กลองมองเซิง

0
4910

คือกลองที่ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้า มีสายโยงเร่งเสียง รูปร่างคล้าย ตะโพนมอญ ไม่มีขาตั้ง แต่มีสายร้อย สำหรับคล้องคอเวลาตี เวลาตีไม่ต้องติดจ่ากลอง ชื่อกลองมองเซิง เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า ฆ้องชุด กลองมองเซิงจึงหมายถึงกลองที่ใช้ฆ้องเป็นชุด เพราะวงกลองมองเซิงจะเน้นเสียงฆ้องเป็นหลัก กลองมองเซิง จะตีรับกับฉาบโดยลักษณะอาการล้อทางเสียง หลอกล่อกันไป อาจจะมีการเฮ็ดความสลับไปด้วย ในขณะที่มีเสียงฆ้องเป็นตัวกำกับจังหวะ ซึ่งมีบางแห่งเพิ่มฉิ่ง ตีกำกับจังหวะร่วมไปกับฆ้องด้วย ปัจจุบันกลองมองเซิงนิยมตีในการแห่ครัวทานและประกอบการฟ้อนก๋ายลาย

 

    กลองมองเซิง เป็นกลองที่ได้รับอิทธิพลจากชาวไทใหญ่ พบเห็นโดยทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่และแม่ฮ่องสอน  เรื่องของกลองชนิดนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

    กลองมองเซิง  คือ กลองที่ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้ามีสายโยงเร่งเสียง รูปร่างคล้ายตะโพนมอญ ไม่มีขาตั้ง แต่มีสายร้อยสำหรับคล้องคอเวลาตี เฉพาะคำว่า “มองเซิง” เป็นภาษาไทใหญ่โดยที่ คำว่า “มอง” แปลว่า “ฆ้อง” ส่วน“เซิง” แปลว่า “ชุด” กลองมองเซิงจึงหมายถึงกลองที่ใช้ฆ้องเป็นชุด เพราะวงกลองมองเซิงจะเน้นเสียงฆ้องเป็นหลักใหญ่

 

วิธีสร้าง

ตัวกลองมองเซิงสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะม่วง  ไม้ขนุน  ไม้ประดู่ หน้ากลองด้านหนึ่งใหญ่อีกด้านหนึ่งเล็ก หน้าใหญ่กว้างประมาณ 16 – 18 นิ้ว หน้าเล็กกว้างประมาณ 11 – 13 นิ้ว ตัวกลองยาวประมาณ 26 – 28 นิ้ว ภายในกลองเจาะเป็นโพรง  ตรงกลางโป่งพองเล็กน้อย  หนังหน้ากลองนิยมใช้หนังวัวขึงทั้งสองหน้า โดยใช้สายเร่งเสียงโยงระหว่างคร่าวหูหิ่ง (เชือกที่ร้อยสอดสลับกับรูหนังหน้ากลอง) ดึงให้ตึงจนหนังอยู่ตัว

 

การประสมวง

ใช้กลองมองเซิง  1  ลูก ฉาบขนาดใหญ่  1  คู่  ฆ้องขนาดใหญ่และเล็กลดหลั่นลงไปประมาณ 5 – 9 ใบ ขณะบรรเลงกลองมองเซิงจะตีรับกับฉาบ โดยลักษณะอาการล้อทางเสียงหลอกล่อกันไป ในขณะที่มีเสียงฆ้องเป็นตัวกำกับจังหวะ ซึ่งมีบางแห่งเพิ่มฉิ่งตีกำกับจังหวะไปพร้อมๆ กับฆ้องด้วย

โอกาสที่ใช้บรรเลง

วงกลองมองเซิงใช้ประโคมในงานบุญของวัด ขบวนแห่ครัวทาน และประกอบการฟ้อนพื้นเมือง  รวมทั้งขบวนแห่นาคสามเณรที่ล้านนาเรียก “ลูกแก้ว”   ไทใหญ่เรียก “ส่างลอง”

กลองมองเซิงนี้ ชื่อทั่วไปเรียก “กลองมองเซิง” แต่เฉพาะแถบอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เรียกกลองชนิดนี้ว่า “กลองป๊ะปุ่มปิ้ง” และนอกจากนี้ ยังพบกลองลักษณะเดียวกันแต่มีขนาดเล็กเรียกว่า “กลองมองลาว”

กลองมองลาว

กลองมองลาว  เป็นกลองสองหน้าคล้ายกลองมองเซิงแต่มีขนาดเล็กกว่า ลักษณะการตีจะใช้จังหวะที่กระชับ เร่งเร็ว นิยมใช้ในขบวนแห่ที่ต้องเดินระยะไกล โดยมีฆ้องชุดตีประกอบ 3 – 5 ใบ

ปัจจุบัน วงกลองมองเซิงยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แห่ขบวน ใช้บรรเลงประกอบการฟ้อน เช่น ฟ้อนกลายลาย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง เป็นต้น และที่สำคัญคือมีการส่งเสริม โดยการประกวดแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง หากจัดกิจกรรมอย่างนี้ไปตลอด กลองมองเซิงก็น่าจะอยู่คู่ล้านนาต่อไป

    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/04/26/