วัดปราสาท ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่

0
1349

วัดปราสาท ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ นนถ.อินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200

วัดปราสาทเป็นวัดที่สร้างขึ้นแต่โบราณมีอายุเก่าแก่และมีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เห็นได้จากข้อความจากศิลาจารึกวัดตะโปทาราม ได้กล่าวถึงชื่อเจ้าอาวาสวัดปราสาท ชื่อ พระมหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า ได้รับอาราธนาจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไปร่วมสังฆกรรมสวด แสดงในฐานะพระเถรชั้นผู้ใหญ่ แผ่นศิลาจารึกด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๓ – ๑๖ ว่า “ มหาสามาญาณสมโพธิป่าแดง มหาสุรสี มหาโพธิ์ มหาเถรธรรมเสนาปติเจ้า มหาเถรสัทธรรมฐิรปราสาทเจ้า” กล่าวว่า “ปราสาท”ตามความหมายคือ ที่ประทับของเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นป้อมปราการ แต่มีลักษณะคล้ายวัดและตั้งอยู่ในกำแพงเมือง จึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมในกาลต่อมา ทุกยุคทุกสมัย สมัยพม่าปกครองล้านนาก็ได้รับการทำนุบำรุงจากพระยาหลวงแสนคำ ซึ่งได้สร้างพระพุทธรูปหมื่นทอง หนึ่งองค์ถวายไว้ที่วัดปราสาท ปัจจุบันวัดปราสาทเป็นวัดที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีอีกวัดหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ วัดปราสาทเป็นวัดเก่าแก่ มีมาครั้งอาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง พบชื่อวัดปรากฏในศิลาจารึกวัดตะโปธาราม เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๕ สมัยพระญายอดเชียงราย บริเวณวัดตั้งอยู่ในเขตเจ้านายและขุนนางและอยู่ภายในกำแพงเมือง จึงได้รับการบูรณะสืบต่อมา แม้ในสมัยพม่าปกครองเชียงใหม่ก็ได้หล่อพระเจ้าหมื่นทอง พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ เมื่อพ.ศ.๒๑๓๓ พ.ศ.๒๓๖๖ สมัยเจ้าหลวงช้างเผือกธรรมลังกา โดยมีพระเจ้าหลวงสามล้านเป็นประธานและทำการฟื้นฟูบูรณะครั้งใหญ่ โดยยังรักษาศิลปะและสถาปัตยกรรมล้านนาไว้ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีผลงานสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างอันเป็นมรดกของชาติอันสำคัญยิ่งของประเทศ และได้รับยกย่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จากสมาคมสถาปนิกล้านนาในด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน เป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

ลำดับเจ้าอาวาส:
เจ้าอาวาสองค์เก่าชื่อ พระครูชินวงศานุวัตร์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันชื่อ พระอธิการนิพนธ์ ธมมธีโร

งานสถาปัตยกรรม
1 พระวิหาร พระวิหารทรงล้านนาไทยที่ได้จารึกลงที่ฝาผนังมีข้อความว่า วิหารวัดปราสาทได้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๖๖ ที่มีฐานรากเป็นก่ออิฐถือปูน มีโครงสร้างองค์ประกอบของตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีประตูหน้าต่างรอบวิหารเป็นช่องๆ องค์พระวิหารใช้โครงสร้างภายในเครื่องบนเป็นแบบโครงไม้ตั้งไหม มีเสาพระวิหารเรียงรายภายในเป็นเสากลมลงรักปิดทองเพื่อทำหน้าที่รับขื่อประธานและขื่อคัดเสาทุกด้าน องค์ประกอบการก่อสร้างของวิหารทั้งหลังถูกเจาะเป็นแนวตรงเพื่อฝังไม้ลิ้มสลัก เป็นการประกอบไม้กับเสาประธานเพื่อรองรับเต้าอีกชั้นหนึ่ง เพราะต้องการความกว้างและรองรับน้ำหนักเครื่องบนชั้นหลังคาวิหาร เสาภายในสำหรับรองรับขื่อโครงสร้างของจั่วตอนกลางและหลังคาปีกนกภายในองค์พระวิหาร มีซุ้มโขงขนาดใหญ่ที่มีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปหงส์คู่ตั้งอยู่ด้านข้าง มีพญานาคขมวดเป็นหางวน ขดเป็นลวดลายกนกขึ้นด้านบนและมีรูปลายกนกเป็นแบบลวดลายพระจันทร์แผ่กระจายรัศมีอยู่ตรงกลางของซุ้มโขงของพระประธานในพระวิหาร และมีพระประธานมีองค์ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มองค์เจดีย์ด้านหลังองค์วิหาร ซึ่งตั้งอยู่เป็นสัดส่วนอีกส่วนหนึ่งของพระวิหารและได้ก่อสร้างเชื่อมต่อกับองค์พระวิหารได้อย่างลงตัว วิหารวัดปราสาทเป็นวิหารที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมดัดแปลงจึงเป็นศิลปกรรมที่มีคุณค่ามาก ตัววิหารเป็นลักษณะเฉพาะของล้านนาเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรวดทรงเตี้ยคุ่มตามลักษณะวิหารทรงล้านนา หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจกและไม้แกะสลักรูปสิงห์ ฝีมือประณีตงดงามเป็นตัวอย่างของไม้บันที่เรียกว่า “ไม้ต่างไหม” อีกแห่งหนึ่งและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดภายในวิหารจะเห็นกู่หรือปราสาทเชื่อมต่อกับผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันตก ในปราสาทประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ถ้ามองจากภายนอกจะเห็นสถูปเจดีย์ต่อเชื่อมกับวิหารนับเป็นศิลปะโบราณล้านนาที่หาชมได้ยากยิ่ง
2 พระอุโบสถ ได้ชำรุดทรุดโทรมไปเป็นเวลานานตามบันทึกของพระยาสามล้านจารึกไว้ว่า ท่านได้ทำการซ่อมแซมพระอุโบสถมาครั้งหนึ่งโดยไม่ทราบว่า ทรงเดิมของพระอุโบสถนั้นเป็นอย่างไร ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๒๐ท่านพระครูชินวงศานุวัตร์อดีตเจ้าอาวาสได้เป็นประธานในการซ่อมแซม ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย ขนาดสูง ๑๑๔ เซนติเมตรเป็นพระโบราณที่เก่าแก่ที่มีอายุตามคำจารึกที่ฐานของพระพุทธรูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๓ พระรัศมีเป็นไม้เดิมคงจะเป็นทองคำ ด้านหน้าฐานมีข้อความจารึกอักษรพื้นเมือง ที่ฐานมีห่วงสี่ห่วงสำหรับหามพระพุทธรูปในงานฉลองที่สำคัญ
3 พระเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่ได้แบบผสมผสานระหว่างเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมศรีสัชนาลัย ผสมผสานกับเจดีย์ทรงกลมของเมืองเชียงใหม่โดยมีปรากฏทรงเดิมของเจดีย์เป็นทรงเช่นใด จากหลักฐานบันทึกของพระยาหลวงสามล้านปรากฏว่า พระเจดีย์องค์นี้ท่านเป็นประธานในการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๖ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ บูรณะซ่อมแซมองค์เดิมซึ่งก็เข้าใจว่าคงจะชำรุดหักพังมาก