ประเพณีวัฒนธรรมการปลูกเรือนนั้น ในแต่ละสังคมย่อมมีวิธีการที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม ประเพณีการปลูกเรือนล้วนแฝงไว้ด้วยคติความเชื่อของสังคมนั้นๆซึ่งเป็นตัวกำหนดพื้นฐานของการปลูกสร้างบ้านเรือน เพื่อให้บังเกิดความอยู่เย็นเป็นสุขแก่ผู้อาศัยในเรือนนั้นๆ การปกหอยอเฮือน เป็นคำพูดในภาษาล้านนา หมายถึงประเพณีการปลูกเรือนล้านนา
ขั้นตอนการปลูกเรือน
เมื่อได้ทำการจัดหาเตรียมเครื่องเรือนที่เรียกกันว่า “การครัวไม้” โดยทำการท่าวร่างทดลองปลูกดูก่อน แล้วจึงรื้อลงมาจัดผูกแยกเป็นกองๆ เพื่อรอการปลูก ต่อมาเจ้าของเรือนจะต้องไปหาปู่อาจารย์ให้ท่านช่วยดูฤกษ์ดูวันในการที่จะปกเรือน เมื่อได้วันกำหนดที่แน่นอนแล้ว เจ้าของเรือนจะออกไปขอแรงจากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องให้มาช่วยปกเรือน เพราะชาวบ้านสมัยก่อนเป็นช่างปลูกเรือนเหมือนกันเกือบทุกคนโดยขอไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน ส่วนฝ่ายหญิงจะไปบอกญาติพี่น้องของฝ่ายตนให้ช่วยทำอาหารเลี้ยงคนที่มาช่วยงาน ก่อนที่จะทำการปกเรือน เจ้าของเรือนจะต้องสำรวจดูพื้นที่ๆจะปลูกเรือนก่อนว่าตรงไหนจะดีมากน้อยประการใด โดยมีขั้นตอนต่างๆได้แก่
การดูความสูงต่ำของพื้นที่
ศรีเลา เกษพรหม (๒๕๓๙, หน้า ๑๐๒-๑๐๖) อธิบายการดูความสูงต่ำของพื้นที่ โดยให้ดูพื้นดินที่มีความสูง และลาดเทไปยังทิศต่างๆดังนี้
พื้นดินสูงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต่ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถือว่า ดี
พื้นดินต่ำทางเหนือ สูงทางทิศใต้ ถือว่า ดี
ถ้าพื้นดินสูงทุกด้าน เรียกพื้นที่นั้นว่า สุชาตา ถือว่าดีมาก
พื้นดินสูงทางทิศใต้ต่ำทางทิศเหนือ ดีมาก
พื้นดินสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ต่ำทางทิศตะวันตก ถือว่าดี
การดูจากการเสี่ยงทาย
ดูการเสี่ยงทายว่าที่ดินตรงไหนจะดีหรือไม่ดี โดยทำควัก หรือกระทงใบตอง ๓ อัน อันแรกใส่ข้าวเหนียวสุก อันที่ ๒ใส่ข้าวเหนียวที่ทาหรือคลุกด้วยปูนแดงให้มีสีแดง เรียกว่า ข้าวแดง อันสุดท้ายข้าวเหนียวสุกทาหรือคลุกด้วยหมิ่นหม้อให้มีสีดำเรียกว่า ข้าวดำ แล้วนำไปวางไว้ในบริเวณที่จะปลูกเรือน จากนั้นให้อธิษฐานขอให้มีสิ่งแสดงบอกเหตุดีหรือไม่ดีตามความปรารถนา หรือกล่าวคำโวหารที่ปรารถนา ทิ้งไว้สักครึ่งหรือ ๑ วันแล้วจึงไปดูควักใบตองทั้ง ๓ ว่ามีสัตว์มากินหรือตอมหรือไม่ หากเป็นข้าวที่เป็นสีขาวไม่ได้คลุกด้วยสิ่งใด ถือว่าเป็นที่ปลูกเรือนได้ดีมาก ถ้าสัตว์หรือแมลงมากิน ข้าวแดงดีปานกลาง ถ้ากินข้าวสีดำถือว่าไม่ดี
