ฟ้อนดาบ

ฟ้อนดาบ เป็นการแสดงศิลปะอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นการแสดงชั้นเชิงของการต่อสู้รวมกับท่าฟ้อนที่สวยงาม
การฟ้อนดาบ ถือเป็นศิลปการฟ้อนรำพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ผสมเอาศิลปการต้องกันตัวเข้ามามีส่วนในการฟ้อนด้วย การฟ้อนดาบเป็นการรำที่ใช้ดาบเป็นเครื่องประกอบ มีลวดลายท่วงท่าหลายชั้นเชิง โดยใช้เครื่องดนตรีกลองปู่เจ่ ฉาบและฆ้อง ซึ่งการฟ้อนดาบนั้นจะเป็นการฟ้อนที่คู่กับการฟ้อนเชิง หรือ ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนแสดงท่าทางการต่อสู้ด้วยมือเปล่า สองอย่างนี้มักจะใช้ผู้ชายเป็นหลัก ปัจุบันการฟ้อนทั้งสองอย่างนี้ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย การฟ้อนทั้งหมดนี้ถือเป็นการฟ้อนแบบดั่งเดิมของคนเชียงใหม่ ฟ้อนดาบจะคล้ายกับการรำกระบี่กระบองของภาคกลาง ส่วนฟ้อนเจิงหรือฟ้อนเชิง คล้ายกับการแสดงสิละทางภาคใต้
ฟ้อนดาบนี้แสดงได้ทั้งชายและหญิง ส่วนมากเป็นการรำในท่าต่างๆ ใช้ดาบตั้งแต่2-4-6-8 เล่ม และอาจจะใช้ได้ถึง 12 เล่ม นอกจากการฟ้อนดาบแล้ว ก็อาจมีการรำหอกหรือ ง้าวอีกด้วย ท่ารำบางท่าก็ใช้เป็นการต่อสู้กัน ซึ่งฝ่ายต่างก็มีลีลาการฟ้อนอย่างน่าดูและหวาดเสียวเพราะส่วนมากมักใช้ดาบจริงๆ หรือไม่ก็ใช้ดาบที่ทำด้วยหวายแทน หากพลาดพลั้งก็เจ็บตัวเหมือนกัน การฟ้อนดาบนี้มีหลายสิบท่า และมีเชิงดาบต่างๆ เช่น เชิงดาบเชิงแสน (เป็นของพื้นเมืองของภาคเหนือ) เชิงดาบแสนหวี (มาจากพวกไทยใหญ่ หรือเงี้ยว) แต่ละเชิงดาบมีการฟ้อนแตกต่างกัน (ปรากฏว่าเชิงดาบแสนหวีเป็นนักดาบที่เก่งกล้าเผ่าหนึ่งในประวัติศาสตร์) การฟ้อนดาบมักใช้กลองสะบัดชัยตีประกอบจังหวะ ผู้แสดงสวมชุดพื้นบ้านภาคเหนือ (นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว)
อุปกรณ์และวิธีเล่น
๑. ดาบ ๒ เล่ม ต่อคน
๒. เครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้องโหม่ง ฉาบกลาง กลองปู่เจ่ (กลองยาวของชาวไตใหญ่)
๓. ชุดเครื่องแต่งกายในการฟ้อนดาบ ได้แก่ เตี่ยวสะดอ (กางเกงขาก๊วยขาสั้น) เสื้อหม้อห้อม ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศรีษะ
๔. ผู้ฟ้อน ๑ – ๒ คน และนักดนตรีอีก ๔ – ๕ คน
วิธีฟ้อน
การฟ้อนดาบ จะเริ่มต้นด้วยการตีฆ้องนำ แล้วต่อจากนั้นจะตีฉาบและกลองให้เข้าจังหวะเร้าใจเป็นทำนองเพลงปู่เจ่ ผู้แสดงเริ่มฟ้อนดาบตามหลักเกณฑ์และท่าที่ครูประสิทธิ์ประสาทให้มา ซึ่งมี ๒ ช่วงคือ
ช่วงที่ ๑ ไหว้ครู โดยผู้ฟ้อนจะวางดาบลงไว้ด้านหน้าให้ไขว้กัน แล้วจึงไหว้ครู
ช่วงที่ ๒ หลังจากไหว้ครูแล้ว ก็เริ่มฟ้อนท่าต่าง ๆ ซึ่งครูคำ กาไวย์ รวบรวมมี ๓๒ ท่า เช่น ท่าบิดบัวบาน เกี้ยวเกล้า ฯลฯ โดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรับดาบไว้ เช่น ปากคาบ หนีบรักแร้ ขาพับเข่า ฯลฯ
การฟ้อนจะฟ้อนไปจนจบกระบวนท่า ทั้ง ๓๒ ท่า หรือจะน้อยกว่านั้นก็ได้ ถ้าฟ้อนคู่ก็จะรำไปพร้อมกัน อาจมีหลอกล่อกันบ้าง แต่ไม่มีการฟันดาบ
โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ใช้แสดงเมื่อถึงคราวมีงานนักขัตฤกษ์ เช่น งานประเพณีขึ้นปีใหม่ งานสงกรานต์ งานปอย พิธีรดน้ำดำหัว ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เป็นการออกกำลังกายสำหรับนักเรียนในการเรียน จึงมีการแสดงในตอนเช้าสำหรับบาง โรงเรียน
คุณค่าหรือเวลาที่เล่น
การใช้ดาบเป็นอาวุธเป็นวิชาต่อสู้ป้องกันตัวของชายชาวล้านนา ซึ่งจะได้รับการฝึกฝนเพื่อใช้ต่อสู้ศัตรูยามสงครามและเมื่อมีความชำนาญ ก็อาจใช้แสดงเพื่อความรื่นเริง เมื่อมีการแสดงมากขึ้น ก็มีการประยุกต์ดัดแปลงลีลาท่าทาง และการเคลื่อนไหว ประกอบเพลงและอาวุธมากขึ้น ปัจจุบันจะเน้นเรื่องการแสดงเพื่อความบันเทิง โดยเฉพาะในงานแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว และพัฒนาเป็นการออกกำลังกายประกอบดาบ (ดาบไม้) ของนักเรียน ซึ่งนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นการอนุกรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย