ตำนาน กบกินเดือน เรื่องเล่าความเชื่อพื้นบ้านในการเรียกเหตุการณ์สุริยคราสและจันทรคราส ของคนไทย คนไทยยวนล้านนา และไทยอีสาน ส่วนมากจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “กบกินเดือนและกบกินตะวัน”
ตำนาน กบกินเดือน เป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านที่แสดงความเชื่อของชาวบ้านในการอธิบายเหตุเกี่ยวกับการเกิดสุริยคราสและจันทรคราสซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งผู้คนในอดีตเชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะอิทธิปาฏิหาริย์และสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์
จากการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตำนาน กบกินเดือน ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทย-ไททั้งในประเทศไทยและนอกประเทศไทย พบว่าการเรียกชื่อเหตุการณ์สุริยคราสและจันทรคราสมีลักษณะเหมือนคล้ายและแตกต่างกัน กล่าวคือ บางถิ่นจะเรียกสุริยคราสว่า ตะวันจั๋บ, ราหูสูนตาเว้น, แงงกินตาเว้น, หมีกินตะวัน, ราหูอมพระอาทิตย์ หรือ กบกินตะวัน ส่วนจันทรคราสจะเรียกว่า จะคาดตือเดือน, เดือนจั๋บ, ราหูอมจันทร์, ราหูสูนจันทร์ หรือ กบกินเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คำเรียกเหตุการณ์สุริยคราสและจันทรคราสที่นิยมและรู้จักกันแพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย รวมทั้งคนไทยยวนล้านนา และไทยอีสาน ส่วนมากจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “กบกินเดือนและกบกินตะวัน” ทั้งๆ ที่บางสำนวนอาจไม่มีตัวละครที่เป็นกบปรากฏอยู่ในเนื้อหาเลยก็ตาม ส่วนคนไทยภาคกลางและภาคใต้นั้นไม่พบการเรียกชื่อเหตุการณ์สุริยคราสและจันทรคราสว่า “กบกินเดือน” แต่จะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์” มากกว่า
เนื้อหาตำนาน กบกินเดือน ของชาวไทดำเล่าว่า แต่ก่อนคนกับสัตว์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ บ้านเมืองเกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตก ผู้คนจึงค้นหาตัวกบตัวเขียดมาทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แถนอยู่เมืองฟ้าจึงได้ส่งฝนให้ตกลงมา ทำให้น้ำท่วมโลก สัตว์ต่างๆ ตายจนหมด ภายหลังแถนจึงได้ส่งตะวัน ๑๒ ดวง และเดือน ๑๒ ดวง ลงมายังเมืองมนุษย์ ทำให้น้ำแห้งจนแล้ง เวลานั้นยังมีคนกับกบเหลืออยู่ แต่ก่อนฟ้ากับดินอยู่ใกล้กันมาก คนจึงบอกให้กบปีนขึ้นไปกินเดือนกินตะวันเพื่อให้หายร้อน และจะทำให้มีกลางวันกลางคืน เมื่อกบขึ้นไปกินเดือนกินตะวันก็เกิดความอร่อย จึงได้กินไปจนเหลือดวงสุดท้าย ผู้คนกลัวว่ากบจะกินเดือนกินตะวันไปจนหมดซึ่งจะทำให้มนุษย์นั้นเกิดความเดือนร้อนยิ่งนัก จึงได้ตีเกราะเคาะไม้ จุดประทัด บ้างก็ส่งเสียงโห่ร้อง เพื่อเรียกตัวกบลงมา เมื่อกบลงมาแล้วก็ได้ถามมนุษย์ว่าเรียกตนลงมาทำไม มนุษย์จึงบอกตัวกบว่าไม่ให้กินเดือนกินตะวัน แต่กบก็ไม่เชื่อฟัง จึงได้ปีนไต่ฟ้าขึ้นไปกินเดือนกินตะวันอยู่เนืองๆ จึงเป็นเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้
ตำนาน กบกินเดือน พบในกลุ่มไทยอีสานและไทยยวนล้านนา รวมทั้งกลุ่มคนลาวในประเทศลาว และไทดำไทขาวในเวียดนามด้วย ทั้งนี้เรื่อง กบกินเดือนกบกินตะวัน เป็นเรื่องราวที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากคติความเชื่อที่มีมาแต่เดิมของกลุ่มคนไท ซึ่งยังคงมีกลิ่นอายของการนับถือธรรมชาติและการนับถือผีปะปนรวมอยู่ด้วย ดังจะเห็นได้จากรูปสัตว์สัญลักษณ์ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สุริยคราสและจันทรคราสคือ “กบ” ที่เป็นตัวละครที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา
ส่วนตำนาน ราหูอมจันทร์ เป็นเรื่องราวที่ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากคติทางศาสนาที่มาจากประเทศอินเดีย นั่นคือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ดังจะเห็นได้จากคติที่เชื่อว่า “พระราหู” เป็นผู้ทำให้เกิดสุริยคราสและจันทรคราสขึ้น ดังมีปรากฏให้เห็นในเทวตำนานของอินเดียเรื่อง นารายณ์สิบปาง ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตำนานกับศาสนาของกลุ่มคนไทย-ไทได้อย่างน่าสนใจ