อีกวิธีหนึ่ง เอาใบฝาแป้งมา ๘ ใบ ใบ ๑ ห่อดิน ใบ ๑ ห่อเปลือกไม้ ใบ ๑ ห่อผมยุ่ง เมื่อพร้อมก็นำขันข้าวตอกดอกไม้พร้อมสิ่งต่างๆไปสู่งบริเวณที่จะปลูกเรือน แล้วตั้งอธิษฐานดังนี้ “โอกาสะ พรหมเทวดา รุกขเทวดา ติณณปัพพเทวดา อากาสเทวดา บัดนี้ผู้ข้า พ่อแม่ ลูก ผัวเมีย มีประมาณเท่านี้ จักมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้ ยังจักเพิงใจเทวดาทังหลายอั้นชา คันยังจักอยู่วุฒิเจริญใจแก่ตูข้าทังหลายดังอั้น ก็ขอหื้อหยุบได้ห่อที่ดี คันตูทังหลายยังจักอยู่บ่วุฒิเจริญใจดังอั้น ก็ขออย่าได้หยุบเอาห่อที่บ่ดีนั้นเทอะ “ ว่าแล้วจึงกล่าวคาถาว่า “นมามิ สิรสา นาถัง สัสสธรรมคนุตตมัง อิทัมปินิตโต ทิพพจักขุงวปัสสติ” แล้วจึงจับเอาห่อสิ่งนั้นขึ้นมา ๑ ห่อ เปิดดู ถ้าได้ห่อดอกไม้ ห่อข้าวเปลือก ห่อหิน ห่อดิน ดีมากควรอยู่ที่นั้น ถ้าจับได้ห่อเปลือกไม้ ห่อผมยุ่ง ห่อปีกไก่ และห่อถ่านไฟ ไม่ดีไม่ควรอยู่
อีกวิธีหนึ่ง ถ้าจะปลูกเรือนที่ใด ให้ถางหญ้าตรงกลางบริเวณนั้นกว้างประมาณ ๑ ศอก แล้วเอาไม้แหลมเป็นหลักยาว ๑ ฝ่ามือ นำไปตอกไว้ที่ตรงนั้นให้โผล่พ้นดินประมาณนิ้วหัวแม่มือ เอาเม็ดข้าวเปลือกมาเรียงกับดิน เอาหัวเข้าหาหลักนั้นจนรอบ เอาหม้อใหม่มาครอบไว้ แล้วกลบปากหม้อให้มิดชิดไม่ให้แมลงเข้าไปข้างในได้ แล้วเอาควักวางแม่ธรณี อธิษฐานต่อเทวดาและธรณีที่นั้นว่า “คันผู้ข้าทังหลายจักแปลงบ้านเรือนอยู่ที่นี้ ยังจักอยู่ดีมีสุขดังอั้นก็ขอหื้อข้าวเปลือกที่หลักนี้อย่าได้ฟุ้งไปทางใดเทอะ คันผู้ข้าทังหลายจักอยู่ไม่สบายก็ขอหื้อเม็ดข้าวเปลือกกระเด็นแตกฟุ้งไป จิ่มเทอะ” เมื่อถึงอีกวันก็ให้ไปเปิดหม้อดู ถ้าเม็ดข้าวกระเด็นฟุ้งไป ที่ตรงนั้นไม่ดีอย่าได้อยู่ ถ้าเม็ดข้าวขึ้นอยู่บนปลายหลักก็ยังดีอยู่ ถ้าเม็ดข้าวไม่แตกกระจายให้อยู่ที่นั้น ดีมาก
การหามื้อจันวันดี และโศลกทำบ้าน
เมื่อได้บริเวณที่จะปลูกเรือนแล้วก็ให้ไปหาพระสงฆ์ หรืออาจารย์วัดให้ช่วยดูเดือน ดูวัน ดูยามที่จะลงมือปลูกเรือน เรียกว่าการหาหื้อจันวันดี โดยอ้างจากบางตำราเริ่มจากเดือนก่อน (๒) เช่น
เดือนที่ดีและไม่ดีในการปลูกเรือนใหม่
เดือนเจียง
จักผิดเถียงกัน ไม่ดี
เดือนยี่
จักสมฤทธี มีข้าวของ ดี
เดือน ๓
จักเสียข้าวของ ไม่ดี
เดือน ๔
จักได้ลาภ และมีข้าวของ ดี
เดือน ๕
จักเป็นพยาธิ และไฟจักไหม้ ไม่ดี
เดือน ๖
จักได้ลาภ มีข้าวของ อยู่ดีมีสุข ดี
เดือน ๗
จักได้รับความทุกข์มากนัก และจักพลันตาย ไม่ดี
เดือน ๘
จักเสียข้าวของ หรือเป็นพยาธิ ไม่ดี แต่บางตำราว่าจักมีข้าวของดี
เดือน ๙
จักมีลาภ และอยู่ดีมีสุข ดี
เดือน ๑๐
จักเป็นพยาธิตาย และจักฉิบฉายไม่ดี
เดือน ๑๑
จักเป็นโทษ และผิดเถียงกัน ไม่ดี บางตำราว่าจักสมฤทธี ดี
เดือน ๑๒
จักเป็นดีมีสุขมากนัก
วันเสียประจำเดือน
เดือนเจียง เดือน ๕ เดือน ๙
วันอาทิตย์ และวันจันทร์ เสีย
เดือนยี่ เดือน ๖ เดือน ๑๐
วันอังคารเสีย
เดือน ๓ เดือน ๗ เดือน ๑๑
วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เสีย
เดือน ๔ เดือน ๘ เดือน ๑๒
วันพุธ และวันศุกร์เสีย
ยามดีไม่ดี
วันอาทิตย์
ยามรุ่งเช้า หินะ ไม่ดี
ยามกองงาย อุทธังราชา ดี
ยามแตรจักใกล้เที่ยงลาภสะกัง ดี
