ตานแทน-ตานใช้ ความยิ่งใหญ่ในการชดใช้หนี้กรรม

0
1349

เดินทางจากในเมืองลำปางไปตามถนนลำปาง-งาว ประมาณ 20 กิโลเมตร จะมองเห็นซุ้ม ประตูใหญ่และสวยงามของวัดพระธาตุเสด็จ อยู่ฝั่งซ้ายมือของถนน เลี้ยวเข้าไปตามถนนเลียบวัด ข้ามสะพานน้ำวังไปยังหมู่บ้านวังเลียบ-ทุ่งหนอง บ้านใหม่รัตนาคม ผ่านท้องทุ่งที่เขียวขจี สองฟากฝั่งถนนเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะเจอวัดพุทธสันติวิเวก ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาเงียบสงบ ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ กอไผ่ที่ปลูกไว้อย่างเป็นระเบียบ มองดูสบายตา บ่อยครั้ง ณ ใต้ต้นไผ่ แห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่ปักกลดสำหรับผู้เข้ามาปฏิบัติธรรม ฝึกพัฒนาจิต

นอกจากจะเดินทางไปตามถนนสายลำปาง-งาว แล้วยังสามารถเดินทางจากในเมืองลำปาง ไปตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ผ่านสุสานไตรลักษณ์ ตรงไปเรื่อย ๆ ประมาณ 20 กิโลเมตร ก่อนจะถึง โรงเรียนกิ่วลมวิทยา จะมีปั๊มน้ำมัน อยู่ใกล้กับประมงจังหวัด เลี้ยวขวาผ่านหมู่บ้าน เข้าไปซึ่งจะมีป้าย บอกชื่อวัด เป็นระยะ ๆ ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดเช่นกัน

วัดพุทธสันติวิเวก ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน นิคมสร้างตนเองกิ่วลม เขต 16 ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง วัดได้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อม ๆ กับการตั้งหมู่บ้าน เมื่อเกือบสามสิบปี ที่ผ่านมา อาศัยแรงศรัทธาจากชาวบ้านใกล้เคียง โดยมีพระอาจารย์ประพันธ์ อินทญวโณ เจ้าอาวาส องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระสายวิปัสสนากรรมฐาน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งวัด วัดพุทธสันติวิเวก ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์พัฒนาจิต กระทรวงศึกษาธิการ ประจำจังหวัดลำปาง มีนักเรียนและเยาวชน จากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง และหน่วยงานทั้งในและต่างจังหวัด ส่งบุคลากรเข้าไปปฏิบัติ ธรรม ฝึกอบรมพัฒนาจิตอยู่เสมอจังหวัดยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัด และตั้งให้เป็น ศูนย์พัฒนาชีวิตตัวอย่าง เฉลิมพระเกียรติ ประจำอำเภอเมือง ลำปาง

ช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะได้ตื่นตาตื่นใจกับประเพณีอันยิ่งใหญ่ที่หาดู ได้ยากยิ่ง มีขบวนแห่ต้นตาน และครัวตานที่ตระการตา ฝูงชนจำนวนมากร่วมขบวนในพิธีที่เรียกว่า “ตานแทน-ตานใช้” ณ วัดพุทธสันติวิเวก แห่งนี้

พระอาจารย์ประพันธ์ อินทญวโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธสันติวิเวก ได้เล่าถึงความเป็นมาของ ประเพณีตานแทน-ตานใช้ ว่า ประเพณีนี้เคยได้จัดอย่างยิ่งใหญ่ในสมัยนักบุญ แห่งล้านนา ครูบาเจ้าศรีวิชัย สืบต่อมาในสมัยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หลังจากนั้นก็ไม่มีประเพณีนี้อีกเลย พระอาจารย์ประพันธ์ อินทญวโณ มีความ
ประสงค์จะสืบทอดประเพณีนี้ไว้เพื่อให้เป็นมรดกทางศาสนาและวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลังต่อไป จึงริเริ่มประเพณีนี้อีกครั้ง

ตานแทน-ตานใช้ (ตาน คือ ทาน) เป็นพิธีกรรมตามขนมธรรมเนียมของคนภาคเหนือ เป็นพิธี ถวายสังฆทานรวมใหญ่ มีการ จัดหาข้าวของเครื่องใช้ตามประเพณีดั้งเดิม อันได้แก่ ก่อเจดีย์ทราย มีของใช้ในพิธี ประกอบด้วย ของถวายพระสงฆ์และปูชนียสถาน ของถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ของทิ้งลงหลุม (เพื่อตัด/ทิ้งสิ่งไม่ดีออกจากตัว) ต้นทาน เป็นต้น

