บุญศรี รัตนัง

พ่อครูบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ ดนตรีพื้นบ้านล้านนา พ.ศ. 2560 นักร้องเพลงพื้นเมืองล้านนา นักร้องเพลงซอ ชื่อดังจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง
บุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2560 นักร้องเพลงพื้นเมืองล้านนา นักร้องเพลงซอที่มีผลงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จนได้รับการยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2533
ประวัติของบุญศรี รัตนัง
บุญศรี รัตนัง เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2496 ที่บ้านป่าเหมือด ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรพ่อน้อยดวงคำ และนางจันทร์เที่ยง รัตนัง มีพี่น้อง 4 คน ได้สมรสกับนางจันทร์เป็ง สุยะเอย มีบุตร 2 คน
บุญศรี รัตนัง มีนิสัยการดีด สี ตีเป่า มาตั้งแต่เล็ก ได้ฝึกการเล่นดนตรีพื้นเมืองประเภทซึง-สะล้อ ขลุ่ย จากลุงของตน คือ นายสิงห์คำ รัตนัง ตั้งแต่เยาว์วัย
บุญศรี รัตนัง สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านป่าเหมือด เมื่อปี พ.ศ. 2506 เริ่มเรียนเป่าปี่กับพ่อสม บุญเรือง ช่างเป่าปี่ มีชื่อในขณะนั้น พ.ศ. 2515 หันมาเรียนขับซอกับพ่อหนานตา ตันเงิน ที่บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
นายบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา) พุทธศักราช 2560 ถึงแก่กรรม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม เวลา 21.45 น. ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ สิริรวมอายุ 68 ปี
การทำงานของบุญศรี รัตนัง
บุญศรี รัตนัง มีอาชีพทำไร่ทำนาเช่นเดียวกับบิดามารดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 เริ่มรับจ้างเป่าปี่ในงานซอ เล่นตลกประจำคณะละครซอลูกเอื้องเมืองเหนือ ในปี พ.ศ. 2516 ทำงานทั่วไปประจำวงดนตรี คณะอำนวยโชว์ ของนายอำนวย กลำพัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ตั้งวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ชื่อวง “ ลูกทุ่ง ลานทอง ” และย้ายมาเล่นตลกในคณะนายประสิทธิ ศรีสมเพชร ในตลกคณะ “ จอกจมูกแดง ” ในปี พ.ศ. 2522 ปีต่อมาเข้าสู่วงการซอโดยได้รับการสนับสนุนจากนาย ประสิทธิ ศรีสมเพชร และเริ่มฝึกแต่งเพลง ใส่ทำนองเพลงแนนพื้นบ้านภาคเหนือ
ในปี พ.ศ. 2525 เริ่มร้องเพลงลูกทุ่งคำเมืองชุด “ลุงอดผ่อบ่ได้” และ “บ่าวเคิ้น” ได้รับการสนับสนุนจากแฟนเพลงในภาคเหนือ และเป็นนักร้องประจำอยู่วงดนตรีคณะศรีสมเพชรวงใหญ่ ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เริ่มต้นสร้างแนวเพลงนี้ขึ้น จากนั้น พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2528 ได้ตั้งกิจการวงดนตรีตนเอง แต่ประสบปัญหาขาดทุนจึงต้องหยุดการแสดง จึงหันเข้าสู่วงการซออีกครั้งหนึ่งทำผลงานซอออกมาอีก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีผลงานเพลงที่แต่งขึ้นมาทั้งหมด ประมาณ 500 กว่าเพลง มีผลงานอัลบั้มซอพื้นบ้านมาแล้วกว่า 30 ชุด
ผลงานของบุญศรี รัตนัง
อัลบั้ม
- พ.ศ. 2526 – เมาตึงวัน, สามตอง และเบื่อผัวสามตอง
- พ.ศ. 2527 – หนุ่มรถอีแต๋นครวญ และ คุณนายป่ามป้าม
- พ.ศ. 2528 – เฒ่าจอมโว และ เฒ่าชีกอ
- พ.ศ. 2529 – ซอลูกทุ่งเบิกฟ้า, ผัวเปรต และเมียยักษ์
- พ.ศ. 2530 – ผัวอี่แก้ว และ ซอสามจังหวะ
- พ.ศ. 2531 – มันง่ายดี และ อย่าปิ๊งเดี๋ยวป่อง
- พ.ศ. 2532 – ปอแล้วหวย และ รักเมียหลวงห่วงเมียน้อย
- พ.ศ. 2533 – ไม่บอกก็รู้ และ ปี๋ใหม่เมือง
- พ.ศ. 2534 – คนอู้เอ็น และ คนมักไมค์
- พ.ศ. 2535 – นักเลงไก่ชน และ ไม่มีสิทธิ์อย่ามาขวาง
- พ.ศ. 2536 – ว.2 ว.8 และ เมียบ่ฮู้ใจ๋
- พ.ศ. 2537 – แตงดังควาย และ นักมวยขี้ไห้
- พ.ศ. 2538 – บ่ฮู้คิง และ เงินบาทลอยตัว
- พ.ศ. 2539 – อเมดซิ่งไทยแลนด์ และ กลองยาวสามช่า ปี๋ใหม่เมือง แห่ครัวตาน (ซึ่งอัลบั้ม กลองยาวสามช่านี้ มีเพลงที่ทำให้ได้รับรางวัล ศิลปินเพลงยอดเยี่ยมพื้นบ้านภาคเหนือ รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ ๑ จากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย คือ เพลง แห่ครัวตาน ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
- พ.ศ. 2543 – ขี้เมาอ้อนเมีย
- พ.ศ. 2544 – จัดระเบียบสังคม
- พ.ศ. 2548 – ขี้เมาสามช่า และได้ทำอัลบั้มเพลงลูกทุ่งคำเมืองให้กับ น.ส.มณีรัตน์ รัตนัง โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า “ สาวเคิ้น ”
- พ.ศ. 2549 – แหล่หอยไห้ เป็นการนำเอาเพลงเก่า มาบันทึกเสียงใหม่
- พ.ศ. 2550 – กะเทยเฒ่า
เพลงประจำโรงเรียน
- พ.ศ. 2554 – เพลงไหว้สาเจ้าพิริยะเทพวงศ์ (ได้รับเชิญให้ขับร้องเป็นเพลงเทิดพระเกียรติเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเทพวงษ์ ปัจจุบันนามว่า โรงเรียนพิริยาลัยและในโอกาสโรงเรียนอายุครบ 111 ปี ประพันธ์โดย ครูสุกัญญา วุฒิเจริญ ทำนองโดย ครูวันชัย คุณาคำ บรรเลงโดย วงโยธวาทิตโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ในการควบคุมโดย ครูวันชัย ขณะนั้น) โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงคุณงามความดีและพระเมตตาของเจ้าหลวงที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาทรงอยากให้เยาวชนในจังหวัดแพร่มีความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาจังหวัดและประเทศชาติ ทรงสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อยากให้คนไทยมีการศึกษาและทรงสร้างโรงเรียนขึ้นเป็นโรงเรียนแห่งแรกในจังหวัดแพร่ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ทรงดีพระทัยและทรงยินดีจึงโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนเทพวงษ์”
รางวัลเกียรติประวัติของบุญศรี รัตนัง
- ชนะการแข่งขันการประกวดวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ ในนามวง “ ลูกทุ่งลานทอง ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ที่รายการลูกทุ่งลานนา สถานีโทรทัศน์ ช่อง 8 ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2526
- ได้รับโล่ประเภทสื่อชาวบ้าน จากพลเอกประจวบ สุนทรางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2525 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2526
- ได้รับการประกาศให้เป็นบุคลากรดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2533
- ได้รับโล่เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552