ยามเที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามกองแลง หินะ ไม่ดี
ยามแตรจักใกล้ค่ำ อุทธังราชา ดี
ยามค่ำแท้ ก็ดี
วันจันทร์
ยามเช้า หินะ ไม่ดี
ยางกลองงาย หินะ ไม่ดี
ยามใกล้เที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามเที่ยง อุทธังราชา ดี
ยามช้าย(เวลาบ่าย) หินะ ไม่ดี
ยามใกล้ค่ำ หินะ ไม่ดี
ยามค่ำแท้ หินะ ไม่ดี
วันอังคาร
ยามเช้า อุทธังราชา ดี
ยามกลองงาย ลาภสะกัง ดี
ยามใกล้เที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามเที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามกองแลง อุทธังราชา ดี
ยามใกล้ค่ำ ลาภสะกังดี ค่ำแท้หินะ ไม่ดี
วันพุธ
ยามเช้า หินะ ไม่ดี
ยามกลองงาย อุทธังราชา ดี
ยามใกล้เที่ยง หินะไม่ดี
ยามเที่ยง อุทธังราชา ดี
ยามช้าย (เวลาบ่าย) ลาภสะกัง ดี
ยามค่ำ หินะ ไม่ดี
วันพฤหัสบดี
ยามเช้า หินะ ไม่ดี
ยามกลองงาย หินะ ไม่ดี
ยามใกล้เที่ยง อุทธังราชา ดี
ยามเที่ยง ลาภสะกัง ดี
ยามแตรค่ำ อุทธังราชาดี
ยามค่ำแท้ ก็ดี
วันศุกร์
ยามเช้า หินะ ไม่ดี
ยามกองงาย อุทธังราชา ดี
ยามใกล้เที่ยง ลาภสะกัง ดี
ยามใกล้เที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามช้าย(เวลาบ่าย) ดี
ยามใกล้ค่ำ อุทธังราชา ดี
ยามค่ำแท้ ดี
วันเสาร์
ยามเช้า อุทธังราชา ดี
ยามกลองงาย อุทธังราชา ดี
ยามใกล้เที่ยง หินะ ไม่ดี
ยามเที่ยง หินะไม่ดี
ยามช้าย (เวลาบ่าย) อุทธังราชา ดี
ยามเย็น ลาภสะกัง ดี
ยามใกล้ค่ำ หินะ ไม่ดี
ยามค่ำแท้ ก็ไม่ดี
มณี พยอมยงค์ (๒๕๓๙, หน้า ๑๗๑) อธิบายการทำบ้านให้ถูกต้องตามโศลก หรือฮีตของการสร้างบ้านแปงเฮือน เป็นความเชื่อของคนล้านนาที่เชื่อว่าต้องปลูกเรือนให้ถูกต้องตามโฉลก จึงจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยให้เจ้าของบ้านที่เป็นชายเอาไม้มาวัดให้พอดีกับวาของตน แล้วนับแต่รั้วบ้านด้านใดด้านหนึ่งเป็นวาที่หนึ่ง ไปตรงจุดที่จะสร้างบ้าน โดยนับว่าที่หนึ่งเป็นน้ำบ่อแก้วแล้วไล่ตามลำดับต่อไปนี้
น้ำบ่อแก้วกินเย็น (ดี)
ผีเข็ญอยู่กะล่าง (ไม่ดี)
เอาตูบห่างแปงผามควาย (ไม่ดี)
หยิบถงลายใส่เงินย่อย (ดี)
ปั้นเข้าอ่อยผี (ไม่ดี)
เอาลูกเศรษฐีเป็นเพื่อน (ดี)
ไม้ยังเถื่อนเป็นมงคง (ดี)
ที่นิยมกันมากคือ “หยิบถงลายใส่เงินย่อย” ถือว่าเป็นการเก็บเล็กผสมน้อย เริ่มต้นการลงเสาแรกที่นั่น หากยังต้องการเนื้อที่กว้าง การนับโศลกก็นับวนมาที่น้ำบ่อแก้วกินเย็นอีกครั้งหนึ่ง การทำตามโศลกเวลาสร้างบ้านแปงเฮือน นอกจากจะเกิดความมั่นใจแก่เจ้าของเรือนยังสร้างความอุ่นใจและเชื่อว่าจะมีความสุขสวัสดี และมีความเจริญแก่ชีวิตและครอบครัว
การบูชาเทวดาที่รักษาพื้นที่ที่จะปลูกเรือน
