ตานขันข้าว ประเพณีแห่งความกตัญญู

0
3645

“ยะถา สัพพีติโย…อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” เสียงพระสงฆ์กล่าวให้พรศรัทธา ญาติโยมที่ต่างพากันหิ้วปิ่นโตเถาใหญ่ พร้อมจูงลูกหลานไปทำบุญวันนี้ ด้วยจิตใจที่เบิกบานในเทศกาลวันออกพรรษา ณ วัดในหมู่บ้าน พร้อมตานขันข้าวแก่บรรพบุรุษหรือคนที่รักผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ บ้างก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตนเองมีความสุขสบายหลังจากจบชีวิตในโลกนี้ ไม่อดอยากเพราะมีของตุนไว้กินในโลกหน้าจากอาหารที่นำไปตานขันข้าวในวันนี้

ประเพณี ตานขันข้าว เป็นประเพณีการทำบุญที่ชาวบ้านล้านนายึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยการนำอาหารคาวหวานไปถวายพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้วายชนม์ เป็นการกระทำที่แสดงถึงความกตัญญูของผู้ที่ยังอยู่ มักนิยมทำในวันเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา วันสิบสองเพ็ญ วันเดือนยี่เป็ง เป็นต้น

นอกจากการทำบุญตานขันข้าวแก่ ผู้ล่วงลับตามเทศกาลสำคัญดังกล่าวแล้ว ตามความเชื่อของชาวล้านนายังนิยมตานขันข้าวอีกลักษณะหนึ่ง ได้แก่ หลังจากมีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็จะเตรียมขันข้าว (อาหารคาว หวาน) นำไปถวายแด่พระสงฆ์ในวัดทั้งตอนเช้าและตอนกลางวัน พระสงฆ์จะกล่าวอุทิศส่วนกุศลที่ญาติทำให้แก่ผู้ตายพร้อมกับหยาดน้ำ (กรวดน้ำ)

ความเชื่อเรื่องการตานขันข้าวอุทิศแก่ผู้ตายนั้นได้รับ อิทธิพลมาจากเรื่องราวในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา เช่น ในเรื่องพระมาลัย ได้กล่าวถึงพระมาลัยเถระไปพบกับพระยายมราชในนรก พระยายมราชสั่งมาบอกแก่ประชาชนในชมพูทวีปขออุทิศกุศลให้ญาติพี่น้องที่มา ทุกข์ทรมานในนรกภูมิ

นอกจากนี้ ในเรื่องอมตปัญหาหรือพราหมณ์ปัญหา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ปราชญ์ล้านนาแต่งไว้ได้กล่าวถึง พราหมณ์สองสามีภรรยาในเมืองสาวัตถี เป็นผู้มีฐานะร่ำรวย มีลูกชายอันเป็นที่รักอยู่คนเดียว ได้ดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกชายอย่างดี ต่อมาลูกชายได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคระบาด พราหมณ์ทั้งสองจึงมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อฝังลูกชายที่ป่าช้าแล้วก็ให้คนใช้เอาข้าวปลาอาหารไปส่งให้ลูกชายที่ ป่าช้าทุกวันเป็นเวลานานถึง 12 ปี วันหนึ่งเมื่อคนใช้จะนำอาหารไปให้ลูกชายของพราหมณ์ที่ป่าช้าเช่นเคย แต่ระหว่างทางเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมไม่สามารถนำอาหารไปให้ลูกชายพราหมณ์ได้ ขณะนั้นเอง มีพระภิกษุเดินบิณฑบาตอยู่ ชายผู้นั้นจึงคิดว่าจะนำอาหารเหล่านี้ข้ามน้ำไปส่งที่ป่าช้าไม่ได้ ควรเอาใส่บาตรถวายพระคงจะดีกว่าทิ้ง จึงนำอาหารใส่บาตรพร้อมทั้งอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ลูกชายของพราหมณ์

