ชะอม หรือ ผักหละ (ภาคเหนือ) ผักหา ( แม่ฮ่องสอน ) หมันจื่อกั๋ว ( ม้ง ) ผักขา ( อุดรธานี ) ผักยำ ( ร้อยเอ็ด ) พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) ยอดและใบอ่อน รับประทานเป็นผักจิ้ม หรือปรุงเป็นแกง ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
ชื่ออื่น ผักหละ (ภาคเหนือ) ผักหา ( แม่ฮ่องสอน ) หมันจื่อกั๋ว ( ม้ง ) (อุดม รุ่งเรืองศรี, 2542, 7460) ผักขา ( อุดรธานี ) ผักยำ ( ร้อยเอ็ด ) (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 52)
ชะอม ชื่อสามัญ Climbing wattle, Acacia, Cha-om ชะอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia pennata (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กิ่งเลื้อยลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ลำต้นเลื้อยสีขาว ส่วนลักษณะของใบชะอม ใบผักหละ เป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก ใบ เป็นใบประกอบ มีก้านใบจะแยกออกแตกออกจากแกนกลางใบเป็นใบอยู่ 2 ทาง จะมีลักษณะคล้ายใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนมีกลิ่นฉุน ใบเรียงสลับ ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกันมี 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน ส่วนดอกชะอม ดอกผักหละ ลักษณะคล้ายดอกกระถิ่นออกที่ซอกใบสีขาวนวลหรือสีขาว ดอกขนาดเล็ก จะเห็นชัดเจนเฉพาะเกสรตัวผู้เป็นเส้นฝอย (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 52)
วิธีการปลูกชะอม วิธีปลูกผักหละ
ปลูกโดย การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการโน้มกิ่งลงดิน โดยไม่ต้องต่อตาหรือชำกิ่ง การปลูกผักชะอมส่วนมากจะใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นที่แข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีหนามหนากว่าการปลูกด้วยวิธีอื่น
การปลูกชะอม ปลูกผักหละ ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยนำมาเมล็ดชะอมมาใส่ถุงพลาสติก รดน้ำวันละครั้ง เมื่อเมล็ดงอกก็ให้ทำการย้ายลงดิน โดยปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร และให้ปุ๋ยสดหรือมูลสัตว์ในการบำรุงต้น ถ้าปลูกในฤดูร้อนแล้วหมั่นรดน้ำจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกในฤดูฝน เพราะเมล็ดชะอมมีโอกาสเน่าได้สูง ผักชะอม ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีโรคและแมลงศัตรูพืชมารบกวนเท่าไหร่ หากพบก็ใช้ปูนขาวโรยไว้รอบโคนต้น แต่ถ้าเป็นแมลงมีหนอนกินยอดชะอมก็ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก ๆ 8 วัน การเก็บยอดชะอม ควรเก็บให้เลือกยอดไว้ 3-4 ยอดเพื่อให้ต้นได้โต เพื่อความปลอดภัยควรเก็บหลังจากการฉีดยาฆ่าแมลงแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวจากต้นที่ปลูกกิ่งตอนได้ 10-15 วัน และตัดยอดขายได้ทุก ๆ 2 วัน
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ทางโภชนาการ
เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี ฟอสฟอรัส (ผักพื้นบ้าน อาหารไทย, 2548, 30)
ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง
ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้
ผักรสมันอย่างชะอมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ
ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
รากชะอมนำมาฝนกินช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้
มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น
ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
ทางยา
เปลือกชะอมผสม สะเดา ฟ้าทะลายโจร บดให้เข้ากันเป็นยาขับพยาธิ ต้มน้ำกินเป็นยาขับลมเปลือกใช้แทนผงชูรส รากของชะอม สรรพคุณแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้อาการปวดเสียวในท้องได้ดี (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, 2548, 52)
ประโยชน์ของชะอม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้น กรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้ง ๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ชะอม ประโยชน์นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูชะอม เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวกหรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค แกงผักหละ เป็นต้น
ข้อบ่งใช้ในทางเภสัชกรรมล้านนา เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาอาการไอ ยาแก้เจ็บคอ ยาไข้บ่รู้หาย ยาขางพากหลวง ยาเจ็บหัว ยาลมขึ้นหัวเป็นหนอง ส่วนทางแพทย์แผนไทย แพทย์ตามชนบท ใช้รากชะอมมาฝนรับประทานแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในท้อง เป็นต้น สิ่งที่ควรระมัดระวังเกี่ยวกับชะอม คือ บางคนอาจแพ้กลิ่นฉุนของชะอม โดยมีอาการเวียนศรีษะและอาเจียนได้ (จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย, 2537)
ฤดูกาลใช้ประโยชน์
ตลอดปี
โทษของชะอม
- สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้
- ผักชะอม สำหรับคุณแม่ลูกอ่อน จะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก ดังนั้นควรอยู่ห่าง ๆ
- การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมหน้าร้อน)
- กรดยูริกเป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้
- อาจพบเชื้อก่อโรคอย่างซาลโมเนลลา (Salmonella) ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ เมื่อเรานำผักชะอมที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้มาประกอบอาหารโดยไม่ล้างทำความสะอาดหลาย ๆ ครั้ง หรือไม่นำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อชนิดนี้ได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อชนิดอาจจะมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียว หรือถ่ายเป็นมูกมีเลือดปน มีไข้ เป็นต้น
[iggetimage type=”tags” tag=”%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B0″ limit=”20″]
รายการอ้างอิง
http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_ingredient.php?id_ingredient=80
จีรเดช มโนสร้อย และอรัญญา มโนสร้อย. (2537). เภสัชกรรมล้านนา: ตำรับยาสมุนไพรล้านนา. กรุงเทพฯ: สถาบันการแพทย์แผนไทย.
ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2542). หละ, ผัก. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่มที่ 14, หน้า 7460). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
เว็บไซต์เดออะแดนดอตคอม, สถาบันการแพทย์แผนไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เว็บไซต์ medthai.com