ก่อนวันปกเรือน ๑ วัน คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นหญิงจะช่วยกันดาครัวขึ้นท้าวทั้ง ๔ จัดทำเป็นสะตวงหรือกระทงจำนวน ๖ กระทง ส่วนคนแก่ชายจะจัดตั้งค้างท้าวทั้ง ๔ บางแห่งก็จะทำสะตวงหยวกกล้วยกว้างประมาณ ๑ คืบ จำนวน ๕ สะตวง ใส่เครื่องครัวบูชา มีข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน แกงส้ม แกงหวาน กล้วย อ้อย ข้าว น้ำ โภชนาอาหาร หมากพลู ยา อย่างละ ๔ ช่อขาว ๔ เรียกว่า “สะตวงเครื่อง ๔” พิธีกรรมข้างต้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๘๖ และ ๑๐๗) บางตำราก็เรียกว่า การทำพิธี “เสดาะเสนียด” (ขึด หรือปัดรังควานเสาที่จะทำพิธี “ปก” โดยให้อ่านคาถาแล้วใช้มีดหรือขวาน ถากไม้ตรงตีนเสาออกพอเป็นพิธี และเอาเศษไม้ที่ถากมาไปใส่ในสะตวงแล้วเอาสะตวงทั้ง ๔ อันไปวางไว้ตามทิศสี่มุมบ้าน ส่วนสะตวงอีกอันหนึ่งที่อยู่ตรงกลางนั้นให้เอาไปลอยน้ำเสีย เป็นเสร็จพิธี (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕-๑๗๖)
พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่
พอตกเย็นอาจารย์วัดหรือปู่อาจารย์จะเป็นผู้มากล่าวคำโอกาสขึ้นท้าวทั้ง๔ และบอกเจ้าที่เจ้าทางบอกแม่พระธรณีให้ช่วยคุ้มครองไม่ให้เกิดเรื่องร้ายแรง โดยยกสะตวงอันหนึ่งตั้งไว้ตรงกลางที่ดินนั้นเพื่อกล่าวบูชาขออนุญาตจากเจ้าที่ ส่วนสะตวงอีก ๔ ยกไปตั้งไว้ยังทิศทั้ง ๔ แล้วกล่าวคำอาราธนาบูชาว่า “ มหาลยันติ ลหายันติ ลหาลตันติว หูลู หูลู สวาหาย” ๗ จบแล้วยกสะตวงออกไปให้พ้นเขตที่ดินตามทิศนั้นๆ (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๗)
บางตำรากล่าวว่าการทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าที่หรือพญานาค เนื่องจากในสมัยโบราณชาวเหนือมีความเชื่อว่า พญานาคเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดิน และแผ่นฟ้า สามารถอำนวยความสุขสวัสดี หรือภัยพิบัติแก่มวลมนุษย์ได้ โดยให้วัดจากมุมทั้งสี่ของบริเวณที่จะปลูกเรือนให้ได้จุดศูนย์กลางแล้วให้ขุดหลุมลึก ๑ คืบ กว้าง ๑ คืบ ให้เอาข้าวปั้น กล้วยหน่วย และอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กละน้อยใส่เข้าไปในหลุมนั้น
แล้วอาจารย์จะอ่านคำโองการว่า “โอม นะโม นาคะราชา มหานาคะราชา สวาหุง นาคะราชา อิมัสสสะมิง นะกะเล สุวัณณะรัชชะตัง วา มะณี วา อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ ภุญชันตุ สวาหุง” ว่าครบ ๓ จบ แล้วก็อัญเชิญให้พญานาคมารับสิ่งของสังเวยนั้น แล้วกลบดินถมหลุมเป็นเสร็จพิธีเลี้ยงเจ้าที่เจ้าดิน หรือพญานาค (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕)
พิธีเซ่นสรวงเจ้าที่
การบูชาพญานาค บางท้องถิ่นเมื่อจะปกเสาเรือน ต้องมีการจัดเครื่องบูชาพญานาค โดยทำสะตวงหยวกกล้วย กว้าง ยาว เท่ากับศอกของเจ้าของเรือน ใส่ด้วยข้าว น้ำ โภชนาอาหาร พร้าว ตาล กล้วย อ้อย หมาก พลู ข้าวตอก ดอกไม้ ช่อ ๖ ตัว จองแหลง (คือเทียนขี้ผึ้งขนาดเล็กติดกับตอกไม้ไผ่) ๖ อัน ดอกไม้ขาว ๖ ดอก ผ้าขาว ผ้าแดง ยาวเท่ากับศอกของเจ้าของเรือน ๒ ผืน แล้วขุดหลุมใกล้กับหลุมเสามงคล กว้าง ๑ ศอก ลึก ๑ ศอกของเจ้าเรือน วางสะตวงใกล้กับปากหลุม และกล่าวคำโอกาสดังนี้