เนื้อหาของตำนานสุริยคราสและจันทรคราสของคนไทยในประเทศไทยและคนไทนอกประเทศไทยที่อธิบายเหตุอันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าวสามารถจำแนกได้เป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มเรื่องกบกินเดือนกินตะวัน พบในกลุ่มไทยอีสาน ไทยยวนล้านนา ลาว และไทดำไทขาวในเวียดนาม กลุ่มเรื่องที่อธิบายว่าพี่น้องที่ชื่อสุริยะ จันทร์และราหูทะเลาะกันเพราะแย่งกันเอาข้าวสวยไปใส่บาตรพระที่มาบิณฑบาต จึงอาฆาตแค้นและไป “บังกัน” อันทำให้เกิดปรากฏการณ์ “คราส” พบในกลุ่มคนไทพ่าเก ไทใต้คง ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ และไทยยวนล้านนา, กลุ่มเรื่องที่อธิบายว่าพี่น้องไปเยี่ยมเยือนกัน พบในกลุ่มคนไทยอีสาน และลาว, และสุดท้าย กลุ่มเรื่องราหูอมจันทร์ พบมากในกลุ่มคนไทยภาคกลางและไทยภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มเรื่องตำนานสุริยคราสและจันทรคราสทั้ง ๔ แบบนี้สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนาของชนชาติไท กล่าวคือ กลุ่มเรื่องกบกินเดือนกินตะวัน เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาแต่เดิมของคนไทก่อนการรับนับถือพุทธศาสนา ส่วนกลุ่มเรื่องพี่น้องทะเลาะกันและกลุ่มเรื่องพี่น้องไปเยี่ยมเยือนกัน เป็นเรื่องที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา กลุ่มเรื่องสุดท้ายคือราหูอมจันทร์ เป็นกลุ่มเรื่องที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
อนึ่ง กลุ่มเรื่องแบบต่างๆ ข้างต้นของตำนานสุริยคราสและจันทรคราสยังสามารถบ่งบอกความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไททั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศไทยได้ กล่าวคือ คนไทดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งคนไทยอีสานและคนไทยล้านนา ล้วนมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการเกิดสุริยคราสและจันทรคราสว่าเกิดจาก “กบกินเดือน/กบกินตะวัน” แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนไทยอีสานและกลุ่มคนไทยล้านนา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนไทที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทยมากกว่าคนไทยภาคกลางและภาคใต้
ในแง่ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับสุริยคราสและจันทรคราสนั้น พบว่าในบริบทของสังคมวัฒนธรรมของคนไทย-ไทหลายกลุ่ม ยังหลงเหลือพฤติกรรมที่แฝงนัยสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับการเกิดสุริยคราสและจันทรคราส ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ พิธีกรรม ศิลปกรรม ตัวอย่างเช่น การตีกลอง การตีเกราะเคาะไม้ พิธีส่งราหู หรืองานศิลปะตามศาสนสถานต่างๆ ซึ่งยังคงมีสัญลักษณ์รูปกบและรูปราหูปะปนอยู่ด้วย อันสะท้อนให้เห็นการผสมผสานความคิดความเชื่อระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ
คติการเรียกสุริยคราสและจันทรคราสว่า “กบกินเดือน/กบกินตะวัน” ซึ่งในตำนานกล่าวว่า กบเป็นผู้มากลืนกินพระอาทิตย์และพระจันทร์ไปจนทำให้เกิดอุปราคานั้น นับว่าเป็นระบบความเชื่อดั้งเดิมของคนไทที่มีระบบคิดเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติผ่านสัญลักษณ์รูปกบศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการนับถือบูชารูปกบว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์บ้าง เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์บ้าง รวมทั้งยังเป็นสัตว์ที่ใช้ในเชิงพิธีกรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากในประเพณีบุญบั้งไฟของชาวไทยอีสาน ก็จะมีการเทศน์พญาคันคากซึ่งมีสัตว์สัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับตัวกบที่โยงใยกับเรื่องความอุดมสมบูรณ์แห่งน้ำฟ้าน้ำฝน หรือภาพเขียนสีโบราณตามผนังถ้ำหลายแห่งในไทย ก็จะมีรูปกลุ่มคนยืนเต้นในพิธีกรรม ทำท่าทางกางแขนกางขาคล้ายกบ รวมทั้งหน้ากลองมโหระทึกที่มีรูปกบนั้นในบางถิ่นบางที่ก็จะเรียกว่า “กลองกบ” ด้วยเช่นกัน
สำหรับกบกินเดือนด้วยการที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้น ย่อมส่งผลทางด้านความเชื่อหลาย ๆ ด้าน จึงมีการนิยมนำมาทำเป็นวุตถุมงคลไว้พกพา บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล สำหรับทางล้านนานี้ก็ได้แก่