ด้วย อานิสงส์ในการใส่บาตรและอุทิศส่วนบุญกุศลของคนใช้ ทำให้ลูกชายของพราหมณ์ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น ได้รับพลังแห่งบุญกุศล ตกตอนกลางคืนจึงได้สำแดงตนแก่พราหมณ์ผู้พ่อ ต่อว่าพ่อที่ไม่รักตนเพราะตั้งแต่ตายไป 12 ปี เพิ่งได้กินอาหารอร่อยในวันนี้เอง ว่าแล้วลูกชายก็หายวับไปกับตา พราหมณ์จึงคิดว่าตลอดเวลา 12 ปี อาหารที่ตนไปส่งให้ลูกชายนั้นคนใช้คงแอบกินก่อน ลูกชายจึงไม่ได้กิน คนใช้จึงเล่าความจริงให้ฟัง เมื่อรู้ความจริง พราหมณ์จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบทูลถามปัญหา พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า พระสงฆ์มีศีล ทายกมีศีลและตั้งใจทำความดีด้วยการทำทาน รักษาศีลและภาวนา ย่อมเกิดผลดีแก่ผู้ที่ตายไปแล้ว

พราหมณ์เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพุทธศาสนาและได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบันในกาลต่อมา

จากความเชื่อในคัมภีร์ดังกล่าว จึงก่อเกิดค่านิยมในการตานขันข้าวของคนล้านนามาจวบจนถึงปัจจุบัน

การตานขันข้าวยังใช้เพื่อการแทนคุณผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือ ชาวบ้านเรียกว่า ตานขันข้าวฮื้อ (ให้) คนเฒ่าคนแก่ มีวิธีการอย่างเดียวกับการถวายพระ กล่าวคือ ผู้ให้หรือลูกหลานนำอาหารไปประเคนให้ผู้รับ หรือปู่ ย่า ตา ยาย จากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ให้พร ต่างจากการถวายพระสงฆ์คือ ไม่อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ

นอกจากนี้ ชาวล้านนายังมีความเชื่อ นับถือเทพยดาที่คอยปกปักรักษาตนและครอบครัว จึงมีประเพณีการตานขันข้าวแก่เทพยดาทั้งหลายด้วย เช่น ขอพรจากพระแม่ธรณีให้คุ้มครองเวลาเดินทาง ให้ตนประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง อาจเป็นการสอบเรียนต่อ การทำงานหรือขอให้พระแม่โพสพคุ้มครองพืชผลในเรือกสวนไร่นาให้เจริญงอกงาม ปราศจากภัยรบกวน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ก็จะจัดสำรับไปถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศไปยังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ บางครั้งชาวบ้านยังนิยมนำขันตานข้าวไปวางไว้ยังสถานที่อยู่ของพระแม่ธรณี ด้วย (ชาวบ้านจะขุดหลุมลึกประมาณ 1 ศอก กว้างพอประมาณ นำแผ่นไม้กระดานปิดไว้ เวลาต้องการสิ่งใดก็จะไปขอพรจากพระแม่ธรณี ณ ที่ตรงนั้น)

การจัดเตรียมอาหารสำหรับการตานขันข้าวในเทศกาลต่างๆ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนเตรียมพร้อมและเต็มใจอย่างยิ่ง โดยชาวบ้านจะหยุดงานภารกิจสำคัญต่างๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นงานในเรือกสวนไร่นา มีการจัดเตรียมอาหารเพื่อไปทำบุญในวันรุ่งขึ้น เรียกว่า วันดา (วันเตรียมงานก่อนจะถึงวันจริง 1 วัน) ผู้ชายก็จะเป็นผู้ช่วย เช่น ตัดใบตอง ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว ผู้หญิงจะเป็นผู้ทำอาหารคาว หวาน เด็กๆ ก็วิ่งเล่น และรอกินขนมอร่อย

ขนมที่นิยมทำกันในเทศกาลต่างๆ เช่น ขนมจอก ขนมเทียน ขนมสีลาหรือขนมปาด โดยเฉพาะขนมสีลา ขนมอร่อยของโปรดของเด็กๆ มีส่วนประกอบและกรรมวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้

1. ใช้แป้งข้าวเจ้า 1 ส่วน ต่อน้ำ/น้ำกะทิ 3 ส่วน

2. ใส่น้ำตาลหรือน้ำอ้อยตามความชอบ บางคนจะนิยมใส่มะพร้าวขูดลงไปด้วย เพราะเวลากินจะได้รสชาติความกรุบกรอบของมะพร้าว