“โภนโต ดูรานาคราชาตนเป็นเจ้าเป็นใหญ่ตนประเสริฐ อันเป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย มากกว่าแสนโกฏิ อันอยู่รักษาแผ่นดินหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชนะ และรักษาเมืองคำแห่งอินทราชเจ้ากล้ำลุ่ม บัดนี้หมายมีเจ้าเรือนผู้มีชื่อว่า…………จิ่งจักมาสร้างแปลงยังเคหาหอเรือนอันใหม่ ก็จิ่งจักรำเพิงเถิงบุญคุณแห่งเจ้ากู ก็จิ่งได้ตกแต่งยังเครื่องบริกรรมปูชานมัสการ มีข้าวปลาโภชนาอาหาร แกงส้ม แกงหวาน พร้าวตาล กล้วยอ้อย จองแหลงและเยื่องและ ๖ มีผ้าขาว ๒ ผืน ก็เพื่อว่าจักมาขอเอายังโชคชัย ลาภะสักการะ กับด้วยเจ้ากูว่าอั้นสันนี้แท้ดีหลี ขอเจ้ากูจุ่งจักมารับเอายังเครื่องขียาปูชานมัสการทังหลายมวลฝูงนี้ แล้วขอเจ้ากูจุ่งจักนำมายัง โชคชัย ลาภะสักการะ ยศ บริวาร ศรีโภคะ ธนะ มะหิงสา สิตา นารานิบิ สัพพะสิทธิ วิฏฏรุจจิติ” ว่า ๓ ครั้งแล้วเอาผ้าขาว ๒ ผืน รองตีนเสามงคลผืน ๑ และรองตีนเสานางผืน ๑ จากนั้นเอาสะตวงไปให้พ้นเขตบ้าน แล้วจึงทำการปกเสามงคลและเสานาง รวมทั้งเสาอื่นๆ ต่อไป (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๑๑)
การตั้งขัน
การ “ตั้งขัน” เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ซึ่งเป็นการแสดงความคารวะแก่ผู้ที่จะทำพิธีให้ (๑) ในกรณีที่ไม่ได้ตั้งขันครูตอนที่ครัวไม้ สล่าหรือช่างก่อสร้างก็จะตั้งขันในตอนนี้ ขันตั้งประกอบด้วยสวยหมาก ๑๒ สวยพลู ๑๒ สวยดอก ๑๒ ข้าวเปลือกหมื่นข้าวสารพัน หมาก ๑ หัว พลู ๑มัด ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ เหล้า ๑ ขวด เงินอีกจำนวนหนึ่งใส่ในภาชนะ เช่น โอง หรือกาละมัง โดยให้สล่าเค้า หรือหัวหน้าในการปลูกเรือนหลังนั้นเป็นผู้ถือขันตั้ง หรือถ้าไม่มีก็ให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ถือให้ เมื่อกล่าวโองการแล้ว ก็เอาใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ตูบหรือเรือนพักของเจ้าของ เมื่อได้ตั้งขันแล้วเชื่อว่าการปลูกเรือนจะราบรื่นไม่มีอุปสรรคสิ่งใด (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๗)
การวางผังเรือน
ก่อนวันปกเรือน สล่าผู้เป็นหัวหน้าจะพาลูกมือวางผังของเรือนก่อน ในอดีตจะขึงเชือกดูระยะความกว้างยาวของตัวเรือน ว่าจะปลูกบริเวณใดที่จะเป็นมงคล เชือกที่นำมาใช้ต้องไม่เป็นเชือกที่ต้องห้าม ทั้งสีและชนิดของเชือกเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เชือกสีดำไม่ดี เชือกสีเขียวดีจะมีทรัพย์สิน เชือกที่เป็นด้ายสีแดงไม่ดีไฟจักไหม้ เชือกด้ายสีขาว หรือเชือกจากเปลือกไม้ไม่ดี เชือกเครือเขาไม่ดีจักฉิบหาย เมื่อวัดได้ที่แล้วนำขื่อ และแปมาวางพาดกันตามรูที่เจาะไว้ในบริเวณที่จะปลูกเรือน โดยหันทิศทางให้ถูกต้องตามที่เจ้าของเรือนต้องการ แล้วเอาไม้หลักตอกลงดินเพื่อหมายไว้เป็นจุดที่จะขุดหลุมเสาตรงหลักที่หมายนั้นให้ครบทุกต้น (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๘-๑๐๙)
การขุดหลุมเสา
การขุดหลุมเสาไม่ควรขุดในวันอาทิตย์ เพราะวันอาทิตย์เกตุตกดิน ห้ามขุดดิน แต่หากวันปกเรือนวันรุ่งขึ้นคือวันอาทิตย์ พึงขุดดินในวันเสาร์ล่วงหน้า ในการขุดหลุมนั้นสล่าหัวหน้า หรือสล่าเค้าจะมาช่วยวัดระดับความลึกตื้นของหลุมโดยใช้วิธี “ไม้ปกลุก” เมื่อขุดให้ความลึกเท่ากับไม้ปกลุกแล้ว เมื่อปกเสาระดับปลายเสาจะสูงต่ำเท่ากัน นอกจากนี้จะต้องขุดมูลดินขึ้นกองไว้ที่ปากหลุมให้ตรงตามทิศมงคล และรู้ว่าเดือนใดพญานาคนอนหันหัวไปทางไหน (๒) ในกรณีที่วันปกไม่ตรงกับวันอาทิตย์ก็สามารถขุดหลุมเสาในเช้าวันอาทิตย์ก่อนที่จะปกเสาได้ ตำราเรื่องการขุดหลุมเสา ต้องพิจารณาเรื่องการหันทิศทางของหัวพญานาค ดังนี้
เดือน ๖,๗,๘ พญานาคนอนตะแคงไปทางใต้หันหัวไปทางทิศตะวันตกให้ขุดหลุมเสาเรือนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ก่อน เอามูลดินกองไว้ทางทิศตะวันออกของปากหลุม วางเสาเอาปลายไปทางทิศตะวันตก เวลาปกให้ปกจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จักมีข้าวของเงินทอง
เดือน ๙,๑๐,๑๑ พญานาคนอนตะแคงไปทางเหนือ หันหัวไปทางทิศตะวันออก ขุดหลุมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อน เอามูลดินขึ้นกองไว้ทางทิศตะวันตกของปากหลุม วางเสาเอาปลายไปทางทิศตะวันออก เวลาปกเสาปกจากทางทิศตะวันออกไปทางตะวันตก
เดือน ๑๒, เจียง,ยี่ พญานาคนอนตะแคงไปทางทิศตะวันตกหันหัวไปทางเหนือ ขุดหลุมเสาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก่อน เอามูลดินขึ้นกองไว้ทางทิศใต้ของปากหลุม วางเสาเอาปลายไปทางเหนือเวลาปกเสาเรือนปกจากทางเหนือไปทางใต้
เดือน ๓,๔,๕ พญานาคนอนตะแคงไปทางทิศตะวันออกหันหัวไปทางใต้ ขุดหลุมเสาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ก่อน เอามูลดินขึ้นกองไว้ทางทิศเหนือ วางเสาเอาปลายไปทางทิศใต้ เมื่อปกเสาปกจากทางใต้ไปทางเหนือ เจ้าเรือนอยู่สุขสบาย
การขุดหลุมเสาให้ขุดทางท้องนาคก่อน แล้วขุดวนไปทางหางนาค อ้อมไปทางหลังนาค ไปจนสุดท้ายที่หัวของนาค ลักษณะของหลุมแต่ละทิศจะไม่เหมือนกัน ทางทิศตะวันออกให้ขุดหลุม ๔ เหลี่ยม ทางทิศใต้ขุดหลุมเป็น ๓ เหลี่ยม ทางทิศตะวันตกขุดเป็นรูปเดือนบ้าง ครึ่งวงกลมบ้าง ทางทิศเหนือขุดรูปวงกลม
วันปกเรือน
ชาวบ้านช่วยกันปกเรือน
วันรุ่งขึ้นชาวบ้านที่ได้รับการบอกกล่าวจากเจ้าของเรือน หรือได้ทราบว่าบ้านมีบ้านที่จะปกเรือนก็จะมีน้ำใจมาช่วยปกเรือนด้วย มีทั้งคนอายุประมาณ ๓๕ ปีขึ้นไป จนถึงคนสะหมังเคิ้ม คืออายุ ๔๐-๕๐ ปี บางคนก็กว่า ๖๐ ปีไปแล้วจะมาช่วยกันโดยแบ่งงานตามความถนัดและตามเครื่องมือที่ตนเองมี