คนในอดีตมีพิธีกรรมและภูมิปัญญาที่น่าสนใจ ใช้สัญลักษณ์ในเครื่องสักการะต่าง ๆ มีแหล่ง ที่มาและแฝงธรรมะอยู่ด้วยเสมอเช่น ทำรูปคน สัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ ข้าทาสบริวาร คน ปู หอย กุ้ง ปลา อึ่งอ่าง และนก แมลง เพื่อเป็นตัวแทนสิ่งที่เราเคยได้ฆ่าได้ตี ได้ตัดชีวิตเขา

การถวายสิ่งของเครื่องใช้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อชำระบาปกรรมจากการลักขโมย ของพ่อของแม่ ปู่ ย่า ตา ยายของสงฆ์หรือของอื่น ๆ โดยมีความเชื่อว่าจะมีบาปติดตัวถึง 500 ชาติ ฉะนั้น จึงนำสิ่งของถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อใช้หนี้กรรมเก่าเพื่อให้บาปกรรมเบาบาง สูญหายไป จากนั้นถ้าไม่ได้ลักขโมยของใครบาปกรรมก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นการ ป้องกันอีกทางหนึ่ง ด้วย

ก่อเจดีย์ทราย เพื่อลดกรรมหนักจากการพูดเพ้อเจ้อ ติเตียนนินทา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์

การทำตุงเงิน ตุงคำ ตุงนาก ตุงโลหะ ตุงเหล็ก ตุงทอง ตุงตะกั่ว ตุงข้าวสาร ตุงข้าวเปลือก ตุงไม้ไผ่ ตุงดิน ตุงทราย เป็นทาน ถวายพระรัตนตรัย หรือทำตุงเหล่านี้เพื่อให้ลดกิเลสความอยากได้ หรือของรักของหวง

ประเพณีการตานใช้-ตานแทนนี้ เป็นวิธีการที่ทำให้คนได้ตระหนักถึงและกระทำ คุณความดีกุศล กรรมใหญ่ เพื่อทดแทนอกุศลกรรมเก่าที่หนักและแรงกว่าในอดีต เพื่อให้คนในสังคมเชื่อในเรื่อง ผลแห่งกรรม หรือกฎแห่งกรรม

ในพิธีจะมีการถวายทานเพื่อใช้หนี้กรรมเก่าทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน มีการอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย และขออโหสิกรรมต่อพระรัตนตรัย ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อผู้มีพระคุณ และต่อบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา และเกี่ยวข้องกับตัวเรา อันที่เราอาจเคย กระทำการอันใดโดยประมาทพลาดพลั้ง ผิดพลาด ไม่สมควร โดยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ทั้งต่อหน้า
หรือลับหลัง รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ซึ่งอาจเป็นกรรมต่อกัน

ดังนั้นจึงสมควรที่จะขอขมากรรม ขอโทษ ขออภัยต่อกันโดยกระทำต่อหน้าพระรัตนตรัย โดยมีพระพุทธรูปเป็นตัวแทน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และคณะสงฆ์ที่มาร่วมกันในพิธี ให้ทานได้เป็นพยานรับรู้ในพิธี

นับว่าเป็นกุศโลบายของภูมิปัญญาของคนในภาคเหนือตั้งแต่ในสมัยโบราณ เพื่อให้คนได้มา ทำบุญทำทาน รู้จักการเสียสละเพื่อขจัดความโลภ โกรธ หลง มะเร็งร้ายในตัวมนุษย์เพื่อความเป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์

พิธีกรรมต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมา เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่ใหญ่โตและมีแบบแผน มีธรรมะแฝงอยู่ ด้วย ในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องของกรรม บาปบุญคุณโทษ

ในวันงาน คณะศรัทธา ญาติโยม ได้ตกแต่งข้าวตอกดอกไม้ใส่ในล้อเกวียนนับสิบเล่ม ต้นตาน ใหญ่สูงสิบกว่าเมตร แห่ขบวนครัวตานไปตามถนนรอบวัด ขบวนหลากสีสัน ผ่านทุ่งนาสีเขียว ผู้คนจำนวนมากที่มีแรงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาต่างมาร่วมพิธีกรรม เป็นภาพอันงดงาม น่าประทับใจ เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภาคเหนือ ในประเพณีตานแทน-ตานใช้ ความยิ่งใหญ่ ในการชดใช้หนี้กรรม ณ วัดพุทธสันติวิเวก นิคมสร้างตนเองกิ่วลม เขต 16 ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง