กลองชัยยะมงคล หรือ กลองบูชา

0
3692

กลองชัยยะมงคล หรือ กลองบูชา

กลองชัยยะมงคล หรือ กลองบูชา เป็นกลองพื้นเมืองของล้านนาแต่ดั้งเดิม โดยพบหลักฐานเกี่ยวกับกลองชัยยะมงคลในธัมม์โบราณของล้านนา ในอดีตใช้เฉพาะในวังพระยาเจ้าเมืองเป็นผู้นำมาใช้เป็นคนแรก (ชาวบ้านธรรมดาไม่สามารถนำมาใช้ได้) โดยนำมาใช้ตีในช่วงเวลาที่ออกศึก ชนะศึก หรือในช่วงที่ฝนฟ้าตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาลหรือน้ำแล้งจะมีการตั้งธรรมปลาช่อนเทศน์ในพระวิหารพร้อมกับนำพระเจ้าฝนแสนห่าออกมาแห่รอบบ้านเมืองพร้อมกับตีกลองชัยยะมงคล เพื่อทานขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ปัจจุบันกลองชนิดนี้นำไปใช้ในงานเกี่ยวกับศาสนา และงานมงคลต่าง ๆ

กลองปู่จา ก๋องปูจาหรือกลองบูชา เป็นอีกวัฒนธรรมไทยล้านนาที่เกือบจะเลือนหายไป คงเหลือผู้ที่สืบทอดศิลปะแห่งกลองปูจาแค่เพียงรุ่นอายุสูงเท่านั้น
กลองปู่จา เป็นกลองโบราณชนิดหนึ่งที่ใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา ใช้ตีส่งสัญญาณบอกข่าวป่าวประกาศในชุมชน หรือใช้ตีเพื่อเป็นพุทธบูชาในวันโกน คือวันขึ้น-แรม 7 ค่ำ และ 14 ค่ำ เพื่อเตือนให้ทราบว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ ตีเพื่อบอกให้รู้ว่าพิธีกรรมทางสงฆ์เสร็จสิ้น และใช้ตีในงานประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีณีตานก๋วยสลาก งานปอยหลวง งานฉลองสมโภชต่างๆ จนมีคำกล่าวไว้ในกลุ่มพุทธบริษัทว่า

“หากสิ้นเสียงกลองปูจาเมื่อใด
ศาสนาพุทธก็จะหมดสิ้นเมื่อนั้น…”

กลองปู่จามีลักษณะเป็นกลองใบใหญ่ขึงด้วยหนังสองหน้า ตรึงหนังด้วยหมุดไม้ เรียกว่า กลองตึ้งหรือกลองต้าง เดิมมีใบเดียวแต่ต่อมาพัฒนาเพิ่มมา 4 ใบตามความเชื่อชาวล้านนาที่มีความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ใบเล็ก 3 ใบเรียกว่า กลองลูกตุ๊บ ซึ่งมีความหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนใบใหญ่คือศาสนาพุทธ
ทำนองที่ใช้ตีกลองปูจานี้ มี 3 ทำนอง ซึ่งมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน บางแห่งเรียกทำนองล่องน่าน ทำนองแซะ และทำนองสะบัดชัย แต่บางแห่งเรียกทำนองเสือขบตุ๊
สาวหลับเตอะ และสะบัดไชย  กลองปูจานั้นได้ถูกย่อส่วนกลองให้มีขนาดเล็กลงเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย เพื่อนำไปใช้ในขบวนแห่ประโคมต่างๆ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กลองสะบัดชัยในปัจจุบัน

จังหวะการตีกลองบูชา หรือ กลองไชยมงคล

จังหวะในการตีแบบเดิมที่ตีอยู่กับที่ในหอกลองของวัดมีลักษณะต่าง ๆ กันตามโอกาสดังนี้

๑. ตีเรียกคน เช่นมีงานประชุมหรืองานของส่วนรวมที่ต้องช่วยกันทำ ลักษณะนี้จะตีเฉพาะกลองใหญ่ โดยเริ่มจังหวะช้าและเร่งเร็วขึ้น

๒. ตีบอกเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ จะตีเฉพาะกลองใหญ่และมีจังหวะเร่งเร็วติด ๆ กัน

๓. ตีบอกวันพระ วันโกน ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่และลูกตุบ มีฉาบและฆ้องประกอบจังหวะด้วย จังหวะหรือทำนองในการตีที่เรียกว่า ‘ระบำ’ มี ๓ ทำนองคือ
ปูชา (ออกเสียง-ปูจา) มีจังหวะช้า ใช้ฆ้องโหม่งและฆ้องหุ่ยประกอบ
สะบัดชัย มีจังหวะปานกลาง ใช้ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย และฆ้องเล็กประกอบ
ล่องน่าน มีจังหวะเร็ว ใช้ฆ้องเล็กประกอบ

๔. ตีในงานบุญ ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่และลูกตุบ จังหวะเร่งเร็วเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่า ‘ไม้แสะ’ ฟาดหน้ากลองให้จังหวะ แต่ไม่มีฉาบและฆ้องประกอบ
ลักษณะการตีดังกล่าวทั้งหมดเป็นการตีอยู่กับที่ ภายหลังเมื่อเข้าขบวนแห่ก็ได้ใช้จังหวะหรือทำนอง ‘ล่องน่าน’ โดยมีไม้แสะตีประกอบด้วย ต่อมานิยมใช้จังหวะหรือทำนอง ‘สะบัดชัย’ ไม่ใช้ไม้แสะ

กลองปู่จาวัดต้นเปา2

 

กลองปู่จา คณะอื่นแก้ว

พระสิบสองปันนา โชว์ตีกลองปู่จา