ในการปกเรือนจะเอาขื่อแปวางซ้อนกันในจุดที่จะปลูกเรือน โดยวางขื่อยาวไปตามทิศตะวันออกและตะวันตก วางแปยาวไปตามทิศเหนือใต้ หากวางแปไปตามทิศตะวันออกและตะวันตกจะถือว่า “แปลงเรือนขวางโลก” เรือนล้านนาในอดีตจะหันหน้าเรือนไป ๒ ทิศเท่านั้นคือ ทิศเหนือและทิศใต้ (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๘๗)
ในการปกเสาเรือนนั้นจะต้องปกเสามงคลหรือเสาเอกก่อน แล้วจึงปกเสานาง และเสาอื่นๆตามมา เมื่อชาวบ้านมาแล้วถ้ายังไม่ได้ขุดหลุมเสา ก็จะลงมือขุดเสามงคลกับเสานางก่อน เพราะจะต้องมีพิธีกรรมเกี่ยวเสาทั้งสองต้นนี้ ปู่อาจารย์จะเป็นผู้ผูกเสามงคลให้ ชาวบ้านจะช่วยกันหามเสามงคลและเสานางไปที่หลุม หันปลายเสาไปตามทิศมงคล เอาโคนเสาใกล้ปากหลุม ที่ปลายเสาจะมีไม้ง่ามค้ำเป็นรูปกากบาทสูงประมาณ ๑ ศอกเพื่อวางรับเสาไห้ห่างจากพื้น มีเครื่องบูชาประกอบด้วย มะพร้าวอ่อน ๑ ทะลาย กล้วย ๑ เครือ ต้นกล้วย ต้นอ้อย และเสื้อของเจ้าบ้านผู้ชายมาผูกกับเสามงคล แล้วเอายอดใบไม้ที่เป็นพญาแก่ไม้ทั้งหลายประจำวันนั้นๆมาผูกกับเสามงคลด้วย (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๑๐๙-๑๑๐)
พิธีแก้เสนียดจัญไร เครื่องบูชาและใบไม้มงคล
ใบไม้มงคลประจำวัน
ใบไม้มงคลประจำวันต่างๆมีดังต่อไปนี้
วันอาทิตย์
ใบไผ่บง หรือไผ่ซาง เป็นพญา
วันจันทร์
ใบเดื่อเกลี้ยง
วันอังคาร
ใบไม้กุ่ม
วันพุธ
ใบไม้แงะ
วันพฤหัสบดี
ใบไม้ม่วง
วันศุกร์
ใบทัน (พุทรา)
วันเสาร์
ใบฝาแป้ง
เมื่อผูกเสามงคลแล้ว สำหรับเสานางก็ผูกด้วยเครื่องอย่างกับเสามงคล แต่ใช้เสื้อเจ้าบ้านผู้หญิงผูกกับเสาและนำใบไม้มงคลประจำวันมารองไว้ก้นหลุมเสามงคล เสานางและรองเสาทุกต้น
วันอาทิตย์
ใบไม้ไล่ รองหลุมเสา
วันจันทร์
ใบหมากพิน (มะตูม)
วันอังคาร
ใบกุ่ม
วันพุธ
ใบเปล้า
วันพฤหัสบดี
ใยมะม่วงคำ
วันศุกร์
ใบงิ้ว
วันเสาร์
ใบแคขาว
เสามงคล และเสานาง
เสามงคลและเสานาง
เสามงคล และเสานาง เป็นเสาที่มีความสำคัญ จะต้องเลือกเสาจากไม้แก่นที่มีความแข็งแรงทนทานกว่าไม้อื่นๆ เพื่อนำมาเกลา หรือสำนวนชาวล้านนาว่า “ซ้อมเสา” จนสวยงามเรียบร้อยดี การจัดไม้เสาให้เป็นเสามงคลนั้น เพื่อที่จะให้เสานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมงคลสำหรับเรือนจริงๆ
นอกจากนี้จะต้องป้องกันมิให้เสาตกมัน จึงต้องมีพิธีตัดและเกลาเสา รวมทั้งพิธีแก้เสนียดจัญไร (ขึด) ตามที่กล่าวข้างต้นนั้นด้วย เสามงคลนั้นเปรียบเสมือนพ่อ ส่วนเสานางนั้นเปรียบเสมือนแม่ ในพิธีการฝังเสามงคล หรือเสานางในสมัยก่อนจะต้องหาชาวบ้านที่มีชื่อมงคล เช่น แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น มาเป็นคนช่วยหามเสา และยกเสาลงหลุม เพื่อจะได้เกิดความเป็นสิริมงคล รวมทั้งรองใบไม้มงคลก้นหลุมตามตำรา เสาทั้งสองต้นนี้ ต้องฝังให้ตรงแนวกัน คือเสามงคลฝังทางด้านหัวนอน หรือเสาที่ ๒ นับจากเสาด้านหัวนอนในห้องนอน เสานางอยู่ทางด้านปลายตีนตรงกันข้าม (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๗)
