานด้วยความสำรวม) อนึ่งผู้ที่บริจาคทานนั้นก็หาได้ไร้ผลไม่ เป็นการสร้างสมบุญกุศลให้เพิ่มยิ่งขึ้น กลับมีบุญกุศลยิ่งใหญ่ให้ผู้อื่นได้อนุโมทนาอก การร้องไห้เศร้าโศก ปริเวทนา หาผู้ที่ตายไปไม่เป็นประโยชน์อย่างไรแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีแต่การทำบุญอุทิศกุศลเท่านั้น จะได้ผลแก่เขาในปรภพแล
ในวันเดือน 12 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแต่งดาเตรียมข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ผลไม้ไว้พร้อมสรรพ รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเดือน 12 เพ็ญ ชาวบ้านจะนำเอาอาหารใส่ถาดไปวัดและจะถวายแด่พระภิกษุ เรียกว่า “ทานขันข้าว” มีการหยาดน้ำอุทิศบุญกุศลด้วย โดยให้พระเป็นผู้กรวดน้ำให้เพราะถือว่าท่านเป็นผู้ทรงศีล บุญกุศลจะถึงแก่ผู้ตายได้ง่าย
การทำบุญอุทิศกุศลนั้น มีการทำ 2 แบบ คือ 1. อุทิศแก่ผู้ตายธรรมดา 2. อุทิศแก่ผู้ตายโดยอุบัติเหตุ พวกผีตายโหง อุทิศแก่ผู้ตายธรรมดา ญาติจะเอาอาหารไปถวายที่วัดถือว่าวิญญาณผู้ตายธรรมดาเข้าออกวัดได้โดยสะดวก ส่วนผีตายโหงนั้น เข้าวัดไม่ได้เพราะอำนาจแห่งเวรกรรมญาติต้องถวายอาหารพระนอกวัด คือ นิมนต์พระมานอกกำแพงวัดแล้วถวาย เช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดินของอีสาน การทำบุญอุทิศถึงผู้ตายนี้ ถ้ามีญาติหลายคนที่ตายไปแล้วจะต้องอุทิศให้คนละขันหรือคนละถาด กล่าวคือ จะต้องถวายตามจำนวนคน แต่บางรายก็จะจดรายชื่อให้พระ เวลาพระให้พรจะได้ออกชื่อผู้ตายตัวอย่างคำให้พระอุทิศแก่ผู้ตายดังนี้
“ดีและอัชชะในวันนี้ก็หากเป็นวันดี สะหรีอันประเสริฐล้ำเลิศกว่าวันดังหลาย บัดนี้ หมายมีมูลศรัทธา …..(ชื่อผู้ถวาย)…ได้สระหนงชงขวายตกแต่งแป๋งพร้อมน้อมนำมา ยังมธุบุปผาลาชนดวลดอกข้าวตอกไม้ลำเทียน ข้าวน้ำภาชนะ อาหารมาถวายเป็นทานเพื่อจะอุทิศผละหน้าบุญ ผู้อันจุติตาย มีนามกรว่า …..(ผู้ตาย)….หากว่าได้วางอารมณ์อาลัย มรณะจิตใจไปบ่ช่าง ไปตกท้องหว่างจตุราบาย ร้อนบ่ได้อาบ อยากบ่ได้กิ๋น ดังอั๋นก็ดี ขอพละหน้าบุญอันนี้ไปอุ้มปกยกออก จากที่ร้ายกลายมาสู่ที่ดี หื้อได้เกิดเป็นเทวบุตร เทวดา อินทราพรหมตนประเสริฐดั่งอั้นก็ดี ขอพละหน้าบุญอันนี้ไปเตื่อมแถม ยังสหรี่สัมปติยิ่งกว่าเก่า สุขร้อยเท่าพันปูนผละหน้าบุญนี้ชักนำรอดเถิงเวียงแก้วยอดเนรพานั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี….
ศรัทธาประชาชนบางคนนอกจากทานขันข้าวอุทิศส่วนกุศลแล้ว ยังนิมนต์พระมาเทศน์ที่บ้านอุทิศกุศลแก่ผู้ตายด้วย บางรายก็ไปนิมนต์พระเทศน์ที่วัดพร้อมกับการถวายอาหาร ทานขันข้าวพระคัมภีร์ที่นิยมเทศน์ในวันดังกล่าวนี้ประกอบด้วย
1. ธรรมเปรตพลี
2. ธรรมมาลัยโผดโลก
3. ธรรมมูลนิพพาน
4. ธรรมมหามูลนิพพาน
5. ธรรมตำนานดอนเต้า
6. ธรรมตำนานพระยาอินทร์
คัมภีร์เหล่านี้มักใช้เทศน์อุทิศส่วนกุศล เจ้าอาจบูชาเอาผูกใดผูกหนึ่ง คือ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเทศน์ให้ฟังเป็นอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอุทิศเป็นปุพเปรตพลี
การทำบุญอุทิศหาผู้ตายนี้ หากจะพิจารณาถึงประโยชน์แล้วได้สิ่งที่เป็นสาระหลายประการคือ
1. เป็นการสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน
2. เป็นการสังคหะช่วยเหลือผู้ตายอื่นๆและถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมากซึ่งจำพรรษาอยู่
3. เป็นการสร้างความสามัคคียึดเหนี่ยวน้ำใจคนข้างเคียงมิตรสหาย
4. เป็นการสร้างความสุขให้แก่ผู้กระทำ
5. เป็นการอบรมลูกหลานให้เข้าใจในระเบียบประเพณี
6. เป็นการอนุรักษ์มรดกบรรพบุรุษไว้นานเท่านั้น ดังนั้น ประเพณีอุทิศหาผู้ตายในวันเพ็ญเดือนสิบสอง จึงเป็นประเพณีที่ดีงาม ควรแก่อนุรักษ์ไว้ให้เจริญและคงอยู่กับลูกหลานสืบไป