3. จากนั้นนำไปเคี่ยวในไฟอ่อนๆ ถึงปานกลาง คนไปในทิศทางเดียวกันจนกระทั่งสุก

4. เทใส่จานหรือถาด รอให้เย็น ขนมจะแข็งตัว ตัดเป็นชิ้นๆ รับประทานได้

เด็กๆ จะชอบขนมสีลามาก มักจะพากันมาล้อมวงดูผู้ใหญ่ทำ และจะคอยถามว่าเมื่อไหร่จะสุก เพราะความอยากกิน พอผู้ใหญ่ทำเสร็จเทใส่จาน ขนมยังไม่ทันแข็งตัว เด็กก็จะใช้นิ้วขุ้ยขนมขึ้นมากิน ผู้ใหญ่ก็จะดุเพราะทำให้หน้าขนมสีลาไม่สวยและอันตรายจากความร้อนของขนม

ส่วน อาหารคาวนิยมทำแกงฮังเล ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งขาหมู เป็นต้น หรืออาจเป็นอาหารโปรดของผู้ที่จะอุทิศไปให้ ชาวบ้านก็จะเลือกสรรอาหารที่ดีที่สุดเท่าที่มีเพื่อการทำบุญ หลังจากทำอาหารเสร็จแล้วก็จะแบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับนำไปตานขันข้าว ส่วนที่เหลือก็กินกันในครอบครัวและแบ่งปันญาติมิตร บ้านใกล้เรือนเคียง ทุกบ้านก็จะทำอย่างนี้จึงทำให้ได้ลิ้มรสอาหารหลากฝีมือทั้งจากของตนเองและ ผู้อื่น

เสียงไก่ขัน แสงสีทองเริ่มปรากฏให้เห็นตรงขอบฟ้าทิศตะวันออก ที่ถนนในหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างทยอยพาลูกจูงหลานเดินสู่เป้าหมายเดียวกัน เสียงพูดคุย หัวเราะไปตลอดทางจนถึงที่วัด เมื่อไปถึงวัด ทางวัดได้จัดสถานที่สำหรับให้ศรัทธาชาวบ้านที่นำอาหารมาถวาย ซึ่งก็จะเป็นอาหารที่เตรียมมาอุ่นๆ ในปิ่นโต พร้อมทั้งสวยดอกไม้ที่ใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ขวดน้ำหยาด (สำหรับกรวดน้ำ) กระดาษแผ่นเล็กที่เขียนชื่อผู้ที่จะอุทิศ/ตานขันข้าวไปให้

เมื่อศรัทธาชาวบ้านมาพร้อมกันพอสมควรแล้ว พระสงฆ์ก็จะกล่าวนำมาทำบุญและให้พร ดังนี้

1. แสดงความชื่นชมที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาประเพณีที่ดีงามไว้

2. พระสงฆ์อ่านรายชื่อผู้ล่วงลับที่ชาวบ้านเขียนมาให้ในแผ่นกระดาษ หากใครที่ไม่เขียนมา พระสงฆ์ก็จะกล่าวอุทิศไปให้บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย เจ้ากรรมนายเวร เทวบุตร เทวดา พระแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าทาง สรรพสัตว์ต่างๆ

3. กล่าวให้มารับของตาน หากมารับไม่ได้ ให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้นำไปให้

4. อวยพรให้แก่ผู้มาทำบุญ

5. กล่าวเป็นภาษาบาลี

” สาธุ” ชาวบ้านส่งเสียงพร้อมกันหลังพระให้พรจบ จากนั้นจึงรับปิ่นโตนำอาหารไปเทใส่ถ้วย เก็บไว้ในตู้ให้พระสงฆ์ได้ฉันต่อไป เป็นอันเสร็จพิธีตานขันข้าว

การตานขันข้าว นอกจากเป็นการทำบุญที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว กิจกรรมการประกอบอาหาร การไปทำบุญร่วมกันของคนในครอบครัวเป็นการเพิ่มความรัก ความอบอุ่นและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะสมาชิกตัวน้อยในครอบครัวที่ได้เรียนรู้การให้ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมและความกตัญญูแก่เด็กโดยไม่จำเป็นต้องสอนด้วยคำพูดที่ เด็กมักไม่ค่อยรับฟัง

ประเพณีการตานขันข้าวจะยังอยู่คู่วิถีชีวิตคนล้านนาสืบไป ตราบที่ในหัวใจของผู้คนยังรู้จักรักและแบ่งปันสิ่งดีต่อผู้มีคุณ