นางอินเหลา

0
1733

นางอินเหลา เป็นมเหสีของเจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นผีอารักษ์ของเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่นางอินเหลาจะอภิเษกกับเจ้าหลวงคำแดง นั้น นางอาศัยอยู่ในถ้ำเชียงดาว ประวัติความเป็นมาของนางอินเหลานั้น ปรากฏอยู่ในเอกสารใบลานเรื่องตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน เช่น ฉบับวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่สงวน โชติสุขรัตน์ เป็นผู้เรียบเรียงไว้ในหนังสือประชุม ตำนานลานนาไทย รวมทั้งฉบับวัดแม่คือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมหมาย เปรมจิตต์ เป็นผู้สอบชำระโดยให้ชื่อว่าตำนานเชียงใหม่ ปางเดิม ตำนานทั้งสองเรื่องนี้มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะรายละเอียดในตอนท้ายที่กล่าวถึงพิธีทำบุญเมือง ที่ตำนานเชียงใหม่ปางเดิมได้กล่าวไว้ค่อนข้างละเอียด
รูปปั้นเจ้าหลวงคำแดง บริเวณศาลเจ้าหลวงฯ ที่เชียงดาว

สำหรับตำนานถ้ำเชียงดาว ที่กล่าวถึงของวิเศษภายในถ้ำและพระบรมสารีริกธาตุนั้น ปรากฏรวมอยู่ในตำนานพระบาทพระธาตุ ซึ่งมีการคัดลอกสืบต่อกันมาหลายสำนวนด้วยกัน เช่น ตำนานอ่างสลุง ฉบับวัดป่าเส้า จังหวัดลำพูน ฉบับวัดแสนฝาง ฉบับวัดป่าแดด ฉบับวัดสันป่าข่อย ฉบับวัดม่วงชุม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ประวัติความเป็นมาของถ้ำเชียงดาวนี้ ถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มเก็บไว้ โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่องราวของนางอินเหลากับเจ้าหลวงคำแดงนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวลัวะ โดยบริเวณเมืองเชียงใหม่ใน ปัจจุบันนี้ เคยเป็นที่ตั้งเมืองของชาวลัวะมาก่อน เช่น เวียงเจ็ดลิน และเวียงสวนดอก เป็นต้น รวมทั้งชายาของเจ้าหลวงคำแดงอีก สองคนคือ นางผมเผือ กับนางสาดกว้าง สันนิษฐานว่าคงจะเป็นชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาก่อน โดยมีความเป็นมาที่เท้าความไปถึงสมัยของพระนางจามเทวี ที่ขุนหลวงวิลังคะหัวหน้าของชาวลัวะพ่ายแพ้แก่มอญที่ลำพูน

ตำนานอ่างสลุงระบุแต่เพียงว่านางอินเหลาอาศัยอยู่ในถ้ำเชียงดาว และหลังจากสร้างเวียงล้านนาเสร็จแล้ว เจ้าหลวงคำแดง ก็ยกบ้านเมืองให้โอรสปกครอง โดยพระองค์เสด็จมาใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำเชียงดาวร่วมกับนางอินเหลาตราบจนสิ้นพระชนม์

ส่วนตำนานสุวรรณคำแดงไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับนางมากนัก ทราบแต่เพียงว่านางอาศัยอยู่ในถ้ำเชียงดาวนานแล้ว เมื่อเจ้าหลวงคำแดงตามกวางมาถึงที่นี่ จึงได้พบนางและอาศัยอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง ก่อนที่เจ้าหลวงคำแดงจะออกตามกวางต่อไป จนกระทั่งได้สร้างเวียงใหม่ขึ้น และหวนกลับมาอาศัยอยู่ในถ้ำด้วยกันอย่างมีความสุข ดังเนื้อหาในตำนานว่า เจ้าหลวง คำแดง นั้น เรียกกันหลายอย่าง คือ สุวรรณคำแดงสุวัณณคำแดง พระยาคำแดง และ เจ้าหลวงคำแดง เป็นต้น พระองค์ถือกำเนิดขึ้นก่อน ที่พญามังรายจะมาสร้าง เวียงกุมกามและเชียงใหม่ โดยอาณาจักรล้านนาที่มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1839 แต่บริเวณที่สร้างเมืองขึ้นมาใหม่นี้ เคยเป็นบ้านเมืองมาก่อนแล้ว ดังจะเห็นได้จากตำนาน พื้นเมืองหลายฉบับที่กล่าวถึง เวียงเชษฐบุรี (เวียงเจ็ดลิน) เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรี ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของชนชาวลัวะมาก่อน

เอกสารพื้นเมืองที่กล่าวถึงลัวะ ผู้เป็นเจ้าของเสาอินทขีล คือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรื่อง เจ้าสุวรรณคำแดง ซึ่งเริ่มต้นด้วย การกล่าวถึงหมู 4 ตัวที่มีชื่อตามทิศทั้งสี่ว่า บุพพจุนทะ ทักขิณจุนทะ ปัจฉิมจุนทะ และอุตตระจุนทะ หมูทั้งสี่วิวาทผิดเถียงกันเป็นประจำ หลังจากตายไปแล้ว หมูแห่งทิศเหนือคือ อุตตระจุนทะได้ไปเกิดเป็นพระยาโจรณี มีโอรสชื่อ เจ้าชายสุวรรณคำแดง

ต่อมาเทวบุตรชื่อโวหารได้จำแลงกายมาเป็นเนื้อทรายทอง ปรากฏ ณ สวนอุทยานของพระยา โจรณี กษัตริย์พร้อมทั้งโอรส และบริวารจึงพากันออกมาล้อมจับ พระยาโจรณีลั่นวาจาว่า หากทรายทองหลุดออกไปทางผู้ใด ผู้นั้นต้องรับโทษ บังเอิญเนื้อทรายหลุด หนีออกไปทางโอรส เจ้าชายสุวรรณคำแดงจึงพาทหารออกติดตาม จนกระทั่งมาถึงบริเวณถ้ำเชียงดาว ทรงพบนางอินเหลา ทั้งสองเกิด ความรักใคร่กัน จึงอยู่กินด้วยกัน แต่เจ้าชายจำเป็นต้องออกติดตามเนื้อทรายทองต่อไป และครั้งนี้เจ้าชายได้พบกับ “คนที่เกิดใน รอยเท้าสัตว์” อันหมายถึงชาวลัวะ ซึ่งฤาษีกล่าวว่าให้เลี้ยงดูไว้เป็นไพร่ฟ้า

“อันสูได้คนยังรอยตีนช้างนั้น ก็พร่ำดั่งบอนเกิดกับห้วยนั้นแล หื้อสูท่านทังหลายเอาเมือเลี้ยงไว้รักษาหื้อดีๆ แท้เทอะ
หื้อได้ที่จื่อที่จำเอายังคำเขาไว้สืบกันไปเมื่อหน้าเทอะ”

วันต่อมา เจ้าชายสุวรรณคำแดงพาทหารติดตามมาถึงบริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่ระมิงค์ ทรงพบหนองน้ำที่มีดอกบัว 7 กอ จึงกลับ มาเล่าให้ฤาษีฟังว่าไม่พบทรายทอง พบแต่หนองน้ำ ฤาษีแนะนำว่าชัยภูมิ แห่งนั้น เหมาะแก่การสร้างเมืองเป็นอย่างยิ่ง ทำนา 1 ปีกิน ได้นานถึง 7 ปี หลังจากนั้น เจ้าชายสุวรรณคำแดงจึงสร้างเมืองขึ้นตามคำบอกของฤาษี โดยให้ชื่อเวียงว่า “ล้านนา” ซึ่งได้มาจาก น้ำหนักเตียงหินของ เจ้าชายที่หนักหนึ่งล้าน

สุวรรณคำแดง ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองล้านนา มีมเหสีรองอีกสองนางคือ นางผมเผือ และนาง สาดกว้าง ทรงมีโอรส 7 องค์ ส่วน ไพร่ฟ้าที่เป็นลัวะพระองค์แต่งตั้งให้ “มามุตตะลาง” เป็นขุนหลวงคอยสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ต่อมาภายหลังพระยาสุวรรณคำแดง ได้ยกราชสมบัติให้โอรสปกครอง ส่วนพระองค์เสด็จออกไปอยู่กับนางอินเหลาในถ้ำเชียงดาว ณ ดอนอ่างสรง ตราบจนสิ้นพระชนม์

ศาลเจ้าหลวงสุวรรณคำแดง ที่อำเภอเชียงดาว

เวียงล้านนามีกษัตริย์ปกครองสืบมาอีกหลายพระองค์ แต่ในที่สุดก็ล่มกลายเป็นหนองน้ำ ในสมัยของพระยาคาว ซึ่งจับปลาฝา หรือตะพาบน้ำเผือกมากิน ส่วนไพร่ฟ้าข้าราษฎรได้พากันอพยพออกไปอยู่ตามป่าเขา อาเพทพิบัติดังกล่าวนี้ ตำนานพื้นเมืองบันทึก ไว้ว่า

“พระยาคาวเอาปลาฝาเผือกมากิน เถิงเมื่อกลางคืนเวียงล้านนานั้น ก็ลวดยุบหล่มลงเป็นมหาหนองอันใหญ่ เป็นน้ำเหลื้อม
อยู่แท้เติงๆ ”