ก่อนที่จะมีการยกเสามงคล จะต้องมีการทำขวัญเสามงคลเสียก่อน โดยปู่อาจารย์จะเรียกขวัญเป็นทำนอง และมีสิ่งของบูชา ประกอบด้วย มะพร้าว ๑ ทะลาย กล้วย ๑ เครือ ต้นกุ๊ก ต้นกล้วย ต้นอ้อย ห่อหมาก ห่อพลู ด้ายดิบขาว ๑๐๘ เส้น โดยนำเอาของทั้งหมดมัดติดเสา เมื่อเตรียมเรียบร้อยแล้วก็จะหามเสามายังที่จะฝัง แล้วปู่อาจารย์จะเรียกขวัญ และนำสิ่งของบูชามัดติดเสาพร้อมเอาน้ำขมิ้น ส้มป่อย พรมเสาและเจ้าของเรือนทุกๆคน
พิธีปกเสามงคล
สำหรับการฝังเสามงคลและเสานาง จะต้องฝังเสามงคลก่อน และตามด้วยเสานาง แล้วจึงฝังเสาอื่นๆตามมา เสาทุกเสาจะมีแผงยันต์ปิดไว้ที่ปลายเสา แผงยันต์มักจะทำด้วยผ้าขาว ผ้าแดง สังกะสีหรือแผ่นเงิน ตามแต่ฐานะของเจ้าของ เพื่อป้องกันเสนียดจัญไรที่จะเกิดขึ้น เมื่อฝังเสาเสร็จแล้วจะผูกด้านสายสิญจน์ไว้โดยรอบ รอไว้ ๓-๗ วันหลังจากทำพิธีแล้วจึงเอาออกได้ (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๐, หน้า ๑๗๕)
การเลี้ยงอาหารกลางวัน
ในระหว่างที่กำลังปกเรือนอยู่นั้น ถ้าได้เวลาอาหารกลางวัน ประมาณ ๑๒.๓๐ น.พวกผู้หญิงที่มาช่วยกันทำกับข้าว ก็จะทำการแต่งดาขันโตกตั้งอาหารไว้ แล้วจึงเรียกให้คนที่ปลูกบ้านให้ทานข้าวกลางวัน อาหารที่นิยมเลี้ยงกัน ถ้าเจ้าของเรือนเป็นผู้มีเงินมักจะเลี้ยงลาบและแกงอ่อม ซึ่งถือว่าเป็นอาหารชั้นหนึ่งของคนล้านนา โดยทั่วไปก็จะแกงฟักใส่ไก่ แกงวุ้นเส้น แกงหยวกกล้วยใส่ไก่ เมื่อทานอาหารเสร็จก็จะเลี้ยงหมากเมี่ยงบุหรี่ และพักผ่อนตามอัธยาศัยมักจะเรียกกันว่า “ยายเม็ดข้าว” พักสักครึ่งชั่วโมงก็จะพากันสร้างบ้านเรือนต่อไป (ศรีเลา เกษพรหม, ๒๕๓๙, หน้า ๘๙)
คนโบราณล้านนายึดถือเสามงคล และเสานางกันมาก ถือเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น และมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อำนวยความสุขความเจริญมาสู่ครอบครัว เจ้าบ้านจะต้องดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ บางแห่งจะมี “หิ้ง” ติดไว้ทางหัวนอน และมีดอกไม้ธูปเทียนบูชา หากเสามงคลของบ้านนี้ผุพัง หรือเจ้าของรื้อบ้านไปแล้วจะต้องเก็บเสานี้ไว้ต่างหาก จะเอาไปทำอย่างอื่นอีกไม่ได้ จะต้องปล่อยให้ผุพังไปเอง (มณี พยอมยงค์, ๒๕๓๙, หน้า ๑๗๕)
รายการอ้างอิง
มณี พยอมยงค์. (๒๕๓๐). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย.
เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
ศรีเลา เกษพรหม. (๒๕๔๔). ประเพณีชีวิต คนเมือง.
เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ข้อมูล/รวบรวมและเรียบเรียง/ภาพประกอบ
ประสงค์ แสงงาม ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนาประตำโครงการ
และคณะทำงานโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้
ส่วนกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา : library.cmu.ac.th